วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

10 ปี ลุงนวมทองขับแท็กซี่ชนรถถังคณะรัฐประหาร สัญลักษณ์ที่ยังมีชีวิต

ภาพรถแท็กซี่นวมทองที่ขับชนรถถังของ คมช. 

แท็กซี่ 'นวมทอง ไพรวัลย์' สัญลักษณ์การต้านรัฐประหารที่ยังมีชีวิต จากบทกวี สู่บทเพลง สู่หนัง “Democracy After Death : A Tragedy of Uncle Nuamthong Praiwan” ที่มีกำหนดฉาย  7 ต.ค.นี้ จะถึงรูปปั้นเลือด-สดมภ์-ห้องประชุม และงานรำลึก

วันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว 11 วัน หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช. ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ได้ปรากฏภาพข่าว ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.บางกรวย วัย 60 ปี คนขับแท็กซี่ขับรถแท็กซี่โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง เครื่องมือทำมาหากินของเขาพุ่งชนรถถังของ คมช. ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
1 เดือนต่อมา (คืนวันที่ 31 ต.ค.49) ได้ปรากฏว่าเขา ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" พร้อมกับสวมเสื้อที่สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่ถูกใช้ในการการต่อสู้ทางการเมือง โดยด้านหลังเป็นบทกวีของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ที่ว่า
“อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน”
ภายหลังมีการเผยแพร่จดหมาย ที่เขียนด้วยลายมือ ลงชื่อ นวมทอง วันที่ 29 ต.ค.49 หรือ 1 วันก่อนที่เขาผูกคอเสียชีวิต โดยจดหมายดังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า
"สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก
ลาก่อน พบกันชาติหน้า
ปล. ขอแก้ข่าว ขวดยาที่พบในรถภายหลังเกิดเหตุคืออาหารเสริมแคปซูลใบแปะก๊วยไม่ใช่ยาแก้เครียดตามที่ลงข่าว นสพ. ผมไม่เครียดแต่ประท้วงจอมเผด็จการ"
6 ต.ค. 2549 จอม เพชรประดับ ผู้สื่อข่าว ITV ขณะนั้น ได้สัมภาษณ์นวมทองหลังจากที่นวมทองขับรถชนรถถังของคณะรัฐประหาร และเมื่อปีที่ผ่านมาในวาระครบรอบ 9 ปีนี้ จอม ได้นำเสนอบทเพลงที่บันทึกเรื่องราวชีวิตและอุดมการณ์ของนวมทอง กับการเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ ซึ่งเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นใหม่เพื่อรำลึกการจากไป ครบ 9 ปี โดยกลุ่มศิลปิน มฤคา ชื่อเพลงว่า ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ครั้งแรกผ่านทาง Thaivoicemedia
รวมทั้งได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ที่ นวมทอง ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับจอม ถึงความมุ่งมั่น ที่จะเอาชีวิตตัวเองเข้าแลก เพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ ก่อนที่นวมทองจะผูกคอเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน รวมทั้งเรื่องราวของนวมทอง ที่นำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ในตลอด 9 ปีที่ผ่านมา
หลังปฏิบัติการและการเสียชีวิตลุงนวมทอง เขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการต่อต้านเผด็จการและการรัฐประหาร ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ปฏิบัติการของนวมทองนี้ประชาไทได้รวบรวมเพื่อนำเสนอดังนี้

