วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

วิษณุ ย้ำ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ

29 ก.ย. 2559 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีตามความเห็นศาลรัฐธรรมนูญว่า ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากการเลือกตั้งต่อจากนี้จะเริ่มต้นด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่เสนอ โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 376 เสียง แต่หากเลือกไม่ได้ให้สมาชิกรัฐสภาเสนอให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ โดยใช้เสียง 376 เพื่อรับรองญัตติ และใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 501 คน จึงจะถือว่าผ่านญัตติ จากนั้นจึงจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ แต่ผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจะเป็น ส.ส. เท่านั้น และจะต้องใช้เสียง 376 เสียง เพื่อคัดเลือกนายกรัฐมนตรี
“หากที่ประชุมเห็นชอบให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ ต่อมาค่อยเสนอใครก็ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. เป็นคนนอกใครก็ได้ และตัว ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อ และเป็นไปตามที่ กรธ.อธิบายว่าไม่ใช่ ส.ว. เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เพียงแต่มีสิทธิเสนอญัตติและมีสิทธิร่วมโหวตเท่านั้น ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังตีความว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการนี้จะเลือกกี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปี หากเกิดกรณีใด ๆ ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ซึ่งกรธ.ได้เขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความออกมาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามเรื่องทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผ่านเสียงประชามติจากประชาชนแล้ว” วิษณุ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น