วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

'วัฒนา' ถาม 'ป.ป.ช.-สตง.' คนขยันในรบ.ปู อยู่ไหน รบ.นี้กู้เงินแบงก์แจกคนโดยไม่ออกกม.รองรับ


วัฒนา เมืองสุข ชี้ รบ.แจกเงินผู้มีรายได้น้อย โดยให้ ธกส. ออมสิน และ กรุงไทย สำรองจ่ายไปก่อน เท่ากับทำผิดกฎหมายก่อหนี้กู้ยืมเงินจากธนาคารโดยไม่ได้ออกเป็นกฎหมายรองรับ จึงไม่ผูกพันที่รัฐสภาจะต้องอนุมัติงบฯปี 61 วอน 'ป.ป.ช. สตง.' ที่เคยขยันเล่นงานแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กรุณาอย่าเพิกเฉยกับเรื่องนี้
30 พ.ย. 2559 จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยตามที่กระทรวงการคลังเสนอในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือมาตรการแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 100,000 บาท รวม 5.4 ล้านคน จากที่ก่อนหน้านี้ ครม.อนุมัติช่วยเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว 2.9 ล้านคนไปแล้ว ภายใต้วง เงิน 6,540 ล้านบาท โดยอนุมัติวงเงินงบประมาณปี 61 จำนวน 12,750 ล้านบาท ส่วนวิธีการแจกเงินจะใช้วิธีการโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่วันที่ 1-30 ธ.ค.59 
วันนี้ (30 พ.ย.59) วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แสดงความเห็นวิจารณ์มาตรการดังกล่าวว่ามีกระบวนการเข้าข่ายผิดในทางกฎหมาย โดยระบุในหัวข้อบทความว่า “สิ้นคิดแถมยังผิดกฎหมาย” ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Watana Muangsook'
 
วัฒนา ระบุว่า มติ ครม. ที่เห็นชอบกรอบวงเงินจำนวน 12,750 ล้านบาท เพื่อแจกผู้มีรายได้น้อยโดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2560 ในส่วนของงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ตามที่สำนักงบประมาณเห็นสมควร โดยให้ธนาคาร ธกส. ออมสิน และ กรุงไทย สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายไปก่อนและชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคาร เท่ากับรัฐบาลทำผิดกฎหมายก่อหนี้กู้ยืมเงินจากธนาคารโดยไม่ได้ออกเป็นกฎหมายรองรับ จึงไม่ผูกพันที่รัฐสภาจะต้องอนุมัติงบประมาณประจำปี 2561 จำนวนดังกล่าวให้ จึงถือเป็นมติ ครม. ที่ขัดต่อกฎหมายและธนาคารที่ปล่อยกู้อาจจะไม่ได้รับเงินคืน ป.ป.ช. และ สตง. ที่เคยขยันเล่นงานแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กรุณาอย่าเพิกเฉยกับเรื่องนี้
 
การแจกเงินยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลขาดสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรที่มีปัญหาเรื่องราคา ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพด วิสัยทัศน์ของ นรม. จึงมีเพียงชวนข้าราชการออกกำลังในเวลาราชการและใช้ปากแก้ปัญหา เช่น โทษเกษตรกรที่ปลูกกันมากเอง หรืออยากได้ราคาให้เอาไปขายที่ดาวอังคาร หรือขอให้เห็นใจรัฐบาลที่มีงบประมาณจำกัด เมื่อจนตรอกก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการแจกเงิน ซึ่งตนไม่ได้คัดค้านผลประโยชน์ของประชาชน แต่รัฐบาลจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
"หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจคือความเชื่อมั่น แต่การที่ประเทศเป็นเผด็จการ มีหัวหน้ารัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์แต่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือทุกองค์กรและทุกคนตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไม่มีใครกล้ามาลงทุน เพราะอาจสิ้นคิดออกคำสั่งยึดกิจการของนักลงทุนแบบที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกาใต้ หรือยึดทรัพย์นักลงทุนแบบทัวร์ศูนย์เหรียญ ดังนั้น หากรักชาติและต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น หัวหน้ารัฐบาลจะต้องกำหนดเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง ประกาศว่าตัวเองและพรรคพวกจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศอีกต่อไปเว้นแต่จะลงเลือกตั้ง เพียงเท่านี้บรรยากาศของการลงทุนจะดีขึ้นและขยะสังคมที่พูดถึงก็จะหมดไปทันที ทำประเทศเสียหายมามากแล้ว ไม่คิดแก้ตัวทำความดีให้ประเทศบ้างเหรอครับ" วัฒนา โพสต์

