วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ทบ. เสียใจเหตุทหารทำร้ายผู้ต้องหาที่เกาะล้าน แม้จะเป็นการกระทำของทหารเพียงคนเดียวก็ตาม




Published on Fri, 2017-08-18 13:53


         พ.อ.หญิง ศิริจันมร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงกรณีทหารทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาคดียาเสพติดขณะจับกุม ระบุกองทัพสั่งจำคุก 15 วัน พร้อมขอโทษญาติผู้ต้องหาแล้ว แจงเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของกำลังพลเพียงคนเดียวก็ตาม



          เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.หญิง ศิริจันมร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่มีเผยแพร่คลิปทหารทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งได้ถูกเผยแพร่ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจแหม่มโพธิ์ดำ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ว่า กองทัพบกตรวจสอบข้อมูลเบื้อง พบว่าเหตุการณ๋ดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมผู้ต้องหาคดียาเสพติด โดยเป็นการปฏิบัติภารกิจร่วมกันของทหารชุดรักษาความสงบเรียบร้อยประจำพื้นที่เกาะล้าน , สถานนีตำรวจภูธรเมืองพัทยา และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ในการเข้าตรวจค้นยาเสพติดในชุมชนบนเกาะล้าน จากการตรวจค้นดังกล่าวสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย



          พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า ในระหว่างที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารแสดงพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสมตามที่ปรากฎในคลิป หน่วยต้นสังกัดจึงได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยในขั้นต้นได้สั่งให้ชุดรักษาความสงบเรียบร้อยประจำพื้นที่เกาะล้านพ้นจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ และสั่งจำขัง(จำคุก)กำลังพลที่ปรากฎในคลิปเป็นเวลา 15 วัน พร้อมกันนี้หน่วยฯ ได้ประสานกับญาติของผู้ต้องหา เพื่อขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้เรียกกำลังพลทุกส่วนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว มาดำเนินการปรับปรุงวินัย และย้ำให้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายกองทัพบกบนพื้นฐานของหลักกฎหมาย และมนุษยธรรมโดยเคร่งครัด

         “กองทัพบกขอแสดงความเสียใจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของกำลังพลเพียงคนเดียวก็ตาม และขอย้ำว่ากองทัพบกไม่มีนโยบายให้กองกำลังพลใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานในภารกิจใดๆ ก็ตาม” รองโฆษกกองทัพบกกล่าว

ประวิตร เข้ารับทราบข้อหากับ ปอท. หลังโดนแจ้ง 116-พ.ร.บ.คอมฯ อีกคดี



Published on Fri, 2017-08-18 18:58


          ประวิตร โรจนพฤกษ์ เข้ารับทราบข้อหากับ ปอท. หลังโดนแจ้งข้อหา ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ อีกคดีเหตุโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อคสช. เจ้าตัวยันโพสต์ตามสิทธิที่ประชาชนพึงมี ยันไม่ได้ปลุกปั่น


           18 ส.ค. 2560 สำนักข่าว มติชนออนไลน์ และรายงานว่า ประวิตร โรจนพฤกษ์ ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ (Khaosod English) พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจง กรณีถูกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ ปอท.ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด โดยปรากฏรูปภาพที่แสดงท่าทีไม่เหมาะสม และแสดงความคิดที่มีผลกระทบต่อรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยประวิตรได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองข้อหาในวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความตั้งแต่ 2 ส.ค. 60

           รายงานข่าวระบุด้วยว่า การเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันนี้ (18 ส.ค.60) มีแอนดรูว์ อาร์มสตรอง เลขานุการโท เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา พร้อมเจ้าหน้าที่ไทยประจำสถานทูตเข้าร่วมสังเกตการณ์รับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เนื่องจากสนใจในเรื่องของสิทธิของประชาชนที่ได้รับจากรัฐบาลไทย

          ประวิตร กล่าวว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้น เป็นไปตามสิทธิของประชาชนที่มี สามารถจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลได้ ยืนยันว่าไม่ได้ยุยงปลุกปั่น หรือสร้างความเคลื่อนไหวของมวลชนกรณีการโพสต์ถึงการตัดสินคดีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

          สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้(18 ส.ค.60) พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา รองผกก. (สอบสวน) กก 3 บก.ปอท. และร.ต.อ.หญิง วลัญชรัชฎ์ คำแก่น รองสว. (สอบสวน) กก 3 บก.ปอท. เป็นพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่สองต่อ ประวิตร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 (2), (3), (5) โดยพนักงานสอบสวนพิจารณาเป็นกรรมเดียวกัน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน

          ศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 5 ข้อความ โดยเป็นโพสต์ข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษระหว่างวันที่ 21-29 กรกฎาคม 2560 โดยจากเนื้อหาแยกเป็น 2 ข้อความที่โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีก 2 ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วมภาคอีสานของคสช. และอีก 1 ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีผู้สื่อข่าวที่เข้าไปตรวจสอบโกดังเก็บข้าวที่อ่างทอง และถูกเจ้าหน้าที่ทหารข่มขู่จะยึดกล้อง โดยกล่าวหาว่าข้อความต่างๆ ดังกล่าวเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ที่อาจทำให้ประชาชนที่พบเห็นเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อการปกครองของรัฐบาลปัจจุบัน (คสช.) หรือหัวหน้าคณะรัฐบาลปัจจุบัน และก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศได้

         ประวิตร ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์จะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวนต่อไป


        สำหรับประวิตร ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เขาเคยถูกควบคุมตัวไปแบบไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้เพื่อ 'ปรับทัศนคติ' ถึง 2 ครั้งหลังแสดงความเห็นที่ถูกตีความว่ากระทบกับรัฐบาล คสช. และกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในปี 2557 และ 2558 เดิมทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่สำนักข่าวเดอะ เนชั่น แต่ถูกเชิญออกหลังจากถูกเรียกเข้าค่ายทหารครั้งที่สองเมื่อปี 2558 จากนั้นประวิตรจึงย้ายมาทำงานที่ข่าวสดอิงลิช

           เมื่อ 18 ก.ค. 2560 คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก (The Committee to Protect Journalists) มอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ให้กับนักข่าว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ที่ได้รับเกียรติจากทางคณะกรรมการฯ ร่วมกับนักข่าวอีก 3 คนจากแคเมอรูน เม็กซิโก และเยเมน แถลงการณ์ระบุถึงประวิตรว่าเป็น "นักข่าว นักวิพากษ์ และนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ ถูกคุกคามโดยรัฐบาลและถูกคุมขัง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีนี้จากการทำข่าวประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชน”

          ทอดด รุยซ์ บรรณาธิการข่าวสดอิงลิชที่ประวิตรสังกัด ได้ออกมาแถลงต่อคดีนี้ ระบุว่า ตนยืนยันว่าประวิตรและประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายละเอียดแก่ประวิตรว่า ใครเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาให้ตำรวจดำเนินการกับประวิตร

"นี่คือการคุกคามประวิตรอย่างเห็นได้ชัด" ทอดด์กล่าว


          คณะกรรมการนิติศาสตร์สากลหรือไอซีเจ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประวิตร หลังจากที่องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นเรียกร้องไทยยุติการใช้บทบัญญัติทางอาญารวมถึงความผิดฐานยุยงปลุกปั่นเป็นเครื่องมือในการกดขี่การแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างหรือการแสดงความไม่เห็นด้วย และใช้ทุกมาตรการเพื่อยุติการดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

          เมื่อ 7 ส.ค. องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporter Without Borders - RSF) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐเพิกถอนกระบวนการทางอาญาที่กำลังดำเนินอยู่กับประวิตร “ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ถูกทำร้ายซ้ำไปซ้ำมาเพียงเพราะเขาแสดงความเห็นของเขาและปกป้องเสรีภาพในการให้ข้อมูลจนถึงกับทำให้เขาต้องออกจากงานเดิมที่สำนักข่าวเดอะเนชั่น ถึงเวลาแล้วที่ทางการจะตระหนักว่าเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถถูกกดปราบในลักษณะนี้ โดยเฉพาะวิธีการนำตัวผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ”

         4 ส.ค. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าความพยายามของทางการไทยที่จะใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อคุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนไทยหลายสิบคนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เพียงแค่พวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างสงบทั้งในการชุมนุมหรือผ่านโซเชียลมีเดีย

กรุงเทพโพลล์ระบุ 3 ปีรัฐบาลประยุทธ์ ได้ 5.27 ลดลงทุกด้าน




Published on Sat, 2017-08-19 16:53


            19 ส.ค.2560 กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประเมินผลงาน 3 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ด้วยเหตุที่เดือนสิงหาคม 2560 นี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศครบ 3 ปี โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,216 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า

            ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 ปี เฉลี่ย 5.27 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินการทำงานรอบ 2 ปี 6 เดือนที่ได้ 5.83 คะแนน และรอบ 2 ปี ที่ได้ 6.19 คะแนน โดยการสำรวจครั้งนี้รัฐบาลได้คะแนนลดลงทุกด้าน

           สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 ปี ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจ เฉลี่ย 7.00 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินรอบ 2 ปี 6 เดือน ที่ได้ 7.40 คะแนน และรอบ 2 ปี ที่ได้ 7.57 คะแนน โดยการสำรวจครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้คะแนนลดลงทุกด้าน

         ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลปฏิรูปให้สำเร็จก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 32.5 ระบุว่าทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและมีความมั่นคงกว่านี้ รองลงมามาร้อยละ 12.8 ระบุว่าให้ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในวงราชการและการเมือง และร้อยละ 10.0 ระบุว่าให้ดูแลราคาสินค้าเกษตรเช่น ข้าว ยางพารา ไม่ให้ตกต่ำ

แม่ทัพภาค 3 ปัดจับแกนนำเกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน เซ็นสัญญาไม่ขนคนเชียร์ยิ่งลักษณ์



Published on Sat, 2017-08-19 17:57


          ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน เผยถูกเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือแกมบังคับเซ็นยินยอมไม่ให้นำมวลชนไปให้กำลัง ยิ่งลักษณ์ ด้าน แม่ทัพภาค 3 ย้ำแกนนำ-แฟนคลับไปคนเดียวเชียร์ อย่าชวนชาวบ้าน-หลอกคนแก่ หวั่นละเมิดอำนาจศาล ยันทหารไม่มีเซ็นสัญญา


           19 ส.ค.2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา จำรัส ลุมมา ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน ในฐานะแกนนำเกษตรกรผู้ปลูกข้าวออกมาเปิดเผยถึงกรณีเซ็นหนังสือยินยอม ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ให้นำมวลชนไปให้กำลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนศาลตัดสินคดีจำนำข้าว วันที่ 24-25 ส.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ นั้น

          ล่าสุดวันนี้ (19 ส.ค.60) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.กองทัพภาคที่ 3 ) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนขอยันว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงแน่นอน เพราะเท่าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการในลักษณะนั้น และยิ่งเป็นคนเมืองด้วยกันเขาพูดคุยกันด้วยวาจาก็รู้เรื่อง เข้าใจกันมากกว่าทำหนังสือตกลง ขณะเดียวกันทางการข่าวในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 พบว่าจะมีแกนนำขนมวลชนไปให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ด้วยเช่นกัน แต่ตนขอร้องว่าถ้าพวกท่านเป็นแกนนำ เป็นแฟนคลับตัวจริง รักใคร่ชอบคอกัน จะเดินทางไปกรุงเทพฯ ตนอยากให้ไปคนเดียว หรือสองคน เราก็ไม่ว่า ไม่ได้ห้ามปรามอะไร แต่ขอร้องอย่าชวนชาวบ้าน เด็กเล็ก คนเถ่าคนแก่ ไปด้วยเลย จะชวนเขาไปลำบากทำไม

         "ผมขอร้องพวกท่านอย่าไปแอบอ้าง หลอกลวงคนแก่ คนสูงอายุ ว่าไปโน่นไปนี่ แล้วให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ที่กรุงเทพ อย่างนี้มันไม่ดี ผมกลัวว่าเดี๋ยวจะกลายเป็นไปละเมิดอำนาจศาล มันจะยุ่ง เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่ เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตพื้นที่อำนาจศาล จึงไม่อยากให้โดนข้อหารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งถ้าพวกแกนนำอยากไปก็ไปกันเอง จะนั่งเครื่องบินไป นั่งรถไฟ นั่งรถยนต์กันไป ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าเอาลูกบ้านไปลำบากด้วยเลย เราไม่ได้ห้าม เพียงแค่ขอความร่วมมือ" พล.ท. วิจักขฐ์ กล่าว

          สำหรับการเปิดเผยของ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน ในฐานะแกนนำเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ดังกล่าวนั้น มติชนออนไลน์รายงานว่า จำรัส ยอมรับว่าเซ็นหนังสือจริง แต่เป็นการขอความร่วมมือแกมบังคับ ข่มขู่ ขืนใจเพราะมีตำรวจ (สารวัตรแม่แฝก) และทหาร 7-8 นาย พร้อมรถยนต์ 3 คัน บุกเข้ามาที่บ้าน โดยไม่มีหมายค้น พร้อมขอให้เซ็นหนังสือยินยอมดังกล่าว ตอนแรกตนขอให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้บันทึก แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมลงบันทึกเอง กลับบอกให้ตนเป็นผู้เขียนหนังสือดังกล่าวด้วยลายมือตนเอง ตามคำบอกของเจ้าหน้าที่ (สารวัตรแม่แฝก) เป็นการชี้นำ เพื่อให้ดูว่าตนเองยินยอมเซ็นหนังสือดังกล่าวด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญอย่างใด เหตุเกิดช่วงเวลา 11.00 น.วันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันหวยออกพอดี

          “แม้ว่าตนเองเซ็นหนังสือยินยอม แต่ไม่ได้สมัครใจ เพราะถูกบังคับ ขืนใจ ส่วนตัวไม่ต้องการเซ็นหนังสือดังกล่าว แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการกระทำดังกล่าวได้ จึงต้องยอม เพื่อให้เรื่องม้นจบเท่านั้น โดยเขียนหนังสือเพียงแผ่นเดียว และมอบให้เจ้าหน้าที่นายหนึ่ง (สารวัตรแม่แฝก) เก็บไว้ ส่วนตนเองได้ใช้มือถือถ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐานเช่นเดียวกัน ซึ่งตนมองว่าหนังสือดังกล่าวเพียงขอความร่วมมือ ไม่น่ามีผลทางกฏหมาย ถ้ายินยอมจริง จะเอาตนเองไปเสี่ยง หรือผูกมัดทำไม เนื่องจากไม่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ ไม่มีเจ้าหน้าที่เซ็นรับหนังสือดังกล่าวด้วย” จำรัส กล่าว

           จำรัส กล่าวถึงสาเหตุที่ถูกขอความร่วมมือ ให้เซ็นหนังสือดังกล่าวว่า เพราะเคยนั่งรถตู้ไปให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้น และทำบันทึกประวัติ ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวถึงที่บ้าน และขอความร่วมมือแกมบังคับดังกล่าว ซึ่งไม่ได้วิตก หรือห่วงกังวลอะไรและไม่มีผลต่อการตัดสินใจไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 25สิงหาคมนี้ เพื่อฟังคำตัดสินของศาล เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐาน ตอนนี้รถตู้ที่ว่าจ้างเดินทางไปกรุงเทพฯ ได้ขอยกเลิกสัญญาแล้ว เพราะถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปรายงานตัว และถ่ายรูปทำประวัติ จึงเกิดความเกรงกลัว ว่าอาจถูกกลั่นแกล้ง และดำเนินคดีอีก