บทเพลงนวมทอง

นอกจากเพลง ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ โดย กลุ่มศิลปิน มฤคา ข้างต้นแล้ว ยังมีการแต่งเพลงถึงลุงนวมทองอีกหลายเพลง โดยเฉพาะจิ้น กรรมาชน(กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ) ที่ระบุว่า คืนวันที่ 31 ต.ค. 2549 ขณะที่ จิ้น กำลังบันทึกเสียงบทเพลง "วันของเรา" โดย ไม่รู้เลยว่าเป็นคืนเดียวกับที่นวมทอง ได้ตัดสินใจพลีชีพเพื่อประกาศให้สังคมและคนที่สบประมาทได้รู้ว่า คนที่ยอมตายเพื่อประชาธิปไตยมีอยู่จริง จากนั้น 2 พ.ย. 2549 บทเพลงวันของเรา นำเสนอเป็นครั้งแรกในประชาไท พร้อมบทกวีที่จารจดขึ้นเพื่อคารวะต่อดวงวิญญาณของนวมทอง
"เขาชื่อ..นวมทอง
นวมทองขอพลีชีพ จุดประทีปแห่งสมัย
เกิดมาเพื่อรับใช้ พิทักษ์ไว้อุดมการณ์
เชื่อมั่นต่อจุดยืน เขาลุกขึ้นอย่างกล้าหาญ
คัดค้านเผด็จการ รัฐประหารน่าชิงชัง
เป็นเพียงสามัญชน พุ่งรถยนต์ชนรถถัง
หนึ่งคนมิอาจยั้ง เกินกำลังจะประลอง
วีรชนไม่ตายเปล่า หากปลุกเร้าเราทั้งผอง
คนซื่อชื่อนวมทอง จักเรียกร้องความเป็นธรรม"
— ด้วยจิตคารวะ
จิ้น กรรมาชน
2 พ.ย. 2549
ปีต่อมาวาระครบรอบหนึ่งปีที่นวมทอง จากไปบทเพลง "ยืนหยัด" (คลิกเพื่อดาวน์โหลดเพลงยืนหยัด) จึงถูกนำเสนอเพื่อใช้ประกาศยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย และการหยัดยืนของนักสู้สามัญชนโดยไม่มุ่งหวังต่ออัศวินม้าขาว หรือชนชั้นนำกลุ่มใดใดเท่านั้น จึงจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยโดยแท้จริง
นอกจากนี้ยังมี เพลง "นวมทอง ไพรวัลย์" ที่ศิลปินชาวเชียงใหม่ ได้ออกผลงานชื่ออัลบั้ม กิโยติน
เพลง "วีรชนนวมทอง" โดย วงไฟเย็น เนื้อร้องและทำนอง โดย วัฒน์ วรรลยางกูร เรียบเรียง โดย ขุนทอง
บ่าวแนว เมืองอุดร ในเพลง  นวมทอง ไพรวัลย์

หนังนวมทอง

ในงาน 40 ปี 6 ตุลา 2519 วันที่ 7 ต.ค.ที่จะถึงนี้ มีกำหนดการว่าจะมีการฉายหนัง “Democracy After Death : A Tragedy of Uncle Nuamthong Praiwan” ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้โดยเฉพาะ ที่หอประชุมศรีบูรพา เวลา 16:00 น.
โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค.57 เพจ Democracy After Death ได้ปล่อยตัวอยู่หนังดังกล่าวมาบ้างแล้ว

รูปปั้นเลือด-สดมภ์-ห้องประชุม และงานรำลึก

นอกจากนี้ วันที่นวมทองเสียชีวิต คือ 31 ต.ค. ของทุกปี ก็มักจะมีกลุ่มคนเดินทางไปรำลึก ณ ราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งต่อมา 31 ต.ค.56 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. นำโดยธิดา ถาวรเศรษฐ, จตุพร พรหมพันธุ์ จัดพิธีเปิดสดมภ์อนุสรณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ บริเวณดังกล่าว
ภาพวันเปิดสดมภ์อนุสรณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ 31 ต.ค.56
“เราจะสร้างอนุสาวรีย์สามัญชนให้มากขึ้น ที่ต่อไปคือที่ราชประสงค์ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สามัญชนจะมีพื้นที่แสดงคุณงามความดี วีรกรรมของสามัญชน สามารถมีพื้นที่สาธารณะในประเทศได้” ธิดา กล่าวในวันเปิดสดมภ์อนุสรณ์นวมทอง
 
นอกจากนี้ 30 มี.ค. 2553 ระหว่างการชุมนุมของ นปช. ได้มีการปั้นรูป 'นวมทอง ไพรวัลย์' โดยศิลปินไทยเสรีชน ซึ่งผสมเลือดของคนเสื้อแดงที่ใช้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ก่อนหน้านั้น 
 
