วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ประยุทธ์สั่งคุมเข้มใกล้วันประชามติ คสช.ระดม 'ทหาร-รด.จิตอาสา' ในพื้นที่ชวนคนไปโหวต


19 ก.ค.2559 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีกลุ่มวัยรุ่นเข้าไปฉีกทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติที่ติดไว้บริเวณศาลาประจำหมู่บ้านใน จ.กำแพงเพชร ว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันสืบสวนติดตามตัวผู้กระทำผิดทันที ส่วน มท. ได้สั่งการให้ทางจังหวัดประสานงานกับ กกต. ในฐานะเจ้าของบัญชีรายชื่อเพื่อแจ้งความกับตำรวจ โดยคาดว่าจะได้ตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีเร็ว ๆ นี้
"ท่านนายกฯ รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และอยากเตือนสติสังคมให้ระมัดระวังการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย และไม่หลงเชื่อผู้ที่ไม่หวังดี เพราะหากฝ่าฝืนกฎกติกาก็จะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น และยังได้กำชับให้ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อการออกเสียงประชามติทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอเฝ้าระวังป้องกันและระงับเหตุอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะช่วงใกล้วันลงประชามติ" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุด้วยว่าการปล่อยข่าวสร้างความสับสนทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียให้ระวังการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทางเว็บไซต์ของกรมการปกครอง www.khonthai.com ว่า หากกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักแล้ว จะทำให้ข้อมูลประชาชนไม่ปลอดภัย ถูกแก้ไข หรือถูกลักลอบไปทำธุรกรรมที่เสียหายนั้น
"เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการกรอกเลขประชาชนเป็นเพียงการนำเข้าสู่ระบบแสดงผลข้อมูลอัตโนมัติที่ทำให้ผู้ใช้งานทราบว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติหรือไม่ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อมูลใด ๆ ขณะเดียวกัน กรมการปกครองมีฐานข้อมูลพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้วนับตั้งแต่วันที่ทุกคนยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งในปัจจุบันการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานต่าง ๆ ก็ใช้การกรอกเลขบัตรประชาชนในการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่อันตรายแต่อย่างใด" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

คสช.ระดม 'ทหาร-รด.จิตอาสา' ในพื้นที่ชวนคนไปลงประชามติ

ขณะที่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการรณรงค์ให้ประชนออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ของหน่วยทหารในพื้นที่ต่างๆว่า ภารกิจหลักของเจ้าหน้าที่ คือ สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)  คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และให้ทหาร หรือ รด.จิตอาสา เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเชิญชวน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่าจะมีการลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม ดังนั้นจะต้องเตรียมตัว เตรียมเอกสารอะไรเมื่อต้องไปใช้สิทธิ์
รองโฆษกคสช. กล่าวว่า ยังไม่พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่จะสร้างความวุ่นวายในการทำประชามติ ซึ่งคสช.ดูแลทุกเรื่อง ทั้งอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติสามารถทำงานได้  ให้ประชาชนรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง รวมถึงดูแลป้องกันไม่ให้มีการกระทำการใดๆ ที่จะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในการทำประชามติ โดยใช้วิธีการติดตามข้อมูลข่าวสาร และพฤติกรรมของทุกกลุ่ม

จับตาทุกกลุ่มป้องกันป่วนประชามติ

“เจ้าหน้าที่ทำงานโดยยึดโยงกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 หากดำเนินการอะไรที่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และหากเห็นว่าไม่เหมาะไม่ควร ก็จะใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้าดำเนินการ แต่หากทุกฝ่ายยึดแนวทางดังกล่าวก็มั่นใจว่า ความไม่เรียบร้อยไม่น่าจะเกิดขึ้น” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า หากประชาชนพบการเคลื่อนไหว หรือ สงสัยว่ากลุ่มบุคคลใดอาจจะก่อความวุ่นวาย ยุยงปลุกปั่น หรือ บิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้หลายช่องทาง ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ ศูนย์ดำรงธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น