วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554


ปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชา: ผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ

ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ไม่ได้ส่งผลแค่ต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบต่อความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคลั่งชาติของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยที่ปรากฏให้เห็นในสาธารณะนั้นรุนแรง ก้าวร้าว และขาดสติ ข้อเสนอที่น่ากังวลมากคือการที่ผู้นำกลุ่มพันธมิตรเสนอให้มีการบุกเข้าไปยึดพื้นที่ในกัมพูชาจนกว่าจะมีการคืนปราสาทเขาพระวิหารให้กับประเทศไทย ราวกับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวร้าว บ้าคลั่ง และรุกราน 
แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนั้นจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพียงแค่สองประเทศเท่านั้น หากแต่ยังจะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังประเทศและความร่วมมืออื่นๆ เพราะในกรณีของไทยกับกัมพูชานั้น ทั้งสองเป็นสมาชิกของอาเซียน และโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส
แน่นอนว่าอาเซียนซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย เพราะอาเซียนต้องเผชิญกับคำถามในมิติทางความมั่นคงที่ว่า ทำไมอาเซียนถึงไม่มีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และอาเซียนควรมีการปรับเปลี่ยน “วิถีอาเซียน” (ASEAN Way) หรือไม่
วิถีอาเซียน คือ แนวทางในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศภายในอาเซียน มันเป็นคำที่ใช้เรียกกระบวนการแก้ไขปัญหาตามที่ระบุไว้ใน “สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Treaty of Amity and Cooperation: TAC) ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1976 สนธิสัญญานี้กำหนดหลักการสำคัญๆในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศไว้ คือ การเคารพซึ่งความเท่าเทียม อำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์ของแต่ละชาติ หลักการไม่ถูกแทรกแซงกิจการภายใน การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีสันติ และการไม่ใช้กองกำลังทางทหาร วิถีดังกล่าวได้ถูกเรียกรวมกันว่าวิถีอาเซียนและใช้ในการเป็นแนวทางในการจัดการเรื่องราวภายในอาเซียนตลอดมา
ในกรณีของความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา สิ่งที่เห็นและมีหลายฝ่ายตั้งคำถาม คือ แล้วอาเซียนมีบทบาทอย่างไร
เราจะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่มีปัญหาระหว่างสองประเทศนั้น อาเซียนมีท่าทีและการพูดถึงปัญหาดังกล่าวน้อยมาก ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้แสดงความวิตกกังวลต่อความรุนแรงที่ปะทุขึ้นจากเหตุการณ์ยิงปะทะกันระหว่างสองประเทศเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ โดยเสนอให้สองประเทศหันมาตกลงกันบนโต๊ะเจรจาแบบวิธีการทางการทูตแทนการใช้กองกำลังทหาร
ดูเหมือนว่านี่ก็เป็นวิธีการเดียวที่อาเซียนจะทำได้ คือ การแสดงความคิดเห็น เพราะอาเซียนเองนั้นไม่ได้มีกองกำลังในการรักษาสันติภาพเป็นของตนเองแบบที่นาโต (NATO) ของยุโรปมีไว้ใช้จัดการหรือช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุโรป หรือออกไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในที่ต่างๆ