ประยุทธ์ โวยสื่อ 'จะไปทำอะไรก็ทำ' หลังสมาคมนักข่าวฯประกาศไม่ใช่พีอาร์รัฐบาล




Published on Sat, 2017-08-19 19:41

พล.อ.ประยุทธ์ ลั่นไม่คาดหวังอะไรจากพวกสื่ออยู่แล้ว หลังสมาคมนักข่าวฯ ประกาศ “ไม่มีหน้าที่พีอาร์ให้รัฐบาล” เหตุถูกรัฐบาลขอให้เกาะติดคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข่าว


          19 ส.ค.2560 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี 2 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2560 โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งถึง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนว่า หน้าที่ของสื่อมวลชนทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง ด้วยว่า

        “วันนี้ผมก็ได้ยินคำพูดของนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานให้รัฐบาล เขามีหน้าที่ในการทำประโยชน์สาธารณะ ผมก็ไม่รู้ว่าที่ผมทำวันนี้นั้น มันทำเพื่อใครเหมือนกัน มันมีประโยชน์หรือเปล่ากับประเทศหรือต่อสาธารณะก็ยังไม่รู้เหมือนกัน ผมชักไม่รู้ตัวแล้วนะ เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากพวกสื่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เชิญเลยท่านจะไปทำอะไรของท่านก็ทำ ไม่ต้องไปตามสัมภาษณ์ผมอีกต่อไปก็ได้ แต่ผมก็จะพูดของผมอย่างน้อยผมก็พูดกับพวกท่านท่านคงไม่มีใครเบื่อจะฟังหรือมีใครจะลุกออกไปบ้างหรือไม่ ผมก็จะพูดของผมไปเรื่อยๆ เพราะผมต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า สิ่งสำคัญทุกคนต้องไม่เสียใจไม่ต้องน้อยใจผมเพราะบางครั้ง ครม. ก็จำเป็นต้องเสนอกฎหมายหลายฉบับออกมาก็เพื่อให้เกิดความไว้วางใจความไว้เนื้อเชื่อใจให้สังคมได้ถูกแถลง จะได้รู้ว่าสังคมคิดกันอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าข้าราชการเป็นตัวกลางของการทุจริต เรามีคนดีมากมายแต่ต้องยอมรับว่าคนไม่ดีก็มีอยู่บ้างในทุกหน่วยงาน วันนี้เราต้องทำให้ทุกกระบวนการโปร่งใสมีประสิทธิภาพตรวจสอบได้ มีหลักธรรมาภิบาลและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยืนยันว่าผมมีเจตนาดีและเจตนาบริสุทธิ์กับทุกคน ไม่เคยรังเกียจรังงอนใครทั้งสิ้นใครจะเกลียดผมก็ช่างเขา เพราะอย่างไรก็ไม่ทำให้ผมตายได้ ยกเว้นผมจะตายเอง เส้นโลหิตแตกไปเอง” พล.อ.ปรยุทธ์ กล่าว

         พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ในการตั้งคณะกรรมการรัฐวิสากิจไม่ทราบว่าใครมีปัญหาหรือไม่ ส่วนคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็อยู่จนครบวาระและคัดสรรเข้ามาใหม่ ส่วนทหารเขาก็ชอบว่าว่าไม่ค่อยฉลาด เขาก็ว่าเราเยอะผมก็ต้องฟังด้วย เพราะผมเป็นทหารเก่า ตอนผมไปเรียนเพิ่มหลักสูตรไอโอดีมา 2-3 วัน ฟังเขารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะว่าหลักสูตรยากสำหรับทหารแต่ผมก็พยายาม ก็ถือว่าทหารไม่โง่นัก เว้นแต่บางคนที่ชอบแกล้งโง่ ส่วนใหญ่ทหารฉลาดจะตาย แต่ด้วยระเบียบวินัย ทำให้ทหารไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นมากนัก ในวันนี้เป็นทหารรุ่นใหม่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อบรรดาที่ออกมาด่าทหารทุกวัน ด่าจนรองนายกฯป่วยไปคนหนึ่งแล้ว

          สำหรับแถลงการณ์ของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยดังกล่าวออกขึ้นหลังจากที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือสื่อมวลชน เกาะติดคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข่าวและสกู๊ปข่าวพิเศษภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่านระหว่างลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค. นี้ โดยไม่กำหนดว่าต้องรายงานอย่างไร ให้​ใช้ความสร้างสรรค์ของแต่ละช่องได้เต็มที่ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการฟังข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่สร้างปมประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

โผทหารปี 60 ถึงมือ’ประยุทธ์’ 21 ส.ค. สาย ‘ประวิตร’ ขึ้นยกแผง



Published on Sat, 2017-08-19 23:51


          เปิดโผตั้งบิ๊กทหาร 3 เหล่าทัพ สื่อชี้เด็ก "ป๋าป้อม" พรึ่บยกแผง น้องรัก "บิ๊กอ้อม" ขึ้นผู้ช่วยผบ.ทบ. เบียด "แม่ทัพภาค2" หลุดทบ. ด้าน "บิ๊กนุ้ย" ขึ้นผบ.ทร.- "กู้เกียรติ" นั่งแม่ทัพภาค1และ "ศักดา" นั่งแม่ทัพอีสานคนใหม่

          19 ส.ค.2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานความคืบหน้าในการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารระดับสูง ประจำปี 2560 ว่า ขณะนี้รายชื่อที่ได้รับการตรวจทานและแก้ไขทั้งหมดหลังจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกปลัดกระทรวงกลาโหม และผบ.เหล่าทัพ ร่วมพิจารณาจนเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย

       โดยในวันที่ 21 ส.ค. รายชื่อทั้งหมดจะส่งถึงมือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯต่อไป

       สำหรับรายชื่อนายทหารที่ได้รับการปรับย้ายในครั้งนี้ปรากฎว่าในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่จะเกษียณอายุราชการ กองทัพบกได้เสนอชื่อ "บิ๊กเข้" พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ (ตท.18) ผู้ช่วยผบ.ทบ. ข้ามฝากมาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งหลังจากดัน “บิ๊กลภ” พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ (ตท.18) ผอ.นโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พร้อมเปิดทางให้น้องรัก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม นั่นคือ “บิ๊กณัฐ”พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ (ตท.20) หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อจ่อเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหมในปีหน้าโดยปราศจากคู่แข่ง

         ทั้งนี้ พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง เสธ.ทอ. ข้ามฝากมาเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม กับ "บิ๊กหรั่ง" พล.อ.วิสุทธิ์ นาเงิน เจ้ากรมเสมียนตรา (ตท.17) เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม
กองบัญชาการกองทัพไทย “บิ๊กปุย” พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.ทหารสูงสุด จะเกษียณอายุราชการ โดยเสนอ "บิ๊กต๊อก" พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ (ตท.17) เสนาธิการทหารขึ้นเป็นผบ.ทหารสูงสุด พร้อมขยับ “บิ๊กกบ” พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญจศรี (ตท.18 ) รองเสนาธิการทหาร ขึ้นเป็นเสนาธิการทหาร โดยมี “บิ๊กยอร์ช” พล.อ.ยศนันทน์ หร่ายเจริญ (ตท.16) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทบ. เป็นรองผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.ธงชัย สาระสุข (ตท.19) หัวหน้านายทหารฝ่ายเสธ.ประจำผบ.ทหารสูงสุด ขึ้นเป็นผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

         ส่วนกองทัพบกปรากฏว่า “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท (ตท.16) ยังครองเก้าอี้ผบ.ทบ.อีกหนึ่งปี จนกว่าเกษียณในปีหน้าเพื่อควบคุมสถานการณ์และการขับเคลื่อนการบริหารงานของรัฐบาลและคสช.ตามโรดแม็ปไปสู่การเลือกตั้ง โดยขยับ “บิ๊กต้อ” พล.อ.สสิน ทองภักดี (ตท.17) เสธ.ทบ.ขึ้นเป็นรองผบ.ทบ. ส่วน “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ตท.20) แม่ทัพภาคที่ 1 น้องรักของ “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. โดยโยก “บิ๊กอ้อม” พล.ท.วีรชัย อินทุโสภณ (ตท.18) จากผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. ซึ่งเป็นน้องรักของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในสายบูรพาพยัคฆ์คนหนึ่ง ทั้งนี้การขยับเอา “บิ๊กอ้อม” เข้ามาอยู่ในไลน์ 5 เสือทบ.นั้นมีเสียงวิจารณ์ถึงการเตะโด่ง “บิ๊กแช” พล.ท.วิชัย แชจอหอ (ตท.17) แม่ทัพภาคที่ 2 นักรบภาคอีสานที่ผ่านสมรภูมิการรบมาอย่างโชกโชนในการปกป้องชายแดน และเคยได้รับเหรียญรามาฯถูกย้ายข้ามห้วยจากกองทัพบกไปเป็นรองเสธ.ทหาร ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะได้ขยับขึ้นเป็น ผู้ช่วยผบ.ทบ. แต่ต้องถูกสกัดจากเด็กของ ”บิ๊กป้อม” ไปอย่างน่าเสียดาย

ขณะที่ “บิ๊กเล็ก” พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ (ตท.20) รองเสธ.ทบ. ขยับขึ้นเป็น เสธ.ทบ. ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดระดับนายทหาร 5 เสือทบ.ครั้งนี้ เป็นการวางทายาทผบ.ทบ.ในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่จะเกษียณปี 2563 “บิ๊กอ้อม” พล.ท.วีรชัย อินทุโสภณ ที่จะเกษียณปี 2562 รวมถึง ”บิ๊กเล็ก” พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ซึ่งเกษียณปี 2564 ซึ่งทั้ง 3 รายล้วนแต่เป็นแคนดิเดตเก้าอี้ผบ.ทบ.ได้ทุกคน

ส่วนกองทัพภาคที่ 1 หลัง พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขยับไปเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ.ปรากฎว่า “. บิ๊กตู่” พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา (ตท.20) แม่ทัพน้อยที่ 1 ในสายบูรพาพยัคฆ์น้องรัก “บิ๊กป้อม” ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ตามคาด ขณะที่น้องรักนายกฯตู่ อีกคน “บิ๊กติ่ง” พล.ต.สันติพงษ์ ธรรมปิยะ (ตท.22) รองแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ต.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) ผบ.พล.2 รอ. เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1

กองทัพภาคที่ 2 พล.ท.ศักดา เปรุนาวิน แม่ทัพน้อยที่ 2 ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.สนธยา ศรีเจริญ รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 2

สำหรับแม่ทัพภาคที่ 3 และแม่ทัพภาคที่ 4 ยังอยู่ที่เดิมไม่มีการขยับแต่อย่างใด

กองทัพเรือ “บิ๊กณะ” พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.ที่จะเกษียณอายุราชการได้เสนอ ”บิ๊กนุ้ย" พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้ช่วยผบ.ทร (ตท.16) เป็นผบ.ทร.คนใหม่ตามคาด โดยขยับคู่แคนดิเดต "บิ๊กลือ" พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร. (ตท.18) ไปเป็นรองผบ.ทร. “บิ๊กตุ๋ย” พล.ร.ท.พิเชฐ ตานะเศรษฐ รองเสธ.ทร.เป็นเสธ.ทร. “บิ๊กจุ๋ม” พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เป็นที่ปรึกษากองทัพเรือ อัตราจอมพล

ส่วนกองทัพอากาศ “บิ๊กจอม” พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ.ยังไม่เกษียณ แต่ได้ขยับ "บิ๊กต่าย" พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้ช่วย ผบ.ทอ. (ตท.18) ขึ้นเป็น รอง ผบ.ทอ. เพื่อจอคิวต่อจากบิ๊กจอมในปีหน้า พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง เสธ.ทอ. และ พล.อ.อ.ชาญฤทธิ์ พลิกานนท์ (ตท.18) รองเสธ.ทหารขึ้นเป็นผู้ช่วยผบ.ทอ. “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ท.ภานุพงศ์ เสยยงคะ รอง เสธ.ทอ.ขึ้นเป็น เสธ.ทอ.

นักวิชาการต่างประเทศร้องทางการไทยยุติดำเนินคดี 5 นักวิชาการเชียงใหม่ ฝืนคำสั่ง คสช.



Published on Fri, 2017-08-18 14:25


เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง ร้อง พล.อ.ประยุทธ์ หยุดดำเนินคดีต่อ 5 นักวิชาการเชียงใหม่ หลังถูก ตร.เรียกตัวในคดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา ชี้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นสิทธิที่ควรถูกปกป้อง



ที่มา: Drop charges against peaceful conference attendees

18 ส.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง หรือ Scholars at Risk (SAR) ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกจดหมายเปิดผนึกรณรงค์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อ นักวิชาการ 5 คนที่เชียงใหม่ ประกอบด้วย รศ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ที่เป็นร้องศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธีรมล บัวงามแล้ว ที่เป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม ภัควดี วีระภาสพงษ์ ที่เป็นนักแปลและนักเขียนอิสระ ชัยพงษ์ สำเนียง ที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนลธวัช มะชัย ที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้ 5 คนดังกล่าวถูกเรียกรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภานีตำรวจช้างเผือกในวันที่ 21 ส.ค.นี้ โดยที่รายละเอียดยังไม่เปิดเผย แต่เบื้องต้นถูกกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป และที่เป็นกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่ รศ.ดร.ชยันต์ เป็นประธานกรรมการจัดงานและอีก 4 คนเป็นผู้ที่เข้าประชุมวิชาการดังกล่าว

เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) เขียนจดหมายเปิดผนึกและชวนสมาชิกในเครือข่ายส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ, ศาลจังหวัดขอนแก่น, อัยการสูงสุด, ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ มณฑลทหารบกที่ 33 ที่ผู้กล่าวหาสังกัดอยู่ และ ซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อ 5 คน ดังกล่าว เนื่องจากการร่วมในประชุมวิชาการและแสดงความคิดเห็นเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นสิทธิที่ควรถูกปกป้อง (โดยมีรายละเอียดและช่องทางการลงชื่อที่นี่)

สำหรับเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) เป็นเครือข่ายของนักวิชาการและสถาบันการศึกษาทั่วโลกที่รวมตัวกันปกป้องนักวิชาการและนักศึกษาที่ถูกคุกคามโดยรัฐ สนับสนุนและส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ โดยจะมีการบันทึกกรณีการจับกุม กักขัง การสังหาร และการละเมิดสิทธิชนิดอื่น นอกจากนี้ SAR ยังทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออกความคิดเห็นอย่างสันติโดยนักวิชาการและนักศึกษา

ที่มา: Drop charges against peaceful conference attendees

ชำแหละ กม.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แผนสืบทอดอำนาจ-ประชาชนอยู่ตรงไหน?