“ช่วงต้นข้อมูลยังไม่แพร่หลายว่าแกเป็นชาวพุทธที่ไม่ได้ตัดสินใจตายอย่างชั่ววูบ แต่มีสติ มีบันทึก มีเทป มีทุกอย่าง ทุกวันนี้คนเสื้อแดงก็รับรู้ อยากจะใช้คำว่า ปฏิมาสามัญชน ปกติคำว่าปฏิมา นี้ใช้เรียกเฉพาะพุทธรูป แต่มองว่านวมทองมีความบริสุทธิ์ มั่นคง มีความเสถียรของอุดมการณ์ จนไปพ้นความเชื่อแบบศาสนาพุทธว่าฆ่าตัวตายแล้วต้องตกนรก” ไม้หนึ่ง ก.กุนที ที่ถูกนิยามว่าเป็น “กวีสีแดง” หนึ่งในกลุ่มศิลปินไทยเสรีชนอธิบายผลงานชิ้นนี้ และเตรียมตั้งชื่อว่า “นวมทอง ไพรวัลย์ ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย”
คำว่าประชาทิพย์ ปรากฏในบทกวีของเขาหลังเหตุการณ์สงกรานต์เลือด โดยเขาให้เหตุผลว่า โดยมโนคติเดิมมักบอกว่าคนดีตายแล้วขึ้นสวรรค์ แต่เขาเห็นว่าคนที่อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ตายแล้วก็คงไม่ไปเสวยผลบุญส่วนตัวด้วยการไปสวรรค์ แต่น่าจะยังยินดีเป็นเจ้าที่เจ้าทาง ผีทุ่งผีนา ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ดูแลปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อส่วนรวม 
บทกวีที่ถูกอ่านระหว่างผู้คนเริ่มต้นลงมือปั้นรูปเหมือนดินเหนียวนวมทอง ไพรวัลย์ (30 มี.ค.53)
 
ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ผู้กล้าท่องถนนเถื่อน
กี่วัน กี่ปี เดือน
ยังเหมือนอยู่ให้รู้เห็น
 
สงครามของคนไพร่
ผองเพื่อนไทยผู้ลำเค็ญ
ลุกฮือเพราะจำเป็น
เขาไม่เห็นเราเป็นคน
 
ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ตระกองดินเริ่มตั้งต้น
ปฏิมาสามัญชน
ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย
 
สงครามหว่งชนชั้น 
เพื่อคืนวันชื่นสดใส
อำนาจ ทรัพย์กระจาย
เกลี่ยเฉลี่ยได้ทั่วถึง
 
แดงฉานชนชั้นล่าง
ชุบชีพวีรชนหนึ่ง
มวลสารคลุกเคล้าคลึง
คือเลือดไร่สามัญคน
 
ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ตระกองดินได้ตั้งต้น
ปฏิมาสามัญชน
ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย
 
"ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย"
ไม้หนึ่ง ก.กุนที
 
 
ภาพการปั้นรูปเหมือนดินเหนียวนวมทอง ไพรวัลย์ (30 มี.ค.53)
ภาพสำนักงานของมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ได้จัดพิธีเปิดห้องประชุมลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อ 31 ต.ค.58  
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมรำลึกถึงนวมทอง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมือง ตลอด เช่น 19 ก.ย.2557 นักศึกษาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท) ติดป้ายดำรำลึก 8 ปี รัฐประหาร 19 กันยา บริเวณสดมภ์อนุสรณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ พร้อมข้อความ “นายประชาธิปไตย ของไทย ชาตะ 24 มิ.ย.2475 มรณะ 19 ก.ย. 49 และล่าสุด...?” โดยใช้แซนด์วิชเป็นที่ถ่วงป้ายไว้
ภาพกิจกรรมของ ศนปท.เมื่อ 19 ก.ย.2557
31 ต.ค. 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมรำลึก 9 ปี การเสียชีวิตของนวมทอง พร้อมข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ โดยมีการเดินเท้าจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มายังบริเวณกองบัญชาการกองทัพบก เพื่ออภิปรายเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ จากนั้นเดินเท้ากลับมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ท่ามกลางการควบคุมสถานการณ์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร
กิจกรรมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เมื่อ 31 ต.ค. 2558

บุญชู ไพรวัลย์ ภรรยานวมทอง ไพรวัลย์ ร่วมกิจกรรมรำลึกที่สะพานลอยหน้าไทยรัฐ ซึ่งจัด นำโดย กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เมื่อ 31 ต.ค.55
กิจกรรมรำลึกที่สะพานลอยหน้าไทยรัฐ ซึ่งจัด นำโดย กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เมื่อ 31 ต.ค.55 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการจัดสร้างสดมภ์อนุสรณ์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น