ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม
สั่งย้ายพร้อมตรวจสอบ 'ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม' รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ กรณีตรวจสอบ พล.อ.ปรีชา ด้านอัยการสูงสุด ยันไม่มีใบสั่ง ระบุเป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งของการตรวจสอบข้อเท็จจริง
6 ต.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก 'ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม' ของ ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งการสนับสนุนให้เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และศรีสุวรรณ จรรยา ที่ร้องให้มีการสอบสวนกรณี พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ นั้น
วันนี้ มติชนออนไลน์ รายงานว่า ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีคำสั่งโยกย้าย ปรเมศวร์ กรณีโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ดังกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งของการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เท่านั้นเอง ส่วนกระเเสข่าวว่ามีการมากดดันให้ย้าย ปรเมศวร์ นั้น ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีการกดดันมาจากผู้มีอำนาจเเต่อย่างใด
เมื่อถามว่าใครเป็นคนเเจ้งหรือร้องให้ตรวจสอบกรณีนี้ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้นอกจากจะมีการโพสต์ลงเฟซบุ๊กเเล้วยังมีสื่อมวลชนนำไปลงทั้งทีวีเเละหนังสือพิมพเเละสื่อหลักๆ ซึ่งเนื้อหามีการพาดพิงไปถึงผู้อื่นทำให้เรื่องนี้มีการตรวจสอบขึ้นมา
ต่อคำถามว่าจะย้ายนายปรเมศวร์ไปนานหรือไม่นั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ กล่าวว่า จะต้องดูผลการสอบว่าออกมาเป็นอย่างไรถึงจะบอกได้
ขณะที่ ประนต ผ่องแผ้ว ผู้ตรวจการอัยการ กล่าวว่า เพิ่งได้รับทราบคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรเมศวร์ ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากที่ได้อ่านคำสั่งโดยละเอียดแล้วจะปฎิบัติตามคำสั่งต่อไป เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดว่าจะนัดให้ ปรเมศวร์ มาสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวในวันใด โดยหลักการสอบก็จะเป็นการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นถึงเรื่องการโพสต์ ข้อความดังกล่าว ลงในเฟซบุ๊ค และ นอกจากนายปรเมศวร์แล้ว อาจจะมีการสอบเพิ่มขึ้น อีก1-2 คน เช่น ผู้บังคับบัญชาของนายปรเมศวร์ หรือ ผู้ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเมื่อมีการสอบครบประเด็นแล้ว ได้ความอย่างไรก็จะนำส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งการดำเนินการต่อไป โดยการสอบในชั้นนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะระบุว่ามีการพิจารณาลงโทษวินัยหรือไม่อย่างไร เป็นการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเท่านั้น
ส่วนเมื่ออัยการสูงสุดได้รับทราบผลจากการสอบแล้วจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบเพื่อเอาผิดวินัยต่อไปหรือไม่นั้น ไม่ทราบขึ้นอยู่กับอัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณา เมื่อถามต่อว่าว่าจะใช้ระยะเวลาในการสอบ ปรเมศวร์ เท่าไหร่นั้น ประนต กล่าวว่ายังไม่สามารถระบุได้ แต่ตามหลักแล้วคงจะไม่เกิน 30 วัน
เปิดคำสั่งย้าย
โดยวานนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2559 ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธ์ภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 1905/2559 เรื่องให้ พนักงานอัยการช่วยราชการ และปฏิบัติราชการ
ระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 มาตรา 15 มาตรา 19 และมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 จึงมีคำสั่งให้พนักงานอัยการช่วยราชการและปฏิบัติราชการดังนี้ 1. นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน รองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด รักษาการในตำแหน่ง รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา 2. นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา รักษาการในตำแหน่ง รองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
ย้อนข้อความที่โพสต์
สำหรับรายละเอียดข้อความที่เฟซบุ๊ก 'ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม' ของ ปรเมศวร์โพสต์นั้น ระบุว่า “วันก่อนได้ยินมาว่าท่านนายกกล่าวถึง คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และคุณศรีสุวรรณ จรรยา ที่ร้องให้มีการสอบสวนกรณีพลเอกปรีชา จันทร์โอชา และวงศาคณาญาติในหลายเรื่องตั้งแต่เรื่องฝาย เรื่องการใช้เครื่องบิน การใช้บ้านพักทางราชการตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน และการประมูลงานราชการ ว่าทั้งคุณเรืองไกรและคุณศรีสุวรรณนั้นทำมาหากินอะไรถึงได้ร้องได้ทุกเรื่อง เดี๋ยวท่านจะตรวจสอบทั้งสองคนนี้บ้าง ผมอยากจะเรียนว่าทั้งสองคนนั้นท่านก็เป็นประชาชนคนไทยที่รักชาติไม่แพ้ท่านหรอกครับ เขากำลังทำหน้าที่ของ “พลเมืองดี” ที่ตรวจความไม่ชอบมาพากลตามที่ “กฎหมาย” ให้อำนาจเขาไว้ กล่าวคือ เมื่อมีกรณีน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาอย่างหนึ่งขึ้น เขาซึ่งเป็นบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ “ผู้เสียหาย” ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น ซึ่ง “ข้อร้องเรียน” ของเขานั้น นักกฎหมายเราเรียกว่า “คำกล่าวโทษ” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (8) เพื่อให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจทำการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นบทบาทของพลเมืองดีโดยทั่วไปที่จะปกปักษ์รักษาบ้านเมืองของตน จะต่างกับท่านนายกตรงที่ท่านมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 สั่งเลื่อนลดปลดย้ายข้าราชการต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำทุจริตทั้งที่ยังไม่มีการสอบสวน แค่สงสัยเท่านั้น..จนครอบครัวเขาเสียชื่อเสียงไปมากมายก่ายกองและเสียหายไปชั่วลูกชั่วหลาน พอคนในตระกูลจันทร์โอชาโดนเข้าบ้าง ท่านจะไปโวยวายทำไม เหมือนกันแหละครับ ไม่โดนเองไม่รู้สึก พอท่านรู้สึกท่านก็จะสั่งตรวจสอบเขาบ้างว่าสองท่านนี้ทำมาหากินอะไร..ท่านเป็นนายกต้องระมัดระวัง คิดได้แต่อย่าคิดดัง เพราะสิ่งที่ทำคือเกียรติภูมิของประเทศนะครับ ไม่ได้สอนนะ แต่ว่าผมว่าท่านไม่เข้าใจหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย ไม่เชื่อลองถามอาจารย์วิษณุก็ได้ ว่าพูดถูกหรือเปล่า แต่ต้องขอให้อาจารย์ตอบแบบ “ครูกฎหมาย” นะครับ อย่าตอบแบบ “เนติบริกร นะครับ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น