Published on Thu, 2017-08-17 16:59

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

อ่านกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วิเคราะห์แผนสืบทอดอำนาจ คสช. วางคนคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ‘บัญฑูร’ แจงร่าง 30 มิถุนายน 58 เป็นแค่หลักการกว้างๆ แนะเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมทันที ด้านภาคประชาชนไม่เชื่อมั่นการมีส่วนร่วม เชื่อรัฐมีธงอยู่แล้ว



ในมุมของฝ่ายสนับสนุน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือกรอบแนวทางการพัฒนาที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อนและถึงเวลาจำเป็นต้องมี เพื่อไม่ให้การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างสะเปสะปะ ไร้ทิศทาง และไร้การกำกับดูแล

ในมิติของฝ่ายคัดค้าน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือเครื่องมือที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อใช้ควบคุม-เล่นงานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้อยู่ในร่องในรอยที่กลุ่มชนชั้นนำปีกขวาต้องการ

ด้วยอำนาจที่ คสช. มีในมือ พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 กระบวนการที่จะตามมาจากนี้คือการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหลังการประกาศใช้กฎหมาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

คสช. วางคนสืบทอดอำนาจ ควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

เมื่อดูรายชื่อคณะกรรมการฯ ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย พบว่า มีรายชื่อจากหน่วยงานความมั่นคงถึง 7 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในส่วนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ อีก 17 คนนั้น กฎหมายกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยจะต้องแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในเวลา 30 วันนับจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

พิเคราะห์ดูจำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหมด 35 คน พบว่า มาจากฝ่ายกองทัพและความมั่นคง 7 คน กรรมการที่จะได้รับการแต่งตั้งในเร็ววันนี้อีก 17 คนโดย คสช. ประธานวุฒิสภาที่กฎหมายกำหนดให้เป็นรองประธานคณะกรรมการอีก 1 คน ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ย่อมเท่ากับว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 25 คนจาก 35 คน คือคนที่ คสช. วางเอาไว้ ก็เป็นไปได้ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งต้องเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมาย แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ในคณะกรรมการชุดนี้

พิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป แต่การกำหนดว่าใครจะขึ้นมาก็เป็นสิทธิขาดของทหาร (อาจจะยกเว้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) เท่ากับจะเป็นคนของฝ่ายกองทัพอย่างเลี่ยงไม่ได้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน อยู่ในวาระ 5 ปี ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระเพียง 5 ปี แปลว่าคนของ คสช. จะมีอำนาจกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ กำกับควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปอย่างน้อย 2 ชุด

การมีส่วนร่วม เรื่องจริงหรือแค่ฝัน?

ในส่วนของประชาชนที่ต้องขบคิดจากนี้คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนที่ระบุไว้ในมาตรา 7 ของกฎหมาย จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เมื่อบทเฉพาะกาล มาตรา 28 (4) ระบุว่า คณะกรรมการจะต้องจัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วันนับจากได้รับแต่งตั้ง โดย ‘ให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี’ ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำไว้มาใช้เป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น จุดนี้เป็นเหตุให้ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าเป็นการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ ไว้ก่อนมีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขัดแย้งกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย

นั่นเป็นมิติทางกฎหมาย

ขณะที่สภาพการณ์ปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการร่างยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นไปได้แค่ไหนยังเป็นที่เคลือบแคลง เมื่อ คสช. ยังคงปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สกัดกั้นการแสดงออกของประชาชน และกดปราบผู้เห็นต่างอย่างหนักมือ หากดูกฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้ในวันเดียวกัน มาตรา 5 เขียนไว้ว่า การปฏิรูปประเทศต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งแผนการปฏิรูปประเทศด้านหนึ่งที่ระบุในมาตรา 8 (1) คือด้านการเมือง คำถามมีอยู่ว่าจะวางแผนการปฏิรูปประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างไร ท่ามกลางการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง

อดีต สปช. แจง มติ ครม. 30 มิ.ย. 58 เป็นแค่หลักการเบื้องต้น-ต้องสร้างการมีส่วนร่วมทันที


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอนุกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ว่า เป็นเพียงกรอบหรือหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น แล้วกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประชาชนมามีส่วนร่วมจะเป็นตัวที่ปรับแต่ง เพิ่มเติม หรือตัดทิ้ง ซึ่งบัณฑูรเห็นว่าเนื้อหาตั้งต้นเป็นหลักการกว้างๆ เท่านั้น


“บทเฉพาะกาลกำหนดให้ใช้ร่างฯ 30 มิถุนายน 2558 เป็นสารตั้งต้น แล้วกระบวนการตอนนั้นมีใครบ้างไปร่วมรับฟัง มีภาคส่วนไหนบ้าง สนช. ทำขึ้นมา แล้วบอกว่าให้เอาร่างนี้มาปัดฝุ่นหลังมีกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพิ่มเติม จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็ใส่ไปได้ คำถามสำคัญคือร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คุณเตรียมไว้แล้วมีใครรู้เรื่องบ้าง มีใครมีส่วนร่วมบ้าง"



ในด้านการมีส่วนร่วม บัณฑูรเห็นว่า ในมาตรา 7 และ 8 ของกฎหมายได้กำหนดหลักการและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการกำหนดวิธีการรับฟังและการมีส่วนร่วม จำเป็นต้องรอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจัดทำกติกาออกมาเพื่อรองรับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

“หลักๆ ก็เอาตามที่กำหนดในตัวกฎหมายคือ หนึ่ง-การรับรู้ สอง-ความเข้าใจ และสาม-การยอมรับเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน ประชาชนที่ว่าหมายถึงใครบ้าง ทั้งในรัฐธรรมนูญและมาตรา 7 กำหนดไว้ชัดแล้วว่าประชาชนทุกภาคส่วน แต่มันก็เป็นโจทย์ที่ยากพอสมควรในสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่

“ตัวกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นหลักการใหญ่ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นยุทธศาสตร์ชาติจริงๆ ตอนนี้ข้อที่น่าจะทำให้เกิดตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงคือ การมีส่วนร่วมโดยมีระยะเวลาที่เพียงพอ แต่เมื่อกติกาในรัฐธรรมนูญเขียนว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ทำให้เวลาเหลืออยู่ไม่มากนัก ความกังวลก็อยู่ตรงนี้ว่าจะทำอย่างไรให้ช่วงเวลา 1 ปีเกิดการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด ตอนแรกผมก็คิดว่า 1 ปีทำอะไรได้พอสมควร แต่ถ้าดูตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องจะเห็นว่าต้องใช้เวลากับขั้นตอนเหล่านี้มากอยู่ จะส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในกระบวนการมีส่วนร่วม”
โจทย์สำคัญในมุมมองของบัณฑูร ณ เวลานี้คือจะทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของเวลาที่มี ดังนั้น เขาจึงเห็นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมสามารถเริ่มได้เลย โดยไม่ต้องรอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สังคมควรมองหาวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมทันที

ภาคประชาชนไม่เชื่อมั่นกระบวนการมีส่วนร่วม


“บทเฉพาะกาลกำหนดให้ใช้ร่างฯ 30 มิถุนายน 2558 เป็นสารตั้งต้น แล้วกระบวนการตอนนั้นมีใครบ้างไปร่วมรับฟัง มีภาคส่วนไหนบ้าง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ทำขึ้นมา แล้วบอกว่าให้เอาร่างนี้มาปัดฝุ่นหลังมีกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพิ่มเติม จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็ใส่ไปได้ คำถามสำคัญคือร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คุณเตรียมไว้แล้วมีใครรู้เรื่องบ้าง มีใครมีส่วนร่วมบ้าง มันมีอีอีซี (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) อยู่ในนั้นหรือยัง มีแผน 12 อยู่ในนั้นหรือยัง ผมเชื่อมั่นว่ามีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง คำถามคือประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร ในเมื่อคุณออกตัวไปตั้งไกล อย่างน้อย 2 ปีแล้ว คุณก็ดำเนินการตามแผนไปโดยที่เราไม่รู้ตัวมา 2 ปี” คือข้อกังวลของสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก

สมนึกตั้งคำถามว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่ายุทธศาสตร์ชาติจะสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ภาครัฐเร่งเดินหน้าอีอีซี แล้วอีอีซีจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ถ้าเป็น แล้วกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่ออีอีซีอยู่ตรงไหน ในเมื่อรัฐบาลเดินหน้าไปแล้ว นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อร่างยุทธศาสตร์ชาติผ่านสภาไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ยังสามารถแก้ไขปรับปรุงได้อีก เขาจึงไม่ไว้วางใจกระบวนการมีส่วนร่วมในการร่างยุทธศาสตร์ชาติ

“ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องไกลมาก เรื่องเฉพาะหน้าตอนนี้อย่างอีอีซีที่กำลังจะเป็นกฎหมายในช่วงปลายปี กฎหมายนี้เขียนทับและละเมิดกฎหมายอื่นเต็มไปหมด ถามว่าถ้ายุทธศาสตร์ชาติระบุเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ในกฎหมายจริงๆ ไม่ใช่ แล้วยุทธศาสตร์ชาติจะไปบังคับกฎหมายต่างๆ ในระหว่างที่ยุทธศาสตร์ชาติยังทำไม่เสร็จได้หรือไม่” สมนึกทิ้งไว้เป็นคำถาม

ความเจ็บปวดของการ (บังคับ) รับสารภาพ : มอง ‘ไผ่’ ผ่านหนัง Fire Under the Snow




Published on Fri, 2017-08-18 23:44

เมตตา วงศ์วัด

Palden พระทิเบตผู้ถูกทัณฑ์ทรมานแสนสาหัสในคุกยาวนาน 33 ปีเพราะความคิด คุกไม่อาจทำให้เขาพูดในสิ่งที่ตนไม่ได้คิดได้ เทียบกับสภาวการณ์เมืองไทย มิได้หมายให้นักโทษความคิดต้องยืนยันด้วยชีวิตเช่นลามะทิเบต หากพยายามทำความเข้าใจ “ความทรมาน” จากการถูกบีบบังคับให้สารภาพว่าสิ่งที่ตนคิดเป็นความผิด เป็นภัยต่อผู้คน


“They say, everything is great in Tibet. Tibetans enjoy human rights.

But I am living proof of how they treated us.

If the world learns about it, they’ll demand an end to this injustice.”


นั่นเป็นคำพูดแรกเริ่มในหนังสารคดีเรื่อง Fire Under the Snow (เผยแพร่ปี 2008) ที่สถาบันวัชรสิทธาจัดฉายเมื่อวัน 13 สิงหาคมที่ผ่านมา



คนที่พูดคือพระสูงวัย อดีต(พระ)นักโทษการเมืองที่เรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพในทิเบตจากการรุกรานของจีน ชื่อ Palden Gyatso (พาลเด็น เก็ตโซ) เขาใช้ชีวิตในคุกและในค่ายแรงงานรวม 33 ปี ผ่านการถูกทรมานสารพัดจนเหลือเชื่อว่าจะรอดชีวิตมาได้ และคงเป็นประโยคข้างบนนั่นเองที่เป็นแรงจูงใจสำคัญ การเล่าเรื่องดูเหมือนเป็นอาวุธเดียวที่เขาใช้

ประเด็นที่น่าสนใจและร่วมสมัยกับประเทศไทยซึ่งมีนักโทษทางความคิด นักโทษการเมืองด้วยเช่นกันคือ เสรีภาพในการแสดงออก การซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่คิดที่เชื่อนั้นมีความหมายต่อการมีชีวิตอยู่เพียงไหน

“เพียงตอบว่า ใช่ (ทิเบตเป็นของจีน) ยอมรับว่าเปลี่ยนความคิดแล้ว คุณก็จะได้ออกจากคุก แต่นักโทษส่วนใหญ่ยังคงยืนยันคำเดิม”

“เราถูกถามคำถามเดิมเป็นเดือนๆ และทุกทีที่ตอบว่า “ไม่” ก็จะถูกตี ถูกซ้อม” Tenzin Tsundue นักกิจกรรมรณรงค์ Free Tibet อดีตนักโทษการเมืองที่เคยติดคุกแล้วลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเล่า


หลังจากจีนเริ่มบุกทิเบตในปี 1949-1950 ทำลายวัดวาอารามและห้ามผู้คนในดินแดนที่ศาสนาเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตนับถือศาสนาอีกต่อไป Palden ซึ่งเป็นพระธรรมดาๆ ก็เริ่มเข้าร่วมขบวนต่อต้าน เขาบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายตามธรรมเนียมชาวทิเบตที่ว่า หากบ้านใดมีลูกชาย 3 คน ลูกชายคนเล็กสุดจะต้องบวชเป็นพระ นั่นหมายความว่าประเทศนี้ชายฉกรรจ์เป็นพระกันจำนวนมาก และพระก็กลายสภาพเป็นนักโทษกันจำนวนมากเช่นกัน เอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องทิเบตระบุว่า เมื่อก่อนพระทิเบตมีจำนวน 15,000-10,000 รูปแต่ตอนกดปราบหนักนั้นเหลือ 300-600 รูปได้ ส่วนใหญ่เข้าคุก อีกส่วนลี้ภัยไปต่างประเทศ และจำนวนไม่น้อยที่ตาย

Palden นับเป็นนักโทษการเมืองรุ่นบุกเบิก ถูกจับตั้งแต่ปี 1959 ที่ประชาชนทิเบตลุกขึ้นประท้วงจีนครั้งแรก ก่อนที่ประเด็นการละเมิดสิทธิและ “Free Tibet” จะโด่งดังในโลกตะวันตกหลังการลุกขึ้นประท้วงอย่างสันติของชาวทิเบตครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 1998 อันนำมาซึ่งการจับกุมคุมขัง เข่นฆ่าและทำให้หายตัวไปของผู้ประท้วงจำนวนมาก

Palden ติดคุกระหว่างการพาอาจารย์ของเขาหลบหนีไปอินเดียในปี 1959 ขณะนั้นอายุ 28 ปี เขาถูกคุมขังในอารามที่ถูกปรับให้เป็นคุกชื่อว่า Drapchi prison ใน LHASA เมืองหลวงของทิเบต

ภาพจากนักโทษการเมืองทิเบตเล่าถึงตัวอย่างการทรมานในคุก

สิ่งที่เขาเจอคือการสอบสวนพร้อมๆ กับการทรมาน เพราะเขายืนกรานว่าทิเบตเป็นของคนทิเบต เขาถูกซ้อมอย่างหนัก ถูกจับแขวนโยงกับขื่อ ถูกเอาน้ำร้อนสาด เขาเล่าว่าหลังจากนั้นเขาถูกขังในห้องมืด รู้สึกเหมือนใกล้จะตาย จากนั้นก็มีคนเปิดประตูเข้ามา เขาได้กลิ่นสบู่ มีเสียงผู้หญิงถามขึ้นว่า “คุณชื่ออะไร” หลังจากตอบชื่อ เจ้าหน้าที่หญิงถามว่า คุณได้ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนไหม อีกครั้งที่เขาตอบความจริง "ใช่” จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำกระดาษที่พิพากษาลงโทษจำคุก 7 ปีมาให้เขาลงชื่อในสภาพใกล้ตายแบบนั้น