ประยุทธ์ขออย่ากดดันตร. แนะ 'ธัมมชโย' มอบตัวสู้คดี ศรีวราห์ขีดเส้นตายเที่ยงคืนนี้


พล.อ.ประยุทธ์ ขอปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามขั้นตอน แนะ 'พระธัมมชโย' มาสู้คดีก็จบแล้ว ไม่ใช่ใช้วิธีการเอาคนหมู่มากมาต่อสู้คดีแบบนี้ รอง ผบ.ตร.ขีดเส้นตายมอบตัวเที่ยงคืนนี้
30 พ.ย. 2559 กรณีการดำเนินการกับพระเทพญาณมหามุนีหรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลังศาลจังหวัดเลย และศาลจังหวัดสีคิ้ว อนุมัติหมายจับ คดีบุกรุกพื้นที่ป่า และอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องฐานร่วมฟอกเงิน-รับของโจร ทุจริตสหกรณ์ยูเนียนคลองจั่น
วันนี้ (30 พ.ย.59) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จะต้องดูว่าเป็นคดีระหว่างใคร ซึ่งขณะนี้เหมือนประชาชนทั้งประเทศเข้าไปร่วมเป็นจำเลยทั้งหมด รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้ไปละเมิดใคร พระสงฆ์ก็คือพระสงฆ์ แต่กฎหมายรัฐก็คือกฎหมายรัฐ จึงต้องให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนที่เจ้าหน้าที่ยังไม่เข้าไปดำเนินการจับกุมในขณะนี้ เนื่องจากเกรงว่า ประชาชนจะได้บาดเจ็บ ซึ่งหากเกิดการสูญเสียแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วสังคมรับได้หรือไม่ จึงไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นขออย่ามากดดันเจ้าหน้าที่ เนื่องจากต้องจะดูเวลาที่เหมาะสมในการเข้าไป จึงขอปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามขั้นตอน
"ถามว่าอยากให้เกิดไหม ถ้าอยากให้เกิดเดี๋ยวไปวันนี้ ให้เวลาเขาสิ ต้องไปกดดันคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่ากดดันเจ้าหน้าที่ จะให้ตีกันตั้งแต่เข้าประตู สังคมยอมรับได้หรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่ก็ต้องดูเวลาที่เหมาะสมว่าจะเข้าไปตอนไหน ท่านต้องไปไล่คนที่ทำความผิดให้ออกมาข้างนอก คนอื่นจะได้ไม่เดือดร้อน ไม่เจ็บตัว มาสู้คดีก็จบแล้ว ไม่ใช่ใช้วิธีการเอาคนหมู่มากมาต่อสู้คดีแบบนี้ ที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการใช้คนเยอะๆ นั้นเกิดอะไรขึ้น มีบทเรียนอยู่แล้ว ถ้าบอกว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามหน้าที่ แต่หน้าที่พลเมืองก็อย่าขัดขวางการดำเนินการ ที่พูดมาไม่ได้อารมณ์เสีย แต่หลายเรื่องมันมีปัญหา ซึ่งก็กำลังแก้ไขอยู่ แต่ยังทำไม่ได้ทั้งหมดเพราะยังมีปัญหาเช่นนี้อยู่ และสื่อก็ต้องช่วยเพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขอให้ออกมามอบตัวต่อสู้คดี ผมต้องการแค่นี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า จะต้องไปไล่คนที่ทำความผิดออกมามอบตัวแล้วสู้คดี อย่าเอาคนหมู่มากมาต่อสู้ ซึ่งประชาชนเองก็ไม่ควรขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่
 

ศรีวราห์ขีดเส้นตายเที่ยงคืนนี้

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จะให้เวลาพระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถึงเที่ยงคืน วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2559  ) หากยังไม่มามอบตัวพนักงานสอบสวนจะพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย และเตรียมดำเนินคดีกับรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหาให้ที่พักพิงกับผู้ต้องหาตามหมายจับ หลังจากปรากฏในการให้สัมภาษณ์ของโฆษกวัดพระธรรมกาย ว่าพระธัมมชโย รักษาอาการอาพาธอยู่ภายในวัด และจนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับการประสานงานใดๆจากทางวัด จำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ให้การช่วยเหลือพระธัมมชโย เพิ่มเติมด้วย
 
ส่วนที่ผู้บังคับการจังหวัดปทุมธานี นำหนังสือแจ้งให้พระธัมมชโย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาของตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปติดประกาศที่ประตูวัดพระธรรมกาย นั้นมีกำหนดให้เข้ามอบตัวภายในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ส่วนจะนำกำลังเข้าจับกุม หรือ ตรวจค้นนั้นตำรวจมีแผนปฎิบัติการแล้วตามขั้นตอน

เกษียณแล้วมีงานทำ ครม.อนุมัติ 'พล.อ.ธีรชัย' อดีต ผบ.ทบ. นั่งประธานบอร์ดประปาส่วนภูมิภาค


คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติให้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นประธานกรรมการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมอนุมัติกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งครบวาระ 1 ปี คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ จำนวน 20 ราย พล.อ.ปัฐมพงศ์ ไพศาล พืชมงคล นั่งต่อ

