วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

'โฆษกกลาโหม' แจงเที่ยวบินประวิตร ทำตามระเบียบตรวจสอบได้ ยกความมั่นคงปัดเผยชื่อผู้ร่วมทริป


โฆษกกระทรวงกลาโหม แจงเที่ยวบินพล.อ.ประวิตร ไปประชุม รมว.กลาโหม ที่ฮาวาย เหตุเช่าเหมาลำ เพราะเส้นทางใหม่ ยันค่าอาหารแพง ปฏิบัติไปตามระเบียบป.ป.ช. ยันโปร่งใส ตรวจสอบได้ ยกเรื่องของความมั่นคงไม่สามารถเปิดเผยผู้ร่วมทริป ขณะที่ เพจCSI LAข้องใจไปแค่ 38 คน ทำไมเช่าเครื่องลำใหญ่ จุคนได้ 416 คน
3 ต.ค. 2559 จากที่มีการเผยแพร่ราคากลางจัดซื้อ-จัดจ้าง ประจำปี พ.ศ.2559 ในการจ้างการรับขนคนโดยสารทางอากาศโดยเครื่องบินพาณิชย์ ณ เมืองฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค. 2559 โดยมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายรวม 20,953,800 บาท ซึ่งเป็นการเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน –รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่า (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น 
ล่าสุดวันนี้ (3 มี.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กรณีดังกล่าวว่า การเดินทางไปร่วมประชุมดังกล่าว มีความจำเป็นต้องเช่าเครื่องบินเหมาลำ เนื่องจากเป็นการเดินทางเป็นหมู่คณะ ที่มีกำหนดการแน่นอนไปยังจุดหมาย ที่ไม่มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งการบริการจากสายการบินพาณิชย์ทั่วไป ต้องต่อเครื่องบินหลายครั้งและไม่ได้ทำการบินทุกวัน จึงไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันเครื่องบินของกองทัพอากาศเอง ก็ยังไม่พร้อมและไม่มีขีดความสามารถพอในเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากต้องใช้เวลาบินถึง 19 ชั่วโมง และต้องบินลงเติมน้ำมันระหว่างเส้นทางถึง 2 ครั้ง เพราะฉะนั้นการเช่าเครื่องบินเหมาลำจากการบินไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน ที่มีความชำนาญและมีบริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำอยู่แล้ว จึงมีความเหมาะสมกว่า
พล.ต.คงชีพ กล่าวต่อว่า สำหรับการคำนวณราคากลางที่เผยแพร่กันอยู่นั้นเป็นเรื่องปกติ ที่หน่วยงานรัฐจะต้องปฏิบัติ ตามระเบียบของทางราชการ รวมทั้งข้อบังคับของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อความโปร่งใส เนื่องจากเป็นงบประมาณแผ่นดิน โดยการเช่าเหมาลำเส้นทางดังกล่าว ยังไม่เคยกำหนดราคากลาง จึงต้องให้บริษัทการบินไทย ประมาณการค่าใช้จ่าย และเสนอหน่วยงานรัฐจัดทำเป็นราคากลางประกาศให้ทราบ ตามที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซด์ของหน่วยงานและกรมบัญชีกลาง ซึ่งทราบว่า บริษัทการบินไทยได้คิดค่าใช้จ่ายระหว่างองค์กรของรัฐ ตามราคาต้นทุน ซึ่งตรวจสอบได้ และจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ
 
“ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องดีที่สังคมปัจจุบัน มีความตื่นตัว เรียนรู้และมีส่วนร่วมในการทำงานของภาครัฐมากขึ้น ซึ่งรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้มีนโยบายที่ชัดเจน ให้ทุกส่วนราชการ ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการให้ถูกต้องและให้เป็นไปตามข้อบังคับขององค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันสร้างบรรทัดฐานการทำงานของภาครัฐ ที่เน้น เปิดเผย โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้” พล.ต.คงชีพ กล่าว และว่า เรื่องดังกล่าว ทั้งภาครัฐและประชาชน จำเป็นต้องมีส่วนร่วมเรียนรู้และทำความเข้าใจ ไปด้วยกัน
 
มติชนออนไลน์ ยังรายงานต่อด้วยว่า ต่อกรณีคำถามว่าสามารถเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ร่วมเดินทางด้วยได้หรือไม่ พล.ต.คงชีพกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องของความมั่นคงจึงไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น
 
“สำหรับเรื่องค่าอาหารบริการบนเครื่องบินที่มีราคาสูงถึง 600,000 บาท ว่าโดยปกติจะมีการคำนวณเป็นรายหัว ซึ่งจำเป็นต้องประมาณการไว้สูง แต่หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจก็จะเบิกตามความเป็นจริง รวมถึงค่าน้ำมันเครื่องบินด้วยที่ราคาอาจจะสูงกว่าปกติ เพราะฉะนั้นจึงต้องทำราคากลางเอาไว้ ซึ่งอาหารบนเครื่องบินก็เป็นอาหารไทยปกติธรรมดาไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
 

เพจCSI LAข้องใจไปแค่ 38 คน ทำไมเช่าเครื่องลำใหญ่ จุคนได้ 416 คน

เพจดังอย่าง CSI LA มีผู้ติดตามกว่า 7 แสนคน ตั้งคำถามว่า เครื่องบินสายการบินไทยเที่ยวบินTG8886 เป็นเครื่องบินรุ่น Boeing747-400 ขนาดจัมโบเจ็ตลำใหญ่สามารถจุผู้โดยสารนั่งได้ถึง 416 คน เหตุใดจึงต้องเหมาไปทั้งเครื่องเพื่อคนแค่ 38 คน
 
“พอเพียง? เครื่องบินสายการบินไทยเที่ยวบิน TG8886 เป็นเครื่องบินรุ่น Boeing747-400 ขนาดจัมโบเจ็ตลำใหญ่สามารถจุผู้โดยสารนั่งได้ถึง 416 คน อยากทราบว่าพวกท่านผู้มีอำนาจมีความจำเป็นอะไรที่ต้องเหมาไปทั้งเครื่องเพื่อคนแค่ 38 คน? มันพอเพียงแล้วหรือ” เพจ CSI LA โพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น