ในหน้าหนาวผู้คุมจะเอาน้ำเย็นสาดนักโทษ ในหน้าร้อนพวกเขาจะก่อไฟเพื่อให้ควันและความร้อนจากเปลวไฟรมนักโทษ เวลาจะโดนสอบสวน Palden ต้องถอดกางเกง คลานเข่าไปในห้องสอบสวนที่เต็มไปด้วยเศษแก้วและหินแหลมคม หลังติดคุกมา 1 ปีเขาถูกถามคำถามเดิมว่า คิดว่าดาไลลามะควรกลับมาทิเบตไหม และทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ ตามลำดับ เขาถูกซ้อมอย่างหนัก

AMA ADHE อดีตนักโทษการเมืองหญิงเล่าว่า ในคุกแห่งนี้ มีนักโทษอดอาหารตาย 12,019 คน นักโทษที่เหลือต้องกินทุกอย่าง เช่น แมลง เศษหนังจากรองเท้า กระทั่งบางคนต้องกินศพของคนอื่น “I swear it is true”


ด้วยสภาพที่ย่ำแย่ถึงขีดสุดในคุก Palden เห็นว่าอยู่ไปต้องตายแน่ จึงวางแผนหลบหนีออกจากคุกกับเพื่อน เขาหนีออกมาได้ แต่นี่ไม่ใช่หนังฮอลีวูด เขาและเพื่อนถูกจับได้ระหว่างทางแล้วนำกลับมายังคุกเดิมอีกครั้ง เจ้าหน้าที่พยายามกดดันให้เพื่อนนักโทษทำร้ายเขา แต่ไม่มีใครซักคนที่ยอมทำตาม เพื่อนๆ ได้แต่ลงโทษด้วยตะโกนใส่หน้าว่า “พวกแกทำให้พวกเราลำบากขึ้นอีก” จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็สอบสวนเขา เขาพูดความจริงอีกครั้งถึงจุดประสงค์ที่จะหนีไปอินเดียว่าต้องการไปพบดาไลลามะเพื่อเล่าเรื่องการทรมานที่เกิดขึ้น และต้องการ “enjoy freedom” เจ้าหน้าที่ลงโทษเขาด้วยการใช้กระบองไฟฟ้ายัดเข้าไปในปากแล้วช็อตไฟ เพื่อนของเขาในคุกเดียวกันเล่าว่า มันรุนแรงมากจนทำให้ฟันของเขาร่วงหมดปาก และยังถูกซ้อม ถูกพันธนาการอย่างหนัก ก่อนจะถูกตัดสินเพิ่มโทษฐานหลบหนีอีก 8 ปี รวมเป็น 15 ปี

Palden เป็นกรณีที่ทั้งสร้างความสะเทือนใจ สร้างแรงบันดาลใจ และกระทั่งทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเขาจึงไม่ยอมพูดคำลวงอย่างที่ผู้มีอำนาจอยากได้ยิน

Manfred Nowak ผู้ตรวจการพิเศษจากสหประชาชาติที่ทำรายงานเรื่องการทรมานในทิเบต ระบุว่า การทรมานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นยิ่งกว่าอาชญากรรมธรรมดา ผู้กระทำไม่ได้ต้องการเพียงยึดครองดินแดนหรือเอาชนะกดข่มประชาชนที่นั่น แต่ต้องการให้เปลี่ยน personality และยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นนั้นเป็นเรื่องผิด การทรมานอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจจึงเกิดขึ้นเพื่อที่ท้ายที่สุดแม้ผู้นั้นอาจจะไม่ยอมรับ เมื่อเขาออกจากคุกไปก็จะหมดสภาพที่จะทำการใดๆ ต่อ

แน่นอน หลายคนยอมซัดทอดเพื่อน คนจำนวนมากล้มตายในคุก หลายคนออกมาตายที่บ้านหลังออกจากคุกมาไม่นาน ล่าสุดคือปี 2014 ในกรณีของ Goshul Lobsang (อ่านที่นี่) และปัจจุบันก็ยังมีการจับกุมผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านจีนอยู่ ส่วนจำนวนนักโทษการเมืองที่แน่ชัดนั้น HRW ระบุว่าเป็นการยากมากที่จะเข้าถึง (อ่านที่นี่)

ในกรณีของไทย แม้เรื่องราวการทรมานให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดจะไม่เทียบเท่ากับในทิเบต และมีปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกันมากมาย แต่กล่าวให้ถึงที่สุด การจองจำผู้คนในคดีเกี่ยวกับความคิดและการพยายามทำให้บุคคลเหล่านั้นรับสารภาพก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารที่พลเรือนจำนวนมากต้องไปขึ้นศาลทหารในความผิดเกี่ยวกับความคิดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ (มาตรา 112) กระบวนการที่ยาวนานอย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง และสภาพย่ำแย่ในเรือนจำ ทำให้หลายต่อหลายคนยินยอมรับสารภาพทั้งที่ต้องการสู้คดี (อ่านที่นี่) หรือกรณีของคนที่ต่อสู้คดีก็แทบไม่มีใครสามารถชนะคดีได้และต้องถูกลงโทษอย่างหนัก เช่นกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำคุก 10 ปี


ไม่ต้องกล่าวถึงความสมเหตุสมผลของโทษ (ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่) ความผิดปกติในกระบวนการระหว่างสู้คดี แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สาธารณชนก็ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่พวกเขาพูดหรือเขียนนั้นคืออะไร

กรณีล่าสุดของเด็กหนุ่มนักศึกษาชื่อ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ เป็นเพียงไม่กี่กรณีที่เรารู้ว่าเขา “พูด” อะไร เนื่องจากเป็นการแชร์บทความจากเพจสำนักข่าวบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตัดเอาย่อหน้าหนึ่งมาโพสต์ตั้งต้นเท่านั้น

“ลูกชายพูดมาตลอดว่า การต่อสู้คดีครั้งนี้เพื่อจะพิสูจน์เรื่องความเป็นกฎหมาย ความเป็นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งลูกชายไม่เคยได้รับ เขาจึงต้องการต่อสู้”

“ไผ่ไม่ได้ต่อสู้คนเดียว ไผ่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อไผ่ ไผ่ต่อสู้เพื่อคนอื่น ต่อสู้เพื่อลูกคนอื่น ต่อสู้เพื่อประชาชนที่มีโอกาสจะถูกกระทำแบบนี้เช่นกัน ดังนั้นการต่อสู้ของไผ่ครั้งนี้ เป็นการต่อสู้เพื่อส่วนรวม”

คำให้สัมภาษณ์ของพ่อไผ่ถึงการยืนยันต่อสู้คดีตลอด 7 เดือนที่ถูกคุมขัง ไม่ได้รับการประกันตัวแม้ยื่นเรื่องไปแล้วถึง 9 ครั้ง

แต่เมื่อมีการสืบพยานนัดที่สอง เขาก็เปลี่ยนมา “รับสารภาพ” ผู้ใกล้ชิดไผ่คาดว่าเหตุที่เขาเปลี่ยนใจเป็นเพราะแม่ของเขาตรอมใจอย่างหนักและเกิดผลกระทบหลายอย่างที่ยากจะกล่าวแก่สาธารณะ

ส่วนทนายความของไผ่ระบุถึงเหตุการณ์ก่อนการรับสารภาพไว้อย่าง “น่าสนใจยิ่ง” ว่า

“ผมจำได้ว่า ผมเรียนท่านผู้พิพากษาไปอย่างชัดเจนว่า ผมขอให้ไผ่และครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจดีกว่า แล้วในที่สุดผมก็ปล่อยให้ไผ่กับพ่อแม่อยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ 8 กับผู้พิพากษาเพื่อใคร่ครวญเอง ประมาณเกือบชั่วโมงพ่อกับแม่ของไผ่เดินออกมาจากห้องพิจารณาและขอให้ผมกับทนายแสงชัยเข้าไปคุยกับไผ่...”

“ผมพูดกับไผ่อยู่สามประโยคทั้งที่เขาไม่ได้ถามอะไร
ผมบอกเขาว่า ผมเชื่อว่าคุณไม่มีวันชนะในการตัดสินคดีนี้อย่างแน่นอน ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ของคุณในวันนี้นอกจากเพื่อตัวเองแล้วคงต้องคิดเพื่อพ่อกับแม่ที่รักคุณสุดหัวใจด้วย และสุดท้ายอย่างหวังว่าการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมจะได้รับชัยชนะได้ในเร็ววัน แต่ที่สำคัญกว่าคือประสบการณ์ความเจ็บปวดที่คุณได้รับเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมาจะสอนให้คุณรู้คุณค่าของความถูกต้องเป็นธรรมที่คุณใฝ่ฝันหา
ไผ่มองหน้าเราสองคนและพยักหน้า
ผมเดินกลับไปหาผู้พิพากษาและบอกว่า จำเลยจะรับสารภาพ
คำถามสุดท้ายของผู้คนที่มีต่อผมคือ “ทำไม่ไผ่จึงรับสารภาพ”
ขอตอบว่า ผมไม่รู้และไม่อยากรู้”

หลังจากนั้นพ่อของเขาก็ให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังศาลพิพากษาโทษจำคุก 2 ปีครึ่งว่า มีการผิดข้อตกลงอันไม่เป็นทางการและปิดลับซึ่งใช้เวลาเกือบชั่วโมงก่อนการตัดสินใจสารภาพครั้งนี้

เบื้องหลังการรายงานข่าวสารทั้งปวง ไม่มีใครรู้ว่าการตัดสินใจของเขายากเพียงไหน ไผ่กับ Palden จะรู้สึกร่วมหรือต่างกันอย่างไร สำหรับมนุษย์สมัยใหม่ มันอาจไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะรับสารภาพเพื่อให้ตนเองได้พ้นสภาวะเลวร้ายแม้จะรู้สึกไม่ยุติธรรม สำหรับนักยุทธศาสตร์ยิ่งอาจเห็นว่า การเสียเวลาเปล่าในเรือนจำเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล หรืออาจเข้าขั้นโง่เง่า

สิ่งที่พอจะเป็นร่องรอยให้เราจินตนาการความยากลำบากของการรับสารภาพได้นั่นก็คือ ข้อความของผู้ที่ได้เห็นสภาพของเขาในวันนั้น

“ขอสรุปสั้นๆ ช่วงเช้า (หลังคุยกับผู้พิพากษาและกำลังรอผลคำตัดสิน) ตัวเลขไผ่ไม่ติด และเข้าใจเหตุผล แต่...มันติดที่ว่ามันไม่ผิด และตั้งแต่เลี้ยงไผ่มาจนโต มีวันนี้เป็นครั้งแรกที่มันร้องไห้โฮ มือกำนิ้ว ขยับไปมา นานเป็นชั่วโมง ลงมาห้องขังศาล ใครขอพูด มันไม่มารับ มันนั่งนิ่งของมัน”


หลัง Palden ออกจากคุกรอบแรก ทัณฑ์ทรมานไม่อาจทำลายจิตใจของเขาได้ เขาออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องอิสรภาพอีก และทำให้โดนโทษจำคุกอีก 8 ปี หลังครบกำหนดโทษ เขายังถูกส่งไปค่ายใช้แรงงานอีกหลายปี เพื่อ “รับการศึกษา” ที่ถูกต้องเพราะดูเหมือนความคิดของเขาก็ยังไม่เปลี่ยน

กระทั่ง 33 ปีของชีวิตหมดไปกับการจองจำ เขาออกมาจากคุกในวัยชราและยังคงเดินหน้ารณรงค์เรื่องเดิม มันอาจมีแรงผลักดันจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะเรื่องทางจิตวิญญาณ แต่อันหนึ่งที่เข้าใจง่ายกว่าก็คือ คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเพื่อนๆ ที่ต้องตายไประหว่างถูกจองจำ เขาเดินสายจัดกิจกรรมในหลายประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา แน่นอนว่าถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววของชัยชนะแม้แต่น้อย

“I am living proof of how they treated us.
If the world learns about it, they’ll demand an end to this injustice.”


มันขึ้นอยู่กับว่าเรานิยาม “โลก” อย่างไร มีตัวเรารวมอยู่ในนั้นเพียงไหน ที่รู้ๆ คือ มันไม่แน่เสมอไปที่เมื่อโลกเห็นความอยุติธรรมแล้วจะพากันก้าวออกมาหยุดยั้งสิ่งนั้นเป็นผลสำเร็จ...ในชั่วชีวิตของเรา

วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ตร.ออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ-น.ศ. ฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา




Published on Tue, 2017-08-15 13:05


        ตำรวจ สภ.ช้างเผือก เชียงใหม่ ออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ-น.ศ. ฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง ปมกิจกรรมชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานไทยศึกษา




       15 ส.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย 
  • ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ 
  • ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, 
  • ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 
  • ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และ
  • นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. 
       ซึ่งเป็นหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ลงวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา

       หมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหาได้แก่ พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ และรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มอบอำนาจให้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ มาเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ โดยมี ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เขื่อนแก้ว รองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรช้างเผือกเป็นผู้ออกหมายเรียก หมายเรียกระบุให้ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 ส.ค.นี้ แต่มีการแก้วันนัดเข้าพบด้วยปากกาใหม่เป็นวันที่ 15 ส.ค. 2560 เวลา 10.00 น.

       ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า เบื้องต้นในวันนี้ (15 ส.ค.60) ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้เข้ายื่นหนังสือขอเลื่อนวันเข้านัดรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนออกไป เนื่องจากหมายเรียกดังกล่าวได้กำหนดวันนัดอย่างกระชั้นชิด และ ธีรมล ยังติดภารกิจในวันนี้ ขณะที่ผู้ต้องหารายอื่นๆ ก็ยังไม่ได้รับหมายเรียก โดยมีรายงานว่ามีเพียงดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ได้รับหมายเรียกดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ต่อมา ทางพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือกได้อนุญาตให้เลื่อนไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ แต่ที่ประชุมคณะกรรมการพนักงานสอบสวนในคดีนี้ระบุให้เลื่อนไปไม่เกินวันที่ 21 ส.ค.นี้ และให้ทางทนายความประสานการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าวต่อไป

       สำหรับงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่จ.เชียงใหม่ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ค. 2560 ในระหว่างการจัดงาน ทางชุมชนนักวิชาการนานาชาติได้อ่านแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา





       นอกจากนั้นในวันที่ 18 ก.ค.60 ยังมีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายที่มีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาติดบริเวณหน้าห้องสัมมนาวิชาการ เนื่องจากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในงานโดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงานและไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน โดยที่ระหว่างทีป้ายดังกล่าวติดอยู่ ได้มีผู้ร่วมถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย

       ภายหลังการจัดงาน ได้ปรากฏหนังสือของ พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำหนังสือโทรสารในราชการกรมปกครอง รายงานต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่องความเคลื่อนไหวในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา โดยรายงานว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 60 ได้มีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม จำนวน 6 คน ได้เดินทางมาชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” โดยใช้สถานที่ภายในห้องประชุมสัมมนาและด้านหน้าห้องประชุมเป็นสถานที่ถ่ายภาพ พร้อมกับระบุว่าทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จะเชิญนักวิชาการ 3 คนเข้าพบเพื่อชี้แจง และขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป แต่ภายหลังจากนั้นก็ยังไม่มีการเรียกตัวใดๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา 5 รายดังกล่าว

ทนายความเผย ไผ่ ดาวดิน เตรียมรับสารภาพคดีแชร์รายงานBBC Thai เรื่องพระราชประวัติ ร.10




Published on Tue, 2017-08-15 12:41


          ทนายความเผย ไผ่ ดาวดิน เตรียมรับสารภาพคดี 112 จากการแชร์รายงาน "พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย" จากเว็บไซต์ BBC Thai โดยศาลจังหวัดขอนแก่นจะอ่านคำพิพากษาบ่ายนี้

          15 ส.ค. 2560 BBC Thai รายงานว่า กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ไผ่ ดาวดิน จะตัดสินใจรับสารภาพในคดีที่ถูกอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้องในความผิดตาม ประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 จากการแชร์บทความเรื่อง "พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย" ของเว็บไซต์บีบีซีไทย ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยฤษฎางค์ เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นจะมีคำพิพากษาในบ่ายวันนี้


          สำหรับประมวลกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"


เกี่ยวกับ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน


          ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาและนักกิจกรรมที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคอีสาน ในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไผ่และเพื่อนเคยชู 3 นิ้วพร้อมใส่เสื้อที่เรียงกันเป็นข้อความว่า “ไม่เอารัฐประหาร” ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.ขอนแก่น

          ในปีต่อมาไผ่และกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาดาวดินก็ได้จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ก่อนที่จะลงมาร่วมกับกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีและถูกจับขังอยู่ในเรือนจำ

          ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ไผ่ และกลุ่มกิจกรรมใน ม.ขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ เพื่อรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประชามติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช. หลังจากนั้นไผ่และเพื่อนอีก 1 คนยังได้ไปแจกเอกสารรณรงค์ประชามติ ที่ จ.ชัยภูมิ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี

          เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่ทำให้ไผ่ถูกจับกุมและดำเนินคดีช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งนับรวมการจับกุมและดำเนินคดีในครั้งนี้ถือได้ว่าไผ่ถูกจับกุมทั้งหมด 5 ครั้ง และถูกดำเนินคดี 5 คดี

           ในส่วนคดีของนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน เกิดจากการเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดย พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 จากการที่จตุภัทร์ ได้แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ซึ่งมีผู้แชร์บทความดังกล่าวประมาณ 2,800 ครั้ง แต่มีจตุภัทร์เพียงคนเดียวที่ถูกจับกุมดำเนินคดี โดยในวันที่ 3 ธ.ค. 2559 จตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ขณะกำลังร่วมขบวนธรรมยาตรา กับพระไพศาล วิสาโล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น

          ต่อมาในวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลได้พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยทนาย พร้อมนายประกันได้ยื่นหลักทรัพย์ 4 แสนบาท และให้เหตุผลไว้ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า จตุภัทร์ เป็นผู้ต่องหาคดีการเมืองอยู่ 4 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งในวันที่ 8 ธ.ค. ผู้ต้องหามีสอบเป็นวิชาสุดท้าย หากไม่ได้เข้าสอบวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้เขาเรียนไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

          ต่อมาในวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหา ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ทั้งยังเห็นว่านายประกัน ซึ่งเป็นบิดา ไม่ได้ทำการห้ามปราบการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

          ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน, ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยตัวชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน

          ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. 2560 ศาลได้รับฟ้องคดีดังกล่าว พร้อมไต่สวนคำให้การของจตุภัทร์ โดยเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมที่จะสู้คดี โดยในวันนั้นศาลได้ใช้อำนาจสั่งขังเขาต่อไประหว่างการพิจารณาคดี และได้นัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 21 มี.ค. 2560 ทั้งนี้อัยการโจทก์ได้ระบุในคำฟ้องด้วยว่า

          "อนึ่ง หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งและเทิดทูนของประชาชน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี"

          ทั้งนี้จตุภัทร์ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 21 มี.ค. 2560 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ และล่าสุดได้มีการยื่นประกันตัวอีกครั้งเพื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 แต่ศาลยังคงยืนยันคำสั่งเดิม

          ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่า ในคดีนี้ อัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุภัทร์ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3) โดยจตุภัทร์ให้การปฏิเสธ และศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3-4, 15-17 ส.ค. 2560 สืบพยานจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 2560 ในชั้นสอบสวน จตุภัทร์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 18 วัน แต่ถูกถอนประกันจากการที่ยังโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย หลังถูกถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันจตุภัทร์ รวม 9 ครั้ง และอุทธรณ์รวม 2 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกเลย

วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กรุงเทพโพลล์เผยประชาชน 45.3% เชื่อทำ 'พ.ร.บ.ประกอบ รธน.' เสร็จไม่ทัน-ต้องเลื่อนเลือกตั้ง





             กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจประชาชนร้อยละ 53.0 เห็นการเมืองไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มาครบ 1 ปี ทั้งนี้ร้อยละ 45.3 เห็นว่า กรธ. ไม่น่าจะจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จทัน ทำให้ต้องขยายระยะเวลาการเลือกตั้งออกไป ขณะที่ประชาชนร้อยละ 95.9 พร้อมออกไปใช้สิทธิ์แน่นอนหากการเลือกตั้งมาถึง



             13 ส.ค. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยหลังครบ 1 ปีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,217คน พบว่า จากการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มาครบ 1 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.0 มีความเห็นว่า การเมืองไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆรองลงมาร้อยละ 20.3 มีความเห็นว่า ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนใดๆ และร้อยละ 19.2 มีความเห็นว่าการเมืองไทยถอยกลับสู่จุดความขัดแย้งเดิม ๆ

            ทั้งนี้เมื่อถามความเห็นว่าคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามโรดแมปที่กำหนดไว้หรือไม่นั้น ประชาชนร้อยละ 45.3 ระบุว่าไม่น่าจะทันทำให้ต้องขยายระยะเวลาการเลือกตั้งออกไปขณะที่ร้อยละ 34.1 ระบุว่าน่าจะทันและจัดเลือกตั้งได้ตามกำหนดที่เหลือร้อยละ 20.6 ระบุว่าไม่แน่ใจ

          สุดท้ายหากจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและมีการจัดการเลือกตั้ง จะออกไปใช้สิทธิ์หรือไม่ประชาชนร้อยละ 95.9 ระบุว่าจะออกไปใช้สิทธิ์แน่นอนมีเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้นที่ระบุว่าจะไม่ออกไปใช้สิทธิ์ที่เหลือร้อยละ 3.3ระบุว่าไม่แน่ใจขอดูก่อน

พรรคการเมืองขอ คสช.ปลดล็อก โพลล์ระบุประชาชนไม่เห็นด้วยยกเลิกพรรคเดียวเบอร์เดียว



             พรรคชาติไทยพัฒนา หวัง คสช. ปลดล็อกพรรคการเมือง เลิกระแวงขอให้พรรคกลับไปปรับปรุงระบบตามกฎหมาย-เปิดให้ประชุมกันได้ 'สวนดุสิตโพลล์' เผยผลสำรวจ ปชช. 41.91% ไม่เห็นด้วยยกเลิกผู้สมัครพรรคเดียวเบอร์เดียว


              เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560  นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ว่า ความจริง คสช.ควรปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เป็นต้นมาแล้ว แต่ก็ยื้อเวลามาจนกระทั่งร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองใกล้จะประกาศใช้ วันนี้แม้แต่ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวก็ยังออกมาสนับสนุนให้มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองเตรียมตัว จึงอยากให้ คสช.ไว้วางใจ เพราะต้องยอมรับว่าตามเนื้อหาของร่างดังกล่าวมีขั้นตอนมาก มีกำหนดวันเวลาให้พรรคการเมืองต่างๆ กลับไปปรับปรุงระบบพรรคตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ทั้งระบบสมาชิก ข้อบังคับพรรค รวมไปถึงกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครแบบไพรมารีโหวตด้วย

           “ที่ผ่านมาทุกฝ่ายให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นรัฐบาล คสช.มาโดยตลอดว่าสิ่งที่ คสช.ได้ดำเนินการมาตลอด 3 ปีกว่านั้นมันไม่เสียของ และมีผลงานบรรลุเป้าหมาย วันนี้ต้องเลิกหวาดระแวง เพราะจะดูเสมือนว่า สิ่งที่ตนเองทำมามันล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จใช่หรือไม่ ในเมื่อวันนี้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในสิ่งที่คสช.ประกาศแล้ว ผมก็อยากให้ คสช.เชื่อมั่นทุกฝ่ายเหมือนกัน เพราะวันนี้รัฐธรรมนูญก็ประกาศใช้แล้ว อีกไม่นาน ร่าง พ.ร.ป.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับแรกก็ใกล้มีผลจะบังคับใช้ก็ควรเปิดให้พรรคการเมืองประชุมหารือกันได้เพื่อเตรียมตัวเดินไปตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น” นายสมศักดิ์กล่าว

'สวนดุสิตโพลล์' เผยผลสำรวจ ปชช. 41.91% ไม่เห็นด้วยยกเลิกผู้สมัครพรรคเดียวเบอร์เดียว

         รายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไร? กับ การจะยกเลิกระบบผู้สมัครเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว" โดยสวนดุสิตโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,119 คน ระหว่างวันที่ 8-11 ส.ค. 2560 สรุปผลได้ดังนี้

1.ประชาชนคิดอย่างไร กับ กรณีที่ กรธ. จะยกเลิกระบบผู้สมัครเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว
  • อันดับ 1 ควรรับฟังความเห็นทั้งประชาชนและนักการเมือง 60.86%
  • อันดับ 2 ไม่ว่าจะเลือกตั้งแบบไหนก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน 58.27%
  • อันดับ 3 อยู่ในขั้นตอนการเสนอร่างฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ 50.04%
  • อันดับ 4 ยังไม่รู้รายละเอียดที่ชัดเจน ไม่แน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบใด 48.88%
  • อันดับ 5 เป็นแนวทางใหม่ ๆ อาจทำให้การเลือกตั้งดีขึ้น 43.14%

2. “ข้อดี-ข้อเสีย” ของการใช้เบอร์เดียวกันของพรรคเดียวกันทั้งประเทศ
ข้อดี 
  • อันดับ 1 จดจำง่าย เข้าใจง่าย 74.80%
  • อันดับ 2 เป็นวิธีที่ใช้มานาน ประชาชนคุ้นเคย 64.97%
  • อันดับ 3 พรรคการเมืองหาเสียงง่าย 63.99%

ข้อเสีย 
  • อันดับ 1 เกิดการทุจริต ซื้อเสียงได้ง่าย 73.28%
  • อันดับ 2 คนเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล 68.54%
  • อันดับ 3 คนจำแต่ตัวเลข ไม่สนใจนโยบาย 54.60%

นปช.ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมภาคอีสาน-ทหารเฝ้าสังเกตการณ์




นปช.ลงพื้นที่ภาคอีสาน มอบเงินช่วยเหลือโรงเรียนผู้ประสบอุทกภัย ในภาคอีสาน และมอบข้าวสาร อาหารแห้ง ให้กับผู้ประสบภัยด้วย ท่ามกลางการสังเกตการณ์จากทหารและเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมานายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เปิดเผยว่าการลงพื้นที่มอบทุนช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วมในภาคอีสานของพวกตน ในวันนี้เป็นวันแรก โดยเริ่มต้นวันนี้ด้วยการ ไปที่วัดสว่างสันติธรรม จังหวัดอุดรธานี เพื่อพบปะพี่น้อง และรับเงิน สิ่งของที่ได้จากการเปิดรับบริจาค ในพื้นที่ภาคอีสานส่วนที่น้ำไม่ท่วม และร่วมขบวนกัน เดินทางไปมอบเงินบริจาคให้กับโรงเรียนผู้ประสบอุทกภัย

จากนั้น ขบวนก็ได้เดินทางไปที่ วัดโนนจำปา อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แกนนำ นปช.ได้ร่วมทอดผ้าป่ากับทางวัด ซึ่งประสบอุทกภัยเช่นเดียวกัน และได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับโรงเรียนผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 10 โรงเรียน และได้เดินทางมาที่โรงเรียนบ้านไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร มอบเงินช่วยเหลือ โรงเรียนอีกเกือบ 60 โรงเรียน โดยได้มอบให้โรงเรียนละสองหมื่นบาท

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ถือได้ว่าภารกิจตลอดทั้งวัน บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการธารน้ำใจไทย ไหลสู่อีสาน ยามมีภัย เราไม่ทิ้งกัน ได้มีการมอบข้าวสาร อาหารแห้ง จำนวนหนึ่ง รวมถึงเงินบริจาค ให้กับผู้ประสบอุทกภัยในภาคอีสาน อีกทั้งในวันพรุ่งนี้ ก็จะเดินทางไปในจังหวัดร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์

ขอขอบคุณ พี่น้องประชาชน ทุกคน ทุกท่าน ที่สละเงินทอง สิ่งของร่วมบริจาคมา รวมถึงเพื่อนมิตรศิลปินที่มาช่วยกัน ทำให้เห็นว่า ยามมีภัย เราคนไทยไม่ทิ้งกัน ธารน้ำใจไทย เคยไหลสู่ปักษ์ใต้ ในวันนี้ก็ไหลสู่ภาคอีสาน ในเหตุอุทกภัยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เราจะเดินหน้าปฏิบัติภารกิจเช่นนี้ต่อไป

นางพิสมัย บาลลา ผู้อำนวยการโรงเรียนช้างมิ่งพิทยานุกุล อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า โรงเรียนของตนเป็นโรงเรียนสุดท้ายที่น้ำยังลงไม่หมด ความเดือดร้อนที่ได้รับจากเหตุอุทกภัย ในครั้งนี้คือ ไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ แม้จะยกของขึ้นที่สูงทัน แต่ก็ยังคงมีสิ่งของบางอย่างที่เสียหาย รวมถึงทัศนียภาพ ภูมิทัศน์ของโรงเรียน เมื่อได้รับเงินช่วยเหลือก้อนนี้ไป ถือว่าเป็นประโยชน์มาก เบื้องต้นจะนำไปปรับปรุง ซ่อมแซมถนนทางเข้าโรงเรียน รวมถึงใช้เป็นทุนค่าอาหารนักเรียนด้วย

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นไปอย่างเรียบร้อย ท่ามกลางการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขับรถนำขบวน รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ คอยเฝ้าสังเกตการณ์การทำกิจกรรมทั้งวันด้วย

ถก 1 ปีประชามติ (1): ผิดหลักการ โหวตแล้วไม่ได้ใช้ เปิดเงื่อนไขเลือกตั้ง-วิธีแก้ รธน. แบบไม่ต้องฉีก



