วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ศาลฎีกาลดโทษ เหลือจำคุก 6 ปี คดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข



           23 ก.พ.2560 เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ มีกำหนดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดี112 ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin วัย 56 ปี โดยก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุก 10 ปีจากการกระทำผิด 2 กรรม (กรรมละ 5 ปี)


         เวลาประมาณ 9.45 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกลดลง เหลือเพียง 6 ปี (กรรมละ 3 ปี) เมื่อรวมกับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี รวมเป็น 7 ปี ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา ภรรยาของสมยศได้เข้าไปกอดสมยศ และประชาชนผู้มาให้กำลังใจเขาจำนวนหนึ่งต่างแสดงความดีใจที่เขาได้รับการลดโทษ ทั้งนี้ วันนี้มีเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย อาทิ องค์การสหประชาชาติ (UN) สถานทูตสวีเดน สถานทูตฝรั่งเศส สถานทูตสหรัฐอเมริกา สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
         ศาลฎีการะบุเหตุผลว่า ที่จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า มิได้มีเจตนากระทำผิด และข้อความในบทความหมายถึงอำมาตย์นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งในขั้นฎีกาไม่อาจต่อสู้ในข้อเท็จจริงได้อีก อย่างไรก็ตาม ตามที่จำเลยได้ต่อสู้มารับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงบรรณาธิการ มิใช่ผู้เขียนและยังให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้เขียน จำเลยยืนยันว่ามีความจงรักภักดี อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับอาชีพ อายุและประวัติของจำเลย ทั้งจำเลยก็ต้องโทษมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้โทษจำคุก เหลือกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง 6 ปี
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญาติและทนายความจำเลยไม่ได้รับแจ้งการนัดหมายอ่านคำพิพากษาในวันนี้จากศาล และจำเลยเองก็เพิ่งทราบเมื่อเช้านี้ตอนเจ้าหน้าที่นำตัวออกจากเรือนจำ เมื่อครั้งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทนายและญาติก็ไม่ทราบเช่นกัน มีเพียงจำเลยที่ได้เข้าฟังคำพิพากษาในครั้งนั้น
         ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ต่อสู้ในทาง "เนื้อหา" แล้วมีการพิจารณาจนถึงศาลสูงสุด โดยสมยศต่อสู้ในประเด็นหลักว่าไม่ใช่ผู้เขียน เป็นเพียงบรรณาธิการ และเนื้อหานั้นมิได้หมายความถึงสถาบันกษัตริย์ ก่อนหน้านี้ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อดีตผู้ต้องขังคดี 112 เคยระบุว่าตั้งใจจะสู้คดีถึงศาลฏีกาแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสู้เพียงชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องจากถูกคุมขังในเรือนจำยาวนานและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ ส่วนอีกคดีหนึ่งที่สู้ถึงศาลฎีกาคือ คดีของ บัณฑิต อานียา ถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อปี 2546 ต่อสู้คดีว่าเป็นจิตเภท ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 
         ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ปัจจุบันถูกคุมขังมา 5 ปี 10 เดือนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาเป็นผู้ต้องหาไม่กี่คนที่ต่อสู้คดี 112 สมยศจับกุมวันที่ 30 เม.ย.2554 หลังการรณรงค์ล่า 10,000 ชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา 112 เพียง 5 วัน เขายังเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ที่ทำสถิติยื่นประกันตัวมากที่สุด ราว 15-16 ครั้ง ใช้หลักทรัพย์ตั้งแต่ 4 แสน จนถึง 2 ล้านบาท เขาถูกฟ้องว่าเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นเขียนโดย “จิตร พลจันทร์” ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บทความดังกล่าวปรากฏในนิตยสารฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘6 ตุลาแห่งพ.ศ.2553’ ตามลำดับ ระหว่างสู้คดี เขาถูกนำตัวไปขึ้นศาลยังจังหวัดต่างๆ ถึง 4 แห่งตามที่อยู่ของพยานโจทก์ ไม่ว่า นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สระแก้ว สงขลา ซึ่งทำให้ครอบครัวเพื่อนมิตรติดตามคดีและไปเยี่ยมเขาอย่างยากลำบาก เพราะต้องมีการย้ายตัวจำเลยไปก่อน 2-4 สัปดาห์ ก่อนขึ้นศาล
       ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น