ความเป็นมาของคำว่า “นาถ” ใน “พระบรมราชินีนาถ”(*)http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_5358.htmlเราทุกคนได้เรียนรู้หรือถูกบอกเล่าสั่งสอนตั้งแต่เด็กๆว่า การที่พระราชินีทรงมีพระอภิไธยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” คือมีคำว่า “นาถ” ต่อท้าย (แปลว่าที่พึ่ง ผู้เป็นที่พึ่งพิง) ก็เพราะทรงเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใครที่รู้ประวัติศาสตร์หรือสนใจเรื่องประเภทนี้มากหน่อยก็อาจจะรู้เพิ่มเติมว่า ช่วงที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือช่วงที่ในหลวงทรงผนวชในปี ๒๔๙๙ เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้อ่านพบเอกสารจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งคิดว่าน่าสนใจพอจะเล่าสู่กันฟัง เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากการที่ในหลวงทรงแสดงพระราชประสงค์จะทรงผนวช (ซึ่งทำให้ต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ทรงแจ้งพระราชประสงค์ดังกล่าวแก่จอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในระหว่างที่จอมพลเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๙๙ ซึ่งบังเอิญเป็นวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี อันที่จริง ด้วยเหตุผลบางอย่าง จอมพลไปเข้าเฝ้ากลางการประชุม ครม.แล้วจึงกลับมาประชุมต่อ (ไม่ทราบว่าเพราะถูกเรียกกระทันหัน?) ตามบันทึกการประชุมของวันนั้น ดังนี้ วันต่อมา จอมพล ป. ก็มีหนังสือถืงสภาผู้แทนราษฎรขอให้อนุมัติการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งต้องนับว่าเป็นการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะในหลวงยังไม่ทรงกำหนดวันผนวช ที่พิเศษ ๑/๒๔๙๙ในแฟ้มเอกสารที่ผมอ่านพบจดหมายฉบับนี้ มีร่างจดหมายที่ไม่ใช้อีก ๒ ร่าง และมีบันทึกของกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีลงวันที่ ๑๒ กันยายน (วันเดียวกับที่ครม.ได้รับทราบพระราชประสงค์) ระบุว่าได้ร่างจดหมายเสร็จแล้ว ร่าง ๒ ฉบับที่ไม่ใช้ มีข้อความไม่ต่างจากจดหมายที่ใช้จริงข้างต้นนัก ยกเว้นแต่มีคำอธิบายขยายความประเภท “โปรดเกล้าฯว่า มีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนาตามราชประเพณี” และไม่มีการขอให้สภาประชุมพิจารณาแต่งตั้งผู้สำเร็จเป็นการลับเหมือนในจดหมายจริง ปรากฏว่า สภาซึ่งประชุมในวันที่ ๑๓ กันยายนนั้นเอง ได้ผ่านมติเห็นชอบเรื่องตั้งกรมหมื่นพิทยลาภเป็นผู้สำเร็จราชการโดยไม่มีการอภิปราย(๓) วันต่อมา จอมพลจึงมีจดหมายกราบบังคมทูล ดังนี้ ที่ ร.ล. ๔๐๓๕/๒๔๙๙มีหลักฐาน (ดูพระราชหัตถเลขาที่อ้างข้างล่าง) ว่า จอมพล ป.ได้เข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาหารือเรื่องจะทรงผนวช-ตั้งผู้สำเร็จราชการในวันเดียวกับที่มีจดหมายกราบบังคมทูลนี้ด้วย (๑๔ กันยายน) แต่ดูเหมือนไม่ได้ทรงมีพระราชประสงค์เพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ (วันผนวช, ผู้จะทรงตั้งเป็นผู้สำเร็จ) แต่ ๓ วันต่อมา คือในวันที่ ๑๗ กันยายน จอมพล ป.ได้เข้าเฝ้าอีก (ไประหว่างการประชุมครม.) ครั้งนี้ ทรงกำหนดเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ดังปรากฏในบันทึกการประชุม ครม.วันนั้น ดังนี้ วันนี้ (๑๗ กันยายน ๒๔๙๙) มีการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติ ณ ทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เริ่มประชุมเวลา ๑๐.๓๐ น.ผมพบหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่า ในการเข้าเฝ้าวันที่ ๑๗ ซึ่งทรงแจ้งให้จอมพล ป.