วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

กงจักรปีศาจ และหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคต


กงจักรปีศาจ และหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคต

1.

กลางปี 2517 คือราวครึ่งปีเศษหลังกรณี 14 ตุลา โดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด จู่ๆตลาดหนังสือกรุงเทพก็เต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ฯ ที่ใจกลางของปรากฏการณ์นี้คือหนังสือ 2 เล่ม ที่ออกวางตลาดห่างกันเพียงหนึ่งสัปดาห์: กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 ของ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียรและวิมลพรรณ ปีต-ธวัชชัย และ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของสุพจน์ ด่านตระกูล ซึ่งภายในไม่กี่สัปดาห์ต่างได้รับการพิมพ์ซ้ำและขายได้รวมกันหลายหมื่นเล่ม ผลสำเร็จของทั้งคู่ทำให้เกิดการตีพิมพ์หนังสือกรณีสวรรคตอีกอย่างน้อย 6 หรือ 7 เล่ม เช่นในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์ ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ (ซึ่งภายหลังถูกปรีดี พนมยงค์ ฟ้องจนแพ้ความ) ความเห็นแย้งคำพิพากษากรณีสวรรคต ของ นเรศ นโรปกรณ์ และ คดีประทุษร้ายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น, อุทธรณ์ และฎีกาในคดีนี้ พิมพ์เป็นเล่มขนาดใหญ่และหนาถึง 2 เล่ม โดยสำนักพิมพ์กรุงสยาม โดยไม่มีคำนำหรือคำอธิบายใดๆ)

ทำไมจึงเกิดการปรากฏการณ์ดังกล่าว? ลำพังโอกาสครบรอบ 18 ปีการสวรรคต (9 มิถุนายน 2489-2517) ไม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่เพียงพอ. หนังสือพิมพ์ เสียงใหม่ รายวันในสมัยนั้นสันนิษฐานว่า “มันมาพร้อมกับการเลือกตั้ง” (นี่เป็นชื่อบทความของ เสียงใหม่ เกี่ยวกับหนังสือเหล่านี้) แต่ในความทรงจำของผม ดูเหมือนว่าในช่วงนั้น มีบางคนเคยอธิบายให้ฟังว่า พวกนิยมเจ้า (royalists) มีความวิตกว่า ปรีดี พนมยงค์ จะฉวยโอกาสจากบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นจาก 14 ตุลา เดินทางกลับประเทศไทย จึงผลักดันให้มีการออกหนังสือของสรรใจ-วิมลพรรณ (ซึ่งเป็นเล่มแรกที่จุดชนวนกระแสหนังสือกรณีสวรรคต) ออกมา เพื่อ “ดักคอ” ไม่ให้ปรีดีกลับมาได้. ใครที่เคยอ่านหนังสือของสรรใจ-วิมลพรรณย่อมทราบว่าเขียนจากจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์กับปรีดี แม้จะใช้รูปแบบที่เป็นงาน “วิชาการ” ต่างกับหนังสือประเภท “สารคดีการเมือง” ทั่วๆไปก็ตาม. (ต้องไม่ลืมว่าปรีดีเพิ่งเดินทางออกจากจีนที่ลี้ภัยอยู่ถึง 21 ปี มาพำนักที่ปารีสในปี 2513 เท่านั้น การออกจาก “หลังม่านไม้ไผ่” มาอยู่ในเมืองใหญ่ใจกลางยุโรปครั้งนั้นสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการเมืองไทยไม่น้อย หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงกับออกมาโจมตี “ดักคอ” จนถูกฟ้องร้องแพ้ไป ซึ่งจะมีความเกี่ยวพันกับเรื่องที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้ ดังจะได้เห็นต่อไป)

