โฆษกประจำสำนักนายกฯ แจงมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล แตกต่างจากประชานิยมในอดีต ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบสะเปะสะปะ ไม่มีการตรวจสอบรายได้ วันนี้รัฐบาลให้ประชาชนไปขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง จึงทำให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง
23 พ.ย. 2559 จากกรณีเมื่อวาน (22 พ.ย. 59) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ คือ เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยรายละ 1,500-3,000 บาท จำนวน 5.4 ล้านคน เริ่มจ่ายตั้งแต่ 1-30 ธ.ค. 2559 ซึ่งต่อมา วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น 'ประชานิยมสิ้นคิด' (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า รัฐบาลบริหารประเทศโดยมองทุกมิติอย่างรอบด้าน จึงออกมาตรการนี้ควบคู่ไปกับมาตรการทางเศรษฐกิจอื่น ที่จะช่วยปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบในระยะยาวซึ่งต้องใช้เวลา เช่น การลงทุน การเก็บภาษี ฯลฯ และแม้รัฐบาลจะดูแลเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ แต่ก็ยังคงมีความเปราะบาง และอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลจึงต้องการเพิ่มรายได้ให้ครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผู้ที่อยู่นอกภาคการเกษตร หลังจากที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำชัดเจนว่าเป็น มาตรการชั่วคราว ให้ครั้งเดียวแล้วจบ ไม่ใช่การให้เงินช่วยเหลือแบบรายเดือน ซึ่งมีผลดีคือจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ และประชาชนไม่เป็นหนี้เพิ่ม รัฐบาลต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยไปขึ้นทะเบียน เพื่อต่อยอดไปสู่มาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น รถไฟฟรี รถเมล์ฟรี ให้ตรงจุดอย่างแท้จริง ระหว่างที่รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ก็จำเป็นต้องมีหลายมาตรการออกมาสนับสนุนซึ่งกันและกัน
“มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล แตกต่างจากประชานิยมในอดีต ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบสะเปะสะปะ ไม่มีการตรวจสอบรายได้ วันนี้รัฐบาลให้ประชาชนไปขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง จึงทำให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และเมื่อวันข้างหน้าเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลจะประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือ และสามารถนำเงินไปลงทุนพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ได้” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ทำเช่นนี้ วงจรปัญหาแบบเดิมก็จะเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำซาก ดังนั้นจึงไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดำเนินการมาก่อนหน้า ส่วนประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั้งในและนอกภาคการเกษตรก็จำเป็นต้องปรับตัว ไม่รอคอยแต่เพียงการช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น รัฐบาลยินดีเป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุนให้ทุกคนสามารถยืนอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยตนเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น