Wednesday, March 03, 2010ร.7 สละราชย์: ราชสำนัก, การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ 14 ตุลาhttp://somsakwork.blogspot.com/2010/03/7-14.htmlวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (ตามปฏิทินเก่า คือปี 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ที่เจ็ดแห่งราชวงศ์จักรีได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติ จากบ้านพักในประเทศอังกฤษที่ทรงลี้ภัยพระองค์เองไปพำนักในขณะนั้น การสละราชสมบัตินับเป็นเหตุการณ์สุดท้ายในห่วงโซ่ของเหตุการณ์ในวิกฤตทางการเมืองที่เริ่มต้นเมื่อสองปีก่อนหน้านั้นอันเนื่องจากการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติซึ่งมีความยาวเพียงไม่กี่หน้านั้นเอง ได้กลายเป็นเอกสารคลาสสิกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ชิ้นหนึ่ง ข้อความ 3-4 บรรทัดในตอนท้ายของพระราชหัตถเลขาที่ว่า “ข้าพ¬เจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ได้กลายมาเป็นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อันที่จริง เราสามารถกล่าวได้ว่านี่เป็นหนึ่งในสองข้อความการเมืองที่รู้จักกันดีที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (อีกหนึ่งคือ “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”) พลังทางการเมืองของข้อความนี้ได้ถึงจุดสุดยอดในอีก 38 ปีให้หลัง ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2516 เมื่อนักเคลื่อนไหวการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” นำโดยธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญไปตามท้องถนนในกรุงเทพ ที่หน้าปกของจุลสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่พวกเขาเดินแจกไปด้วย คือข้อความนี้ ตีพิมพ์อย่างเด่นชัดด้วยตัวอักษรสีขาว บนพื้นสีดำ ด้วยลายเส้นเลียนแบบลายมือ “โบราณ” เน้นย้ำการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและสถาบันแบบจารีต โดยการทำเช่นนี้ “สาร” ที่ธีรยุทธกับพวก “สื่อ” ออกไปโดยไม่มีการประกาศคือ บัดนี้พวกเขาจะขอทวงเอาสิ่งที่มีคนแย่งชิงไปจากพระมหากษัตริย์อย่างไม่ชอบธรรม - อย่าง “ชิงสุกก่อนห่าม” ตามที่ปัญญาชนจำนวนมากสมัยนั้นมอง การปฏิวัติ 2475 - คืนมา และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ผู้ที่พวกเขากำลังทวง - รัฐบาลทหารในปี 2516 - ก็คือผู้สืบทอดการแย่งชิงนั้น คือ “ลูกหลาน” ของผู้ก่อการ 2475 หรือในทางกลับกัน ผู้ก่อการ 2475 ก็คือ “บรรพบุรุษ” ของรัฐบาลทหาร 2516 (ในทางเทคนิค คำว่า “ทรราช” ที่ใช้เรียกผู้นำรัฐบาลในสมัยนั้น – ผมกำลังพูดถึงคำไทยไม่ใช่ tyrant - มีคำแปลที่เป็นด้านกลับของคำว่า “มหาราช” พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ประเสริฐ ในระหว่างการเดินขบวน 14 ตุลามีบางคนไปเขียนข้อความใต้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกอัญเชิญมานำหน้าขบวนว่า “ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปราบทรราช”) ในความหมายหนึ่ง เหตุการณ์ 14 ตุลา คือการที่ “ราษฎร” โดยการนำของนักศึกษาไปชิงเอาพระราชอำนาจนั้นมา “ถวายคืน” ได้สำเร็จ เพราะหลังเหตุการณ์ ทั้งนายกรัฐมนตรี (นายสัญญา ธรรมศักดิ์) คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติ (“สภาสนามม้า”) ล้วนแต่เป็นสิ่ง “พระราชทาน” – อำนาจในการแต่งตั้งเสนาบดีทั้งปวงที่เป็นของพระมหากษัตริย์ “อยู่แต่เดิม” ได้กลับเป็นของพระมหากษัตริย์โดยแท้จริงอีกเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2475 (และจะเป็นครั้งเดียวเท่านั้น แม้แต่ 6 ตุลา 2519 ก็ไม่ใช่) ในความเป็นจริง การสละราชย์ของร.7 ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษา 14 ตุลาต่อสู้กับรัฐบาลทหารนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยแต่อย่างใด ไม่แม้แต่ในความหมายแคบที่เป็นการแอนตี้เผด็จการทหารด้วยซ้ำ เหตุการณ์นี้, ดังที่ได้กล่าวข้างต้น, ต้องนับเป็นเหตุการณ์สุดท้ายของบรรดาเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่มาจากการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติของปรีดีในปี 2476 แผนเศรษฐกิจของปรีดีนั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแผนดังกล่าว ไม่ “ซ้าย” หรือไม่ “รุนแรง” แบบที่พวกมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์เป็นที่รู้จักกัน ในทางตรงกันข้าม ด้วยเหตุที่ไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์นี่เอง ที่แผนของปรีดีมีความ “ซ้าย” และ “รุนแรง” เป็นพิเศษ นั่นคือ การเสนอให้บังคับชาวนารวมหมู่ (forced collectivization) และยกเลิกกรรมสิทธิ์เอกชนในที่ดินของพวกเขาทั้งหมด ซึ่งไม่มีมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์ที่ไหนในโลกขณะนั้นเสนอกัน นี่เป็นเรื่องกลับตาลปัตรอย่างหนึ่งของวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นจากแผนเศรษฐกิจของปรีดี เรื่องกลับตาลปัตรที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ แม้เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีจะไม่ใช่มาร์กซิสต์ แต่ผลสะเทือนที่เกิดจากการเสนอเค้าโครงฯกลับมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการของลัทธิคอมมิวนิสม์ไทย. ในความเป็นจริง นี่คือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของขบวนการแอนตี้คอมมิวนิสต์ของประเทศสยาม ขณะที่คอมมิวนิสต์ “ตัวจริง” คือบรรดาสหายชาวจีนและเวียดนามได้ปฏิบัติงานในประเทศนี้เป็นเวลาหลายปีก่อนหน้าเค้าโครงฯ พวกเขาอยู่ในสถานะ “ชายขอบ” ของการเมืองกระแสหลักมากเกินกว่าที่จะกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้อย่างเฉียบขาดจากอำนาจรัฐ ซึ่งมักถือว่าพวกเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาชนกลุ่มน้อย เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีไม่เพียงนำมาซึ่ง “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์” – ฉบับแรกของกฎหมายแบบเดียวกันอีกหลายฉบับ – แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมทางการเมืองบางอย่างที่จะกลายเป็นแบบฉบับของการรณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ตลอดระยะครึ่งศตวรรษต่อมา. ประการแรกที่สุดคือ บทบาทที่โดดเด่นของราชสำนัก (พระมหากษัตริย์, สมาชิกในพระราชวงศ์ และผู้ใกล้ชิด) แม้ว่าฝ่ายต่อต้านเค้าโครงการของปรีดี หรือ “คอมมิวนิสม์” จะมาจากหลายส่วน แต่ราชสำนักคือส่วนที่มีบทบาทแข็งขันที่สุด. นี่เป็นความจริงนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงต้นทศวรรษ 1980 อันเป็นยุคสิ้นสุดของขบวนการคอมมิวนิสต์ในไทย. ยิ่งกว่านั้น การแอนตี้คอมมิวนิสต์ของราชสำนัก โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ จะมีลักษณะเด่นที่คงเส้นคงวาและไม่หยุดหย่อนมากกว่า. การคัดค้านเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีโดยพระยาทรงสุรเดช และการรณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสม์ของจอมพลป.และสฤษดิ์ในเวลาต่อมามัก “ปะปน” อยู่กับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของพวกเขากับกลุ่มปกครองอื่น (พระยาทรงฯกับปรีดีและหลวงพิบูล, จอมพลป.กับปรีดี, สฤษดิ์กับจอมพลป.) ซึ่งบางครั้งถึงกับนำไปสู่การที่สองคนหลัง (จอมพลป.กับสฤษดิ์) หันมา “จีบ” คอมมิวนิสต์เสียเองด้วยซ้ำ. พระมหากษัตริย์ (พระปกเกล้าฯและรัชกาลปัจจุบัน) และบรรดาผู้ใกล้ชิด, อาจเพราะความที่ “อยู่เหนือการเมือง” ของพระองค์, มีแนวโน้มที่จะมีลักษณะ “เป็นตัวตน” (embodiment) ของอุดมการณ์หลักที่แอนตี้คอมมิวนิสม์แบบบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่น “เจือปน” มากกว่า ประการที่สอง ในระหว่างวิกฤตการณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจ แม้ว่าปรีดีจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะลากเส้นแบ่งระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “คอมมิวนิสม์” และยืนกรานว่าเขาเสนอสิ่งแรกไม่ใช่สิ่งหลัง ในสายตาของราชสำนัก ไม่มีความแตกต่างระหว่างทั้งสอง เกือบสี่สิบปีต่อมา เสนีย์ ปราโมช นักการเมืองนิยมเจ้าคนสำคัญกล่าวว่า “เราไม่เคยเลิกสงสัยได้เลยว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์” (Jayanta Kumar Rey, ed., Portraits of Thai Politics, 1972, p. 171) ฝ่ายซ้ายหลังจากปรีดีจำนวนมากก็พยายามยืนยันแบบเดียวกันและไร้ผล คำขวัญอันอื้อฉาวของฝ่ายขวากลางทศวรรษ 1970 ที่ว่า “สังคมนิยมทุกชนิดคือคอมมิวนิสต์นั่นเอง” มีต้นตำรับจาก “พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของพระปกเกล้าฯนั่นเอง ประการสุดท้าย สำหรับราชสำนัก “คอมมิวนิสม์” เป็นอันตรายไม่ใช่ต่อรัฐธรรมนูญหรือรัฐสภา (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงต่อ “ประชาธิปไตย”) มากเท่ากับต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์เอง อันตรายของคอมมิวนิสต์เท่ากับอันตรายของสาธารณรัฐนิยม (republicanism) เพราะหลัง 2475 เป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีกลุ่มการเมืองอื่นใดที่จะเสนอให้เลิกล้มสถาบันพระกษัตริย์ นับจากนี้ ข้อกล่าวหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” กับข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์จะเดินคู่ไปด้วยกัน จนบรรลุจุดสุดยอดในกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ความกลัวคอมมิวนิสม์-สาธารณรัฐนิยมของราชสำนักที่ควบคู่กันไปนี้ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในจดหมายและบันทึกส่วนพระองค์ที่พระปกเกล้าฯทรงมีถึงนายเจมส์ แบ๊กซเตอร์ ที่ปรึกษารัฐบาลไทยด้านการคลังชาวอังกฤษในต้นเดือนสิงหาคม 2476 นี่เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ขึ้นมามีอำนาจหลังจากรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 ไล่พระยามโนปกรณ์กับพวกออกไปแล้ว กำลังพยายามขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำนายปรีดี พนมยงค์กลับประเทศ (ปรีดีถูกพระยามโนฯบีบให้ออกนอกประเทศหลังเกิดวิกฤติเค้าโครงการเศรษฐกิจตอนต้นปี) และรับตำแหน่งในรัฐบาลอีก ในทางเปิดเผย พระปกเกล้าฯทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตทั้งสองกรณี แต่ในจดหมายถึงแบ๊กซเตอร์ ทรงแสดงความเชื่อว่าปรีดีต้องการให้สยามกลายเป็น “สาธารณรัฐสังคมนิยม…โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” และกำลังวางแผนที่จะทำลายพระราชวงศ์และหลอกล่อให้พระองค์เองสละราชสมบัติ ในทัศนะของพระองค์ สมาชิกสายพลเรือนของคณะราษฎรยกย่องบูชาปรีดีอย่างหลับหูหลับตา “ชนชั้นที่ตื่นตัวทางการเมืองชนชั้นเดียวของสยามโน้มเอียงไปทางคอมมิวนิสม์”, ทรงกล่าวกับแบ๊กซเตอร์. ขณะที่กองทัพแม้ว่าจะจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ก็ขาดหลักการและผู้นำที่เข้มแข็ง ปรีดีจึงเป็นผู้ควบคุมในทางเป็นจริงและใช้พระยาพหลฯบังหน้า ทรงแสดงความผิดหวังที่บรรดา “ผู้นิยมระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional monarchists) ไม่ยอมทำอะไร พวกเขาพึงพอใจกับการปล่อยให้เป็นภาระของพระองค์และการแทรกแซงของต่างชาติที่จะ “ปกป้องประเทศจากคอมมิวนิสม์” แต่ทรงตั้งข้อสังเกตว่า “ภัยอันแท้จริงของคอมมิวนิสม์อาจจะผลักดันให้คนพวกนี้ลงมือทำอะไรบางอย่าง ซึ่งบางทีคงจะสายเกินไป” อันที่จริง การตระเตรียมกบฏด้วยอาวุธกำลังดำเนินไปในขณะนั้นจริงๆ หลวงโหมรอนรานอดีตนายทหารมณฑลทหารบกที่หนึ่งในช่วงก่อน 2475 - เขากำลังตามเสด็จอยู่ที่พระราชวังไกลกังวลในวันที่ 24 มิถุนา - และหนึ่งในผู้วางแผนกบฏ เล่าในภายหลังว่า ถึงเดือนกันยายน 2476 การเตรียมการกบฏ “ได้รวบรัดเข้าไปมากแล้ว” (ดู หลวงโหมรอนราน, เมื่อข้าพเจ้าก่อการกบฏ, 2492, น. 62) เพียง 11 วันหลังจากปรีดีเดินทางกลับสยามการกบฏก็เริ่มขึ้น (11 ตุลาคม 2476) นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชอดีตเสนาบดีกลาโหม (พ.ศ. 2471-2474) ทหารหัวเมืองจำนวนหนึ่งเดินทัพเข้ากรุงเทพ. ประโยคแรกสุดของคำขาดที่ฝ่ายกบฏยื่นต่อรัฐบาลเผยให้เห็นความกลัวคอมมิวนิสม์-สาธารณรัฐนิยมของพวกเขา: “รัฐบาลนี้ได้ปล่อยให้คนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและนำหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาดำเนินนโยบายคอมมิวนิสต์” (รวบรวมคำแถลงการณ์และประกาศต่างๆซึ่งรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศแก่ข้าราชการฝ่ายทหาร, พลเรือนและราษฎรทั่วไป. โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2476, น. 