เอกอัครราชทูตเดวีส์ ให้ความเห็นหลังทราบผลประชามติ ขอรัฐบาลไทยกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว พร้อมเรียกร้องให้รัฐยกเลิกการจำกัดเสรีภาพพลเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบ
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2559 รายงานจากเฟซบุ๊กเพจของสถานทูตสหรัฐฯ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กลิน เดวีส์ พร้อมภริยา ได้เดินทางไปเยือนจังหวัดพังงาเพื่อสนับสนุนภารกิจ #OurOcean ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น แคร์รี ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นถึงผลประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตเดวีส์ให้ความเห็นว่า ในสหรัฐอเมริการในฐานะมิตรประเทศที่ยาวนานของไทยขอให้รัฐบาลกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหนทางหนึ่งในการกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ขอเรียกร้องอย่างยิ่งให้รัฐบาลยกเลิกการจำกัดเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งรวมถึงการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ
"ในฐานะมิตรประเทศและพันธมิตรของไทย เราเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ไทยเข้มแข็งขึ้น และเราเชื่อว่า หนทางเดียวที่ไทยจะเข้มแข็งได้ในที่สุดก็ต่อเมื่อชาวไทยทุกภาคส่วนได้ร่วมพูดคุยอย่างเปิดกว้างถึงอนาคตของพวกเขา เราเชื่อว่า นี่เป็นหนทางที่มีประสิทธิผลที่สุดในการสร้างอนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ซึ่งเราชาวอเมริกันมีความห่วงใยอย่างยิ่ง เราอยากให้ชาวไทยเป็นหนึ่งเดียวกันและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข็ง และนี่คือเหตุผลว่าทำไม เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้มีเสรีภาพดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว" เอกอัครราชทูตกล่าว
ทั้งนี้ภารกิจ #OurOcean ในครั้งนี้ เป็นเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โดยเอกอัครราชทูตเดวีส์ได้กล่าวเน้นย้ำระหว่างเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาถึงพันธกิจของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ต่อประเด็นหลักทั้งสี่ของ #OurOcean อันได้แก่ พื้นที่คุ้มครองทางทะเล การทำประมงยั่งยืน มลภาวะทางทะเล และผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศต่อมหาสมุทร นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตเดวีส์ยังได้พบกับองค์การนอกภาครัฐในท้องถิ่นและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานอพยพจากพม่าและบทบาทของแรงงานอพยพดังกล่าวในอุตสาหกรรมการเกษตรและการประมงในภาคใต้ของไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น