ศาลแพ่งสั่ง "พันธมิตรฯ" ชดใช้ทอท. 522 ล้าน คดียึดสนามบินFri, 2011-03-25 15:00 ศาลแพ่งสั่ง "จำลอง-แกนนำ พธม." ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 522 ล้านบาท ให้บริษัทการท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กรณีชุมนุมสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ศาลชี้กระทำผิดฐานละเมิดทำให้เสียหายทั้งกายภาพ-พาณิชย์ วันนี้ (25 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 603 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท การท่ากาศยานไทยจำกัด (มหาชน)หรือ ทอท. เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ พธม. กับพวกที่เป็นแกนนำร่วม รวม 13 คน ในความผิดฐานละเมิดและขับไล่ พร้อมเรียกค่าเสียหาย 245,790,774 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีนำกลุ่มแนวร่วมพันธมิตรฯ ชุมนุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ช่วงเดือน พ.ย.ปี 2551 โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมของจำเลยและพวกเป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขตตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ทำให้กระทบสิทธิของผู้อื่น ทำให้สนามบินทั้งสองแห่งได้รับความเสียหาย ทั้งขณะที่มีการชุมนุมที่สนามบินและหลังจากที่ผู้ชุมนุมได้เลิกการชุมนุมไปแล้ว จึงพิพากษาให้จำเลยทั้ง 13 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์เป็นค่าเสียหายทั้งทางกายภาพและเชิงพาณิชย์ เป็นเงินรวม 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 3 ธ.ค. 51 ที่จำเลยนำกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง และให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าฤชาทนายความแก่โจทก์เป็นเงิน 8 หมื่นบาท ก่อนหน้านี้ ในการสืบพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 25 ส.ค.53 นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เป็นพยานขึ้นเบิกความสรุปว่า เป็นผู้สั่งการให้ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกเข้ามาภายในท่าอากาศยาน เมื่อวันที่ 25 พ.ย.51 โดยเป็นการสั่งปิดให้บริการชั่วคราวในเวลา 21.00 น. และแจ้งปิดอย่างเป็นทางการในเวลา 23.00 น.เนื่องจากพนักงานของสนามบินตื่นตระหนก ไม่กล้าทำงาน ทั้งนี้ ยืนยันว่าคำสั่งปิดสนามบินเป็นการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพราะหากเปิดให้บริการต่ออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้โดยสาร นอกจากนี้ นายเสรีรัตน์ ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เป็นพี่ชายแท้ๆ ของนางศรีวิไล ประสุตานนท์ ภรรยา นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำคนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ไม่ทราบว่า นายวีระ เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับเข้าประเทศ และอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะที่เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.53 นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ จำเลยที่ 2 ในคดี ขึ้นเบิกความเป็นพยานจำเลยปากสุดท้าย สรุปว่า ก่อนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เข้าไปชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการหารือ และถกเถียงกันใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ โดยสุดท้าย พล.ต.จำลอง ซึ่งมีความอาวุโสที่สุดเป็นผู้ตัดสินใจพากลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง เพื่อเรียกร้องและกดดันรัฐบาลในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งขณะนั้น ครม.อยู่ระหว่างพิจารณาโครงการรถเมล์เอ็นจีวี นอกจากนี้ ยังทวงถามรัฐบาลถึงความคืบหน้าคดียิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตหลายราย นายสนธิกล่าวอีกว่า ที่ประชุมแกนนำพันธมิตรฯ เห็นตรงกันว่า การชุมนุมที่ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ไม่ได้สร้างเสียหายให้กับธุรกิจการบินทั้งในและนอกประเทศ เพราะไม่ใช่เป็นการปิดสนามบิน โดยเครื่องบินสามารถขึ้นลงได้ตามปกติ เพราะผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่บริเวณ “แลนด์ไซด์” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของเครื่องบิน และแกนนำเองก็กำชับไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่บริเวณ “แอร์ไซด์” เพราะทราบดีว่าหากล่วงล้ำเข้าไปยังพื้นที่การบินจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทันที นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังเปิดให้บุคคลทั่วไปเดินทางเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ได้โดยสะดวก อีกทั้งยังช่วยเจรจาให้ชาวมุสลิมได้เดินทางไปร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียด้วย นายสนธิยังเบิกความตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่เป็นนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ที่เป็นผู้สั่งการ แต่คำสั่งของนายเสรีรัตน์จะเป็นไปตามอนุสัญญาการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไม่ตนไม่ทราบ ซึ่งทราบเพียงว่าคณะกรรมการ ทอท.ตำหนินายเสรีรัตน์ที่สั่งปิดสนามบินโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้า ส่วนเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นั้น ไม่มีความเสียหายที่เป็นรูปธรรมถึงขั้นต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซม ซึ่งมีเพียงห้องน้ำเท่านั้นที่มีความสกปรก ซึ่งในการส่งมอบพื้นที่คืนคณะกรรมการ ทอท.ก็ยืนยันว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น