12) เช่นเดียวกัน ข้อเรียกร้องข้อแรกใน 6 ข้อของคำขาดฉบับที่สอง เรียกร้องให้รัฐบาลทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สยามมีพระมหากษัตริย์ปกครอง “ชั่วกัลปาวสาน” (เป็นความจริงที่ว่าฝ่ายกบฏใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ” แต่ประโยคดังกล่าวทั้งประโยคและคำขาดทั้งฉบับให้น้ำหนักกับคำแรกมากกว่าคำหลังอย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งกว่านั้น ยังไม่แน่ชัดว่าฝ่ายกบฏหมายถึงรัฐธรรมนูญแบบไหนถ้าพวกเขายึดอำนาจสำเร็จ หลวงโหมรอนราญเขียนไว้ในบันทึกความทรงจำของเขาว่า “จะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เหมาะสม และถวายพระราชอำนาจแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (หลวงโหมรอนราญ, น. 61-2) การกบฏถูกปราบปรามพ่ายแพ้โดยทหารรัฐบาลที่นำโดยหลวงพิบูลสงคราม สามเดือนต่อมา พระปกเกล้าฯเสด็จออกนอกประเทศ สุดท้ายไปพำนักที่อังกฤษ โดยที่ยังทรงวิตกกังวลเรื่องภัยคอมมิวนิสม์-สาธารณรัฐนิยมต่อไป ปลายปี 2477 ทรงเริ่มใช้สิ่งที่ทรงบรรยายต่อเจมส์ แบ๊กซเตอร์ว่าเป็น “อาวุธที่ร้ายแรงที่สุด” ของพระองค์ ซึ่งได้ทรง “ใช้อย่างได้ผลมาหลายครั้งแล้ว” นั่นคือ การขู่ว่าจะสละราชย์ “เพื่อให้ได้ผลจริงๆ”, ทรงกล่าวกับแบ๊กซเตอร์, พระองค์จะต้อง “สามารถหลีกไปพักในที่ซึ่งปลอดภัยบางแห่ง” ถ้าทรงขู่สละราชย์ในกรุงเทพจะ “ได้ผลไม่ถึงครึ่ง” เมื่อได้รับคำขู่จะสละราชย์ รัฐบาลก็ส่งผู้แทนคณะหนึ่งไปเจรจากับพระปกเกล้าฯที่อังกฤษ ทรงรับสั่งกับคณะผู้แทนว่า ความขัดแย้งหลักในขณะนั้นคือ “ระหว่างพวก Socialist และ Anti-Socialist” (ดู แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2478, น. 34 ทรงใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ) ก่อนหน้านั้นเคยรับสั่งกับแบ๊กซเตอร์ว่า “การต่อสู้หลักคือต่อต้านคอมมิวนิสม์” ข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการที่พระองค์ระบุในพระราชบันทึก 2 ฉบับแรกถึงรัฐบาล สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวคอมมิวนิสม์-สาธารณรัฐนิยมอีกครั้ง (แถลงการณ์…ทรงสละราชสมบัติ, น. 152-3; ทรงขีดเส้นใต้เอง): ถ้าหากจะให้ฉันดำรงตำแหน่งต่อไป ต้องขอให้ก่อนหน้านั้น ในระหว่างที่ทรงให้คณะผู้แทนเข้าเฝ้าในวันที่ 12 ธันวาคม 2477 พระปกเกล้าฯทรงแสดงความไม่พอพระทัยเกี่ยวกับข้อเสนอของปรีดีและซิม วีระไวทยะในระหว่างการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญปี 2475 ที่ให้ผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลายถวายบรรดาศักดิ์คืน ทรงรับสั่งว่า “ที่เป็นมาแล้ว มีผู้ซึ่งหันทางไปในทาง Republic เป็นต้นว่าให้เลิกเหรียญตรา ซึ่งใน monarchy เขาต้องมี” (ในการอภิปรายครั้งนั้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2475 ปรีดีกล่าวว่าเขาได้เสนอเรื่องนี้ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆแต่ได้รับการคัดค้านอย่างมากจากพระยามโนปกรณ์ พระยามโนฯยืนยันเรื่องที่ปรีดีเล่า แล้วร่วมกับพระยาศรีวิสารวาจา อภิปรายคัดค้านข้อเสนอนี้อย่างแข็งขัน