ทราบถึงการเปลี่ยนพระทัยเรื่องผู้สำเร็จราชการ จากกรมหมื่นพิทยลาภเป็นสมเด็จพระราชินีนั้น นอกจากได้ทรงมีพระราชดำรัสถึง “แบบอย่าง” การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแล้ว ยังได้ทรงรับสั่งถึงการที่พระราชืนีซึ่งได้รับการแต่งตั้งครั้งนั้น ได้รับการเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” ด้วย หลักฐานดังกล่าวคือ ในวันเดียวกันนั้นเอง โดยคำสั่งของจอมพล ป. เลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารได้สอบถามไปยังกองประกาศิตในเรื่องนี้: นารถ – จะต้องตั้งอีกหรือไม่ถ้าในหลวงไม่ได้ทรงรับสั่งเรื่อง “นาถ” ด้วยพระองค์เองในวันนั้น จอมพล ป. ก็คงไม่ทราบ และคงไม่ได้สั่งให้สอบถาม ซึ่งกองประกาศิตได้ทำหนังสือตอบในวันต่อมาว่า (เน้นคำตามต้นฉบับ) เรื่อง ทรงตั้งสมเด็จพระบรมราชินีนารถ สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ในรัชกาลที่ 5ตอนท้ายจดหมายนี้ มีลายมือจอมพล ป. เขียนว่า “ทราบ. ขอบใจ. [ลงชื่อ] ป.พิบูลสงคราม 20 ก.ย. 99” ถ้าสมมุติฐานของผมถูกต้องที่ว่า ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสเรื่องการเฉลิมพระนามพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” ตาม “แบบอย่าง” สมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมกับที่ทรงเปลี่ยนพระทัยเรื่องผู้สำเร็จราชการ ก็หมายความว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เหตุผลที่ทรงเปลี่ยนพระทัยตั้งสมเด็จพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการ ก็เพื่อจะทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” นั่นเอง พูดอีกอย่างหนึ่งคือ พระราชประสงค์ที่จะเฉลิมพระนามพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” เป็นสาเหตุให้พระราชินีทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่า เนื่องจากพระราชินีทรงเคยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแล้ว จึงทำให้ทรงได้รับการเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป ผมคิดว่าการตีความเช่นนี้ของผมถูกต้อง การอภิปรายของสมาชิกสภาบางคนเมื่อเรื่องนี้ถูกเสนอเข้าสภา ก็เป็นไปในทางสนับสนุนการตีความนี้ ดังจะได้เห็นต่อไป เหตุใดในหลวงจึงทรงมีพระราชประสงค์จะเฉลิมพระนามพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” ถึงกับทรงขอให้เปลี่ยนมติรับรองกรมหมื่นพิทยลาภเป็นผู้สำเร็จราชการซึ่งได้ผ่านสภาไปแล้ว? ก่อนที่จะเสนอคำอธิบายเรื่องนี้ ผมขอให้สังเกตประเด็นน่าสนใจบางประการคือ การเฉลิมพระนามในลักษณะนี้สมัยรัชกาลที่ ๕ เอง ตอนแรก รัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งพระทัยและมีพระราชโองการให้มีลักษณะชั่วคราวเท่านั้น “ตั้งแต่ วันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๕ ไปจนถึงเวลาที่ได้เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนคร แลเวลาเสด็จฯกลับคืนยังพระนคร ถ้าจะใช้บัตรหมายออกพระนาม สมเด็จพระนางเจ้าพระอรรคราชเทวี....” (๖) จนกระทั่งรัชกาลที่ ๖ ได้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยให้พระมารดาใหม่ในปี ๒๔๕๓ จึงทำให้การเรียกพระนามเช่นนี้มีลักษณะถาวร ที่สำคัญ ขณะที่ในการเฉลิมพระนามพระราชินีปัจจุบัน จะมีการพาดพิงถึงการเฉลิมพระนามลักษณะนี้ว่าเป็น “ราชประพณี” ในความเป็นจริง การปฏิบัตินี้ต้องนับว่ามีลักษณะของสิ่งที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า “ประเพณีประดิษฐ์” หรือ “ประเพณีที่เพิ่งสร้าง” (invented