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา จากรายงานสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) 29 พ.ย. 2559 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ อื่นในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 8 คน เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปีแล้ว เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2559 ดังนี้
1. พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ประธานกรรมการ 2. พล.ต.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ กรรมการ 3. ประยูร รัตนเสนีย์ กรรมการ 4. ฉัตรชัย พรหมเลิศ (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ  5. ร.ต.ท อาทิตย์ บุญญะโสภัต (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ 6. จรินทร์ จักกะพาก (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ 7. เวทย์ นุชเจริญ (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ  8. เยาวนุช วิยาภรณ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2559 เป็นต้นไป 
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้  1. ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2559 เรื่อง ให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่อีกหนึ่งวาระ (จำนวน 6 ราย) และ  2. ให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งครบวาระ 1 ปี คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ จำนวน 20 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งทุกราย ดังนี้
1) พล.ต.ท.วรศักดิ์ นพสิทธิพร ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 2) ธวัช สุนทราจารย์ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 3) พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 4) พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 5) วีระศักดิ์ ฟูตระกูล ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2559 6) วินิจฉัย แจ่มแจ้ง ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2559 7) ไพศาล พืชมงคล   ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 8) รศ.ไชยา ยิ้มวิไล ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 9) พล.อ.รุ่งโรจน์ จำรัสโรมรัน ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 10) รศ.ชวนี ทองโรจน์ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 11) พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 12) พล.ต.ท.ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 13) พล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 14) ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 15) พรชัย ตระกูลวรานนท์ ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2559 16) จินตนา ชัยยวรรณาการ ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2559 17) ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 18)  สุปราณี จันทรัตนวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 19)  เพิ่มศักดิ์ บ้านใหม่ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559  20) เกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559
สำหรับการแต่งตั้งอดีต ผบ.ทบ. ขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญนั้น เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบรายชื่อแล้ว จำนวน 13 คน โดย มีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีต ผบ.ทบ. เป็นเป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในคณะขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า(คปต.ส่วนหน้า)

เดือนเดียวว่างงานเพิ่ม 1.16 แสนคน ต.ค.59 คนว่างงานรวมทะลุ 4.5 แสนคน


'สถิติแห่งชาติ' เผยภาวะการทํางานของประชากร ต.ค.59 ผู้ว่ างงานรวม 4.5 แสนคน หรือ ร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้น 1.22 แสนคน เมื่อเทียบกับช ่วงเวลาเดียวกันของปี 58 ขณะที่เมื่อเทียบกับ เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1.16 แสนคน จาก 3.34 แสนคน
30 พ.ย. 2559 สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแพร่ สรุปผลการสํารวจ ภาวะการทํางานของประชากร (เดือนตุลาคม พ.ศ. 2559) โดยมีผู้ว่างงานจํานวน 4.50 แสนคน  คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2  ขณะที่มีกําลังแรงงานประมาณ 37.72 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้มีงานทํา 37.14 ล้านคน และผู้รอฤดูกาล 1.34 หมื่นคน
ผลการสํารวจภาวะการทํางานของประชากร เดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 พบว่ า จํานวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 55.71 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยู ในกําลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทํางาน 37.72 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทํา 37.14 ล้านคน ผู้ว ่างงาน 4.50 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.34 แสนคน ส ่วนผู้ที่อยู่ นอกกําลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่ พร้อมทํางาน 17.99 ล้านคน ได้แก่ แม่ บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น
สําหรับจํานวนผู้ว่ างงานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 มีทั้งสิ้น 4.50 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่ างงาน ร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช ่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 จํานวนผู้ว่ างงานเพิ่มขึ้น 1.22 แสนคน จาก 3.28 แสนคน เป็น 4.50 แสนคน แต่ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 จํานวนผู้ว ่างงานเพิ่มขึ้น 1.16 แสนคน จาก 3.34 แสนคน เป็น 4.50 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว ่างงานกับช่ วงเวลา เดียวกันของปีที่ผ่ านมา พบว่ าอัตราการว่ างงานเพิ่มขึ้น จาก ร้อยละ 0.9 เป็นร้อยละ 1.2 หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อัตราการว่ างงานเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 0.9 เป็นร้อยละ 1.2
ที่มา เว็บไซต์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ
สําหรับระดับการศึกษาที่สําเร็จของผู้ว่ างงานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 พบว่ า ผู้ว่ างงานที่สําเร็จการศึกษาใน ระดับอุดมศึกษา 1.91 แสนคน (อัตราการว ่างงานร้อยละ 2.3) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.05 แสนคน (ร้อยละ 1.7) ระดับประถมศึกษา 6.7 หมื่นคน (ร้อยละ 0.8) ระดับ มัธยมศึกษาปลายหรือเทียบเท ่า 6.5 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) และ ผู้ที่ไม ่มีการศึกษาและต่ํากว าประถมศึกษา 2.2 หมื่นคน (ร้อยละ 0.3) เมื่อเปรียบเทียบกับช วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบว ่า จํานวนผู้ว่ างงานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น 5.5 หมื่นคน ระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 5.0 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษา ตอนปลายหรือเทียบเท่ าเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นคน และระดับ ประถมศึกษาเพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นคน ส ่วนผู้ ที่ไม่ มีการศึกษาและต่่ำ กว่ าประถมศึกษาลดลง 4.0 พันคน

'มีชัย' เตือน รบ.ใหม่ ไม่ทำตาม 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี' จะได้ชื่อว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ


ประธาน กรธ. ถก กม.ยุทธศาสตร์ชาติ ย้ำ รบ.หน้าไม่ทำ ส่อผิดรัฐธรรมนูญ ระบุแก้ไขได้โดยผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนมาก่อน เชื่อ คสช. ดูเวลาเหมาะสมปลดล๊อคพรรคการเมืองทำกิจกรรม