กล่าวว่าเป็นการ “กักขฬะ” แม้แต่พระยาพหลฯก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับปรีดี “เป็นการไม่ดี พระมหากษัตริย์อาจจะถือว่าเราจองหอง” ในที่สุด นายซิมซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติอย่างเป็นทางการ ยอมถอนญัตตินั้น) หลังจากพระราชบันทึก 2 ฉบับแรกข้างต้นแล้ว ทรงมีพระราชบันทึกถึงรัฐบาลอีก 2 ฉบับ โดยที่ทรงเปลี่ยนข้อเรียกร้องไปที่ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมองว่าเป็นการที่พระองค์ทรงพยายามจะช่วงชิงป้องกันอันตรายของสาธารณรัฐนิยมล่วงหน้า (ไม่ได้ทรงพูดถึง Socialist โดยตรงอีก) บันทึกช่วยจำทั้งสองขอให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเลือกผู้ที่จะเป็นสมาชิกแต่งตั้งของรัฐสภา ที่เรียกกันว่า “สมาชิกประเภทที่ 2” จำนวนครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด และในการวีโต้กฎหมายที่ผ่านสภาแล้ว (เช่น “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงทักท้วงพระราชบัญญัติฉบับใดลงมา สภาผู้แทนราษฎรเป็นอันต้องยุบไปเองในคราวเดียวกัน”) พระราชบันทึก 2 ฉบับหลังนี้ ยังพยายามให้มีการเพิ่มบทบาททางการเมืองให้ข้าราชการของระบอบเก่า (ก่อน 2475): สมาชิกประเภทที่ 2 ควรมีอายุเกิน 35 ปี และเคยมีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงในรัฐบาลมาก่อน. พวกเขาควรได้รับอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองได้ ในทางกลับกัน ข้าราชการประจำของกองทัพทั้งหมดต้องเลิกเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเท่ากับเป็นการยุบเลิกรัฐบาลคณะราษฎรโดยปริยาย เพราะสมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่มาจากข้าราชการประจำโดยเฉพาะจากกองทัพ เป็นธรรมดาที่ข้อเรียกร้องของพระปกเกล้าฯเหล่านี้ รัฐบาลไม่สามารถยอมรับได้ แต่ก็พยายามจะปฏิเสธไปอย่างสุภาพที่สุด ในการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ รัชกาลที่ 7 ทรงเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองของพระองค์ชนิด 180 องศาอย่างชัดเจน เพราะทรงเป็นเสมือนผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับธันวาคม 2475 มาด้วยพระองค์เองในสมัยที่พระยามโนฯเป็นนายกรัฐมนตรี บัดนี้ทรงอ้างว่าความจริงทรงไม่พอพระทัยรัฐธรรมนูญตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว แต่ทรงยอมให้ผ่านไปเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ไม่น่าเชื่อ รัฐธรรมนูญฉบับธันวาคม 2475 ได้ฟื้นฟูพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์อย่างมาก และขอเพียงให้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ทรงว่ากล่าวได้ พระมหากษัตริย์ก็จะทรงมีพระราชอำนาจที่เป็นจริงได้ แน่นอนว่าในขณะที่คนอย่างพระยามโนฯเป็นนายกฯ พระปกเกล้าฯย่อมไม่ทรงต้องกังวล ไม่ใช่ตัวรัฐธรรมนูญ หากแต่คือการตกจากอำนาจไปของพระยามโนฯต่างหาก ที่เป็นสาเหตุทำให้พระองค์ทรงไม่สบายพระทัยอย่างกะทันหัน ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทแต่งตั้ง ตรงข้ามกับความเข้าใจอย่างกว้างขวางในต้นทศวรรษ 1970 ว่าพระปกเกล้าฯทรงคัดค้านเชิงหลักการ ที่มีการแต่งตั้ง สส.