            ผ่านมา 1 ปีอนาคตชาติ เลือกตั้ง ปรองดองยังรางเลือน จะคานอำนาจเลือกตั้งต้องมาจากเจตจำนงประชาชน ฝากคนไทยคิดถึงเงื่อนไขการเลือกตั้ง 4 ประการ คสช. ฝืนโลกแต่คนรับกรรมคือสังคมไทย ม.44 ยังใช้ได้แม้ยกเลิก รธน. ชั่วคราว เสนอแผนแก้รัฐธรรมนูญ 3 ระยะด้วยพลังประชาชน อัดประชามติผิดหลักการ โดนแก้ไขหลังโหวต ถ้าเปิดเสรีคนไทยคงไม่โง่ถอยหลังเข้าคลอง 1 ปีผ่านไปเหมือนสูญเปล่า รธน. คนละฉบับกับที่โหวต มีก็เหมือนไม่มีเพราะทหารยังกดขี่ มรดกรัฐประหารจะอยู่ต่อไป วอน เลิกวัฒนธรรมรัฐประหาร ลอยนวลพ้นผิดต้องเอา คสช. เข้าคุกให้ได้


            13 ส.ค. 2560 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จัดงานเสวนา “เหลียวหลังแลหน้าประเทศไทย: 1 ปีหลังประชามติ” ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยเชิญวิทยากรมาร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อารีฟีน โสะ สมาชิกสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานีหรือ PerMAS กรรณิกา กิจติเวชกุล สมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และสุนทร บุญยอด สมาชิกสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ปกรณ์ อารีกุล
ผ่านมา 1 ปีอนาคตชาติ เลือกตั้ง ปรองดองยังรางเลือน จะคานอำนาจเลือกตั้งต้องมาจากเจตจำนงประชาชน



            พิชญ์ กล่าวว่า ประเด็นแรกอยากจะพูดว่า โรมติดต่อมาให้พูดเรื่อง 1 ปีประชามติ ผมลืมไปแล้วว่ามันมีประชามติไปแล้ว และมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น เวลามันยาวนานเหลือเกิน และผลจากประชามติตอบอะไรบ้าง ก็ตอบว่า 
  • สิ่งที่พลังประชาธิปไตยคาดหวังร้อยแปดว่าถล่มทลายแน่ ตัวชี้วัดสำคัญคือฝ่ายก้าวหน้าไม่เอากระบวนการประชามติ ข้อสอง พรรคการเมืองก็รวมตัวกันไม่เอาประชามติ เว้นแต่พวกนักการเมืองกลายพันธุ์แบบคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ กปปส. ในเชิงสถาบันการเมือง อย่างน้อยคู่ขัดแย้งสำคัญคือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่เอาประชามติทั้งคู่ ดังนั้นสิ่งที่ตอบได้มีสองประการ 
    • ประการที่หนึ่ง เราต้องประเมินตัวเองด้วยว่าสิ่งที่เรามโนกันมันสัมพันธ์กับความเป็นจริงทางสังคมมากน้อยแค่ไหน ทำไมมันถึงค้านกับสิ่งที่เราคิดและฝัน ซึ่งนั่นคือบทเรียน ไม่ได้หมายความว่าต้องมาตำหนิกัน 
    •  ประการที่สอง การทำประชามติในครั้งที่ผ่านมาสะท้อนจริงๆ ว่ารัฐไทยมีความสามารถในการปราบปรามและกดบังคับประชาชนถ้ากลไกรัฐทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการสกัดยั้บยั้งไม่ให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบ ในประเด็นการแพ้ประชามตินั้นขอดัดจริตวางตัวเป็นกลางว่า มันก็พอๆ กับการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ฝ่ายที่เลือกตั้งแล้วแพ้รู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่เป็นธรรมฉันใด ฝ่ายที่แพ้ประชามติก็คงรู้สึกเช่นนั้น เพราะผู้ชนะคือผู้กุมอำนาจ ดังนั้นฝ่ายที่แพ้ก็ต้องกลับมาคิดว่าได้บทเรียนอะไรร่วมกันในการต่อสู้ภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ

            ผมคิดว่าสิ่งซึ่งนับถอยหลังไปก่อนประชามติ ย้อนไปนับแต่รัฐประหารจนถึงวันนี้ก็สามปี แล้วเราก็ยังมองเห็นเพียงแต่ความเลือนรางมากๆ ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไหร่ คำตอบของรัฐบาลก็มักตอบว่าให้เป็นไปตามโรดแมปที่เป็นรุ่นแบบเกิน 200 ปีที่แล้ว ไม่ใช่โรดแมปที่เข้าใจกันในวันนี้ที่ในมือถือมีแอพที่ชื่อว่ากูเกิลแมป ที่บอกระยะทาง มีรถติดตรงไหน ที่สำคัญคือมันบอกเงื่อนเวลาว่าท่าจะไปถึงกี่นาที แต่โรดแมปของรัฐบาลบอกเพียงว่ามีโรด และแมป แต่ไม่บอกเวลา สิ่งน่ากังวลก็คือ 
            
            ท่ามกลางความแตกต่างของการทำรัฐประหารรอบนี้ที่บอกว่าอย่าให้เสียของ เพราะบรรดาเนติบริกรที่กระเหี้ยนกระหือรือออกมาทำให้บ้านเมืองเป็นแบบที่พวกเขาต้องการ ช่างต่างจากการรัฐประหารที่เราคุ้นเคยในช่วงปี 2520 ที่รัฐประหารแล้วรีบจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งในแง่หนึ่งคือการปรับความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการต่อรองในหลายๆ ฝ่าย ถ้าไม่มองแบบฝ่ายประชาธิปไตยสุดโต่ง อย่างน้อยปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงทิศทางของการแบ่งปันอำนาจไม่มากก็น้อย แต่รัฐประหารรอบนี้ไม่ใช่การแบ่งแล้ว มันเป็นการสถาปนาโครงสร้างที่ไม่มีการแบ่ง ถึงจะให้บ้างก็เป็นการโยนเศษๆ ให้ สมัยก่อนมีการแบ่งแล้วใช้อิทธิพลครอบงำ แต่สมัยนี้ใช้อภินิหารทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการไม่แบ่ง ในโครงสร้างเก่า การแบ่งอำนาจไม่ได้แปลว่าแบ่งอย่างเท่าเทียม สมัยนี้ผู้มีอำนาจพยายามทำทุกอย่างให้เป็นกฎหมาย มันไม่ได้หมายความว่าจะยุติธรรม ลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงการจัดสรรบรรยากาศทางสังคม การปรับตัวเชิงสถาบันต่างๆ ที่ทำให้การปรองดองและการยอมรับให้กฎหมายชุดใหม่เดินไปได้ กฎหมายไม่ได้ทำงานบนความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วางอยู่บนการยอมรับของทุกฝ่าย ความถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่เท่ากับการยอมรับการสถาปนาตัวกฎหมายเป็นสถาบัน (legal ไม่เท่ากับ institutional) กฎหมายเท่ากับคำสั่งของผู้ปกครองในสังคมที่ผู้ปกครองไม่ได้มาจากประชาชน การเคารพกฎหมายเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนรู้สึกยึดโยงกับอำนาจ ยอมรับความชอบธรรมของผู้ออกกฎหมาย ในที่นี้ประชาชนอาจจะยอมรับเพราะพูดไม่ได้

            ในเรื่องการสร้างความปรองดอง ความพยายามในการสร้างความปรองดองไม่ชัดเจน ก้ำกึ่งระหว่างให้ความขัดแย้งคงอยู่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองต่อ หรือความชอบธรรมในการมีอำนาจปกครองต่อคือการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่เข้มข้นเท่าที่ควรเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็ยังอยู่ได้ ไม่ได้พูดถึงคณะรัฐประหารอย่างเดียวแต่พรรคการเมืองก็มีเหมือนกัน

            ประการสุดท้าย ในสังคมไทยมีการมองการเลือกตั้งแบ่งตัวเองออกเป็นสองกลุ่ม 
  • กลุ่มแรกมองว่าการเลือกตั้งคือยาแก้สารพัดโรค ประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ไม่จริง แต่ก็ยังมีเงื่อนไขที่เรายังไม่พูด ส่วนตัวก็อยากให้มีการเลือกตั้ง 
  • ประการที่สอง กลุ่มที่ไม่เอาการเลือกตั้ง ไม่เอาประชาธิปไตยเพราะเขารู้ว่าถ้ามีดังกล่าวแล้วจะเสียอำนาจ ก็จะต้องทำทุกวิถีทางให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะพัฒนาตัวไปเป็นโครงสร้างหรือวิธีการที่จะสกัดขัดขวาง คานอำนาจจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่การคานอำนาจในแบบก้าวหน้า ในสังคมประชาธิปไตยมีการคานเลือกตั้งมี แต่อาจมาจากสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชน มันก็ต้องมีตัวแทนประชาชนจากแบบอื่นที่จะมาคานการเลือกตั้ง เช่น การรวมตัวของประชาชนเพื่อเริ่มต้นกระบวนการกฎหมายมากมาย มันหมายถึงว่าเราไม่ได้บอกว่าการเลือกตั้งถูกทุกอย่าง แต่สถาบันอื่นที่จะมาคานอำนาจการเลือกตั้งก็ต้องยึดโยงตัวเองกับประชาชนกลุ่มอื่น ไม่ใช่สถาบันคนดีอย่างเดียว แต่การเลือกตั้งที่มาล่าช้าอย่างที่เราเห็นเกิดจากการพยายามร่างกฎหมายให้สถาบันการจัดการเลือกตั้งมีอำนาจน้อยลงเรื่อยๆ มันคนละเรื่องกัน การคานอำนาจสถาบันการเลือกตั้งทำได้ แต่ต้องทำผ่านการริเริ่ม ก่อร่างสร้างสถาบันอื่นๆ ที่มาจากประชาชนด้วยกัน ไม่ใช่การทำให้สถาบันการเลือกตั้งยึดโยงกับประชาชนน้อยลงเรื่อยๆ 


            ฝากคนไทยคิดถึงเงื่อนไขการเลือกตั้ง 4 ประการ คสช. ฝืนโลกแต่คนรับกรรมคือสังคมไทย
อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผมดูข่าวต่างประเทศหลายวัน พบว่าคนที่ทำเรื่องการเลือกตั้งเมืองไทยชอบสอนว่าเราต้องออกแบบประชาธิปไตย ออกแบบระบบการเลือกตั้งที่เทพมากๆ สังคมก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง คิดอะไรซับซ้อน ยกตัวแบบฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ แต่สิ่งที่ควรดูจริงๆ คือทวีปแอฟริกา ในไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญการเมืองแอฟริกา ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งที่เคนยา เป็นตัวแบบที่น่าสนใจในระดับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพราะมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า ทำให้นักวิชาการและนักรัฐศาสตร์ในแอฟริการมากมายวิเคราะห์วิธีการเลือกตั้ง หาสัญญาณเตือนว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้นกว่าเดิมหรือจะทำให้เกิดการปรองดอง มันต้องออกแบบหรือตั้งคำถามภาวะทางสังคมที่นำไปสู่การเลือกตั้งด้วย สิ่งที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กังวลเป็นเรื่องจริงที่ว่าถ้าเลือกตั้งต่อไปแล้วจะเป็นปัญหา แต่มันไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. ที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้ง แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าจะพูดเรื่องการเลือกตั้งก็ต้องคิดด้วยว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่ปัญหาหรือเปล่า ก็ต้องมีการตั้งคำถามกับสัญญาณเตือนว่า 
  • หนึ่ง อำนาจรัฐกระจุกตัวอยู่กับใคร ต้องดูโครงสร้างใหญ่ 
  • สอง ระบบราชการที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งมันเป็นอิสระพอที่จะจัดการเลือกตั้งและมันมีทัศนคติอย่างไรกับการเลือกตั้ง 
  • สาม ต้องมีสื่อมวลชนที่อิสระและศรัทธากับระบบการเลือกตั้ง ไม่งั้นก็จะมาเล่นแต่ข่าวการเลือกตั้งเลว ระบบอื่นไม่เป็นไร 
  • สี่ ต้องมีความเข้าใจของประชาชนและองค์กรอิสระต่างๆ ที่คิดว่าฉันต้องไปแบ่งอำนาจกับนักการเมือง ไม่ใช่คิดว่านักการเมืองเลว ต้องเอาอำนาจมาที่ฉันทั้งหมด 
        การถกเถียงในสังคมปัจจุบันไปสนใจแต่เรื่องที่ ว่าเราจะมีระบบการเลือกตั้งที่เทพที่สุด เอามาจัดการคนเลวในระบบการเลือกตั้งอย่างไร แต่ไม่ได้เอื้อให้คนรู้สึกว่าการเลือกตั้งจะดำเนินไปได้ แล้วก็ยังมีดีเบทในรัฐศาสตร์ที่ค้านกับคนจำนวนหนึ่งที่บอกว่า สังคมต้องสงบก่อนประชาธิปไตยจึงบังเกิด แต่งานวิจัยในเมืองนอกบอกว่า มันเกิดจากตอนไม่สงบนี่แหละ เพราะมันทำให้คนต้องต่อรอง ออกแบบสังคมที่มันพอจะไปกันได้ นี่คือที่มาของการแบ่งอำนาจ ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งเขียนกติกาให้กับทุกฝ่าย มันต้องแบ่งกัน ทุกฝ่ายก็ต้องยอมว่าพอแบ่งๆ กันบ้าง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปรองดอง มีความสุขกันทั้งหมด

            เรื่องการเลือกตั้ง ตอนนี้เราเห็นความพยายามให้การเลือกตั้งเกิดช้าที่สุดตามกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจจะมีอภินิหารบางอย่างที่ทำให้กรอบตามรัฐธรรมนูญขยับออกไป ฉะนั้นมีหลายเกม เกมที่หนึ่ง เขาคำนวณมาแล้วตามกรอบรัฐธรรมนูญ ทีนี้เรื่องใหญ่ในเงื่อนไขที่จะทำให้รัฐธรรมนูญขยายไปหรือล้มลง มันก็ต้องคิดเป็นเงื่อนไขไป ไม่ใช่ตีไปกว้างๆ ว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่มันจะเกิดขึ้นในแบบไหนและที่สำคัญ มันอาจจะเกิดตามเวลาเป๊ะ แต่มันไม่ใช่กติกาที่นำไปสู่ความเสมอภาคทางการเมืองใดๆ และจะถูกทำให้ไร้ความหมายหรือเปล่า

            พิชญ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนหนักใจว่าปัจจุบันรัฐยังมีประสิทธิภาพสูงในการครอบงำ สกัดกั้นการต่อต้าน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการทำให้สังคมนั้นดำเนินไปในสภาวะที่ควรจะเป็น ความสามารถในการฝืนโลกมี แต่เมื่อสิ่งนั้นมันระเหิดหายไปสักวัน สิ่งที่เหลืออยู่มันอาจจะแย่และลำบาก คุณปิดโลกได้แต่จะฝืนโลกไปได้สักเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจร่วมกัน เพราะวันหนึ่งที่ทุกอย่างพังทลายลง สังคมก็ต้องถามว่าจะเหลืออะไรสักเท่าไหร่