30 พ.ย. 2559 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ที่โรงแรมเอบิน่า เฮ้าส์ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ณ ขณะนี้ได้มีการหารือถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งตนจะเข้าหารือกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในนามกฤษฏีกาด้วย ทั้งนี้หลังจากร่างรัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้แล้ว กฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำยุทธศาสตร์และกฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำการปฏิรูปนั้น ก็จะต้องออกมาภายในระยะเวลา 120 วันเช่นกัน ดังนั้น คงต้องรีบจัดทำให้เสร็จ และจากนั้นก็จะนำไปสู่การมียุทธศาสตร์และวิธีการปฏิรูปภายในระยะเวลา 1 ปี ส่วนที่ฝ่ายการเมืองกลัวกันว่ายุทธศาสตร์ชาติจะไปบังคับการทำงานของรัฐบาลหลังจากนี้นั้น คิดว่าเวลาเขียนวิธีจัดทำกฎหมายต่างๆ รัฐบาลจะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ยุทธศาสตร์ชาติก็เปรียบเสมือนกับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาถูกทอดทิ้งพอสมควร เวลาจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ถ้าหากรัฐบาลถัดๆมาไม่ทำตามก็เท่ากับว่าเสียของ ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ
“ยุทธศาสตร์ที่กำลังจะถูกกำหนดขึ้นมาใหม่นั้นจะเป็นยุทธศาสตร์ระยะเวลายาวถึง 20 ปี เพื่อกำหนดว่าอนาคตของประเทศไทยข้างหน้า จะมีหน้าตาจะเป็นอย่างไร การกำหนดยุทธศาสตร์ไม่ได้คิดขึ้นมาได้เองแต่เกิดจากแม่น้ำสายต่างๆอาทิ สปท. สนช. ได้ไปรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆมา แล้วนำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์อนาคต สมมติว่า รัฐบาลนี้มีแผนกำหนดว่าประเทศไทยวันข้างหน้าต้องเป็นแบบ 4.0 แต่พอรัฐบาลใหม่มา เขากลับกำหนดว่า ไม่เอา กลับไปขี่เกวียนดีกว่า เอาแค่ 1.0 พอ เขาก็ต้องไปทำกระบวนการถามความเห็นชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านเขาเห็นด้วยว่าขี่เกวียน จะได้ไม่เหม็นน้ำมัน รัฐบาลก็ต้องไปปรับยุทธศาสตร์ว่าให้ขี่เกวียนแทน แล้วถ้าชาวบ้านเอาก็ไม่มีใครเขาห้าม นี่เป็นกระบวนวิธีการ ไม่มีบทลงโทษ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามยุทธศาสตร์ เขาก็จะได้ชื่อว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้กฎหมายจะไม่มีโทษอะไร แต่ในรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดโทษของการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เว้นแต่ว่ารัฐบาลนั้นได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติโดยผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนมาก่อน” มีชัย กล่าว
ต่อกรณีคำถามถึงขั้นตอนและกำหนดการเวลาจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ นั้น มีชัย กล่าวว่า กรธ.ได้ทำตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องระวัง ไม่ควรออกกฎหมายมารวดเดียว เพราะถ้าทำแบบนั้นก็จะดูเหมือนว่าเป็นการกลั่นแกล้งพรรคการเมือง ส่วนเรื่องการปลดล๊อคให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น ไม่ใช้เรื่องของกรธ. แต่ขึ้นอยู่กับ คสช.และรัฐบาลจะเป็นผู้ปลดล๊อคให้ ดังนั้นกรธ.ก็ต้องนึกถึงเขาว่าจะมีกำหนดเวลาทำงานได้เมื่อไร จะสามารถทำงานได้นานเท่าไรด้วย ถ้ากำหนดระเวลาสั้นไป เขาคงลำบาก
ต่อกรณีคำถามถึงความเห็นการปลดล๊อคห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองว่าควรจะกำหนดให้ทำได้หลังจาก พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งออกมาครบทั้ง 4 ฉบับ อาจจะมีปัญหาได้ เพราะจะเข้าสู่ระยะเวลาการเลือกตั้งภายใน 150 วันแล้ว นั้น มีชัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับคงออกมาพรวดเดียวไม่ได้ คงต้องออกมา 2 ฉบับก่อน คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองและว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังจากนั้น จึงจะรู้ว่าควรจะต้องใช้เวลากี่วัน แล้ว กรธ.ก็จะคำนวนเวลาที่จะต้องออก พ.ร.บ.อีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ที่มา ส.ว. ทั้งนี้ตนเชื่อว่าทางรัฐบาลและ คสช.นั้นคงจะดูแลในเรื่องกำหนดเวลาที่เหมาะสมตรงนี้อยู่แล้ว คงจะไม่เกิดปัญหาตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังพูดในวันนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าเมื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ไปให้ สนช.พิจารณาแล้ว สนช.จะแก้อย่างไรบ้าง หากเมื่อถึงเวลานั้นก็คงจะมีการปรับกำหนดเวลาที่เหมาะสมกันอีกทีหนึ่ง

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พล.อ.ประยุทธ์ประชุม ครม. วาระพิเศษ - สนช.เตรียมประชุม 11.00 น.


พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นวาระพิเศษ โดยมีสมาชิก คสช. ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประธาน กรธ. ร่วมด้วย ก่อนส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา
29 พ.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีวาระพิเศษ ที่จะส่งต่อให้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณา ซึ่งรัฐบาลได้เชิญสมาชิกคสช. เข้าร่วมรับทราบด้วย โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะสมาชิกคสช. ซึ่งเมื่อวานนี้ (28พ.ย.) เลขาธิการวุฒิสภาปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกหนังสือด่วนเรื่องการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาระเบียบวาระการประชุม ตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรัฐมนตรี โดยนัดพิเศษ ในเวลา11.00น. ที่อาคารรัฐสภา
ในรายงานของมติชนออนไลน์ ระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุม เกี่ยวกับการพิจารณาวาระพิเศษการตั้งพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ว่า ขณะนี้การประชุมวาระพิเศษได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยได้มอบหมายให้เลขาฯ นำเรื่องส่งยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ขณะที่ในเว็บไซต์สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีคำสั่งนัดประชุม สนช. เป็นพิเศษ วันนี้ (29 พ.ย.2559) โดยจะเริ่มเวลา 11.00 น. ส่วนวาระการประชุมขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด โดยก่อนหน้านี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เปิดเผยว่า จะทราบวาระหลังจากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. ที่จะมีขึ้นในเวลา 10.00 น. โดยจะเป็นการประชุมลับเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและจัดระเบียบวาระการประชุมหากมีการแจ้งวาระพิเศษมาจากคณะรัฐมนตรีมาให้พิจารณา โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังหรือเข้าบันทึกภาพก่อนเข้าห้องประชุม
ส่วนขั้นตอนในวันนี้หากคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะประชุมกันในเวลา 09.00 น. และมีมติส่งวาระสำคัญให้ สนช.ดำเนินการ จากนั้นจะส่งเรื่องให้ที่ประชุมวิป สนช.ในเวลา 10.00 น. และเมื่อวิป สนช.รับทราบ แล้วจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของ สนช. ที่จะมีขึ้นในเวลา 11.00 น. สำหรับบรรยาการล่าสุดที่อาคาร ขณะนี้มีเจ้าหน้าและสมาชิก สนช.เดินทางมาบางส่วนแล้ว ขณะที่การรักษาความปลอดภัยเป็นไปตามปกติมีการตรวจตรารถทุกคันที่เข้าออกและบุคคลที่เข้ามาภายในอาคารรัฐสภาต้องติดบัตรแสดงตน

สนช.กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์


พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ระบุว่า รับทราบมติคณะรัฐมนตรีแล้ว พร้อมกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนชาวไทยสืบไป พร้อมเชิญสมาชิก สนช. ยืนขึ้นเพื่อกล่าวคำถวายพระพรชัย ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

29 พ.ย. 2559  หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีวาระพิเศษ ที่จะส่งต่อให้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณานั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาในการประชุม สนช. เมื่อเวลา 11.20 น. พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาระบุว่า รับทราบการแจ้งมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะได้นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของประชาชนชาวไทยสืบไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 2 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 23 ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
ที่มาของภาพ: โทรทัศน์รัฐสภา/ThaiPBS
หลังจากนั้นที่ประธาน สนช. กล่าวว่า โอกาสอันเป็นมหามงคล ขอให้ท่านสมาชิกทุกท่านโปรดยืนขึ้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมกล่าวคำถวายพระพรชัยแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลใหม่ กล่าวถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ประยุทธ์ แจงประชุมร่วม ครม.-คสช. อัญเชิญพระรัชทายาททรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10



29 พ.ย. 2559 ภายหลังการประชุมร่วมระหว่าง คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ไป้แถลงข่าวว่า วันนี้มีเรื่องสำคัญเรียนให้ทราบ อย่างที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่ามีการประชุมร่วม ครม. คสช. ในส่วนของการประชุมที่เป็นวาระพิเศษ มีกระบวนการของการอัญเชิญรัชทายาทซึ่งเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นครองราชย์ เพราะฉะนั้นขั้นตอนกำหนดไว้ตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญไว้แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้มีการแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ครม.ก็ได้มีการประชุมเพื่อรับทราบในการเริ่มต้นของกระบวนการดังกล่าว เพื่อทำหนังสือแจ้งไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แจ้งไปตามหลักการ เพราะฉะนั้นก็เป็นตามพระราชประเพณีและรัฐธรรมนูญถูกต้องทุกประการ เพราะฉะนั้นก็จะได้อัญเชิญพระรัชทายาททรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ต่อไป เป็นไปตาม มาตรา 20 วรรค 1 ในรัฐธรรมนูญ 2550
"นี่ก็เป็นเรื่องเรียนให้ทราบ ก็เป็นไปตามขั้นตอนนั่นล่ะ เป็นเรื่องที่น่ายินดีนะครับ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ศาลทหารเห็นเองว่าประกาศ-คำสั่งคสช.ชอบด้วยกฎหมาย คดีพลเมืองรุกเดินไม่ส่งศาลรธน.วินิจฉัย


ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องที่ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้พิจารณาคดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ชี้ปกติเมื่อคู่ความขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลที่รับคำร้องดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่อยู่ในคำร้องว่าจะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
29 พ.ย. 2559 จากกรณีที่ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ใช้พิจารณาคดีความผิดของตัวเอง เช่น คดีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แล้วข้อหานำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการจัดกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ และโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะมีการเดินเพื่อแสดงออกว่าพลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยวินิจฉัยว่าประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ไทยได้ขอเลี่ยงพันธกรณีระหว่างประเทศ ทำให้สามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมได้นั้น
เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 24 พ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 10.05 น. น.อ.สุรชัย สลามเต๊ะ พ.อ.ศุภชัย อินทรารุณ และ พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์ ตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ออกนั่งพิจารณาคดีที่พันธ์ศักดิ์ ถูกอัยการทหารฟ้องในคดีดังกล่าว โดยศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นต่อคำร้องที่พันธ์ศักดิ์ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมาย ใจความว่า การที่ คสช. ยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ ย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งใด ๆ รวถึงการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของบุคคลทั่วไป
นอกจากนี้ คสช. ยังได้ออกประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 บัญญัติให้ประกาศและคำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ได้ประกาศหรือสั่งนับตั้งการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเป็นที่สุด จึงเป็นการรับรองว่า ประกาศ คสช. ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
ศาลทหารกรุงเทพยังวินิจฉัยในข้อโต้แย้งของจำเลย เรื่องที่การประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญิติ บริหาร และตุลาการ เนื่องจากศาลทหารอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมซึ่งอยู่ในฝ่ายบริหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตุลการศาลทหารในปัจจุบัน เป็นรองหัวหน้าและประธานที่ปรึกษา คสช. ทั้งยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 ในเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมด้วยว่า พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 บัญญัติอำนาจของตุลาการและความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นการแบ่งแยกอำนาจและหลักความเป็นอิสระของตุลาการในการพิจารณาคดีไว้ชัดเจน
ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องเรื่องศาลทหารไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้ขณะประกาศกฎอัยการศึก ขัดต่อประเพณีการปกครองและ พันธกรณระหว่างประเทศ ICCPR ที่กำหนดให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่า เมื่อประเทศไทยมีหนังสือแจ้งการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และขอใช้สิทธิเลี่ยงพันธกรณีระหว่างประเทศ ICCPR บางประการไว้แล้ว
ศาลทหารกรุงเทพจึงเห็นว่า บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ที่ให้ศาลทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้ผู้บัญชาการทหาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนตุลาการศาลทหาร และศาลทหารในระหว่างประกาศกฎอัยการศึกห้ามอุทธรณ์และฎีกา ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และ ICCPR อีกทั้ง รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 บัญญัติหลักเกณฑ์การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลทหาร ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่อาจส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้ ให้ยกคำร้องของจำเลย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้แสดงความเห็นด้วยว่า โดยปกติเมื่อคู่ความขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลที่รับคำร้องดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่อยู่ในคำร้องว่าจะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ และแม้ในรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะไม่มีบัญญัติโดยตรงที่ระบุให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฎหมาย แต่ใน มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ระบุว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 บัญญัติให้ศาลอันรวมถึงศาลทหาร มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมให้วินิจฉัยข้อกฎหมายได้
นอกจากนี้ ระหว่างที่ศาลกำลังอ่านคำสั่งดังกล่าว เจ้าหน้าที่ศาลทหารได้ยึดโทรศัพท์มือถือที่ปิดอยู่ และแบตเตอรี่สำรองของญาติจำเลย ซึ่งเข้าฟังการพิจารณาคดี และเปิดโทรศัพท์ของญาติจำเลยขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย เมื่อมีผู้โต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวถูกปิดอยู่ตลอด หากมีการเปิด-ปิดโทรศัพท์จะต้องมีเสียงดังให้ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาได้ยิน แต่ระหว่างกระบวนพิจารณาไม่ได้มีเสียงเปิด-ปิดโทรศัพท์ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เปิดโทรศัพท์ขึ้นเอง เจ้าหน้าที่ศาลทหารจึงยอมคืนโทรศัพท์ให้แก่ญาติของจำเลย

ปม ผอ.เสื้อแดงเลือดหมู ที่ระนอง กระแสถามกลับลงโทษเกินกว่าเหตุ-คนร่วมงานสวมเสื้อสี