ในทางตรงกันข้าม จากข้อจำกัดของอาเซียนในการเข้าไปแทรกแซงกิจการระหว่างประเทศเช่นนี้ ส่งผลให้อาเซียนซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายหนึ่งในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ถูกตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทที่กำลังเป็นอยู่ และ/หรือบทบาทที่ควรจะเป็นต่อไปในอนาคต ว่าควรมีแนวทางการปรับปรุงวิถีอาเซียนหรือไม่ อย่างไร
วิถีอาเซียนยังถูกตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว การแก้ไขปัญหาระหว่าสองประเทศ และกัมพูชาเสนอให้องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (United Nations: UN) เข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหานั้น ควรเป็นไปเช่นนั้นหรือไม่
เพราะหากพิจารณาแล้ว เราคงต้องตั้งคำถามว่า ถ้านี่เป็นเรื่องความขัดแย้งภายในภูมิภาคหรือบ้านของเรา เราจะยินดีให้คนนอกบ้านเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างนั้นหรือ ข้อเสนอในลักษณะนี้อาจได้รับการสนับสนุน เพราะยูเอ็นถูกเชื่อว่าเป็นกลางและน่าจะให้ความเป็นธรรมได้ แต่หลักการการให้ประเทศคู่ขัดแย้งเจรจาและแก้ไขกันเองก่อนนั้นก็ยังเป็นข้อที่ทำให้ยูเอ็นไม่อาจเข้ามาได้
อาเซียนเองซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้มากกว่าที่จะปล่อยให้องค์การระหว่างประเทศอื่นๆเข้ามามิใช่หรือ เพราะเราควรคิด ถกเถียง และเปิดเวทีระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่แนวทางว่าในกรณีเช่นนี้แล้ว เราจะส่งเสริมหรือพัฒนากลไกของอาเซียนที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ มีอำนาจ และสามารถเข้ามาจัดการเรื่องราวในภูมิภาคได้อย่างไม่ต้องโดนตราหน้าจากประเทศในภูมิภาคกันเองว่า “อย่ามาแส่” หรือจะมีการตัดลด เพิ่มเติมกลไกที่ดี มีประสิทธิภาพได้อย่างไร
อาจเป็นที่เข้าใจได้ว่าประเด็นเรื่องการไม่ต้องการให้เกิดการแทรกแซงกิจการภายในประเทศนั้น เกิดขึ้นเพราะรัฐหลายรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่งเป็นรัฐชาติสมัยใหม่มาได้ไม่นาน เพราะรัฐชาติหลายรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเพิ่งเกิดขึ้นอันเป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่สอง มันไม่ได้มีวิวัฒนาการการต่อสู้ แย่งชิง ร่วมมือกันมายาวนานเฉกเช่นเดียวกับรัฐชาติสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในยุโรปที่ผ่านการต่อสู้แย่งชินดินแดน การสร้างเมือง การทำสงครามระหว่างกัน จนมาถึงสร้างความร่วมมือและบูรณาการทางเศรษฐกิจและการเมือง จนจินตนาการของเส้นเขตแดนได้เลือนหายไปจนเกือบหมดสิ้น ในขณะที่รัฐชาติสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ในช่วงที่หวงแหนสิ่งที่เพิ่งได้มา ซึ่งนั่นก็คือ เส้นเขตแดน และอธิปไตย
สิ่งที่พอจะทำได้ในปัจจุบัน คือ การรอคอยว่าเมื่อใดที่มือที่กุมกำความหวงแหนเหล่านั้นจะค่อยๆคลาย และมองว่าเส้นเขตแดนเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เป็นจินตนาการร่วมกันของคนในรัฐ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของนักการเมืองที่หยิบขึ้นมาใช้ได้เพื่อปลุกความเป็นชาตินิยม
ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย นายมาร์ตี นาตาเลกาวา (Marty Natalegawa) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานของอาเซียน ได้เสนอว่าจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหา ความหวังของอาเซียนจึงได้บังเกิดขึ้นในฐานะที่อาเซียนได้ทำอะไรเสียที เพราะในเมื่ออาเซียนเป็นองค์การของภูมิภาค เราก็ควรคาดหวังอย่างมากให้อาเซียนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาภูมิภาค เพื่อใช้อาเซียนให้เป็นประโยชน์ มิใช่เป็นเพียงองค์การระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ และทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้ แต่เราควรเสนอให้อาเซียนมีบทบาทในการเข้ามาจัดการ ดูแล และเสนอทางแก้ไขต่อปัญหาในภูมิภาคได้