tradition) กล่าวคือ แท้จริงแล้ว หาได้เป็น “ประเพณี” หรืออะไรบางอย่างที่ทำซ้ำๆกันมาเป็นเวลานานไม่ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ แต่พยายามนำเสนอให้ดูเป็นสิ่งเก่าแก่ปฏิบัติกันเป็นประจำมาช้านาน จะเห็นว่ามีการเฉลิมพระนามเช่นนี้เพียงครั้งเดียวในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือทั้งไม่ใช่เก่าแก่และไม่ใช่ทำกันมาหลายครั้งตามความหมายของคำว่า “ประเพณี” จริงๆ ประการสุดท้าย ในหลวงน่าจะไม่ทรงทราบ “แบบอย่าง” เรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง เพราะทรงไม่ใช่คนร่วมสมัยรัชกาลที่ ๕ (และไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติกันบ่อยจนเป็นประเพณี) พูดง่ายๆคือ ไอเดียหรือพระราชดำริเรื่องตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อจะได้ทรงเฉลิมพระนามคำว่า “นาถ” นี้ หาใช่ไอเดียหรือพระราชดำริของพระองค์แต่แรกไม่ (จึงทำให้ต้องเกิดการเปลี่ยนพระทัย) เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า อาจจะทรงทราบหรือได้รับการเสนอจาก “พระองค์เจ้าธานี” หรือกรมหมื่นพิทยลาภนั่นเอง ในความเห็นของผม เราควรมองว่าการตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการและเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” ไม่ใช่การทำตาม “ประเพณี” แต่มีลักษณะของการพยายาม “กลับไปหารัชกาลที่ ๕” (Return to Chulalongkorn) คือทำอะไรแบบที่รัชกาลที่ ๕ เคยทำ เช่นเดียวกับที่สมัยต้นรัชกาลที่ ๗ เคยพยายามมาก่อน(๗) (อันที่จริง การออกบวชขณะเป็นกษัตริย์ก็เป็นการทำแบบรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวสมัยกรุงเทพที่เคยทำมาก่อนในปี ๒๔๑๖ เป็นเวลา ๑๕ วัน เท่ากับจำนวนวันที่ในหลวงปัจจุบันจะทรงผนวช) เป็นวิธีฟื้นฟูสถานะและเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์หลังจากช่วงตกต่ำหรือวิกฤติ กรณีรัชกาลที่ ๗ คือหลังจากปัญหาภายในราชสำนักของรัชกาลที่ ๖ ส่วนกรณีรัชกาลปัจจุบันคือ หลังจากช่วงตกต่ำของสถาบันจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และการสละราชย์ของ ร.๗ ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่มีพระมหากษัตริย์ในทางปฏิบัติเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปี (ไม่มีกษัตริย์ประทับอย่างถาวรในประเทศระหว่างปลายปี ๒๔๗๗ ถึงปลายปี ๒๔๙๔) ความพยายามฟื้นฟูเกียรติยศของสถาบันครั้งนี้เริ่มอย่างจริงจังในช่วงประมาณกลางทศวรรษ ๒๔๙๐ ในระยะแรกๆ หลายอย่าง เป็นสิ่งที่คนภายนอกยังมองไม่เห็น แต่เป็นความสัมพันธ์ภายในระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล เริ่มมีการสร้างระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์นี้ใหม่หลังจากหายไปเป็นเวลานาน ผมกำลังหมายถึงตั้งแต่เรื่องประเภท การส่งหนังสือกราบบังคมทูลที่ต้องเริ่มต้นด้วย “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” และถ้อยคำในหนังสือที่ต้องเป็นราชาศัพท์ต่อกษัตริย์โดยตรง ไม่ใช่เพียงราชาศัพท์ระดับที่ใช้กับผู้สำเร็จราชการ ไปจนถึงการเข้าเฝ้ารับทราบพระราชดำริต่างๆโดยตรง เช่น กรณีจอมพล ป. ที่ไปเข้าเฝ้าระหว่างการประชุม ครม.