กรณีชาวระนองประท้วง ผอ.โรงเรียน สวมเสื้อแดงเลือดหมู จนถูกสั่งย้าย เจ้าตัวเปิดใจไม่มีเจตนา พร้อมขอบคุณชาวระนองทุกคน ขณะที่เพจ Drama-addict ชี้ผิดปรกติ ว่าเป็นนอกเวลาราชการ ผอ.ก็ติดริบบิ้นไว้ทุกข์ไว้เรียบร้อย คนอื่นในงานก็แต่งสีเหลืองสีฟ้า ทำไมชาวบ้านถูกปลุกปั่นให้มาเดินขบวนขับไล่จนถึงกับมีคำสั่งย้าย
29 พ.ย. 2559 จากกรณี ประชาชน ชาว จ.ระนอง จำนวนหนึ่ง ประท้วง ปนัดดา จันทวงศ์ ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 38 ซึ่งเพิ่งย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งจาก จ.ขอนแก่น ซึ่งในวันเสาร์ที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้เดินทางเข้ารับตำแหน่งนั้น กลับใส่ชุด “สีแดงเลือดหมู” แต่ติดโบว์ดำที่หน้าหน้าอก ชาวบ้านที่ประท้งเห็นว่า แต่งกายสีไม่เหมาะสม เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงไว้ทุกข์
วานนี้ (28 พ.ย.59) เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า มีหนังสือจากสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงวันที่ 28 พ.ย.2559 เรียนถึง ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 38 จ.ระนอง ระบุข้อความ ด้วยขณะนี้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 38 และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาทางการบริหาร ลดกระแสความรุนแรงในชุมชนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการแก้ปัญหาทางการบริหาร ลดกระแสความรุนแรงในชุมชน และเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ จึงให้ข้าราชการครูบุคลากรทางการศึกษา ปนัดดา จันทวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ปฏิบัติราชการประจำสำนักงานเป็นการชั่วคราว ลงชื่อ การุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หนังสือราชการข้างต้น ไม่ได้ระบุว่าผอ.คนดังกล่าวย้ายไปปฏบัติราชการที่ใด ทั้งนี้ "เดลินิวส์ออนไลน์" จึงสอบถามไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ สพฐ. แจ้งว่า ขณะนี้ผอ.คนดังกล่าวถูกคำสั่งย้ายให้ไปปฎิบัติราชการประจำสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นการชั่วคราว ก่อนจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเป็นการด่วน.

ผอ.เสื้อแดงเลือดหมู เปิดใจไม่มีเจตนา พร้อมขอบคุณชาวระนองทุกคน

ขณะที่ ข่าวนิวทีวี เผยแพร่วิดีโอคลิปเมื่อเวลา 8.17 น. วันนี้ (29 พ.ย.59) ปนัดดา ผอ.เสื้อแดงเลือดหมู ดังกล่าวเปิดใจ ว่าไม่มีเจตนาที่จะให้มันเกิดขึ้นแบบนี้ รู้สึกเสียใจมาตลอดตั้งแต่รู้ข่าวคราว เสียใจและไม่มีเจตนาจริงๆ  เพราะว่าตลอดระยะเวลาในการรับราชการมาก็อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว ตั้งปณิธานทำงานเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นข้าของแผ่นดินมาโดยตลอด
"รู้สึกเสียใจจากใจจริง ตลอดเวลาก็คือเกิดมาในรัชกาลที่ 9 ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย ขอบคุณชาวระนองทุกคน" ปนัดดา กล่าว

กระแสสวิงกลับตั้งคำถามลงโทษเกินกว่าเหตุไหม

สำหรับกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่าง เฟซบุ๊ก นอกจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมของการแต่งตัวแล้ว เมื่อมีข่าวถึงขั้นประท้วงขับไล่ผอ.คนดังกล่าว รวมทั้งสั่งย้าย กลับมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกทางหนึ่งจำนวนมาก ว่ากรณีนี้ลงโทษเกิดกว่าเหตุ และไม่สมเหตุสมผลที่จะไล่ เนื่องจาก ผอ.คนดังกล่าวแต่ชุดในวันหยุดคือวันเสร์ พร้อมทั้งมีการติดติดโบว์ดำที่หน้าหน้าอกแล้ว รวมทั้งมีผู้นำภาพผู้ร่วมงานเดียวกันกับผอ.คนดังกล่าวที่ไม่ได้ใส่ชุดดำอีกด้วย
 
ตัวอย่างเช่น เพจ Drama-addict ซึ่งมียอดผู้ติดตามกว่า 1.4 ล้าน โพสต์ว่า เรื่องนี้แปลกมาก คือ ผอ. เขาใส่ชุดสีเลือดหมู (ถ้าคนไทยเชื้อสายจีน จะถือว่านี่เป็นสีมงคล) ไปร่วมงานรับตำแหน่ง ผอ. โรงเรียน ใน "วันหยุดราชการ" ซึ่งปรกติข้าราชการเขาก็ไว้ทุกข์กันในเวลาราชการตามปรกติ  อันนี้นอกเวลาราชการ ใส่ชุดสีไรก็ได้ คนอื่นในงานก็แต่งสีเหลืองสีฟ้ากันเยอะแยะ แล้ว ผอ. แกก็ติดริบบิ้นไว้ทุกข์ไว้เรียบร้อย ชุดก็เป็นชุดปรกติ  ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับประเด็นการเมืองเลย ทำไมจู่ๆ ชาวบ้านถูกปลุกปั่นให้มาเดินขบวนขับไล่แก จนถึงกับมีคำสั่งย้ายแกออกนอกพื้นที่วะ มันผิดปรกติมาก
 




ภาพที่มีการเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก แสดงให้เห็นว่าในงานดังกล่าวไม่ได้มีเพียง ผอ.ที่ถูกสั่งย้ายเท่านั้นที่สวมเสื้อสี (ที่มาเพจ วิวาทะ)
 
 

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

'คณิน' ชี้ร่าง กม.พรรคการเมือง สกัดพรรคใหญ่


'คณิน บุญสุวรรณ' ชี้การจัดทำทะเบียนสมาชิกพรรคและส่งให้นายทะเบียนภายใน 90 วัน จะเป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองใหญ่ เพราะตลอดเวลา 3 ปี กว่าที่กฎหมายใหม่จะมีผลใช้บังคับ คสช. ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวอะไรเกี่ยวกับสมาชิกพรรคเลย ดังนั้นเวลาตามบทเฉพาะกาลเปรียบเสมือนเป็นกับดัก
 