และแม้ไม่มีอะไรจะรับประกันถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาของอาเซียน แต่อย่างน้อยเราก็ได้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ละทิ้งสิ่งที่มีอยู่แล้วไปใช้กลไกอื่น ความหวังต่อองค์การระหว่างประเทศให้ทำหน้าที่จึงยังพอมีให้เห็น และแม้อาจกล่าวโต้เถียงอีกว่า แล้วเมื่ออาเซียนออกมาแล้ว แล้วหากไทยและกัมพูชาไม่แยแสต่อความเห็น ข้อเรียกร้องของอาเซียน มันก็ทำให้เราคิดต่อไปอีกว่า ท้ายที่สุดแล้วเรามีวัฒนธรรมในการยอมรับและปฏิบัติกฎหมายมากพอหรือไม่ เพราะนอกจากจะไม่สนใจกฎหมายในประเทศอยู่บ่อยครั้งแล้ว ไฉนเลยกฎหมายระหว่างประเทศจะมาบังคับประเทศเราได้ เพราะหากมันไม่ช่วยให้เราได้สิ่งที่เราต้องการ เด็กเอาแต่ใจตัวเองอย่างเราก็จะขอประกาศกระทืบเท้า รุกราน เกรี้ยวกราด และร้องขออย่างไร้สติต่อไป ชาตินิยมของเราก็ทำให้ระบบระหว่างประเทศปั่นป่วน สับสน และไร้ซึ่งทางออก เพราะเมื่อทางออกได้มีมาแล้ว ก็ไม่มีคนฟัง เราไม่เอา เราไม่ยอม
หากจะกล่าวสรุปต่อบทบาทของอาเซียน เราจะเห็นได้ว่า อาเซียนแม้จะเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ทุกประเทศคาดหวังให้เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือในมิติต่างๆ แต่อาเซียนเองก็ยังมีกลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะยังไม่สามารถเข้าไปแทรกแซง แสดงความเห็น หรือใช้กองกำลังในการจัดการแก้ไขปัญหา บรรเทา เยียวยา หรือให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้ แม้อาจโต้เถียงว่า เพราะอาเซียนมิได้มีกองกำลังเป็นของตนเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อาเซียนจะมีกองกำลังที่ไว้บรรเทาทุกข์ไม่ได้ บางทีเราอาจจะต้องดูตัวแบบจากสหภาพยุโรปในการมีกองกำลังไว้เป็นของตนเอง เพียงแต่เปลี่ยนร่างแปลงรูปและบทบาทของกองกำลังไม่ได้ให้มีอำนาจในการรุกรานหรือไปทำร้ายใคร แต่มีไว้เพื่อรักษาความสงบสุข ไว้ให้ความช่วยเหลือแก่พื้นที่ต่างๆ
เพราะหากแม้เราไม่มีความขัดแย้งถึงขั้นเลือดตกยางออกอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่เราก็ยังอาจใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์อันเกิดจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในโลกที่กำลังมีสภาพอากาศที่แปรปรวน หรือใช้ส่งไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เพื่อนร่วมโลกที่กำลังประสบปัญหาในพื้นที่ต่างๆ โดยอาจเสนอว่ามิใช่เพื่อส่งไปร่วมรบ หากแต่ส่งไปเพื่อช่วยบรรเทา รักษา เยียวยา ก่อสร้าง ขนส่งอาหาร ยา และขอใช้ที่สำคัญ ซึ่งอาหารจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีมาก มิตรไมตรีของพลเมืองอาเซียนที่จะเป็นเป็นกองกำลังด้านมนุษยธรรมก็เป็นที่ประทับใจ เป็นมิตร และห่วงใยผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากเป็นแน่
