วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.พัฒนาดิจิทัล แล้ว


9 ธ.ค. 2559 สยามรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. .... ในวาระสามด้วยคะแนน 161 ไม่เห็นด้วย 2 และงดออกเสียง 4 พร้อมให้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
เสาวณี สุวรรณชีพ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารร่าง พ.ร.บ.ฯ ชี้แจงว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งส่งผลต่อฐานความรู้ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้วย ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ได้รวมร่างพระราชบัญญัติทั้งสามฉบับไว้ด้วยกัน โดยร่างกฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้กับทุกภาคส่วน ทั้งนี้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อจัดนโยบายแผนระดับชาติ รวมทั้งออกระเบียบและประกาศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งได้ทันทีที่ร่างพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนโดยได้รับการจัดสรรทุนจากกสทช.เริ่มแรกในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับมาตรา 44 วรรคสามที่ระบุว่า ทรัพย์สินของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีเงินและทรัพย์สินของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เพราะเกรงว่าหากมีทรัพย์สินที่เหลือและไม่ตกเป็นรายได้แผ่นดินจะทำให้ประเทศสูญเสียรายได้โดยเปล่าประโยชน์ กระทั่งประธานได้สั่งพักการประชุมเพื่อให้ปรับแก้ถ้อยคำ และเมื่อกลับเข้าสู่การประชุมอีกครั้งคณะกรรมาธิการ ยินยอมให้ปรับแก้เป็น“เงินและทรัพย์สินของสักนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ต้องส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ยกเว้น รายได้จากดอกผลและผลประโยชน์หรือรายได้อื่นใดที่เกิดจากการดำเนินการของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล”
ก่อนหน้านี้ ในการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2559 ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเรียงตามมาตราจนถึงมาตรา 8 เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะกรรมาธิการได้แก้ไขไปจากร่างเดิมที่ครม.เสนอมา แต่สมาชิกส่วนใหญ่ได้อภิปรายคัดค้านจนที่สุดที่ประชุมได้มีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ทำให้คณะกรรมาธิการได้ขอถอนร่างกลับไปทบทวนเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาของร่างเนื่องจากมติดังกล่าวส่งผลกระทบในหลายมาตรา ก่อนที่นำกลับมาพิจารณาในการประชุมวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น