วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

13 ประเด็นสำคัญในคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข



23 กุมภาพันธ์ 2560 

1.สมยศ เป็นใคร

สมยศเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เน้นการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิแรงงานแก่คนงาน เคลื่อนไหวเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ยกเลิกระบบเหมาช่วง ส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน การจัดตั้งสหภาพ ฯลฯ
เขาเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นในทศวรรษ 2530 ที่แรงงานและนักศึกษาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิด “ระบบประกันสังคม” ซึ่งเราใช้กันในทุกวันนี้
อ่านประวัติสมยศ

2.จุดเปลี่ยนสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง

หลังการรัฐประหาร 2549 บทบาทด้านการเมืองเด่นชัดขึ้น โดยเขาเริ่มออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร เคยเป็นแกนนำ นปช.รุ่น 2 ในช่วงปลายปี 2552 หลังแกนนำรุ่นแรกถูกจำคุกอันมาจากเหตุของการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายนปีเดียวกัน
หลังจากนั้นไม่นาน เขาก่อตั้งกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่มักทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

3. เคยรณรงค์ล่ารายชื่อยกเลิกมาตรา 112 ก่อนโดนจับ

ในปี 2554 หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยราย ข้อถกเถียงของสังคมร้อนแรงและเกี่ยวพันกับบทบาทของสถาบันหลักต่างๆ ในสังคม สมยศและกลุ่มของเขาริเริ่มการรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอยกเลิกกฎหมาอาญามาตรา 112  ซึ่งเป็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ามันเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งสูง
นับเป็นกลุ่มเดียวที่รณรงค์ถึงขั้น “ยกเลิก” หลังจากนั้น 5  วัน หรือวันที่ 30 เมษายน 2554 เขาถูกจับกุมและแจ้งข้อหามาตรา 112 เหตุจากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นในนิตยสารเมื่อปีที่แล้ว

4.เคยถูกคุมขังในค่ายทหารนานนับเดือน

หลังสลายการชุมนุมใหญ่ นปช.ในปี 2553 สมยศ และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็น 2 คนที่ถูกนำตัวไปควบคุมตัวยังค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี โดยไม่ได้ให้ติดต่อกับผู้ใด รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในสมัยนั้นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมตัวเพื่อซักถามข้อมูล เขาถูกคุมตัวตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2553 จนถึงประมาณ 23 มิถุนายน ขณะที่สุธาชัยนั้นถูกปล่อยตัวก่อนในวันที่ 31 พฤษภาคม

5. แชมป์ “นก” (หรือชวด) ประกันตัว

เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันถูกจับกุมตัว ในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ ชั้นศาล และระหว่างต่อสู้คดี รวมแล้วญาติและทนายความยื่นประกันตัวราว 15 ครั้ง ด้วยหลักทรัพย์ตั้งแต่ 4 แสน ถึง 2 ล้านบาท

6. คดีแรกในรอบทศวรรษ สู้ “เนื้อหา” ถึงศาลฎีกา (ใช้เวลา 6 ปี)

ในทศวรรษที่ผ่านมา คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ต่อสู้ในทาง "เนื้อหา" แล้วมีการพิจารณาจนถึงศาลสูงสุด ก่อนหน้านี้ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อดีตผู้ต้องขังคดี 112 เคยระบุว่าตั้งใจจะสู้คดีถึงศาลฏีกาแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสู้เพียงชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องจากถูกคุมขังในเรือนจำยาวนานและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ ส่วนอีกคดีหนึ่งที่สู้ถึงศาลฎีกาคือ คดีของ บัณฑิต อานียา ถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อปี 2546 ต่อสู้คดีว่าเป็นจิตเภท ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 