แต่ก็เช่นเดียวกับตัวจีนนี่ในตะเกียงวิเศษที่ถูกปล่อยออกมาแล้วไม่มีใครควบคุมได้, กรณีสวรรคตก็เป็นเรื่องที่เมื่อเปิดประเด็นออกมาแล้วยากจะจำกัดให้อยู่ในกรอบของคนที่เปิดประเด็นได้. หนังสือของสุพจน์ที่ออกมาตอบโต้หนังสือของสรรใจ-วิมลพรรณอย่างทันควันมีความสำคัญมากในแง่นี้ เพราะสุพจน์ไม่เพียงแต่จะออกมาปกป้องปรีดีว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตอย่างที่สรรใจ-วิมลพรรณพยายามทำให้ผู้อ่านรู้สึกเท่านั้น หากยัง “รุกกลับ” ด้วยการนำเสนอว่าใครน่าจะมีส่วนมากกว่า (ในท่ามกลางความชุลมุนของการวิวาทะ น้อยคนจะสังเกตได้ว่าอันที่จริงทั้งสองฝ่ายพยายามชี้ให้เห็นเหมือนๆกันว่า การสวรรคตเกิดจากการกระทำของผู้อื่นไม่ใช่ทรงกระทำพระองค์เอง) เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายที่ “เริ่มก่อน” ก็กลับเป็นฝ่ายที่ต้องการให้เรื่องยุติโดยเร็ว (ในคำสัมภาษณ์ต่อ ปิตุภูมิ รายสัปดาห์ ฉบับปฐมฤกษ์ 28 สิงหาคม 2517 สรรใจกล่าวว่า “ความจริงเรื่องนี้มันเกมไปแล้วตามกฎหมาย.... ผมอยากให้ทุกอย่างยุติกันที”! เขาคงไม่รู้ตัวว่าการกล่าวเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ ironic มาก) นี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมสงครามหนังสือกรณีสวรรคตที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในเดือนมิถุนายนก็สงบลงอย่างฉับพลันเหมือนกันในราวเดือนกันยายนนั้นเอง

เป็นเรื่องน่าสนใจที่ควรบันทึกไว้ในที่นี้ว่า ในบทวิจารณ์เปรียบเทียบหนังสือกรณีสวรรคต 2 เล่มดังกล่าวที่ตีพิมพ์ใน ประชาชาติ รายสัปดาห์ โดยนักวิจารณ์ 2 คนที่ภายหลังกลายเป็นนักวิชาการ “รุ่นใหม่” ที่รู้จักกันดี หนังสือของสุพจน์ที่เชียร์ปรีดีถูกมองว่าดีสู้หนังสือของสรรใจ-วิมลพรรณที่ด่าปรีดีไม่ได้. ผมขอยกเอาข้อความบางตอนของบทวิจารณ์ดังกล่าวมาให้อ่านกัน เพื่อให้เห็นว่าในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทัศนะที่มีต่อปรีดีของปัญญาชนไทย (ซึ่งในที่นี้แสดงออกที่ทัศนะต่อหนังสือที่โจมตีหรือที่สนับสนุนปรีดี) ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง. วิไลลักษณ์ เมฆารัตน์ และอัจฉราพร กมุทพิสมัย (ปัจจุบันเป็นนักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา ธรรมศาสตร์) เขียนไว้ในบทวิจารณ์ของพวกเธอ (ประชาชาติ รายสัปดาห์ 11 กรกฎาคม 2517) ดังนี้:
คุณสุพจน์เสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนด้วยการ “เก็บมาเล่า” ขณะที่คุณสรรใจและคุณวิมลพรรณเสนอความจริงด้วยหลักฐานอันประกอบไปด้วยเรื่องราวจากบุคคลต่างๆ 149 คน หนังสือ 29 เล่ม ข่าวจากหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นหลายฉบับ ข่าวจากกรมโฆษณาการและภาพประกอบการสวรรคตอย่างละเอียดซึ่งแต่ละภาพมีค่าและหาดูได้ยาก การมีเชิงอรรถแสดงที่มาของข้อเขียนในแต่ละหน้า บรรณานุกรมท้ายเล่มและภาคผนวก ช่วยให้หนังสือเล่มนี้ดูสมบูรณ์ได้เนื้อหาตามลักษณะวิชาการน่าเชื่อถือมากขึ้น การดำเนินเรื่องราวโดยแบ่งความเป็นไปของช่วงเหตุการณ์อย่างมีขั้นตอนตามลำดับก่อนหลัง เรียบเรียงคำพูดได้ชัดเจน ใช้ภาษาดี ช่วยให้น่าอ่านชวนติดตาม ไม่ทำให้ผู้อ่านสับสน คลายความอึดอัดซึ่งมักจะเกิดกับหนังสือลักษณะนี้ได้หมดสิ้น