ดังที่เห็นข้างต้น ในความเห็นของผม เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กๆ และเป็นเพียงรูปแบบหรือพิธีกรรมเหล่านี้ มีความสำคัญในแง่กลไกการทำงานภายในของรัฐบาล (the inner working of government) สำหรับผม สิ่งที่ชวนสะดุดใจจากการอ่านเอกสารติดต่อระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักช่วงนี้ คือ การที่ฝ่ายหลังอ้างอิงถึง “ราชประเพณี” ที่เคยปฏิบัติในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช เพื่อขอให้รัฐบาลปฏิบัติตาม เพื่อรองรับเหตุการณ์เกี่ยวกับราชสำนักซึ่งได้ขาดหายไปตั้งแต่ก่อน ๒๔๗๕ แต่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่อีก (ราวกับว่าการเคยผ่าน ๒๔๗๕ มา ไม่ควรเป็นเหตุผลไม่ให้ปฏิบัติแบบเดิมๆ) กรณีตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จและเฉลิมพระนาม “นาถ” เป็นตัวอย่างหนึ่ง กรณีอื่นที่อ่านพบได้แก่เรื่องเงินปีของพระโอรสธิดา เช่น ในจดหมายจากราชเลขาธิการถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องเงินปีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ได้เริ่มต้นว่า (การเน้นคำของผม) ด้วยพระวรวงศ์เธอฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีรับสั่งว่า ตามราชประเพณีแต่ก่อนๆมา เมื่อมีการประสูติพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขึ้นในบัญชีเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชทานเงินปีสุดแล้วแต่ฐานะ ส่วนเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์นั้น ในรัชกาลที่ ๕ กำหนดพระราชทานทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในเมื่อปีสุดท้าย (ร.ศ. ๑๒๙) เป็นเงิน ๑,๑๓๗,๘๒๐ บาท และในรัชกาลต่อๆมา ก็ได้ลดลงตามสถานะการณ์จนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ คงได้รับจากรัฐบาลปีละ ๒๑๗,๓๙๖ บาท กับรัฐบาลได้เพิ่มให้ในปี ๒๔๙๔ นี้อีก ๖๙,๓๑๙ บาท รวมเป็นเงิน ๒๘๕,๗๑๕ บาท..... (๘)หรือเรื่องเงินปีของพระราชินีในปีเดียวกัน: ด้วยสำนักราชเลขาธิการแจ้งมาว่า พระวรวงศ์เธอฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีรับสั่งว่า เมื่อวันที่รองนายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่านเพื่อปรึกษาข้อราชการต่างๆนั้น ได้ทรงหารือถีงเรื่องที่สมควรจะถวายเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในฐานะที่ได้ทรงรับสถาปนาขึ้นเป็นพระราชวงศ์อันทรงศักดิ์ถึงตำแหน่งพระอัครมเหษี เพราะเมื่อรัชกาลก่อนๆก็เคยได้ถวายมาแล้วตามราชประเพณี ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นชอบด้วยแล้วว่า สมควรที่รัฐบาลจะตั้งทูลเกล้าฯถวาย....(๙)นอกจากนั้นยังมีกรณีพิธีกรรมต่างๆที่ล้อมรอบการประสูติพระโอรสธิดา (ครั้งสุดท้ายที่มีการประสูติพระเจ้าลูกเธอคือปลายรัชกาลที่ ๖ ถ้าเป็นพระเจ้าลูกยาเธอต้องย้อนไปถึงรัชกาลที่ ๕) ตั้งแต่การตั้งผู้นำรัฐบาล-รัฐสภาเป็นสักขีการประสูติ: “เนื่องในการที่จะประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ๑.ประธานองคมนตรี ๒.นายกรัฐมนตรี ๓.ประธานสภาผู้แทนราษฎร ๔.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ๕.เลขาธิการพระราชวัง หรือผู้ที่ปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งดังกล่าวขณะพระประสูติกาล เป็นสักขีในการประสูติ”(๑๐) ไปจนถึงการที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการและชักธงทุกครั้งที่มีการประสูติ ซึ่งทำให้ไม่จำกัดเฉพาะการติดต่อภายในระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักเท่านั้น หลังปี ๒๔๙๗ การพยายามฟื้นฟูเกียรติยศและสถานะของสถาบันกษัตริย์นี้เริ่มมีลักษณะของการเมืองโดยตรง คือการเข้าแทรกแซงอย่างเป็นฝ่ายกระทำ (active intervention) ของพระมหากษัตริย์ในกิจการสาธารณะมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งกับรัฐบาล ขอกลับมาที่การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ หลังจากคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องที่ทรงเปลี่ยนพระทัยแล้ว วันต่อมา จอมพล ป.