27 พ.ย. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการร่างกฎหมายลูกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึง กรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกรธ.ระบุ จะไม่มีการรีเซ็ตพรรคการเมือง ว่า ฟังดูเหมือนจะเอาใจพรรคการเมืองเก่าที่จะได้ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่ที่ไหนได้พอเห็นบทเฉพาะกาลของ ร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ กรธ. กำลังจะเผยแพร่ในวันสองวันนี้แล้ว เหมือนเป็นการเตะ สกัดขาพรรคใหญ่เสียมากกว่า ทั้งนี้ เพราะ (1) มาตรา 114 ให้พรรคการเมืองดำเนินการให้มีสมาชิกพรรคและสาขาพรรคตามกฎหมายใหม่ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ มิฉะนั้นจะต้องสิ้นสภาพพรรคการเมือง (2) มาตรา 116 ให้พรรคปรับปรุงข้อบังคับพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ภายใน 60 วัน มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิ์ส่งสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก และ (3) มาตรา 117 ให้พรรคจัดทำและส่งทะเบียนสมาชิกพรรค พร้อมบัญชีการเงินของพรรคและสาขาพรรคแก่นายทะเบียน พรรคการเมือง ภายใน 90 วันมิฉะนั้น จะไม่มีสิทธิ์ส่งสมัครรับเลือกตั้งเช่นเดียวกัน
 
นายคณิน กล่าวว่า เรื่องการจัดทำทะเบียนสมาชิกพรรคและส่งให้นายทะเบียนภายใน 90 วัน นี่แหละจะเป็นปัญหาสาหัสของพรรคการเมืองเก่า ที่มีสมาชิกเป็นเรือนแสนเรือนล้าน เพราะกฎหมายใหม่บังคับไว้เลยว่าหัวหน้าพรรคต้องจัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริง และจะติดต่อสอบถาม หรือตรวจสอบให้ละเอียดเป็นรายคนได้อย่างไร ในเมื่อตลอดเวลา 3 ปี กว่าที่กฎหมายใหม่จะมีผลใช้บังคับ คสช. ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวอะไรเกี่ยวกับสมาชิกพรรคเลย ชุมนุมเกิน 5 คนยังไม่ได้ ดังนั้น เวลา 90 วัน ตามบทเฉพาะกาลซึ่งเป็นเสมือนกับดักอันเบ้อเร่อที่จะ ทำให้พรรคเก่าที่มีสมาชิกเป็นแสนเป็นล้านคน ต้องกลายเป็น “กิ้งกือตกท่อ”เอาได้ง่ายๆ ครั้นจะตัดสมาชิกไปเฉยๆ เพื่อให้เหลือจำนวนน้อยๆ ก็ทำไม่ได้ ต้องให้เขาลาออกเอง ซึ่งต้องจี้กันเป็นรายตัว แต่เดี๋ยวก็จะไปร้อง กกต.ว่าถูกบีบบังคับให้ต้องลาออก และภายหลังเมื่อส่งให้นายทะเบียนไปแล้ว ยังมีชื่อคนที่ตายไปแล้ว ไปบวช หรือขาดคุณสมบัติอื่นๆ หรือเป็นสมาชิกพรรคซ้ำกันกับพรรคอื่น ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ จะทำอย่างไร หรือเกิดมีใครไปร้องต่อ กกต. ว่าเขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่มีชื่อเป็นสมาชิกอยู่ จะทำอย่างไร ทั้งหมดนี้จะส่งผลร้ายต่อพรรคการเมืองเก่าทั้งสิ้น
 
นายคณิน กล่าวว่า ที่พอจะได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขที่ว่านี้อยู่บ้างก็จะเป็นพรรคขนาดเล็ก ที่มีสมาชิกระดับพัน แต่ที่จะได้แจ็คพอตไปกินคำโตก็เห็นจะเป็นพรรคการเมืองตั้งใหม่นั่นแหละ เพราะการที่ กรธ. ลดจำนวนสมาชิกพรรคจาก 5,000 คน ลงมาเหลือแค่ 500 คน ในตอนเริ่มก่อตั้งและมีสาขาพรรคภาคและหนึ่งสาขา พร้อมมีเงินทุนสำรอง 1 ล้านบาทขึ้นไป ตามกฎหมายใหม่นี้ ถือเป็นเรื่องง่ายอย่างยิ่ง แถมยังมีเวลาตั้งปีในการดำเนินการจนเสร็จสิ้น ได้รับการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง ที่พร้อมจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การที่กรธ.เขียนบทเฉพาะกาลไว้เช่นนี้ ไม่ว่าจะมีเจตนาอย่างไร แต่ผลเหมือนเป็นการสกัดพรรคการเมืองใหญ่ ก่อนที่จะถึงวันสมัครรับเลือกตั้งด้วยซ้ำ ในขณะที่ดูเหมือนจะเปิดทางโล่งสำหรับพรรคการเมืองตั้งใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย และทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันมากเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าไม่เซตซีโร่ จะด้วยเหตุผลอะไรก็สุดแล้วแต่ ก็ควรเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในบทเฉพาะกาลการเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และเป็นไปได้มากกว่านี้