7. ข้อกล่าวหา และ ข้อต่อสู้ในคดี

ตามคำฟ้องของโจทก์ กล่าวหาว่าเขาหมิ่นสถาบันด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นในนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘6 ตุลาแห่งพ.ศ.2553’ ตามลำดับ โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า ‘จิตร พลจันทร์’
สมยศต่อสู้ใน 4 ประเด็นหลักคือ
       1.เขาไม่ใช่ผู้เขียน นามแฝงดังกล่าวเป็นของ จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งบก.คนก่อนได้ทาบทามให้เขาเขียนมาก่อนแล้วก่อนที่สมยศจะเข้าไปทำงาน
       2.เขาไม่ใช่บรรณาธิการ Voice of Taksin เพียงแต่เป็นพนักงานคนหนึ่งซึ่งได้รับเงินเดือนเหมือนพนักงานคนอื่นๆ แต่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป หน้าที่และตำแหน่งตามที่ตีพิมพ์ไว้ในปกหนังสือในทางพฤตินัยก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง
แต่หากศาลจะฟังว่าจำเลยกระทำตัวเป็นบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเนื้อความที่นำลงพิมพ์โฆษณาตามคำกล่าวหาของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขใหม่ก็ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นเป็นรับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ โดยมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 6268/2550  ตัดสินวางบรรทัดฐานไว้        
       3.เขาไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นสถาบัน การลงบทความดังกล่าวเป็นไปตามระบบงาน มิใช่เป็นการกระทำโดยจงใจของจำเลย
       4.บทความทั้ง 2 ชิ้นไม่เป็นบทความที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์  เพราะแม้แต่พยานที่อ่านบทความก็ให้ความเห็นในแต่ละบทความไม่ตรงกัน
เนื้อหาที่ปรากฏในบทความที่นำมาฟ้องผู้เขียนยกตัวอย่างตุ๊กตา เป็นตัวละครล้อเลียนไม่ใช่เรื่องจริงและผู้อ่านไม่อาจรู้แน่ชัดได้ว่าผู้เขียนหมายถึงใคร  ซึ่งในประเด็นนี้พยานจำเลยเมื่อได้อ่านบทความต่างก็ให้การไปในทำนองเดียวกันว่าผู้เขียนสื่อถึงพวกอำมาตย์ไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์ 

8. การต่อสู้คดี ที่ต้องเดินทาง 4 จังหวัด

ระหว่างสืบพยานโจทก์ พยานมิได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หลายคนทำให้ต้องมีการสืบพยานในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพยานและต้องมีการส่งตัวเขาไปคุมขังยังเรือนจำในจังหวัด สระแก้ว นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สงขลา

สมยศเคยเล่าถึงตอนไปเรือนจำสระแก้วว่า ความเป็นอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสระแก้วนั้นดีกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เรือนจำที่นี่ยังคงมีสภาพแออัด ผู้ต้องขังล้นเกิน จากปกติรองรับได้ 800 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็นเกือบ 2,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นการย้ายหนีน้ำท่วมมาเกือบ 300 คน ทำให้ต้องนอนเบียดเสียดอย่างมาก
สมยศยังเล่าถึงการเดินทางมายังเรือนจำสระแก้วว่า ระหว่างที่มีการเคลื่อนเขาพร้อมผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่หนีน้ำท่วมมายังเรือนจำสระแก้ว เมื่อต้นเดือน พ.ย. นั้นรถแน่นมากและเขาต้องยืนตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงสระแก้ว

9. คำให้การของพยานโจทก์-จำเลย (บางส่วน)

กอ.รมน.- นักศึกษานิติ มธ. เบิกความสืบพยานโจทก์ คดี ‘สมยศ’
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเบิกความถึงที่มาที่ไปของการเข้าแจ้งความดำเนินคดี โดยมีการระบุด้วยว่า “ผังล้มเจ้า” ของพ.อ.สรรเสริญ ก็เป็น “เครื่องช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูล” โดยเจ้าหน้าที่ผู้เบิกความไม่ทราบว่าผังดังกล่าวมีการยอมรับจากพ.อ.สรรเสริญแล้วว่าไม่ได้มีข้อมูลรองรับเพียงพอ
ขณะที่นักศึกษา นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยฝึกงานที่ดีเอสไอในช่วงเวลาดังกล่าว เบิกความว่า ระหว่างฝึกงาน ผู้ดูแลซึ่งก็คือพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้นำนิตยสาร Voice of Taksin ฉบับที่ใช้ฟ้องร้องมาให้อ่าน รวมทั้งบทความที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงดังกล่าว ซึ่งเมื่ออ่านข้อความดังกล่าวแล้วก็ทำให้เข้าใจได้ตามฟ้อง 
คำเบิกความ ธงทอง จันทรางศุ
เขาเบิกความว่า บทความชิ้นหนึ่งนั้นผู้เขียนจงใจเท้าความไปถึงประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่างธนบุรีและรัตนโกสินทร์ โดยพยานทราบว่าเป็นการหมิ่นประมาทเพราะอาศัยการเทียบเคียงกับความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ ส่วนอีกชิ้นหนึ่ง ไม่สามารถบอกได้ว่า “หลวงนฤบาล” ผู้เขียนตั้งใจหมายถึงใคร
เขายังเบิกความอีกว่า มาตรานี้โทษจำคุก 3-15 ปีรุนแรงเกินไปและไม่ได้สัดส่วนกับสาระของการกระทำความผิด คำว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น” ในมาตรา112 ควรจะมีความหมายเช่นเดียวการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นบุคคลธรรมดาในมาตรา 326  ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วถือว่าโทษหนักเบาแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ยังไม่ให้จำเลยพิสูจน์เหตุยกเว้นโทษหรือยกเว้นความผิดได้ตามมาตรา 329 

