วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เสธ.ทร.เตรียมลงนามสัญญาซื้อเรือดำน้ำจีน 7 พ.ค.นี้ สตง.คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ สอบเอกสารลับ


ทร.ระบุ  เสธ.ทร.เยือนจีน เป็นตัวแทน ผบ.ทร. เตรียมลงนามสัญญาซื้อเรือดำน้ำ 7 พ.ค.นี้ ขณะที่ สตง.คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ สอบเอกสารลับ

4 พ.ค. 2560 สำนักงานเลขานุการ กองทัพเรือ (สลก.ทร.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวแจกจ่ายให้สื่อมวลชน ถึงความคืบหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 1 จากสาธารณรัฐประชาชนจีน  ระบุว่า กองทัพเรือได้รับแจ้งจากบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co.,Ltd.  (CSOC) สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ได้ประสานงานกับรัฐบาลจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน ในการจัดเตรียมเอกสารต่างๆ เรียบร้อยแล้ว และมีความพร้อมในการลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จึงมีความประสงค์ขอเชิญผู้แทนรัฐบาลไทยให้เกียรติไปเยือนจีน และลงนามในข้อตกลงฯ 
ดังนั้น การดำเนินการของกองทัพเรือ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน 
โดยเสนาธิการทหารเรือและคณะได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4 – 7 พ.ค. 2560 และเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของเอกสารเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถประกอบพิธีลงนามในข้อตกลง  ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กับบริษัท CSOC ในฐานะผู้แทนรัฐบาล สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ ภายในวันที่ 7 พ.ค. 2560 ซึ่งจะถือได้ว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มีพันธกรณีต่อกันโดยสมบูรณ์ต่อไป 

สตง.คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ ตรวจสอบเอกสารลับ

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ว่า วันนี้ (4 พ.ค.)  สตง.มาตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ อาทิ การใช้งบประมาณการจัดซื้อดังกล่าว โดยจะตรวจสอบย้อนหลังไปถึงวันที่นำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา 
“เนื่องจากเป็นเอกสารลับ ไม่สามารถนำออกไปได้ คาดว่าใช้เวลา 1 สัปดาห์  ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ในการตรวจสอบประเด็นต่างๆ ที่สังคมสงสัย โดยจะนำข้อร้องเรียนของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา มารวบรวม เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเอกสารที่กองทัพเรือส่งให้ ครม.” พิศิษฐ์ กล่าว
พิศิษฐ์ กล่าวว่า หากมีข้อสังเกตใดๆ หรือพบนัยที่สำคัญ ก็จะรีบแจ้งกองทัพเรือ เพื่อนำไปพิจารณาทบทวน และแจ้งสื่อมวลชนให้ทราบ ส่วนจะระงับยับยั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกองทัพเรือ  และไม่มีข้อห้ามว่า ระหว่างนี้ กองทัพเรือจะเซ็นสัญญากับจีนไม่ได้    
พิศิษย์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่มาตรวจสอบเอกสารโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีน เป็นผู้ตรวจราชการ เทียบเท่ารอง หรือ ผู้อำนวยการสำนัก จำนวน 5 คน และมีผู้ช่วยอีก 1-2 คน ซึ่งกองทัพเรือให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดย สตง.จะตรวจสอบต่อเนื่อง เพราะเป็นงบผูกพันหลายปี และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องตรวจสอบคือ การทำสัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเยอะ เช่น โครงการมันสำปะหลังและจำนำข้าว
“เป็นหน้าที่ของ สตง.อยู่แล้ว  ในการดูแลการใช้งบประมาณของแผ่นดิน  ยืนยันว่า การทำงานเป็นอิสระ ไม่เกรงกลัวอิทธิพลการเมือง ที่ผ่านมาก็เคยตรวจสอบหลายโครงการของกองทัพเรือ  เช่น การจัดหาเรือดำน้ำ มือ 2 จากเยอรมนี ที่ได้ให้ข้อสังเกตต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดโครงการก็ไม่ได้รับการอนุมัติ” พิศิษฐ์ กล่าว
รายงานระบุด้วยว่า พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ได้เดินทางไปยังสาธารณประชาชนจีนแล้ว เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดทำสัญญาซื้อเรือดำน้ำ S26T 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น