ก็ทำหนังสือด่วนถึงประธานสภาขอให้มีการพิจารณาญัตตินี้อีกครั้ง: ด่วนมากสภาผู้แทนซึ่งเปิดประชุมในวันนั้นได้นำเรื่องเข้าพิจารณาเป็นการลับ อารีย์ ตันติเวชกุล ส.ส.นครราชสีมา เปิดการอภิปรายว่า “พระราชดำริครั้งนี้ กระผมไม่ได้มีความปรารถนาที่จะคัดค้านแต่ประการใด” แต่ได้ตั้งคำถามว่าต้องลงมติเลิกมติเดิม (ตั้งกรมหมื่นพิทยลาภ) หรือไม่ และการที่พระราชินีจะเป็นผู้สำเร็จย่อมหมายความว่าต้องมาปฏิญาณต่อสภา “ในฐานะที่เราเป็นบุคคลภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้จักรีวงศ์ เป็นการสมควรหรือไม่ที่เราจะให้สมเด็จพระราชินีเสด็จมาที่นี่เพื่อมาสาบาลพระองค์ต่อหน้าพวกเราซึ่งเป็นข้าราชบริพาร” ผมคิดว่า การอภิปรายของอารีย์ต่อไปนี้ยืนยันว่า ได้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการหรือเป็นที่รู้กันในหมู่ ส.ส.ถึงสาเหตุที่ทรงเปลี่ยนพระทัยให้ตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จแทน ก็เพื่อการเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” นั่นเอง (การเน้นคำของผม): เท่าที่มีพระราชดำรัสให้นำความมาปรึกษาต่อสภาเพื่อจะแต่งตั้งสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการนั้น ข้าพเจ้าได้กราบเรียนแต่แรกแล้วว่าข้าพเจ้าไม่ขัดข้องประการใด เพราะรู้สึกว่าการครั้งนี้เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีด้วย จะได้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถตามประวัติศาสตร์มีอยู่แล้ว และเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย(๑๑)จอมพล ป.ได้ลุกขึ้นอภิปราย สำหรับเรื่องพระราชินีต้องมาปฏิญาณต่อสภานั้น เขากล่าวว่าเช้าวันนั้น “ผมได้ขอถือโอกาสไปเฝ้ากราบบังคมทูล [ในหลวง] ท่านก็บอกว่าท่านทราบแล้ว และสมเด็จพระบรมราชินีท่านมีพระราชประสงค์จะเสด็จมาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ” ประเด็นที่น่าสนใจในการอภิปรายของจอมพล อยู่ที่การพยายามชี้แจงว่าทำไมต้องเสนอญัตติเดียวกันเป็นครั้งที่ ๒ โดยเขาเริ่มด้วยการออกตัวยอมรับเป็นผู้ทำ “ความผิด” เสียเอง คำอธิบายของเขามีดังนี้ เรื่องที่ต้องมาเสนอเป็นครั้งที่ ๒ นั้น ความจริง อยากจะขอรับสารภาพว่าเป็นความผิดของนายกรัฐมนตรีเอง วันแรกที่ได้ไปเฝ้า ท่านก็ทรงพระราชดำรัสถามว่าควรจะเป็นใครที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ผมก็กราบบังคมทูลบอกว่าควรจะเป็นกรมหมื่นพิทยลาภฯ เพราะว่าเคยทรงมาแล้ว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงว่ากระไร ผมจึงสำคัญผิดว่า ท่านทรงโปรดที่จะให้กรมหมื่นพิทยลาภฯเป็น ก็จึงมาเสนอคณะรัฐมนตรี และก็นำเสนอต่อสภามา แต่ว่าความจริงนั้นท่านยังไม่ได้ทรงตกลงว่าจะเอากรมหมื่นพิทยลาภฯ ภายหลังเมื่อได้กราบทูลต่อไป ท่านจึงได้บอกว่าอยากจะให้สมเด็จพระราชินีได้ทรงเป็น ก็ได้นำเสนอสภานี้มาอีก เพราะฉะนั้น ความผิดใดๆที่ต้องมาเสนอเป็นครั้งที่ ๒ เป็นความผิดของผมคนเดียวที่สำคัญผิด ก็ขอประทานโทษด้วยในความเห็นของผม คำอธิบายของจอมพลในที่นี้ไม่น่าเชื่อถือนัก เมื่อดูจากบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีที่อ้างข้างต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนพระทัยของในหลวง คือทรงพระราชดำริให้กรมหมื่นพิทยลาภเป็นในตอนแรก (“มีพระราชประสงค์....กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร....เป็นผู้ที่เหมาะสม”) แต่เปลี่ยนพระทัย (“แต่เมื่อได้ทรงพระราชดำริอีกครั้งหนึ่ง”) ให้พระราชินีเป็นแทน ถึงแม้เราจะสมมุติว่า เหตุการณ์เป็นอย่างที่จอมพลเล่าให้สภาฟัง คือในหลวง “ไม่ได้ทรงว่ากระไร” จริงๆ เมื่อจอมพลเสนอกรมหมื่นพิทยลาภ (ซึ่งในความเห็นของผม ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะ “ไม่ได้ทรงว่ากระไร” เลย) ก็ยังควรหมายความว่าในตอนแรกทรงเห็นชอบด้วยแล้ว จะเรียกว่าจอมพล “สำคัญผิด” หรือ “ความจริงนั้นท่านยังไม่ได้ทรงตกลง” ไม่ได้ (ยิ่งถ้ามีการเข้าเฝ้าอีกครั้งในวันที่ ๑๔ กันยายน แต่ในหลวงไม่ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ใหม่ให้ตั้งผู้อื่น จนกระทั่งการเข้าเฝ้าในวันที่ ๑๗) และเมื่อมีสภาชิกอภิปรายปัญหาการต้องเลิกมติเดิมหรือไม่มากเข้า ซึ่งอาจชวนให้รู้สึกว่าเป็นความยุ่งยากที่รัฐบาลก่อขึ้น จอมพลก็ลุกขึ้นชี้แจงอีกครั้งอย่างน่าสนใจว่า “ผมก็รู้สึกว่า ท่านสมาชิกก็ย้ำว่ารัฐบาลทำผิดๆ มันเลยไป ความจริงรัฐบาลไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ผมอยากจะว่าอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อท่านอยากจะว่าทำผิดก็ไม่เป็นไร รัฐบาลนี้ก็จะถวายเป็นราชพลี ไม่เป็นไรหรอก” (ขีดเส้นใต้ของผม) ในที่สุด สภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกมติเดิมและให้แต่งตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการ วันเดียวนั้นเอง ในหลวงได้ทรงมีพระราชหัตถเลขามายังรัฐบาล ยืนยันเรื่องวันที่จะทรงออกผนวชและการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างเป็นทางการ: พระราชหัตถเลขาถูกเสนอให้ครม.รับทราบวันที่ ๑๙(๑๒) วันถัดมารัฐบาลจึงได้แจ้งกำหนดวันผนวชที่ทรงยืนยันในพระราชหัตถเลขาแก่ประธานสภา(๑๓) วันเดียวกันพระราชินีได้เสด็จมาปฏิญาณต่อสภา (พิธีปฏิญาณมีขึ้นก่อนการประชุมจริง) แต่ก่อนหน้านั้น คือในวันที่ ๑๘ ประธานสภาได้จัดทำประกาศแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ ถวายให้ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยเรียบร้อยไปแล้ว(๑๔) ประกาศฉบับดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาจึงไม่ได้ระบุวันที่ในหลวงจะทรงผนวชและพระราชินีจะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการไว้(๑๕) หลังจากในหลวงทรงผนวชแล้ว ทางราชสำนักดูเหมือนจะไม่ได้ดำเนินการทันทีเรื่องการเฉลิมพระนามพระราชินี เพิ่มคำ “นาถ” ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก แต่รอให้ถึงโอกาสวันพระราชสมภพในหลวงจึงได้เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ผมยังค้นไม่พบเอกสารที่เกี่ยวข้อง (หนังสือติดต่อต่างๆ) แต่คิดว่าไม่เป็นที่น่าสงสัยว่าเรื่องนี้เป็นการริเริ่มดำเนินการของราชสำนัก แม้ว่าในการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.จะทำในนามจอมพล ป. (สำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการอยู่ในความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง): หนึ่งสัปดาห์ต่อมา “ประกาศเฉลิมพระอภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี” ลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๙ ซึ่งมีข้อความเหมือนๆกับที่นำเสนอครม.ข้างต้น ได้รับการตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา(๑๗) |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554
ความเป็นมาของคำว่า “นาถ” ใน “พระบรมราชินีนาถ”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น