วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

“จ่านิว” ให้การปฏิเสธ คดีฝ่าฝืน MOU ระบุจนถึงวันนี้ก็ไม่เห็นว่า คำสั่งคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย


ศาลทหารนัดไต่สวนคำให้การคดี จ่านิวร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่รัก(ลัก) ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวของผู้ถูกกักตัวโดยกฎอัยการศึกษา เจ้าตัวให้การปฏิเสธ พร้อมสู้คดี เผยจนถึงวันนี้ก็ยังไม่คิดว่าคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย
21 ก.พ.2560 ที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ ได้มีการนัดสอบคำให้การ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ในคดีฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวของผู้ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 40/2557 จากกรณีการเข้าร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่รัก(ลัก) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 โดยสิรวิชญ์ ได้ให้การปฎิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันสู้คดีต่อ จากนั้นศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 เม.ย. 2560 เวลา13.30 น. โดยในครั้งนี้ได้มีตัวแทน สถานเอกอัครราชทูตรวม 5 ประเทศเข้าสังเกตการพิจารณาไต่สวนคำให้การประกอบด้วย ประเทศฝรั่งเศส ประเทศฟินแลนด์ ประเทศเยอรมันนี ประเทศเดนมาร์ค และประเทศนอร์เวย์
ทั้งนี้สิรวิชญ์ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไท ภายหลังการไต่สวนคำให้การว่า ยืนยัน และพร้อมที่จะสู้คดีต่อไป เนื่องจากเห็นว่าสาเหตุที่ตนถูกดำเนินคดีนั้นไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ คสช. ทำคือการพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เพื่อที่จะปิดปากผู้ที่เห็นต่างไปจากผู้มีอำนาจ และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่คิดว่าคำสั่ง หรือประกาศต่างๆ ที่ออกมาโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีสถานะเป็นกฎหมาย เพราะเกิดมาจากการยึดอำนาจไปจากประชาชน
สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้นจาก การที่สิรวิชญ์ ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรม เลือกตั้งที่รัก(ลัก) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 โดยในวันนั้นมีผู้ถูกจับกุม และถูกดำเนินคดีทั้งหมด 4 รายประกอบด้วย พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของนายสมาพันธ์หรือ เฌอ เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 53  อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ หรือ 'กึ๋ย' อาชีพขับแท็กซี่ และสิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ซึ่งเวลานั้นยังเป็น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มสภาหน้าโดม และสมาชิกศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) โดยทั้ง 4 คนถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557  แต่มีเพียงสิรวิชญ์ คนเดียวที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนเงือนไขการปล่อยตัวของผู้ถูกกักตัวตัวตามกฎอัยการศึก เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2557 เขาเคยถูกควบคุมตัวขณะเตรียมทำกิจกรรมแจกแซนวิชต้านรัฐประหาร กับเพื่อนอีกหลายคน(อ่านข่าวที่นี่)
สำหรับคดีฝ่าฝืนเงือนไขการปล่อยตัว ก่อนหน้านี้ สิรวิชญ์ ได้ยื่นคำร้องขอให้มีการพิจารณาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลใดเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2559 และต่อมาวันที่ 9 ธ.ค. 2559 ศาลทหารและศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นตรงกันให้คดี ‘จ่านิว’ฝ่าฝืนเงือนไขการปล่อยตัว ข้อห้ามชุมนุมการเมือง เป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร เพราะศาลเห็นว่า คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งสามารถออกประกาศ คำสั่ง และกฏหมายได้
โดยศาลทหารเห็นว่าหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 คสช. ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกในการออกประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และได้ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในการพิจารณาของศาลทหารที่กำหนดให้ความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช.อยู่ในการพิจาณาของศาลทหารซึ่งได้รับรองความชอบธรรมตามมาตรา 47 วรรค 1 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งคดีนี้อัยการโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 40/2557 คดีนี้จึงอยู่ในการพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร
ในส่วนความเห็นของศาลแขวงปทุมวันสรุปได้ว่าเมื่อ คสช. ยึดอำนาจปกครองประเทศและได้ออกใช้อำนาจรัฐออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และประกาศ คสช.ฉบับที่ 40/2557จึงเป็นการออกประกาศและคำสั่งโดยใช้อำนาจความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ นอกจากนั้นมาตรา 47 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่บัญญัติให้ประกาศและคำสั่ง หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ประกาศตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 ทำให้ประกาศทั้ง 2 ฉบับชอบด้วยกฎหมาย
แม้ภายหลังจะมีการยกเลิกกฎอัยการศึกก็ไม่ทำให้ประกาศทั้ง 2 ฉบับถูกยกเลิกไปด้วย การที่อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยกระทำความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 40/2557 ซึ่งเป็นฐานความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 คดีนี้จึงอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร
ปัจจุบันสิรวิชญ์ มีคดีความที่อยู่ในการพิจารณาของศาลทั้งหมด 4 คดี โดย 3 คดีอยู่ในศาลทหาร และอีก 1 คดีพิจารณาในศาลพลเรือน โดยศาลได้พิพากษาลงโทษปรับ 1,000 บาท ตามความผิดฐาน ทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยลงบนพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด จากรณีการจัดกิจกรรมโพตส์สิทธิ์ ที่ BTS ช่องนนทรี ในวันที่ 1 พ.ค.2559 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข และแอดมินเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” 8 คนที่ถูกทหารจับกุมตัว ซึ่งคดีนี่สิรวิชญ์เห็นว่าเขาไม่ได้ทำความผิด จึงได้มีการเตรียมการเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อไป
สำหรับคดีที่อยู่ในศาลทหารประกอบด้วย
-คดีฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2257 กรณีการร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่รัก(ลัก) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558  มีจำเลยทั้ง 4 คน
-คดีฝ่าฝืนเงือนไขการปล่อยตัวของผู้ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 40/2557 ซึ่งเป็นผลสืบเนืองจากการร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่รัก(ลัก)
-คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 กรณีการจัดกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น