วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วันต้านคอร์รัปชันสากล ประยุทธ์ ชูแนว 'ประชารัฐ' นำทางปราบทุจริต

พิธีเปิดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม 9 ธ.ค. 2559 (ทีมาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)


พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน ย้ำปัญหาคอร์รัปชันเป็นศัตรูร้ายต่อการพัฒนาประเทศ ชู  'ประชารัฐ' ป้องกันและปราบปรามการทุจริต อาศัยรวมพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
9 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.20 น. ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดและประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) โดยมี รองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ มูลนิธิ องค์กรเครือข่าย และประชาชนเข้าร่วมงาน
สำหรับการประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนดจัดงานดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้สังคมและทุกภาคส่วนตระหนักในผลเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นขึ้นจากการทุจริต รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้สังคมตระหนัก ถึงความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการทุจริต และร่วมสร้างจิตสำนึกในการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันในประเทศ ภายใต้แนวคิดการจัดงาน “สุจริตตามรอยพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน” ซึ่งดำเนินกิจกรรมพร้อมกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ
พิธีเปิดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม 9 ธ.ค. 2559 (ทีมาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)
โดยในฐานะประธานพิธีประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 9 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล เพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงภัยร้ายแรงที่เกิดจากการคอร์รัปชัน และเพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทยเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างในการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะปัญหาคอร์รัปชันเป็นศัตรูร้ายต่อการพัฒนาประเทศทั้งในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ และทำให้การบริหารราชการล้มเหลว สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้งบประมาณอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ส่วนราชการต้องเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ โปร่งใสสามารถตรวจสอบ รวมทั้ง ทำความเข้าใจต่อกัน ช่วยตรวจสอบเฝ้าระวัง เพื่อให้ผลลัพธ์ของการดำเนินงานเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นประชาชน ท้องถิ่น จังหวัด หรือในภาพรวมระดับประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า ประเด็นสำคัญ คือสังคมต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และต้องช่วยกัน เมื่อรู้ว่ามีการกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือองค์กรใด ต้องร่วมมือกันเพื่อให้การต่อต้านการทุจริตเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งจากการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เมื่อปี 2557 ประเทศไทยได้อันดับที่ 85 ในปี 2558 ได้อันดับที่ 76 ส่วนปี 2559 ก็หวังว่าอันดับความโปร่งใสคงจะดีขึ้นอีก ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยดีขึ้น ผู้ที่ทุจริตจะถูกต่อต้านและถูกลงโทษทั้งจากกฎหมายและสังคม รวมทั้งมาตรการเสริมทั้ง 5 ด้าน ที่รัฐบาลนำมาใช้ ได้แก่ ด้านที่ 1 เสริมกลไกการแก้ปัญหาการทุจริตใน 3 ระดับ คือระดับชาติที่เรียกว่าคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช) ระดับการขับเคลื่อนที่เรียกว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช) และระดับปฏิบัติการที่เรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกระทรวง (ศปท) ด้านที่ 2 ส่งเสริมให้ส่วนราชการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และอยู่ในกรอบธรรมาภิบาล ด้านที่ 3 เสริมกลไกการปฏิบัติ ด้านที่ 4 เสริมมาตรการทางกฎหมาย และด้านที่ 5 เสริมสร้างความเชื่อมั่นและการรับรู้ให้กับสังคม
พร้อมกับต้องมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน 3 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 1 คนทุจริตรายเก่าหมดไป ด้านการปราบปรามอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายที่ 2 คนทุจริตรายใหม่ต้องไม่เกิด ด้านการป้องกันอย่างครบถ้วน และเป้าหมายที่ 3 ไม่เปิดโอกาสให้ทุจริต ให้มีการบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง สร้างพลังและเปิดพื้นที่ข่าวสารในการปลุกกระแสต่อต้านการทุจริต
พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า แนวทางในการที่จะช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ แนวทางประชารัฐ โดยต้องรวมพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน “รัฐ” หรือ “รัฐบาล” จะเป็นผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุน และเปิดช่องทางให้ “ประชา” หรือภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการทำงานของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายประชารัฐในทุกด้าน ทุกพื้นที่ อันจะเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน นับว่าเป็นการทำงานร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยั่งยืน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ทุ่มเทเสียสละแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง พร้อมกับกล่าวนำประชาชนทั่วประเทศ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ดังนี้ “ข้าพเจ้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะประพฤติปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการทุจริต จะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และจักปกป้องเทิดทูลสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ตลอดไป” โดย นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกคนปฎิบัติตามประกาศเจตนารมณ์ เพราะจำทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักการทุจริตคอร์รัปชัน และขอให้ทุกคนช่วยกันสร้างประวัติสร้างให้กับประเทศชาติ ให้เกิดความก้าวหน้า มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น