10.คำพิพากษา ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา

ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 กรรรม กรรมละ 5 ปีรวม 10 ปี อ่านคำพิพากษาฉบับย่อในล้อมกรอบ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ลดโทษเหลือ 2 กรรม 6 ปี

หมายเหตุ โทษจำคุกในทุกชั้นศาลจะบวกอีก 1 ปี เพราะรวมกับคดีเก่าในคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร

11. เพราะสู้คดี พลาดลดโทษในการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปหลายครั้ง

การยืนยันที่จะต่อสู้คดีของสมยศ ทำให้คดีของเขายังไม่มีสถานะ “ถึงที่สุด”  จำเลยจึงยังไม่มีสถานะเป็น “นักโทษชาย” เต็มขั้นแม้จะอยู่ในเรือนจำมาหลายปีแล้วก็ตาม นั่นส่งผลให้ไม่ได้รับ “ชั้น” หรือสถานะของนักโทษที่จะได้ ชั้นกลาง เมื่อคดีถึงที่สุด ก่อนที่จะค่อยๆ เลื่อน เป็นชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม ตามลำดับหากไม่ทำผิดกฎเรือนจำหรือทะเลาะวิวาท ชั้นของนักโทษเกี่ยวพันกับ “สัดส่วน” ที่จะได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปที่เกิดขึ้นในวาระโอกาสสำคัญที่ และการลดโทษจะลดหลั่นกันตามชั้นที่นักโทษได้ เช่น ในปี 2555 มีพ.ร.ฎ.อภัยโทษเนื่องในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ, ปี 2558 เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบของสมเด็จพระเทพฯ, ปี 2559เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ของรัชกาลที่ 9 เป็นต้น
หากเขารับสารภาพแต่ต้น เขามีโอกาสที่จะได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย เหลือ จำคุก 5 ปี มีโอกาสจะได้รับการลดโทษในการอภัยโทษทั่วไป แล้วสามารถทำเรื่องพักโทษได้โดยจะอยู่ในเรือนเพียงไม่เกิน 3 ปี อีกกรณีหนึ่งคือ รับสารภาพแล้วยื่นขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคลดังเช่น สุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งถูกจับในช่วงต้นปี 2554 เช่นกัน สุรชัยรับสารภาพในคดี 112 ที่ทยอยฟ้องรวม 5 คดีโทษจำคุก 12 ปีครึ่ง เมื่อเขายื่นขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัวร่วมกับนักโทษ 112 อีกจำนวนหนึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ เขาจึงอยู่ในเรือนจำเพียง 2 ปี 7 เดือน

12. เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 112  ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

มี 2555 ระหว่างต่อสู้คดี เขาและเอกชัย หงส์กังวาน จำเลยคดี 112 อีกคนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สอดคล้องกับการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของประเทศไทย การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง” และอื่นๆ อ่านที่นี่

13. มีแถลงการณ์ - กิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับเขามากมาย

FREE SOMYOS โผล่งานบอลประเพณี
สมยศ โผล่งานหนังสือแห่งชาติ
บรรณาธิการร่วมออกแถลงการณ์
ลูกชายสมยศ ‘ไท’ อดอาหารประท้วง
ยูเอ็นผิดหวังศาลอุทธรณ์ไทยพิพากษายืนจำคุกสมยศ
ท่าทีจากอียู-ฮิวแมนไรท์วอชท์-เอไอ-องค์กรแรงงาน ต่อ 'คำพิพากษาสมยศ'
ทูต 'อียู' แจงไม่ได้ 'แทรกแซง' ไทยกรณี 'สมยศ' แต่ 'ปฏิสัมพันธ์' ด้วยหลักสิทธิฯ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ UN เรียกร้องปล่อยสมยศ ชี้โทษยังแรงไปหลังพิพากษาฎีกา
ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น