ผู้ต้องหาและทนายความถ่ายรูปร่วมกันภายหลังรับทราบข้อกล่าวหา
นักศึกษา นักกิจกรรม เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ รวม 6 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ตำรวจแจ้งข้อหาแล้วปล่อยตัว ระบุสงสัยทำไม "กทม.จัดได้ ขอนแก่นโดนคดี" ผู้ต้องหาออกแถลงการณ์ ยกเลิกคำสั่งลิดรอนเสรีภาพ 3/2558, ยกเลิกใช้ศาลทหารกับประชาชน, ยกเลิกดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง
เวลาประมาณ 10.15 น. ที่จังหวัดขอนแก่น ผู้ต้องหา 6 คน ชาวบ้านนามูล-ดูนสาดประมาณ 20 คน ผู้สังเกตการณ์อีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้วประมาณ 50 คน ร่วมกันเดินเพื่อไปเพื่อทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในความผิดขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไปกรณีจัดเวทีเสวนาเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ "พูดเพื่อเสรีภาพ" ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2559 จัดโดยกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM)
คดีนี้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่นได้ส่งหมายเรียกผู้ต้องหาไปยัง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ นักศึกษามข. เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2559 ที่ผ่านมา และมีหมายเรียกอีก 5 คนเพิ่มเติม เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา ได้แก่ ฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ สมาชิกกลุ่มดาวดิน ผู้ต้องหาที่2, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ผู้ต้องหาที่3, ณัฐพร อาจหาญ ขบวนการอีสานใหม่ ผู้ต้องหาที่4, ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาที่5 และ นีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาที่6
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นครั้งแรกที่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนด้วย โดยในกรณีนี้มีเจ้าหน้าที่ส่วนข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 2 คนที่สังเกตการณ์กิจกรรมต่างๆ เพื่อบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิและร่วมสังเกตการณ์ในวันจัดเสวนานั้นถูกแจ้งข้อหาเช่นเดียวกับผู้จัดกิจกรรม
ณัฐพร อาจหาญ หรือ บี จากกลุ่มอีสานใหม่ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเมื่อใน กทม. จัดเวทีลักษณะเดียวกันนี้ได้แต่การจัดที่อีสานกลับถูกจับและดำเนินคดี
"เรามีสิทธิแสดงออกอย่างสันติ มีสิทธิพูดมีสิทธิเดิน เราจะไปเพื่อยืนยันสิทธิ โดยจะเดินจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นไป สภ.เมืองขอนแก่น" ณัฐพรกล่าว
อาจารย์ มข.ให้กำลังใจ 6 ผู้ต้องหา ย้ำเป็นสิทธิ เป็นสันติวิธี
เวลาประมาณ 11.00 น. เมื่อผู้ต้องหา 6 คนเดินทางมาถึง สภ.ขอนแก่น เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก มีประชาชน อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มารอให้กำลังใจ จากนั้นผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือและให้การกับพนักงานสอบสวน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบอยู่ในบริเวณ สภ.จำนวนหลายนาย รวมถึง พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น ซึ่งระบุว่ามาดูแลความเรียบร้อยในวันนี้ว่ามีการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ เท่าที่ดูเป็นเพียงการมาให้กำลังใจ แต่หากผู้มาให้กำลังใจแสดงสัญลักษณ์อะไรก็อาจมีความผิด
อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาให้กำลังใจ
ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาพัฒนาสังคม คณะมานุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.อาจารย์ที่มารอให้กำลังที่ สภ.กล่าวว่า คิดว่าลูกศิษย์ไม่ได้ทำผิดอะไรและทำเพื่อบ้านเมือง วันนี้อยากจะมาเตรียมช่วยเหลือประกันตัวหากถูกควบคุมตัวหรือคุมขัง โดยเตรียมประกันตัวนักศึกษา ในฐานะพลเมืองคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ความผิด การพูดเป็นสิทธิ การพูดเพื่อเสรีภาพเป็นการกระทำอย่างสันติวิธีซึ่งทั่วโลกทำกัน ดังนั้นเราควรจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พูด ได้แสดงออก ประเทศไม่ได้มีแค่โทนสีเดียว กลุ่มเดียว แต่มีหลายสี หลายกลุ่ม เราต้องคิดว่าจะทำให้ทุกคนฟังกันและเคารพในความเป็นมนุษย์กันอย่างไรต่างหาก สิ่งที่นักศึกษาถูกกระทำในวันนี้ไม่เหมาะสม จึงมาให้กำลังใจ