ถึงครึ่งสภา (ซึ่งเป็นสิ่งที่คนสมัยก่อน 14 ตุลาไม่พอใจ อันเนื่องมาจากวิธีที่รัฐบาลทหารในสมัยพวกเขาเองแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐอย่างคอรัปชั่น) ในความเป็นจริง เห็นได้ชัดจากพระราชบันทึกของพระองค์ว่า สิ่งที่ทรงต้องการ ไม่ใช่การยกเลิกสส.แต่งตั้ง แต่คืออำนาจที่จะทรงแต่งตั้งคนพวกนี้เอง (นี่เป็นข้อเรียกร้องที่เหมือนกับข้อเรียกร้องในคำขาดฉบับที่สองของพระองค์เจ้าบวรเดช: “การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก”) หากพระยามโนฯยังอยู่ในอำนาจ “ปัญหารัฐธรรมนูญ” แบบนี้ก็จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเลย (ดูโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชบันทึกฉบับที่ 4 ใน แถลงการณ์…ทรงสละราชสมบัติ, น. 179-80) ประเด็นที่แสดงให้เห็นการ “เปลี่ยนพระทัย” ของร.7 อย่างชัดเจนที่สุด คือ เรื่องสิทธิตั้งพรรคการเมือง ซึ่งอีกเช่นกัน เป็นประเด็นที่คนสมัยต้นทศวรรษ 1970 รู้สึกอย่างมาก ในเดือนมกราคม 2475 (2476 ตามปฏิทินปัจจุบัน) หลวงวิจิตรวาทการ อดีตเลขานุการสถานทูตไทยในปารีส พยายามจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ “คณะชาติ” ขึ้น เขาได้ไปปรึกษากับปรีดีและได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายหลัง ผู้นำรัฐบาลคนอื่นรวมทั้งพระยามโนฯก็สนับสนุน อย่างไรก็ตาม เมื่อพระยามโนฯนำเรื่องนี้ขึ้นทูลเกล้าฯขอคำปรึกษาจากพระปกเกล้าฯ ทรงมีหนังสือถึงพระยามโนฯเมื่อวันที่ 31 มกราคม ว่า ตามที่มีบุคคลได้ตั้งสมาคมคณะการเมือง [หมายถึงสมาคมคณะราษฎร] และขออนุญาตตั้งขึ้นอีกนั้น ข้าพเจ้ามีความวิตกเป็นอันมาก ด้วยเกรงว่าจะเป็นเหตุกระทบกระเทือนถึงความสงบสุขของประชาชน …. ประเทศสยามซึ่งพึ่งจะมีรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ยังหาถึงเวลาสมควรที่จะมีคณะการเมืองเช่นเขาไม่ ด้วยประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเสียเลย …. ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ในเวลานี้อย่าให้มีสมาคมการเมืองเลยจะดีกว่า แต่โดยเหตุที่บัดนี้รัฐบาลได้ยอมอนุญาตให้มีสมาคมคณะราษฎรเสียแล้ว จึ่งเป็นการยากที่จะกีดกันห้ามหวงมิให้มีคณะการเมืองขึ้นอีกคณะหนึ่งหรือหลายคณะได้ อย่างดีที่สุดข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรที่จะเลิกสมาคมคณะราษฎรและคณะอื่นทีเดียว….พระยามโนฯจึงเรียกหลวงวิจิตรฯไปพบและขอให้เลิกล้มแผนการตั้งพรรคชาติเสีย โดยสัญญาว่าจะยุบเลิกสมาคมคณะราษฎรให้เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งต่อมาก็ได้ทำจริงในระหว่างวิกฤตเค้าโครงการเศรษฐกิจ มีแต่ภายหลังการสิ้นอำนาจของพระยามโนฯและความพ่ายแพ้ของกบฎบวรเดชเท่านั้น ที่พระปกเกล้าฯทรงรู้สึกถึงความจำเป็นต้องอนุญาตให้ราษฎรตั้งพรรคการเมืองได้อย่างกะทันหันและทรงรวมเอาข้อเรียกร้องนี้ไว้ในพระราชบันทึกฉบับที่ 3 ของพระองค์ รัฐบาลสมัยนั้นได้ตอบด้วยการเตือนให้ทรงระลึกถึงหนังสือถึงพระยามโนฯของพระองค์เองข้างต้น ซึ่งพระปกเกล้าฯก็ทรงอธิบายตอบกลับมาดังนี้ (ขอให้สังเกตวิธีที่ทรงบิดผันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุผลก่อนหน้านั้นของพระองค์) ข้าพเจ้าชอบที่จะให้มีคณะพรรคการเมืองขึ้น [?!] จดหมายของข้าพเจ้ามีถึงพระยามโนฯนั้น ได้เขียนไปในคราวที่รัฐบาลในครั้งนั้นไม่ยอมอนุญาตให้คณะชาติตั้งขึ้น [?!] ข้าพเจ้าจึงแนะนำไปว่า ถ้าคณะชาติไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นแล้ว ก็ควรที่จะเลิกล้มคณะราษฎรเสียเหมือนกัน…. ณ บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะอนุญาตให้คณะพรรคการเมืองจัดตั้งขึ้นโดยเปิดเผยเป็นที่ชัดเจนว่าแรงกระตุ้นที่แท้จริงที่ทำให้พระปกเกล้าฯทรงเรียกร้องให้ตั้งพรรคการเมืองได้ในระหว่างการเจรจาเรื่องการสละราชย์นั้น ไม่ใช่หลักการประชาธิปไตยที่เป็นนามธรรมอะไร แต่เป็นความพยายามของพระองค์ที่จะเปิดเวทีการเมืองขึ้นใหม่ให้กับบรรดาผู้ที่จงรักภักดีต่อพระองค์ หลังจากพวกเขาถูกเบียดออกจากรัฐบาลแล้ว โดยสรุป ข้อเรียกร้องทุกประเด็นของร.7 คือความพยายามต่อรองเพิ่มอำนาจให้แก่พระองค์เองและแวดวงของพระองค์ และลดหรือแยกสลายอำนาจของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งฝ่ายหลังก็เข้าใจเรื่องนี้ดี จึงปฏิเสธไป จดหมายส่วนพระองค์ถึงเจมส์ แบ๊กซเตอร์ ในช่วงนี้ส่อให้เห็นว่า ร.7 ทรงถือเอาการขู่สละราชย์เป็นเพียง “เครื่องมือ” หรือยุทธวิธีต่อรองอย่างหนึ่ง (“my strongest weapon”) จากหลักฐานชิ้นเดียวกัน ผมเชื่อว่าเมื่อทรงเริ่มใช้การขู่สละราชย์ครั้งหลังสุดนี้ พระองค์ไม่ได้ทรงคิดจะสละราชย์จริงๆ แต่ทรงประเมินประสิทธิภาพของ “อาวุธ” นี้สูงเกินไป (“effectively used several times already”) จึงทรงผลักการต่อรองและตัวพระองค์เองไปสู่จุดอับ ทำให้ทรงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องสละราชย์จริงๆ วันที่ 2 มีนาคม 2477 ทรงลงพระปรมาธิไธยในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติซึ่งทรงนิพนธ์ขึ้นอย่างยอดเยี่ยม. หลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงที่ว่าข้อเรียกร้องรูปธรรมและความขัดแย้งที่พระองค์ทรงมีกับรัฐบาลล้วนเกี่ยวข้องกับความพยายามเพิ่มอำนาจของราชสำนักและความหวาดกลัวคอมมิวนิสม์อย่างขาดเหตุผลไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงของพระองค์เอง, ร.7 ทรงหันเข้าหาหลักการประชาธิปไตยอันสูงส่ง. ในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ การที่รัฐบาลไม่ยอมให้พระองค์มีบทบาทในกระบวนการเมืองมากขึ้นกลายเป็น “คณะรัฐบาล…ไม่ยินยอม…ให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายสำคัญอันมีผลได้เสียแก่ราษฎร” และอื่นๆ. ด้วยลักษณะที่เป็นนามธรรมเช่นนี้เองที่ทำให้พระราชหัตถเลขาสละราชย์สามารถปรากฏต่อสายตาของขบวนการนักศึกษาต้นทศวรรษ 1970 ในฐานะเอกสารที่ “สอดคล้องอย่างยิ่ง” กับความเรียกร้องต้องการและสถานการณ์ของพวกเขาที่ความจริงแล้วแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554
ร.7 สละราชย์: ราชสำนัก, การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ 14 ตุลา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น