24 ก.ค. 2559 ตามที่มีการจัดเวที "ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กับอนาคตประชาชน" โดย เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาและประชาชนรวม 43 องค์กร ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น
ในช่วงท้ายเวทีมีการอ่านแถลงการณ์ของเครือข่าย 43 องค์กร โดยมีข้อสรุปเกี่ยวกับการลงประชามติโดยเห็นร่วมกันที่จะ “โหวตโน” ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ 1. กระบวนการขาดความชอบธรรม 2. เนื้อหาทำประเทศถอยหลัง 3. ไม่ควรฝากอนาคตไว้กับ คสช. 4. หากรัฐธรรมนูญรับแล้วแก้แทบไม่ได้ พร้อมเรียกร้องให้ คสช. หยุดกดดัน คุกคาม ดำเนินคดีผู้ที่คิดต่าง เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปอย่างเปิดเผยและยุติธรรม
โดยแถลงการณ์ซึ่งอ่านโดยอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายนักวิชาการนิสิตนักศึกษาและประชาชน 43 องค์กร
เรื่อง รัฐธรรมนูญของประชาชน
วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในการกำหนดอนาคตของสังคมไทย เพราะเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และเครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาและประชาชนรวม 43 องค์กร มีข้อสรุปเกี่ยวกับการลงประชามติที่ขอประกาศต่อสาธารณะ ดังนี้
1. พวกเราทั้ง 43 องค์กร เห็นร่วมกันที่จะ “โหวตโน” ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ
1.1) กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขาดความชอบธรรมตั้งแต่ต้น เนื่องจาก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มิได้มาจากประชาชนและเป็นการร่างที่ปราศจากการรับฟังเสียงและความเห็นของประชาชน โดยกรธ.ให้ความสำคัญกับความต้องการของคสช. ผู้ฉีกร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเป็นสำคัญ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจำเป็นต้องมีที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนตั้งแต่เริ่มต้น
1.2) เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะนำพาประเทศให้ถอยหลัง ทั้งในด้านหลักการประชาธิปไตยและด้านสิทธิและสวัสดิการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การให้คสช.มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่มีจำนวนมากถึง 250 คน และคำถามพ่วงที่จะให้สว. มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ นอกจากนี้ องค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนจะมีอำนาจกว้างขวางสามารถถอดถอนและควบคุมรัฐบาลได้ ทั้งหมดนี้จะทำให้เสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งสส. เพื่อไปตั้งรัฐบาล ไม่เป็นผล การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นเพียงเครื่องมือรองรับความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจของคสช. เท่านั้น
ในด้านสิทธิและสวัสดิการของประชาชน ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างน้อยสามประการคือ การศึกษา การรักษาพยาบาล และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แทนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะคงไว้และสืบทอดสิทธินี้ แต่กลับย้อนหลังไปใช้วิธีการสงเคราะห์ ทำให้ผู้ที่จะเข้าถึงสวัสดิการข้างต้นต้องแสดงตัวเป็นคนอนาถาผู้ยากไร้ เท่ากับเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนคนไทย อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญยังจะทำให้เกิดการแบ่งแยกและเหลื่อมล้ำทางด้านศาสนา
1.3) บทเรียนการบริหารประเทศที่ผ่านมาของคสช. ทำให้ประชาชนรู้ชัดว่า ไม่อาจฝากอนาคตไว้กับ คสช. ได้อีกต่อไป เพราะ คสช.บริหารประเทศด้วยการลิดรอนสิทธิและไม่รับฟังเสียงของประชาชน เช่น ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและการควบคุมอาคารในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และออกพรบ.เหมืองแร่ที่เอื้อกับนายทุน นโยบายคืนผืนป่าที่มุ่งยึดที่ดินของคนจนมากกว่านายทุน การไม่อุดหนุนราคาพืชผลเกษตรกร ปล่อยให้เกษตรกรเดือดร้อน การหักล้างหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เรื่องการทำสัญญาระหว่างประเทศ การผลักดันโรงงงานไฟฟ้าเทพา การคุกคามประชาชนด้วยการเรียกไปปรับทัศนคติ รวมถึงการคุกคามแม้กระทั่งประชาชนที่รณรงค์อย่างสันติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
1.4) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบให้แก้ไขแทบจะเป็นไปไม่ได้ เช่น ต้องผ่านถึงสามขั้นตอน ต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมืองทุกพรรคในสภา จึงทำให้ คำกล่าวที่ว่า รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วไปแก้ที่หลัง ในคราวลงประชามติปี 2550 ใช้ไม่ได้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้
2. เราขอเรียกร้องให้ คสช. หยุดกดดัน คุกคาม ดำเนินคดีที่คิดต่าง เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปอย่างเปิดเผยและยุติธรรม และหยุดการใช้กลไกของราชการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพียงด้านเดียว ตรงกันข้ามต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั้งที่ได้แสดงความเห็นและและได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน
วันที่ 24 กรกฎาคม 2559
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
องค์กรร่วมจัดงาน
1. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
2. สมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
4. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
5. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
6. เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
7. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ
8. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
9. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
10. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
11. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
12. สมัชชาคนจน
13. กลุ่มละครมะขามป้อม
14. เครือข่ายพลเมืองเน็ต
15. สมัชชาอู่ข้าวอู่น้ำภาคกลาง
16. มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
17. ขบวนการประชาธิปไตยใหม่
18. กลุ่ม Mini Drama
19. กลุ่มการเมืองครั้งแรก
20. กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
21. Focus on the Global South
22. เครือข่ายสลัม 4 ภาค
23. มูลนิธิโลกสีเขียว
24. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
25. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย
26. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน (พื้นที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุงจ.เลย)
27. กลุ่มรักษ์บ้านแหง(พื้นที่คัดค้านสัมปทานทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง)
28. ชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสรอย ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ (พื้นที่การขอสัมปทานสำรวจแร่เหล็กและทองคำ)
29. เครือข่ายการศึกษาทางเลือก
30. กลุ่มเสรีนนทรี
31. กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์
32. กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย
33. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)
34. กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา
35. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
36. กลุ่มแก็งค์ข้าวกล่อง ม.รามคำแหง
37. กลุ่มเพื่อนประชาชน
38. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
39. เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)
40. กลุ่มกระเหรี่ยงภาคเหนือ
41. เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก
42. โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
43. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น