ม.44 ยังใช้ได้แม้ยกเลิก รธน. ชั่วคราว เสนอแผนแก้รัฐธรรมนูญ 3 ระยะด้วยพลังประชาชน



            ปิยบุตรกล่าวว่า ในเรื่องเนื้อหา เรามีรัฐธรรมนูญปี 2560 และมาตรา 44 ใช้ควบคู่กันไปแม้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะยกเลิกไปแล้ว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีรัฐธรรมนูญถาวรแล้วแต่อำนาจของคณะรัฐประหารและกฎหมายชั่วคราวยังมาหลอนเราต่อ ผมเข้าใจว่าตอนรณรงค์ประชามติก็พยายามพูดเรื่องนี้แล้ว แต่ว่าถูกกดเอาไว้ ถ้าเปิดให้รณรงค์กันเสรีคนก็คงจะรู้มากกว่านี้ บางคนที่โหวตรับก็บอกว่า นึกว่าถ้ามีร่างใหม่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะไปเสียอีก แล้วในทางกฎหมายระหว่างรัฐธรรมนูญกับ ม.44 ใครใหญ่กว่ากัน ในทางปฏิบัตินั้นมาตรา 44 ใหญ่กว่า เพราะเวลาใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่าคำสั่งของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกันสิทธิเสรีภาพไว้เยอะมากอย่างที่อารยประเทศอื่นมี แต่ถ้ากฎหมายมาตรา 44 มาลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วเราไปฟ้องศาล ศาลก็จะบอกว่าคำสั่งตามมาตรา 44 ไม่ผิดเพราะชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 44 จึงขัดกับรัฐธรรมนูญทุกมาตรา จนถึงที่สุดแล้ว มาตรา 44 ยกเลิก รัฐธรรมนูญ 2560 เลยก็ยังได้ ไม่ต้องใช้กองทัพ

            ในเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ทางเดียวคือต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนวิธีแก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ซึ่งแก้ยากมากถือเป็นระดับท็อปของโลก ในทางปฏิบัติแทบทำไม่ได้เลย เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีส่วนร่วม แต่ ส.ว. ชุดแรกนั้นมีที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช. แล้วประชาชนจะแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร ถ้าเอากองทัพมาเป็นพวก กองทัพก็คงเข้ามารัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชาธิปไตยก็ไม่ได้ ผมคิดว่าต้องอธิบายแบบนี้รัฐธรรมนูญเวลาเกิดขึ้นแล้วหนึ่งฉบับ ประชาชนยังมีตัวตนอยู่ ไม่ล้มหายตายจากไป ถ้าเราไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้เราก็ต้องออกเสียงให้เปลี่ยนตามสิทธิตามธรรมชาติของสังคมการเมือง ถ้าคุณ(ประชาชน) ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญได้คุณก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ต่อให้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าทำไม่ได้ แต่ในเมื่อประชาชนเป็นฐานของการเกิดรัฐธรรมนูญ คุณให้รัฐธรรมนูญได้คุณก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ถ้าตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญระบุการแก้ไขกฎหมายอย่างไรก็ต้องไปตามนั้น แต่ถ้าวันหนึ่งมันถึงทางตัน ก็ต้องเป็นประชาชนที่เป็นผู้ทรงสิทธิธรรมที่มีอำนาจสูงสุดให้จัดทำ ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็ในเมื่อประเทศนี้ยังอนุญาตให้ทหารทำรัฐประหารตลอดเลย แล้วจะอนุญาตให้ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้เหรอ ในเมื่อบ้านหลังนี้มันผุพังเต็มที่แล้ว แล้วเจ้าของบ้านบอกว่าต้องเปลี่ยนมันก็ต้องเปลี่ยน แม้คนเขียนแบบบ้านจะบอกไว้ว่าห้ามเปลี่ยน ก็เจ้าของบ้านมันอยากเปลี่ยน ก็ต้องไปหาสถาปนิกคนใหม่มาทำบ้านใหม่ มันเป็นสิทธิ์ตามธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่ ผมสรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ 2 วิธี คือหนึ่ง แก้ไขตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญตามปกติ และวิธีที่สองซึ่งไม่มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มันติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด ในฐานะมนุษย์ที่รวมตัวกันเป็นสังคมการเมืองก็ควรมีการปกครอง แล้วถ้ามนุษย์ตกลงกันว่าไม่ไหวแล้ว มันก็ต้องทำได้เพราะมันเป็นสิทธิ์ติดตัวกับมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ในเชิงนามธรรม ท่านจะทำอย่างไรให้คนไทยจำนวนมากเห็นพ้องว่ารัฐธรรมนูญ 60 มันไปไม่ได้แล้ว ต้องเลิกสถานเดียว มันต้องมีขั้นตอน ซึ่งในที่นี้มีสามขั้นตอนในข้อเสนอแบ่งเป็นระยะสั้น กลางและยาว

            ระยะสั้น ในเมื่อ รัฐธรรมนูญ 60 มันเกิดแล้ว เราจะทำยังไงให้คนจำนวนมากเห็นอัปลักษณะของ รัฐธรรมนูญ 60 เพราะคนจำนวนมากอาจจะยังไม่เห็น ต้องช่วยกันรณรงค์ เบื้องต้น รัฐธรรมนูญ 60 มีเนื้อหาดีๆ เยอะเลย โดยเฉพาในช่วงต้น ๆ เราก็ทดลองว่าบทรับรองสิทธิ เสรีภาพมันใช้ได้จริงหรือไม่ ก็ต้องลองทดสอบดูว่าคำสั่งต่างๆของ คสช. ขัดรัฐธรรมนูญ แน่นอนที่สุด พอถึงมือศาลรัฐธรรมนูญก็คงเดินตามแนวเดิม แต่ก็ถือเป็นการโฆษณาว่า รัฐธรรมนูญ ที่พวกคุณโฆษณา พอเอาเข้าจริงมันใช้ไม่ได้ มันจะเป็นการบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนคำวินิจฉัยให้เป็นแบบนั้น ตอนนี้จึงมีความพยายามเข้าชื่อให้ยกเลิก กฎหมายมาตรา 265 ทิ้งเพราะมันเป็นมาตราที่ทำให้มีมาตรา 44 และยกเลิกมาตรา 279 ที่ทำให้การกระทำของคณะรัฐประหารชอบธรรมทุกอย่าง ทั้งหมดนี้คงไม่สำเร็จ แต่ก็เป็นการรณรงค์

            ในระยะกลาง ถ้าการเลือกตั้งมาถึง เรียกร้องไปทุกพรรคการเมืองให้เลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทำรัฐธรรมนูญใหม่ พอได้รับเสียงข้างมากแล้วก็ลองทำ แต่แน่นอนว่าจะไม่สำเร็จ เพราะกลไกแก้รัฐธรรมนูญยากมาก แต่ควรจะทำซ้ำๆ ให้คนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปติดที่ตรงไหนบ้าง

            สุดท้าย เมื่อคนเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐธรรมนูญมันแตะต้องไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องกลับไปที่พื้นฐาน ให้ประชาชนทำรัญธรรมนูญเอง จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แน่นอนว่าองค์กรต่างๆ ก็คงออกมาขัดขวางว่ารัฐธรรมนูญ 250 ไม่ได้อนุญาตให้มีการทำประชามติ ก็ต้องเถียงกลับไปว่ามันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์

            วิธีที่พูดออกมาคือสันติที่สุดเพราะไม่ได้ต้องไปยึดสภา สนามบิน ทำเนียบ จตุรัสกลางเมืองหรือต้องไปตั้งกองกำลังติดอาวุธ แต่ต้องรณรงค์ให้คนเห็นส่วนที่ไม่ดีของรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเราใช้ทหารเลิกรัฐธรรมนูญตลอดเวลา ต้องถึงเวลาที่ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญให้ได้ ถ้าประชามติแล้วไม่ผ่าน ก็ต้องอยู่กันต่อไป แล้วค่อยทำใหม่ มันก็เป็นแบบนี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญใดอยู่ไปตลอด มันก็ต้องเปลี่ยนตามพลวัตของโลก

            อัดประชามติผิดหลักการ โดนแก้ไขหลังโหวต ถ้าเปิดเสรีคนไทยคงไม่โง่ถอยหลังเข้าคลอง
อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวในประเด็นแรกต่อคำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีใดบ้าง แบ่งได้เป็นสองประเภท หนึ่ง คนๆ เดียวให้รัฐธรรมนูญคือกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือผู้นำเผด็จการ คือคนๆ เดียวตัดสินใจ เรียกแบบนี้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แบบที่สองคือให้ประชาชนมอบรัฐธรรมนูญให้กันเอง คือผ่านระบบตัวแทนในสภา หรือทำประชามติซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรง ถ้าเรามองย้อนไปทางรากศัพท์ รัฐธรรมนูญ หรือ Constitution รากศัพท์ในภาษาละตินคือ Co+ Institute คือการทำอะไรร่วมๆกัน รวมกับคำว่า ก่อตั้ง รัฐธรรมนูญจึงแปลว่าเอกสารทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากคนทุกๆ คนมาตกลงร่วมกันทั้งหมด ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวพระราชทานรัฐธรรมนูญเช่นที่ฝรั่งเศสหรือสเปนจะเรียกกันว่ากฎบัตรหรือ Charter มากกว่า

            ประชามติในตัวรัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนทรงอำนาจสูงสุดในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พระเจ้า ทีนี้ประชามติแบบไหนถึงจะทำให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญเกิดจากประชาชนอย่างแท้จริงมาจากปัจจัยสองประการ หนึ่ง เป็นอิสระและยุติธรรม อิสระในที่นี้หมายถึงแต่ละคนที่ตัดสินใจเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญมีสิทธิ์ตัดสินใจ มีสิทธิรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ จะได้เกิดการถกเถียงและคนจะได้สิ่งที่ต้องการจริงๆ ส่วนความยุติธรรมหมายถึงความเสมอภาคกัน ไม่ใช่ฝ่ายรับได้เปรียบฝ่ายไม่รับ หรือฝ่ายไม่รับได้เปรียบฝ่ายรับ ประชามติที่ฟรีและแฟร์เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเปิด เปิดพื้นที่ถกเถียง รณรงค์และใช้เหตุผลเต็มที่ทั้งสองฝ่าย

            ด้วยกลไกประชามติฟรีและแฟร์ ท่านคิดไหมว่าคนไทยทั้งประเทศเจ็ดสิบล้านคนจะโง่บัดซับเลือกรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเผด็จการ ถ้ามีการรณรงค์กันให้ถึงที่สุด มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น ถ้ามนุษย์มีสติสัมปชัญญะ มีเหตุผล ได้โอภาปราศรัยกันอย่างเต็มที่ มันไม่มีมนุษย์อยากกลับไปเป็นทาสแบบเดิม มนุษย์อยากเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น แล้วทำไมในโลกใบนี้มันถึงมีการได้ผลประชามติที่ไม่ดีออกมา ก็ต้องตั้งคำถามว่าประชามตินั้นไม่มีมาตรฐาน ไม่ฟรีและไม่แฟร์ ประชาชนถูกเรียกออกไปเพื่อเป็นเครื่องประดับตกแต่งให้การทำรัฐธรรมนูญของเผด็จการ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็สะท้อนกระบวนการเหมือนกัน

สอง รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วจะต้องถูกนำไปใช้ทันที จะไม่มีองค์กรอื่นใดมาขัดขวางการใช้อีกแล้ว เพราะประชาชนตัดสินแล้วว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าองค์กรผู้มีอำนาจสามารถขัดขวางได้ก็แปลว่าคนที่มีอำนาจเลือกใช้รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ประชาชน องค์กรผู้มีอำนาจก็จะเป็นผู้ทำรัฐธรรมนูญเอง ตามหลักการแล้วถ้าประชามติผ่าน จะไม่มีใครมาขวางการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ได้ แม้แต่ศาลหรือประมุขก็ขวางไม่ได้ กลับมาดูที่ไทย รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2557 เขียนไว้ว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วจะยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องรอพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย แต่มีพระราชอำนาจไม่ให้บังคับใช้ก็ได้ ในทางปฏิบัติจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย. 2560 มีการแก้รัฐธรรมนูญปี 2557 เพื่อเปิดทางให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการต่างๆ เข้าไปแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้จึงเป็นคนละฉบับกับที่เราลงประชามติไปเมื่อเดือน ส.ค. 2559

            ประชามติครั้งนี้ไม่ฟรีและไม่แฟร์ กกต. ที่เป็นฝ่ายจัดประชามติแจกเอกสารโฆษณาสรรพคุณของร่าง รัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายไม่รับพอไปออกรณรงค์ก็โดนคดีความกัน รัฐธรรมนูญจึงไม่ผ่านประชามติในความหมายที่บอกว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจการคลอดรัฐธรรมนูญ มันจึงไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอยู่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านทั้งด้านความชอบธรรม เพราะเชื่อมโยงกับรัฐประหารปี 2557 เนื้อหาและกระบวนการที่ล็อคสเป็คการเขียนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้เขียนอย่างอิสระ การทำประชามติก็ไม่ฟรีและไม่แฟร์ และเนื้อหาที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่หลายเรื่อง
1 ปีผ่านไปเหมือนสูญเปล่า รธน. คนละฉบับกับที่โหวต มีก็เหมือนไม่มีเพราะทหารยังกดขี่



            รังสิมันต์ กล่าวว่า ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมาหลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มีสัญญาณบอกว่าอนาคตประเทศนี้จะไม่ได้ดีขึ้นเลย ขอพูดเรื่องคดี พ.ร.บ. ประชามติก่อน ล่าสุดก็ถูกฟ้องหลังจากเดินทางไปขอข้อมูลเรื่องรถไฟความเร็วสูงกับทางรัฐบาลแม้ประชามติจบไปปีกว่าแล้วด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่คงอยู่คือคดีความ หลายคนได้ติดตาม ร่วมกิจกรรมกับผมบ่อยๆ จะเห็นว่าหลายครั้งที่เรารณรงค์นอกพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นถูกจับทันที แม้กระทั่งผู้มีอำนาจและการใช้อำนาจจึงมีลักษณะของการลุแก่อำนาจสูงมาก ผมแจกเอกสารเดียวกันคนละพื้นที่แต่ได้รับการรับมือไม่เหมือนกัน ผมคิดผิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 6 เม.ย. เป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับกับการลงประชามติ ฝ่ายรับและไม่รับที่มุ่งต่อผลให้คนตัดสินใจอนาคตของตัวเองถูกทำลายลง การรับหรือไม่รับเมื่อ ส.ค. 2559 เป็นการรับหรือไม่รับทั้งฉบับ การแก้ไขอะไรก็แล้วแต่แม้เพียงเล็กน้อยคือการทำลายเจตจำนงของประชาชนอย่างสิ้นเชิง เราเสียเงินไปกว่า 3 พันล้านบาท แต่สิ่งที่ได้คือความว่างเปล่า รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจึงเกิดขึ้นจากรัฐบาล คสช. โดยแท้