….การเสนอข้อมูลของผู้เขียนทั้งสองเล่มโดยเฉพาะของคุณสุพจน์ แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าเป็นการเสนอข้อมูลในทัศนะของผู้เขียน นำข้อมูลมาสนับสนุนความคิดของตน ข้อมูลที่ทั้งสองเล่มใช้ส่วนใหญ่มาจากที่เดียวกัน
แต่โดยที่คุณสุพจน์หยิบมาสนับสนุนความคิดเห็นส่วนตัวโดยปราศจากหลักฐานทางวิชาการ ไม่ทำเชิงอรรถบอกที่มาของข้อความเหล่านั้น มุ่งแต่จะเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ย้ำแล้วย้ำอีกถึงการเสนอให้สมเด็จพระอนุชาในขณะนั้นได้ขึ้นครองราชย์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีที่ท่านปรีดีมีต่อพระราชวงศ์ สำนวนการเขียนออกจะเยิ่นเย้อมุ่งเยินยอและเป็นนวนิยายมากไปสักหน่อย.... วิธีการเล่าเหตุการณ์ของคุณสุพจน์ปราศจากการเรียบเรียงที่ดี นำเอาสิ่งที่ตนประสงค์จะให้เป็นไปมาอ้างคั่นอยู่เสมอ..….

….จากสิ่งต่างๆดังได้กล่าวมานี้บั่นทอนความน่าเชื่อถือในการเสนอข้อเท็จจริงของคุณสุพจน์ลงเกือบหมดสิ้น มีค่าเหลือเพียงอ่านสนุก มีอันตรายอย่างมากสำหรับผู้อ่านที่ขาดความระมัดระวัง ย้ำความเชื่อแก่ผู้ที่มีแนวโน้มจะเชื่อสิ่งดังกล่าวนั้นแล้ว แทนที่จะช่วยเป็นดุลในการพิจารณาสำหรับผู้อ่าน กลับช่วยเสริมคุณค่าของอีกเล่มหนึ่งอย่างน่าเสียดายยิ่ง

ในส่วนของคุณสรรใจและคุณวิมลพรรณนั้น น่าชมเชยอยู่มากแล้วที่ยึดหลักวิชาการในการเสนอข้อเท็จจริงตามหลักฐาน….

สรุปในด้านเนื้อหาแล้วหนังสือทั้ง 2 เล่มไม่มีความเป็นกลาง ต่างฝ่ายต่างแก้แทนสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้อง โดยคัดเลือกข้อมูลขึ้นมาสนับสนุนความคิดเห็นส่วนตน ซึ่งทั้ง 2 เล่มนี้ คุณสรรใจและคุณวิมลพรรณทำได้น่าเชื่อถือกว่า ด้วยการเสนอหลักฐานตามแนววิชาการ....

2.

ในขณะที่หนังสือของสรรใจ-วิมลพรรณ และของสุพจน์เป็นศูนย์กลางของความสนใจกรณีสวรรคตในวงกว้างในช่วงกลางปี ๒๕๑๗ หนังสือกรณีสวรรคตที่ “ร้อน” เป็นที่ต้องการมากที่สุดในแวดวงนักกิจกรรมการเมืองกลับเป็นอีกเล่มหนึ่งที่น้อยคนนักจะเคยได้เห็นตัวจริง, อย่าว่าแต่อ่าน:กงจักรปีศาจ.

หนังสือมีสถานะเป็น “ตำนาน” ในหมู่ผู้สนใจการเมืองว่าเป็นงานที่เขียนโดยฝรั่ง ที่เปิดเผย “ความลับดำมืด” กรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ฯชนิดที่หนังสือที่เขียนโดยคนไทยทำไม่ได้ จนกลายเป็นหนังสือ “ต้องห้าม” ผิดกฎหมาย ไม่สามารถมีไว้ในครอบครองได้ ซึ่งแน่นอนยิ่งทำให้เป็นที่ต้องการกันมากขึ้น! ในท่ามกลางภาวะที่กระแสสูงของหนังสือกรณีสวรรคตท่วมตลาดกรุงเทพกลางปี 2517 นั้นเอง ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าได้มีผู้ถือโอกาสพิมพ์ กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทยออกเผยแพร่อย่างลับๆ.

กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทยที่ขายกัน “ใต้ดิน” ในปี 2517 ในราคาเล่มละ 25 บาทนี้ เป็นหนังสือขนาด 16 หน้ายก (5 นิ้วคูณ 7 นิ้วครึ่ง) หนา 622 หน้า ปกพิมพ์เป็นสีดำสนิททั้งหน้าหลัง กลางปกหน้ามีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงอานันท์ฯวัยเยาว์ในกรอบรูปไข่ บนสุดของปกหน้ามีข้อความพิมพ์เป็นตัวอักษรสีขาว 3 บรรทัดว่า
บทวิเคราะห์กรณีสวรรคต
ของในหลวงอานันท์ฯ
๙ มิถุนายน ๒๔๘๙
ด้านล่างเป็นชื่อหนังสือ พิมพ์ด้วยอักษรสีแดง กงจักรปีศาจ ตามด้วยอีก 2 บรรทัดพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีขาว
Rayne Kruger เขียน
ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช ร.น. แปล
ที่มุมล่างซ้ายของปกหลังมีข้อความพิมพ์เป็นตัวอักษรเล็กๆสีขาว 4 บันทัดว่า
ชมรมนักศึกษาประวัติศาสตร์ จัดพิมพ์
พิมพ์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคัดจากสำนวนศาลแพ่ง
คดีดำที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓ ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ โจทก์
บริษัทสยามรัฐจำกัด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก จำเลย
สำหรับผู้ที่สนใจ: นเรศ นโรปกรณ์ ได้นำรูปถ่ายปกหน้าของหนังสือเล่มนี้พร้อมรูปประกอบภายในที่สำคัญที่สุดมาตีพิมพ์ พร้อมด้วยความเห็นที่เขาเองมีต่อหนังสือ ใน ความเห็นแย้งคำพิพากษากรณีสวรรคต

ผมกล่าวว่าหนังสือหนา 622 หน้า แต่ถ้าใครพลิกปกหน้าขึ้นมา จะพบกับหน้า 17 เป็นหน้าแรกสุด เห็นได้ชัดว่า 16 หน้าแรกของหนังสือ (คือ 1 ยก) ซึ่งควรจะมีชื่อโรงพิมพ์และปีพิมพ์ และคำนำหรือคำชี้แจงต่างๆถูกดึงออกไปหรือไม่ถูกใส่เข้ามา. มีผู้บอกผมในสมัยนั้นว่า เดิมทีเดียวผู้จัดพิมพ์ตั้งใจพิมพ์เพื่อออกวางขายตามแผงหนังสืออย่างเปิดเผยจริงๆ แต่เปลี่ยนใจ หลังจากผู้นำนักศึกษาคนหนึ่ง (ซึ่งเขาระบุชื่อ) ให้คำแนะนำคัดค้าน ทำนองว่าจะเป็นผลเสียต่อขบวนการนักศึกษาโดยส่วนรวม. จนบัดนี้ผมก็ยังไม่ทราบจริงๆว่าผู้จัดพิมพ์ที่ใช้ชื่อ “ชมรมนักศึกษาประวัติศาสตร์” นั้นคือใครและจะขอบคุณอย่างสูงหากใครสามารถบอกได้.

สำหรับข้อความที่ปรากฏอยู่บนปกหลัง กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทยว่า “พิมพ์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคัดจากสำนวนศาลแพ่ง คดีดำที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓ ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ โจทก์ บริษัทสยามรัฐจำกัด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก จำเลย” นั้น ตามคำอธิบายของนเรศ นโปกรณ์ (ความเห็นแย้งคำพิพากษากรณีสวรรคต, หน้า 196) ปรีดี ได้ส่ง กงจักรปีศาจ ฉบับแปลนี้มาให้ศาลในฐานะหลักฐานประกอบการฟ้องร้องในคดีดังกล่าว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกลยุทธอันฉลาดของปรีดีที่พยายามทำให้หนังสือมีความชอบธรรมตามกฎหมายและมีโอกาสจะถูกเผยแพร่แก่คนไทยที่หาต้นฉบับหรืออ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ และก็เห็นได้ชัดว่าในตอนแรกผู้จัดพิมพ์เองคงตั้งใจจะใช้ “ความถูกกฎหมาย” นี้เป็นเกราะ แต่ในท้ายที่สุดเกิดเปลี่ยนใจ ซึ่งสะท้อนว่าหนังสือมีภาพลักษณ์ “ร้อนเกินจับต้อง” มากเพียงใดในขณะนั้น.