ร.ศ.ดร.สุกัญญา เอมอิ่มธรรม หัวหน้าสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มข. กล่าวว่า ในฐานะอาจารย์ผู้สอนและหัวหน้าสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่ต้องมาดูแลลูกศิษย์ จากที่เห็นสำเนาที่ถูกส่งมาให้ดู พวกเขาถูกกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมาก็ติดตามพฤติกรรมของเด็กกิจกรรมกลุ่มนี้มานานพอสมควร จึงมาเพื่อให้กำลังใจ แต่ส่วนหนึ่งอยากให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์ว่ากรณีแบบนี้ก็เป็นไปตามสิทธิพลเมืองที่เด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้ใช้ความรุนแรงเลยและการดำเนินคดีเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อผู้ออกคำสั่งออกประกาศ ไม่เป็นผลดีต่อผู้บริหารบ้านเมือง อยากสะท้อนต่อสาธารณะว่า 1.เป็นหน้าที่โดยตรงของประชาชนในการใช้สิทธิ 2.อยากให้สาธารณะได้เห็นจุดยืนว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพและไม่ได้กระทำความรุนแรงตามรัฐธรรมนูญที่เราร่างกันอยู่นี้ อย่างน้อยเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เราต้องติดตามต่อว่ามันใช้ได้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน การพูดการแสดงออก การเขียน
เวลาประมาณ 13.00 น. ผู้ต้องหาเสร็จสิ้นการให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ และเตรียมส่งคำให้การโดยละเอียดอีกครั้งเป็นเอกสาร พนักงานสอบสวนนัดหมายยื่นเอกสารดังกล่าวในวันที่ 4 ต.ค.นี้ จากนั้นทั้งหมดได้ออกมาอ่านแถลงการณ์ รายละเอียดมีดังนี้
แถลงการณ์ 6 ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพ
แถลงการณ์ 6 ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพ
ในวันที่ 30 และ 31 สิงหาคมม 2559 เพียงแค่จัดเวที พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน สำหรับคนในยุคสมัยนี้นั้น ทำให้เราต้องกลายเป็นผู้ต้องหา รัฐธรรมนูญซึ่งสำคัญกับชีวิตของเรา เพียงแค่เราเห็นต่างจากรัฐเผด็จการก็มีการกีดกันการมีส่วนร่วม เสรีภาพในการแสดงออกในปัจจุบันถ้าไม่ใช้เพื่อสนับสนุนรัฐเผด็จการแล้ว เราก็จะถูกกกักขัง โดยกระบวนการ (อ) ยุติธรรม
ในทีนี้เรายืนยันเจตนารมณ์เช่นเดิมว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามต่างมีเสรีภาพ เสรีภาพที่จะกำหนดชีวิตตน เสรีภาพที่จะกำหนดวิถีทางทางการเมืองที่เขาต้องการ ไม่ใช่ใครที่จะบังคับให้เขาเดินบนทางที่วางไว้ แต่เป็นหนทางที่เขาเลือกเอง
ในที่นี้วนเวียนมาอีกครั้งที่ความมืดมิดปกคลุมยุคสมัย อำนาจเถื่อนท้าทายความกล้าหาญของผู้ถูกกดขี่ ในภาวการณ์เช่นนี้หลายพื้นที่ในสังคม มีผู้คนที่เชื่อในสิทธิธรรมชาติ เขาถูกเผด็จการกดหัวให้ก้มลง ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของตัวเอง ถูกรัฐและทุนเถื่อนคุกคาม เสรีภาพที่ในการกำหนดชะตากรรมของชีวิต และการกำหนดทิศทางการพัฒนาถูกพรากไป พื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกถูกสงวนไว้ให้แต่ผู้ที่สนับสนุนรัฐเผด็จการเท่านั้น ผู้เห็นต่างจากเขา กลายเป็นผู้ต้องหา หลายคนต้องหนีไปหรือไม่ก็ถูกกักขัง
เหตุนี้เราขอเรียกร้องต่อผู้คนในสังคม จะไม่เรียกร้องต่อเผด็จการ เพื่อให้ทุกคนมาสรรค์สร้างสังคมไทยที่มีพื้นที่การแสดงออกอย่างเสรี ดังนี้
1) ยกเลิกคำสั่งที่ลิดรอนเสรีภาพที่ 3/58
2) การใช้อำนาจศาลทหารกับประชาชน
3) ยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง
ผู้ถูกกดขี่จงใคร่ครวญและพากันลุกขึ้นเถิด ใช้ความกล้าหาญของท่านต่อต้านและต่อสู้กับอำนาจเลวนั้น ปลดปล่อยนักโทษทางความคิด ให้บรราดาเราและชนรุ่นหลังได้พบสังคมใหม่ที่เราสามารถใช้สิทธิในการกำหนดเจตจำนงเสรีของเราเองได้
31 สิงหาคม 2559
แอมเนสตี้เรียกร้องยกเลิกสอบสวนทางอาญาต่อผู้จัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ”
เว็บไซต์แอมเนสตี้รายงานว่า สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนผู้สนับสนุนมากกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลก ส่งจดหมายเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการสอบสวนทางอาญาต่อนักศึกษา นักกิจกรรม และเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวมหกคน จากกรณีการเข้าร่วมกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา
บุคคลทั้งหกประกอบด้วย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ และณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและเป็นสมาชิกกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวดิน ณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมด้านสิทธิที่ดิน ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ และนีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยนักกิจกรรมทั้งหกมีกำหนดเข้ารายงานตัวที่ สภ.เมืองขอนแก่นในวันที่ 31 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ ตำรวจแจ้งว่าเป็นการสอบสวนการละเมิดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ซึ่งห้ามการรวมตัวทางการเมืองห้าคนหรือมากกว่านั้น แม้ว่าสองเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะระบุว่าเข้าร่วมงานในฐานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้น หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ทั้งหมดอาจต้องโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาท
แอมเนสตี้และผู้สนับสนุนทั่วโลกเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการสอบสวนทางอาญาโดยทันทีต่อบุคคลกลุ่มดังกล่าว ตลอดจนยกเลิกกฎหมายและคำสั่งใดๆ ที่เอาผิดทางอาญาต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น