            สอง กระบวนการประชามติมีปัญหาจริงๆ ในอนาคต ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมาแก้ไขไม่ได้เลยว่าต้องผ่านประชามติก่อนเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ ซึ่งไม่จริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดการดัดแปลงจากฉบับประชามติ วันที่ 6 เม.ย. ถึงวันนี้เราประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว 4 เดือน หลายคนไม่รู้สึกว่าประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้อยู่จริง เพราะยังมีการจับกุม ดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ผมก็โดนหมายอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแน่ๆ กับการมาดำเนินคดีประชามติย้อนหลังเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่มีความหมายใดๆ ในสายตาเจ้าหน้าที่ แต่อำนาจที่เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญคือม. 44 ผมทำกิจกรรมมา 3 ปี ผมพูดแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารได้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญที่สุดคือพวกเขาจะโดนย้ายหรือเปล่าถ้าไม่ทำตามคำสั่งนาย
มรดกรัฐประหารจะอยู่ต่อไป วอน เลิกวัฒนธรรมรัฐประหาร ลอยนวลพ้นผิดต้องเอา คสช. เข้าคุกให้ได้
รังสิมันต์กล่าวต่ออีกว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีปัญหามาก ในวันที่ 7 ส.ค. มีคนรับร่างรัฐธรรมนูญ 16 ล้าน คนไม่รับร่าง 10 ล้าน คนที่รับร่างจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าจะได้มีการเลือกตั้งเร็วๆ จะได้มีรัฐบาลมาแก้ไขวิกฤติการณ์เหล่านี้เสียที แต่ความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดสิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ หลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งบอร์ดที่ทำหน้าที่ออกข้อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำตาม ถ้าพูดแบบลูกทุ่ง ยุทธศาสตร์ชาติก็คือนโยบายของ คสช. ถ้ารัฐบาลแถลงนโยบายไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลที่พวกเราเลือกก็อาจถูกดำเนินคดีได้ ปัญหาที่สอง การปฏิรูปประเทศชาติ ในความคิดของ คสช. การปฏิรูปคือการแก้ไขสิ่งที่แล้วมาให้ดีขึ้น ถ้าอ่านอย่างละเอียดแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศชาติคือการก้าวถอยหลังทั้งคู่ องค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. จะมาบีบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องปฏิรูปประเทศตามแนวทางที่ คสช. กำหนดไว้ ตกลงว่าเราจะมีนโยบายจากพรรคการเมืองไหม และจะทำตามนโยบายที่หาเสียงได้ไหม ในเมื่อมีพันธะกรณีที่ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายของ คสช. ที่วางไว้แล้ว ด้วยกลไกต่างๆ และพันธะดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตเอาชนะ คสช. ได้ ถึงจะอยากเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างไรก็ทำไม่ได้ หลายคนในที่นี้คงไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่คดีของยิ่งลักษณ์เป็นความผิดทางนโยบายไม่ใช่ใครผิดใครถูก แต่บังเอิญไม่ถูกใจ คสช. ก็เลยต้องโดนดำเนินคดี ต่อไปในอนาคตก็คงมีคนถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันอีกมากมาย

            นอกจากนั้น มาตรฐานจริยธรรมที่จะใช้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นขาดการมีส่วนร่วมจากรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ก็จะเข้ามา หลังจากนั้นจะต้องดูกรณีการทำผิด ทุกวันนี้ที่พูดถึงกันบ่อยก็คือเรื่องการคอร์รัปชันที่ พล.อ. ปรีชาไม่เคยโดนสักที ดังนั้น มาตรฐานจริยธรรมที่เรายังไม่รู้ว่าคืออะไรจะไปควบคุมรัฐบาลเลือกตั้งตามที่ คสช. วางเอาไว้ สิ่งสุดท้ายที่อยากให้ประชาชนทดเอาไว้ในใจคือ ที่ผ่านมาประเทศนี้เป็นประเทศที่คนทำผิดไม่ติดคุกจนเป็นวัฒนธรรม ดังนั้นปัญหาที่ใหญ่ไม่หย่อนไปกว่าเรื่องอื่นๆ เลยคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เป็นเครื่องมือการสนับสนุนวัฒนธรรมการทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ ที่พูดอย่างนี้เพราะคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่มายุติการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 และสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยึดอำนาจเป็นของตนเอง ซึ่งโทษตามกฎหมายคือประหารชีวิต สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือการยกเลิกกฎหมายที่ทำให้การยึดอำนาจนั้นชอบธรรม หนทางเดียวที่จะทำให้การรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายคือทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว เอาคนเหล่านี้ไปเข้าคุก การต่อสู้ของประชาชนไม่เคยจบ วันนี้ถ้าเราบอกว่าอายุเฉลี่ยคนไทยคือ 60-70 ปี เราก็ควรคิดว่าจะทำวันนี้เพื่อลูกหลานของเรา ตัวผมเองอายุ 25 ปี ยังมีเวลาอีกมากที่ต้องรับกรรมในประเทศนี้ จึงต้องออกมาต่อสู้เพราะอยากเห็นอะไรที่ดีกว่านี้ แต่ที่ผ่านมา ประชาชนอย่างเราๆ ไม่มีโอกาสกำหนดวาระของตัวเองได้เลย การเรียกร้องที่ผ่านมานั้นเกิดจากวาระที่ คสช. ตั้งขึ้น วันนี้เป็นไปได้ไหมที่ประชาชนจะรณรงค์เข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แล้วกำหนดอนาคตที่เราอยากมีเสียที การเข้าชื่อเป็นการทำตามกระบวนการที่ควรจะทำได้ แต่ความสำคัญอีกอย่างคือ นักการเมืองที่จะหาเสียงเลือกตั้งเมื่อถึงวาระที่มีการเลือกตั้ง จะต้องกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับการเข้าชื่อที่เป็นชบวนการของประชาชนให้สอดคล้องกัน เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ และการเอา คสช. ไปเข้าคุกเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก

            สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยทิ้งท้ายว่า อยากให้ช่วยกัันทดลองกำหนดวาระของประชาชนบ้าง สิ่งที่เคยทำแล้วแต่ยังไม่สำเร็จคือ ทำอย่างไรให้สิ่งที่ประชาชนต้องการเป็นวาระสำคัญของประเทศ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำอย่า่งไรให้ผู้แทนประชาชนในอนาคตเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์จากประชาชน ให้เสียงจากประชาชนดันขึ้นไปผ่านนักการเมืองจะทำได้อย่างไร ซึ่งการกำหนดวาระของประชาชนไม่ง่าย ต้องอาศัยคนจำนวนมากที่จะปกป้องเอาไว้ จะทำอย่างไรให้เป็นเรื่องของการรวมตัวของประชาชนจำนวนมากที่ต้องทำ แม้จะไม่เกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้

กองทัพตั้งกรรมการสอบทหารเอี่ยวอุ้มนักธุรกิจจีน




Published on Mon, 2017-08-14 15:56
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พล.ต.จรูญ- 4 จ่าสารวัตรทหารกองทัพไทย หลังพัวพันแก๊งเรียกค่าไถ่นักธุรกิจชาวจีน ยืนยันหากผิดจริงไม่ปกป้อง

14 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับ พล.ต.จรูญ อำภา ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติงานศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง กองบัญชาการกองทัพไทย และทหารยศจ่า สังกัดกรมสารวัตรทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 4 นาย หลังพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอุ้มนักธุรกิจเรียกค่าไถ่ ว่าได้สั่งการผู้เกี่ยวข้องว่าหากตำรวจร้องขอรายละเอียดเรื่องใดต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่



“ยืนยันว่าจะไม่ปกป้องกำลังพลที่กระทำความผิด ในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทยเองได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทางวินัยด้วยเช่นกัน โดยจะดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และระหว่างที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้มีคำสั่งให้ พล.ต.จรูญ มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานผู้บังคับบัญชา เพื่อควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ส่วนกรณีตำรวจขยายผลว่าแก๊งค์ทหารดังกล่าวเป็นแก๊งค์ปล่อยเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ย่านดอนเมือง พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน

ภูมิธรรมแจง 7 ประเด็น อนาคต พท.หลังคดียิ่งลักษณ์-เลือกตั้งครั้งหน้า



Published on Mon, 2017-08-14 18:59


ยังไม่สรุปใครเป็นผู้นำพรรคต่อไป ระบบไพรมารีโหวตต้องรับฟังความเห็นมากกว่านี้ กรธ.ยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียวสร้างความยุ่งยาก ส่อเจตนาทำพรรคการเมืองอ่อนแอ โครงการจำนำข้าว ยืนยันทำเพื่อคนส่วนใหญ่ ส่วนการปรองดองต้องเริ่มจากการไม่สองมาตรฐาน

14 ส.ค.2560 เว็บไซต์มติชน รายงานว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงทัศนะทางการเมือง 7 ประเด็น ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงในพรรค การมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ และความขัดแย้งภายในพรรค โดยระบุว่า เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่มีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งใหญ่โตใดๆ พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันทางการเมือง ความเป็นพรรคการเมืองนั้นสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค ไม่ใช่ตามการชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และแน่นอน การเลือกผู้นำพรรคก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรค ที่สำคัญมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนกรณีที่มีคำถามให้ยืนยันว่าพรรคจะไม่มีผู้นำที่มาจากตระกูลชินวัตรนั้น ต้องเรียนว่าพรรคมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์บริหารประเทศ และมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายจำนวนมาก ดังนั้นจึงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าพรรคจะเลือกใครมาเป็นผู้นำพรรค เรายังมีเวลาเพียงพอที่ไม่ต้องรีบตัดสินใจใดๆ เพราะสถานการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

2. พรรคไม่ได้กังวลต่อกระบวนการไพรมารีโหวต เพราะเราเป็นพรรคการเมืองลำดับต้นๆ ของประเทศที่ริเริ่มคิดเรื่องนี้มาก่อนเป็นสิบกว่าปีที่แล้ว ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีความเข้าใจในเรื่องไพรมารีโหวตและการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการช่วยคิดและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในพรรคอย่างเต็มที่ ไม่ใช่การดำเนินการอย่างที่ผู้ออกกฎหมายปัจจุบันกำลังคิดและจัดทำอยู่ ซึ่งเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันบันไม่ได้คิดอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจแบบลงลึก และยังขาดรายละเอียดอีกมาก ซึ่งการผลักดันเรื่องไพรมารีโหวตโดยขาดความเข้าใจเช่นนี้จะกลายเป็นเหตุที่ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกและสถาบันการเมืองเกิดความอ่อนแอ และอยากเสนอให้ผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายอย่าเร่งรีบจนไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศ และไม่ควรคำนึงถึงแต่ความต้องการของตนแต่ฝ่ายเดียว หากท่านปรารถนาจะให้ระบบไพรมารีโหวตมาใช้ในการเมืองไทย ควรเพิ่มความอดทนและให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนได้เรียนรู้เพื่อจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงพัฒนาการและความเป็นจริงของสังคมไทยด้วย

3. ระบบเลือกตั้งตามแนวทางของ กรธ. โดยเฉพาะความพยายามผลักดันให้เกิดการยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในความพยายามให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการเลือกตั้งเพื่อให้พรรคการเมืองและสถาบันทางการเมืองอ่อนแอ ถอดถอย ยากต่อการบริหาร ยากต่อการทำงานแก้ไขปัญหาของประชาชน และส่งผลให้เกิดความสับสนในการเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคณะผู้ร่างมีเจตนาเพื่อเปิดช่องทางสู่การมีนายกฯ คนนอกเข้ามาเป็นรัฐบาล และสะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจต่อไปใช่หรือไม่

“ผมเห็นว่าผู้มีอำนาจควรจะสร้างกฎกติกาการเลือกตั้งให้ง่ายต่อการปฏิบัติให้มาที่สุด เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มิใช่เพื่อทำให้เกิดข้อยุ่งยาก และสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับประชาชนเช่นที่กำลังเกิดในปัจจุบัน กติกาที่เขียนมา เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียว ระบบจัดสรรปันส่วน ค่าสมาชิกพรรค ไพรมารีโหวต และการยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ถือเป็นการส่อเจตนาอย่างชัดเจนเพื่อให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ และมุ่งสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มตนเท่านั้น”

4. ความท้าทายในการเลือกตั้งครั้งหน้า นโยบายที่เคยใช้หาเสียงจะยังสามารถนำมาใช้ได้เช่นในอดีตหรือไม่ การเมืองที่จะเกิดขึ้นควรจะต้องมุ่งเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแม้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็ต้องเป็นสิ่งที่สะท้อนเจตนารมณ์และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด และให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ที่สุด และที่สำคัญจะต้องมีส่วนเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่า เราจะใช้ความพยายามอย่างที่สุดที่จะมุ่งเดินหน้า สร้างงานการเมืองที่สร้างสรรค์เพื่อทำหน้าที่สำคัญคือ การรับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญที่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงกระทำ ทั้งนี้หากกฎกติกาที่คณะผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้ออกแบบไว้นั้นเกิดสร้างปัญหาและเป็นอุปสรรคสำคัญ ก็ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกๆ คนที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขเพื่อมิให้ประเทศติดอยู่ในวิกฤตและกับดักที่ถูกสร้างขึ้น

5. อนาคตของพรรคเพื่อไทยภายหลังวันตัดสินคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรามั่นใจว่าสิ่งที่ผู้นำพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการมาตลอดในเรื่องนโยบายจำนำข้าว ล้วนเป็นไปด้วยความสุจริตและเป็นการดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภา และถือเป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2555-2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และที่สำคัญกฎหมายมีสภาพบังคับและกำหนดให้ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์และครม.ต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข น.ส.ยิ่งลักษณ์และครม.ทั้งคณะก็ได้ใช้ความพยายามและความระมัดระวังอย่างเต็มที่ในการดูแลเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อครอบครัวเกษตรกร และผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ

“พรรคกล้ายืนยันและเชื่อมั่นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มิได้ทำสิ่งใดผิดตามที่ถูกกล่าวหา เรามั่นใจในความบริสุทธิ์และความตั้งใจจริงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเชื่อว่าผลแห่งความมุ่งมั่นทำงาน และคุณงามความดีที่ท่านได้ทำสั่งสมมาจะปกปักรักษาให้ท่านพ้นภัยในครั้งนี้ พรรคมีความเป็นสถาบันการเมือง มีประวัติศาสตร์ และผ่านการทำงานปฏิรูปและพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยมานานนับสิบๆ ปี หากผลจากการทำงานที่มุ่งมั่นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะทำให้พรรคเราได้รับความเสียหาย เราก็ยังเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นใจเรา จะโอบอุ้มคุ้มครองเรา และจะให้โอกาสพรรคการเมืองของเราอยู่เคียงข้างพวกเขาตลอดไป”

6. การออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยล่าสุด ที่ขอให้รัฐบาลยุติการคุกคามและการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน จะไม่ส่งผลดีต่อการปรองดองและจะยิ่งส่งผลเสียต่อภาพพจน์ของประเทศ และยังอาจนำไปสู่การไม่ได้รับความสนับสนุนและไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาคมโลกอีกด้วย

7. พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความยุติธรรมเป็นพื้นฐาน ตราบใดที่คนในสังคมยังรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมหรือยังมีลักษณะความเป็นสองมาตรฐาน การปรองดองก็ยากจะประสบความสำเร็จ หน้าที่ของผู้นำโดยเฉพาะรัฐบาลต้องเป็นแบบอย่างในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นและต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถได้รับความยุติธรรมต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน พรรคเพื่อไทยได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่ากระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรม หากแต่ต้องมุ่งมั่นไปสู่กระบวนการที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค