http://tgdr.blogspot.com/Saturday, February 12, 2011อียิปต์ระหว่างบรรทัด: อ่านเขาให้รู้เรา มูบารัคยอมลาออก “ประชาชนชนะแล้ว” ผลลัพท์ในอียิปต์เป็นข่าวสั่นสะเทือนไปยังประเทศที่ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนๆ เดียวดั่งจ้าวเหนือหัว (ออโตเครซี่) ทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งในเยเมน จอร์แดน ซีเรีย ซาอุดิอาราเบีย และอื่นๆ ทำให้พลเมืองที่เพรียกหาประชาธิปไตยเพราะเคยกินแต่น้ำใต้ศอกเหล่านั้น เพิ่มความฮึกเหิมยิ่งขึ้น ในบ้านเรา นับแต่ความสำเร็จของประชาชนตูนิเซีย และการออกมาปักหลักโดยประชาชนอียิปต์นับล้านที่จตุรัสปลดแอกเพื่อกดดันให้ประธานาธิบดีฮอสนิ มูบารัคลาออกเมื่อ ๑๘ วันก่อนหน้า มีการพูดถึงอียิปต์โมเดลกันมากทั้งในที่ลับ และที่แจ้ง ตามสื่อทางเลือก และสื่อสายหลัก กรณีหลังอาจเป็นการเอ่ยถึงอย่างเป็นนัยๆ ตามเว็บบอร์ด และข่าวออนไลน์ของคนเสื้อแดงก็มีการลุ้นกันชนิดเรียกว่าวันต่อวัน ในความหมายกินใจที่ว่าพลังประชาชนย่อมเต็มไปด้วยน้ำอดน้ำทน และสามารถไปได้ตลอดรอดฝั่งจนถึงที่สุด เว็บไซ้ท์ของอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ดูจะเป็นแห่งแรกที่ขานรับทันควันว่า“ประชาชนจงเจริญ” พร้อมทั้งสรุปว่าเป็นบทเรียนอันแหลมคมสำหรับการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทยข้อหนึ่งคือ “การต่อสู้ของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาด” อจ. ใจเขียนว่า “การปฏิวัติอียิปต์ระเบิดขึ้นเพราะมีการเคลื่อนไหวแบบ ‘แกนนอน’ ทุกคนนำตนเอง ไม่มีใครสั่งให้เลิกหรือปรองดองได้ง่ายๆ” แล้วยังวิเคราะห์ต่อไปด้วยว่าหลังจากประชาชนอียิปต์ได้รับชัยชนะแล้วจะเข้าสู่ทางแยกอันสำคัญ นั่นคือปัญหาเผชิญหน้ามีมากมาย อาทิจะไว้ใจกองทัพได้แค่ไหน จะป้องกันนักการเมืองฉวยโอกาสได้อย่างไร หรือจะยกระดับการต่อสู้เพื่อกำจัดระบบอำมาตย์ให้เด็ดขาดได้ไหม เป็นต้น อจ. ใจให้คำตอบไว้ด้วยว่าพลังประชาชนไม่สามารถจะปฏิบัติการแบบแกนนอนอีกต่อไปได้ แต่จำเป็นต้องมีองค์กรทางการเมือง หรือพรรคการเมืองมาเป็นผู้จัดการ ซึ่งผู้เขียนจะไม่มาถกเถียง หรือโต้วาทีในประเด็นที่อจ. ใจเสนอเอาไว้นี้ แต่จะขออภิปรายเป็นเพื่อนข้างเคียงกันไป ก่อนอื่นเราต้องยอมรับในข้อเท็จจริงเบื้องลึกที่ว่าในที่สุดของประธานาธิบดีมูบารัคยอมลาออก และพาครอบครัวอพยพไปอยู่เกาะชามเอลชี้คนั้น ได้รับอิทธิพลกดดันจากสหรัฐอเมริกา ผ่านทางคณะทหาร หรือกองทัพอียิปต์อันมีนายพลสุไลมานเป็นแม่ทัพใหญ่ จะเห็นได้จากเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่นายพลสุไลมานจะออกมาแถลงข่าวว่ามูบารัคยอมลาออกนั้น ประธานาธิบดียังยืนยันจะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะครบสมัยในเดือนกันยายน แม้จะยินยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน (ซึ่งไม่ได้รวมถึงขบวนการประชาชนทั้งหมด) เช่นจะไม่ลงแข่งขันรับเลือกตั้งอีก จะไม่ขุนลูกชายขึ้นมาสวมอำนาจแทน กับจะดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง รวมทั้งเปิดกว้างเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความเป็นอิสระของสื่อ แต่สัญญานบ่งบอกสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่ามูบารัคดิ้นเฮือกสุดท้ายไม่หลุดเพราะถูกฝ่ายการทหารอเมริกันค้ำคอไว้ไม่ปล่อย มาจากการไปให้ปากคำต่อรัฐสภาสหรัฐของนายลีออน พาเน็ตต้า ผู้อำนวยการองค์การสืบราชการลับกลาง (ซีไอเอ) เมื่อวันพฤหัสบดีว่า “มูบารัคจะลาออกภายในวันนี้” (ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์) แม้จะมีข่าวสวนต่อมาในบ่ายวันเดียวกันว่ามูบารัคยังไม่ยอมลาออกเลยทีเดียวจนทำให้นายพาเน็ตต้าต้องให้สัมภาษณ์แก้หน้าจ้าละหวั่น แต่ท้ายที่สุดก็มีแถลงการณ์ลาออกจริงๆ ในวันศุกรสมดังที่ ผอ. ซีไอเอ อ้างไว้ ความพยายามของรัฐบาลโอบาม่าที่จะใช้วิถีการทูต และการเจรจาในทางลับให้มูบารัคยินยอมตามเสียงเรียกร้องของประชาชน (อันรวมถึงคำขาดให้ลาออกสถานเดียวด้วย) มีมาแต่เริ่มวิกฤติในกรุงไคโร เริ่มด้วยการส่งนายแฟร้งค์ ไว้สเนอร์ อดีตเอกอัคราชทูตอเมริกันประจำอียิปต์เป็นทูตพิเศษของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าไปคุยกับมูบารัคสองครั้ง แต่ไม่เป็นผล หลังจากนั้นสหรัฐได้ใช้อิทธิพลที่มีต่อกองทัพอียิปต์ จากการที่เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการทหารทั้งด้านยุทโธปกรณ์ และการฝึกกำลังรบปีละกว่าหนึ่งพันสามร้อยล้านดอลลาร์ แม้แต่นายพลโอมาร์ สุไลมาน ซึ่งมูบารัคตั้งเป็นรองประธานาธิบดี และขณะนี้เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งเสรี ซึ่งเป็นสายใยหลักเชื่อมระหว่างกลาโหมอเมริกันกับรัฐบาลมูบารัคมาตลอด ก็เรียกได้ว่าเป็นลูกมือสหรัฐโดยตรง เราอาจพูดได้อย่างหนึ่งว่าขบวนการประชาชนอียิปต์นั่นเคราะห์ดีที่สหรัฐ และซีไอเอเข้าไปแทรกแซงในช่วง ๑๘ วันหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิวัติ อันทำให้ฝ่ายทหารตั้งปฏิธานเหนียวแน่นไม่ยิงประชาชน และทำตัวเป็นกันชนระหว่างผู้ประท้วงกับกองกำลังฝ่ายมหาดไทยของมูบารัค ไม่เช่นนั้นการนองเลือดขนานใหญ่อาจจะเกิดขึ้นไปแล้ว แต่เราก็พูดได้เช่นกันว่าขบวนการประชาชนอียิปต์โชคร้ายที่ขณะนี้การปฏิวัติแบบแกนนอนของตนไปหล่นอยู่บนมือของฝ่ายทหารเสียแล้ว ทหารจะดูแลให้การเลือกตั้งดำเนินได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และจะสนับสนุนการปฏิรูปต่อไปโดยสะท้อนถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งมวลอย่างแท้จริงหรือไม่ ก็เป็นปัญหาน่าห่วงแบบที่ อจ. ใจว่าไว้เหมือนกัน หากข้อวิเคราะห์ที่ว่าสหรัฐมีส่วนทำให้มูบารัคยอมจำนนเป็นจริง จะหวังได้ไหมว่าสหรัฐจะยังใช้อิทธิพลโน้มน้าวฝ่ายทหารของอียิปต์ให้เดินตามที่ขบวนการประชาชนเรียกร้องต้องการครบถ้วน โดยไม่มองในแง่ร้ายไปกว่านั้นว่าเสร็จแล้วสหรัฐกลับสนับสนุนเผด็จการรูปใหม่เพื่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของตนเอง ถ้าสหรัฐเกิดหวาดระแวง และกีดกันกลุ่มภราดรภาพมุสลิมมากเสียจนยอมปล่อยให้ทหารอียิปต์เอาแต่ใจ (spoiled) ละก็ บทเรียนจากอียิปต์จะกลายเป็นเรื่องตลกร้าย หรือ irony ดังคำศัพท์ที่นักวิชาการเสื้อแดงบางท่านชอบใช้ และอียิปต์โมเดลก็ไม่สามารถนำมาใช้กับไทยดังที่ อจ. ใจบอกว่านั่นเป็นข้อสรุปของกลุ่มแดงสยาม เราทราบกันดีว่าชัยชนะของประชาชนในอียิปต์เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่มาจากการความสำเร็จในการขับไล่ผู้ปกครองแบบจ้าวเหนือหัวของประชาชนตูนิเซีย และเป็นที่จับตากันต่อไปว่าจะเกิดเบี้ยล้มเป็นทอดๆ แบบโดมิโนในประเทศอื่นๆ ไม่หยุดยั้ง (แต่ก็อาจเชื่องช้าเอามากๆ ในเยเมนเพราะประชาชนในประเทศนั้นมีนิสัยประจำชาติที่เฉื่อยชาเนื่องจากธรรมเนียมที่ต้องหยุดพักไปเคี้ยวใบกระท่อมให้เคลิบเคลิ้มกันตอนบ่าย)* การปฏิวัติประชาชนในทั้งสองประเทศยังมีลักษณะไม่มีแกนนำ หากแต่การดำเนินการต่างๆ เกิดจากนัดหมายกันเองด้วยความพร้อมใจ ทว่าในอียิปต์ดูจะล้ำหน้ากว่าตูนิเซียเล็กน้อยในเรื่องของการจัดตั้ง และการประสานงานในลักษณะองค์กร ดูได้จากที่มีการออกคู่มือการประท้วงสำหรับเป็นแนวทางปฏิบัติของชาวอียิปต์ระหว่างร่วมกันขับไล่มูบารัค คู่มือดังกล่าวมีผู้นำภาพถ่ายและรายละเอียดไปโพสต์ไว้บนเว็บอินเตอร์เน็ตฟรีดอม** ซึ่งไม่ระบุว่าใครเป็นผู้จัดทำ แต่ก็คาดหมายได้ว่าอาจจะเป็นกลุ่มภราดรภาพมุสลิม เพราะเป็นกลุ่มที่มีการจัดองค์กร และเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ตลอดการประท้วง ๑๘ วันของประชาชนฝ่ายค้านในอียิปต์ กลุ่มภราดรภาพมุสลิมดูจะจงใจจำกัดบทบาท (low profile) ของพวกตนในฐานะที่เป็นองค์กรนอกกฏหมายอย่างหนึ่ง และฉันทามติของพลังประชาชนต้องการเอาชนะด้วยหนทางอหิงสา แต่กลุ่มภราดรฯ ก็ปรากฏตัวให้เห็นชัดเจนตลอดการชุมนุม กลุ่มนี้เองที่ประกาศยืนยันหัวชนฝาไม่ยอมรับข้อแม้ใดๆ ของมูบารัคที่มากไปกว่าจะต้องออกไปก่อนสถานเดียว เชื่อได้ว่าในการนัดชุมนุมครั้งสุดท้ายที่คาดกันว่าจะเป็นการปะทะครั้งใหญ่จนมีการล้มตายบาดเจ็บระนาวก่อนมูบารัคยอมถอยนั้น เป็นการประสานงาน และผลักดันโดยกลุ่มภราดรฯ เป็นหลัก กลุ่มที่มีการจัดตั้งเหนียวแน่น และยึดแนวทางต่อสู้ด้วยกำลังนี่แหละที่ทำให้สหรัฐต้องเร่งบีบคั้นมูบารัคลาออกจนได้ ลองย้อนมาอ่านอียิปต์โมเดลให้เป็นประโยชน์กับบ้านเราอีกครั้ง บางทีถ้าจะปรับเอาแบบเรียนอียิปต์ไปใช้กับการปฏิวัติโดยประชาชน แม้จะมุ่งหมายให้เป็นการปฏิวัติโดยสันติ ก็น่าจะคำนึงถึงผลพลอยได้ของการมีองคาพยพแบบกลุ่มไม้แข็งอย่างภราดรภาพมุสลิมบ้างเหมือนกัน (* http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/article/2011/02/04/AR2011020406202.html ** http://www.internetfreedom.us/thread-12926.html) |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
อียิปต์ระหว่างบรรทัด
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น