นอกจากนั้น อาเซียนเองก็มิใช่ความร่วมมือเพียงความร่วมมือเดียวที่ควรพิจารณา บนภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองนั้นยังมีอีกหนึ่งความร่วมมือที่ควรได้รับความสนใจ คือ โครงการจีเอ็มเอส (The Greater Mekong Subregion Economic Cooperation: GMS) โครงการจีเอ็มเอสเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี (Asian Development Bank: ADB) โครงการจีเอ็มเอสถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1992 หนึ่งปีหลังความวุ่นวายในลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งได้แก่ปัญหาในอินโดจีนได้สิ้นสุดลง โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นกับประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีมณฑลกวางสีและมณฑลยูนนาน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชาเป็นสมาชิก
โครงการจีเอ็มเอสในปัจจุบันมีโครงการย่อยๆรวมสิบเอ็ดโครงการที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิดความเจริญร่วมกัน อาทิ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) โทรคมนาคม พลังงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเกษตร เป็นต้น
ระเบียงเศรษฐกิจดูเหมือนจะเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจและได้รับการตอบสนองจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศสมาชิกมากที่สุด โดยพิจารณาจากความกระตือรือร้นในการทำการศึกษาแนวทาง ผลกระทบ และความคืบหน้าของโครงการ รวมไปถึงงบประมาณที่แต่ละประเทศสนับสนุน โครงการระเบียงเศรษฐกิจประกอบไปด้วยระเบียงเศรษฐกิจจำนวนสามเส้นทางที่สำคัญ คือ ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC)
ระเบียงเศรษฐกิจที่ไทยและกัมพูชามีส่วนร่วมโดยตรง คือ ระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ เส้นทางนี้เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครไปยังกัมพูชาและเวียดนาม เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าเส้นหนึ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งสินค้าจากเขตอุตสาหกรรมในชลบุรีและระยองให้ส่งไปยังท่าเรือในเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ให้ผ่านมายังพม่าหรือลาวและเข้าสู่ประเทศไทย ก่อนจะลงมายังเส้นทางดังกล่าว
อีกทั้งยังมีความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาในประเด็นการสื่อสาร พลังงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกมาก ความร่วมมือในกรอบมิติต่างๆนี้สะท้อนอยู่ในงานของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ที่มีชื่อว่า “สงคราม การค้า และชาตินิยมในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา” (2552, หน้า 93-131) บทความนี้จึงจะไม่แจกแจงรายละเอียดดังกล่าวแต่ขอให้ผู้อ่านไปตามอ่านรายละเอียดได้ที่งานของพวงทอง
งานของพวงทองสะท้อนให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยประเด็นที่สำคัญคือการที่ไทยยังมองว่าตัวเองเป็น “พี่” ของกัมพูชาที่เป็น “น้อง” มโนทัศน์ “บ้านพี่เมืองน้อง” จึงเป็นเรื่องของการมองใครใหญ่กว่าใคร ไม่ได้มองว่าเขาและเราเป็น “เพื่อนบ้าน” กัน พวงทองชี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เราสำคัญตัวว่าเรามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่าแท้ที่จริงแล้วประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนามต่างหากที่มีบทบาทกับกัมพูชามาก
ความร่วมมือในกรอบจีเอ็มเอสจะได้รับผลกระทบอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้อย่างแน่นอน เพราะมันเป็นเรื่องของทั้งการเมืองและการค้าระหว่างสองประเทศ อีกทั้งยังส่งผลต่อบรรยากาศที่ไม่ดีในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระดับภูมิภาค ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นปัญหาอันเกิดจาก “ชาตินิยม” ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองภายในประเทศ
