วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

'บินไทย' แจ้ง ปอท.เอาผิด 'หยุดดัดจริตประเทศไทย' ปมปล่อยชือทริปฮาวาย ระบุเป็นข้อมูลลูกค้า

6 ต.ค.2559 ความคืบหน้าจากกรณีการเดินทางโดยเครืองบินของการบินไทย ไปร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการ ที่เมืองฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค. 2559  โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่า เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายรวม 20,953,800 บาท โดยมีค่าอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน 600,000 บาท (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น 
ต่อมาเฟซบุ๊กแฟนเพจดังอย่าง 'หยุดดัดจริตประเทศไทย' ได้รายชื่อที่ระบุว่าเป็นผู้ร่วมคณะเดินทางไปฮาวายดังกล่าวมาเผยแพร่ 
 
ล่าสุดวันนี้ (6 ต.ค.59) มติชนรายงานว่า ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) รายงานข่าวแจ้งว่า นักกฎหมายของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) รับอำนาจจาก จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเพจชื่อ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ที่เผยแพร่รายชื่อผู้ร่วมไฟลต์เที่ยวบิน TG8885 จำนวน 43 คน ซึ่งเป็นเที่ยวเดียวกับคณะของ พล.อ.ประวิตร ที่เดินทางไปประชุมที่ฮาวาย เนื่องจากเป็นข้อมูลลูกค้า ซึ่งเป็นความลับ ขณะที่วันที่เดินทางนั้นมีการถอดรายชื่อออกบางส่วน เนื่องจากไม่ได้เดินทางไปในวันดังกล่าว จึงต้องการให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี เนื่องจากทำให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เสื่อมเสียชื่อเสียง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่รับเรื่องเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
 
โดย พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท. เปิดเผยว่า การบินไทยส่งตัวแทนเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง ทางเราเป็นเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบจะได้รวบรวมพยานหลักฐาน ข้อมูลต่างๆ ต่อไป หากพบว่าเป็นการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐาน ใครทุกคนที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดทั้งเว็บไซต์ หรือเพจเฟซบุ๊ก
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพบว่าคนในหรือใครก็ตามเป็นผู้กระทำความผิดเผยแพร่ข้อมูลออกมาจะต้องดำเนินคดีหรือไม่ พ.ต.อ.โอฬาร เปิดเผยว่า เป็นเรื่องภายในที่จะต้องตรวจสอบดำเนินการ ถ้าเกี่ยวพันว่ามีการกระทำความผิดต้องดำเนินการด้วย ส่วนข้อหาต้องรวบรวมพยานหลักฐานสอบสวนก่อนถึงจะดำเนินการพิจารณาตั้งข้อหาได้ ขณะนี้ทราบเพียงข้อเท็จจริงที่มีการชี้แจงให้ทาง ปอท.ช่วยรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบผู้ที่นำข้อมูลไปเผยแพร่ ขั้นแรกเจ้าหน้าที่จะต้องรวบรวมข้อเท็จจริงก่อนว่ามีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นหรือไม่ แล้วข้อเท็จจริงดังกล่าวมีพยานหลักฐานยืนยันไหม หากมีพยานหลักฐานแล้วใครเป็นผู้กระทำ ก็ดำเนินขั้นตอนไปตามกฎหมาย
 
เมื่อถามว่า เว็บไซต์หรือเพจที่เผยแพร่ข้อมูลไปเปิดในต่างประเทศจะสามารถดำเนินการจับกุมได้หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารกล่าวว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือความผิดตามกฎหมายไทยที่บัญญัติว่าต้องรับโทษในประเทศไทยสามารถดำเนินการได้หมด เพียงแต่ว่าจะได้ตัวผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิดมาลงโทษแค่ไหน หรือจะได้พยานหลักฐานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการดำเนินการ เป็นรายละเอียดในแนวทางการสืบสวนสอบสวน อย่างไรก็ตาม ไม่มีแรงกดดันจากฝ่ายไหน ยืนยันว่าไม่มีใครกดดันหรือสั่งการให้ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
 

ช่อง5 แจ้ง ปอท. เอาผิดด้วย เหตุหมิ่นดองข่าว กรณี 'ชลรัศมี'

เนชั่นทีวี รายงานด้วยว่า เฟซบุ๊กเพจ "หยุดดัดจริตประเทศไทย" ได้เผยแพร่รายชื่อผู้โดยสารเที่ยวบินเช่าเหมาลำดังกล่าว ซึ่ง พบว่าลำดับที่ 20 มีชื่อของ MAJ CHONRATSAMEE NGATHAWEESUK ที่นั่ง 24F ต่อมา "Tippy leds" เฟซบุ๊กของ พ.ต.หญิงชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าวสาว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านรายการ เช้านี้ประเทศไทย ระหว่างเวลา 7.00-8.00 น. ซึ่งจัดร่วมกับ วิทย์ สิทธิเวคิน ว่า วันที่ 31 ก.ย. ตนจัดรายการสดอยู่กรุงเทพฯ อยู่หน้าจอช่อง 5 ไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ไปต่างประเทศ และวันที่ 1 ต.ค. อยู่ที่ท้องนา ที่จ.นครนายก ซึ่งเป็นบ้านสวนของตนเองนั้น
 
โดยที่วานนี้ ที่ บก.ปอท. พ.อ.ดร.ธนาธิป สว่างแสง ผอ.ฝ่ายรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก และพ.อ.จิรศักดิ์ เอี่ยมสมบุญ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.สยาม บุญสม รอง ผบก.ปอท. เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรณีดังกล่าว โดยได้นำหลักฐานตารางการออกอากาศของทางสถานีโทรทัศน์วิทยุกองทัพบกทั้งหมดมามอบให้ 
 

ยันให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำข้ามทวีปตามมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้

 
วานนี้ เพจ Thai Airways ได้เผยแพร่คแถลงของ จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดย จรัมพร เปิดเผยว่า กรณีที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีซื้อบริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำของการบินไทยเดินทางไปฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เพื่อปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยนั้น การบินไทยขอยืนยันข้อมูลดังนี้
 
- ในเที่ยวบินขาไปมีผู้โดยสารจำนวน 38 คน และในเที่ยวบินขากลับมีผู้โดยสารจำนวน 41 คน ซึ่งเป็นจำนวนตามที่โฆษกกระทรวงกลาโหมได้แถลงไปแล้ว
 
- เรื่องค่าใช้จ่ายนั้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ขอตรวจสอบมาที่การบินไทยแล้ว และบริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการถูกตรวจสอบอย่างเต็มที่ การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ทำทุกอย่างต้องโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และขอยืนยันว่าการคิดค่าใช้จ่ายการจัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่การบินไทยเสนอไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นราคาประมาณการ เป็นราคาที่เสนอระหว่างองค์กรของรัฐต่อรัฐตามราคาต้นทุนซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และสามารถเปรียบเทียบราคากับสายการบินอื่นในระดับพรีเมี่ยมได้ และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว การบินไทยจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง
 
- เรื่องอาหารบนเครื่องบินทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับให้บริการอาหารและเครื่องดื่มรวมทั้งหมด 4 มื้อหลัก รวมทั้งอาหารว่างตลอดการเดินทาง และอาหารสำรองที่ต้องจัดเตรียมไว้ในกรณีที่การทำการบินไม่เป็นไปตามแผนการบิน ซึ่งการจัดเตรียมอาหารจะพิจารณาจากระยะเวลาที่ใช้ทำการบิน โดยเส้นทางกรุงเทพฯ - ฮาวาย ใช้เวลาทำการบิน 12.30 ชั่วโมง ส่วนเที่ยวกลับเส้นทางฮาวาย - กรุงเทพฯ ใช้เวลาทำการบิน 12.45 ชั่วโมง ทั้งนี้ การบินไทยได้นำเสนอเมนูหลากหลายให้ผู้ซื้อบริการเป็นผู้เลือกก่อนการเดินทาง เพื่อให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบินตามมาตรฐานพรีเมี่ยมของการบินไทย
 
- การเลือกใช้เครื่องบินโบอิ้ง 747-400 ทำการบิน เนื่องจากเป็นเครื่องบินที่สามารถทำการบินข้ามทวีปได้โดยไม่ต้องแวะพักเติมเชื้อเพลิงระหว่างทาง และเป็นแบบเครื่องบินที่บริษัทฯ มีให้บริการได้เพียงพอ สามารถนำมาให้บริการเช่าเหมาลำได้ โดยไม่กระทบกับตารางการบินปกติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น