ชาตินิยมที่ถูกใช้จากจุดศูนย์กลางของประเทศ ได้กลายเป็นเครื่องมือในการทำลายผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “ชายแดน” เส้นเขตแดนที่ถูกสร้างจากส่วนกลาง ได้ทำลายและทำร้ายสิ่งที่เรียกว่า “คนชายแดน”
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเมืองหลวงได้ส่งผลให้บรรยากาศในภูมิภาคอึมครึม ก้าวต่อไปไม่ได้ และอาจถอยหลัง เพียงเพราะผู้คนบางกลุ่มตกอยู่ในห้วงที่ถูกทำให้เชื่อว่า “การเสียดินแดนแม้เพียงตารางนิ้วเดียวนั้นยอมไม่ได้” จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความชะงักงันของภูมิภาคที่ทุกส่วนหันมาจับจ้องบทบาทของไทยที่เชื่อว่าตนเองเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ เป็นผู้นำ และศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าจะมีบทบาทอย่างไร มีจุดยืน หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างประเทศที่มีสติ เป็นอารยะ และมีวัฒนธรรมของรัฐชาติที่เจริญและพัฒนาสืบทอดมายาวนานแบบที่รัฐไทยเชื่อหรือไม่
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียงมุมมองของผู้ศึกษาด้านการเมืองระหว่างประเทศ ผู้คาดหวังให้คนไทยและพลเมืองอาเซียนตระหนักถึงการใช้องค์การระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์ เรามีอาเซียน เราเป็นพลเมืองของอาเซียนแล้ว ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม คุณจะเห็นความสำคัญของมันหรือไม่ก็ตาม แต่อาเซียนมันเกิดขึ้นแล้ว มันมีตัวตนแล้ว และมันกำลังจะส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในรัฐต่างๆไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมเป็นแน่ แต่เราควรตระหนักว่าเรามีอาเซียนและควรใช้อาเซียนให้เป็นประโยชน์
นอกจากนี้ ผู้เขียนมิใช่ผู้ต่อต้านชาตินิยม ชาตินิยมเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ในบางเรื่อง แต่เราควรตระหนักว่า เรากำลังใช้มันในแง่ใด หรือใครกำลังใช้มันเพื่ออะไร หากเราใช้เพื่อสร้างความมั่นคง ความรักชาติ และพยายามส่งเสริมให้คนอุทิศตนทำงานให้กับชาติบ้านเมืองก็คงเป็นสิ่งดี แต่หากชาตินิยมได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เราในฐานะผู้ถูกพยายามทำให้เชื่อ ก็ควรระมัดระวัง พิจารณาตามหลักวิชาการ กฎหมาย และบรรทัดฐานที่ประเทศต่างๆมีใช้ร่วมกัน มิใช่ใช้อารมณ์และ “สามัญสำนึก” จนกระทั่งไม่พิจาณาประเด็นอื่น หรือปฏิเสธบรรทัดฐานที่ไทยมีร่วมกับประเทศอื่น จนเหมือนเราเป็นอันธพาล ผู้หลงคิดและถูกทำให้เชื่อว่าเรายิ่งใหญ่ สำคัญ และต้องเป็นผู้ได้เสมอ จนทำให้บ้านเมืองอื่น และระบบระหว่างประเทศเดือดร้อนกันไปตามๆกัน
และที่สำคัญ ขอให้คิดเสมอว่า เส้นเขตแดนที่กำลังทะเลาะกัน มันถูกขีดขึ้นโดยคนอื่น มันมาทีหลัง มันเป็นจินตนาการและสิ่งสร้างในฝันที่ดูเหมือนจะสวยงาม ดังที่ เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวไว้ว่า ชาตินิยมจะมองเห็นก็ต่อเมื่อหลับตาลง เพราะแท้ที่จริงแล้วเส้นเขตแดน มันพาดผ่านทอดทับหมู่บ้าน ผู้คน กลุ่มชน และครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆมานานแล้ว มันแบ่งแยกเราเขาที่พูดภาษาเดียวกัน เคยเป็นครอบครัวเดียวกัน เคยไปมาหาสู่ซื้อขายสินค้า พบปะสังสรรค์ มันอาจมีความสำคัญกับรัฐชาติสมัยใหม่ แต่ไม่ได้มีความสำคัญมากมายกับชีวิตผู้คนที่เขาอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว ดังนั้น อย่าให้สิ่งที่มันเป็นเพียงจินตนาการที่มีประโยชน์ไม่มากมาทำลายชีวิตผู้คน การทำมาหากิน การได้ใช้ชีวิตปกติ ครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น