นเรศเล่าว่าในฐานะนักข่าวนสพ. สยามรัฐ ในช่วงที่กำลังถูกปรีดีฟ้องนั้นเอง ทำให้ได้อ่าน กงจักรปีศาจ ฉบับแปลตั้งแต่ปี 2513. ผมเองไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าวจนกระทั่งมีการพิมพ์เป็นเล่มในปี 2517 แต่เข้าใจว่า น่าจะเหมือนกับต้นฉบับหนังสือ “ต้องห้าม” เล่มอื่นๆสมัยก่อน 14 ตุลา ที่มีการโรเนียวออกแจกจ่ายกันอ่านตามกลุ่มกิจกรรมต่างๆ. โดยส่วนตัว ถ้าจำไม่ผิด ผมเคยเห็น แลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา ฉบับโรเนียวที่ “กลุ่มยุวชนสยาม” ก่อน 14 ตุลา พอหลังเหตุการณ์นั้นไม่นานก็ถูกพิมพ์เป็นเล่ม ภาวะ “ต้องห้าม” ทำให้งานประเภทนี้มีพลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลราวกับว่าเป็นอะไรบางอย่างที่เข้าไปห่อหุ้มมันไว้ หากใครอ่าน แลไปข้างหน้า ในสมัยนี้คงยากจะรู้สึกถึงพลังที่ว่าได้ อาจจะรู้สึกว่าค่อนข้างเป็นงานที่จืดชืดเสียด้วยซ้ำ

เมื่อเร็วๆนี้ในระหว่างที่รวบรวมข้อมูลเตรียมเขียนบทความชิ้นนี้ ผมได้ไปพบ กงจักรปีศาจ ฉบับโรเนียวในห้องสมุดแห่งหนึ่งเข้าอย่างบังเอิญมาก. ลักษณะเป็นเอกสารโรเนียวบนกระดาษยาวขนาดกระดาษฟุลสแก๊ปหน้าเดียวจำนวน 235 หน้า โดยที่หน้า 1-3 หายไป ถูกเย็บใส่ปกแข็ง เจ้าหน้าที่ของห้องสมุดเขียนชื่อของเอกสารไว้ที่หน้าปกและในบัตรรายการว่า “พระชนม์ชีพและการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” โดย ลิขิต ฮุนตระกูล. ครั้งแรกผมนึกว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ต่อเมื่อได้นำมาเทียบกับ กงจักรปีศาจ ที่พิมพ์เป็นเล่มแล้ว จึงพบว่าคืองานชิ้นเดียวกัน. ตัวเอกสารโรเนียวนั้นน่าจะคือต้นฉบับก่อนพิมพ์เป็นเล่ม เพราะตอนท้ายสุดของเอกสารมีรายชื่อ “บุคคลสำคัญในเรื่องบางคน” อยู่ด้วยตรงตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งในฉบับพิมพ์เป็นเล่มไม่มี. ส่วนชื่อบนปก ความจริงคือ ชื่อภาคที่ 2 ของหนังสือ. คุณลิขิต ฮุนตระกูล ที่กลายมาเป็น “ผู้เขียน” ตามบัตรรายการของห้องสมุดนั้นจะเป็นใคร ผมก็ไม่ทราบ. ทราบแต่ว่าเขาเคยเขียนหนังสืออย่างน้อยเล่มหนึ่ง (เพราะมีในห้องสมุด) ชื่อ ประวัติการสัมพันธ์ระหว่างชนชาติไทยและชนชาติจีน แต่ยุคโบราณจนถึงสมัยชาติไทยได้มาตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งประเทศไทย ซึ่งดูจากภายนอกน่าสนใจทีเดียว เป็นหนังสือที่ใช้หลักฐานภาษาจีน (เข้าใจว่าพวกพงศาวดาร) ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกในปี 2494 และถูกตีพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาทั้งในภาษาไทย, จีนและอังกฤษ ฉบับพิมพ์หลังสุดที่ผมพบคือปี 2516. เหตุใด กงจักรปีศาจ ฉบับโรเนียวที่ว่าจึงมาอยู่ภายใต้ชื่อคุณลิขิต แทนที่จะเป็น Rayne Kruger หรือ เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ผู้แปลตัวจริง ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน. หลังจากพยายามค้นหาต้นตอจากบันทึกที่มีอยู่ของห้องสมุดตามที่ผมขอ, เจ้าหน้าที่ก็บอกไม่ได้ว่าทำไมเอกสารดังกล่าวจึงตกมาอยู่ในครอบครองของห้องสมุดและทำไมจึงอยู่ภายใต้ชื่อคุณลิขิต.


3.

หนังสือภาษาอังกฤษที่เป็นต้นฉบับของ กงจักรปีศาจ ชื่อ The Devil's Discus เขียนโดย Rayne Kruger พิมพ์ครั้งแรกและครั้งเดียวโดยสำนักพิมพ์ Cassell ลอนดอนเมื่อปี 2507 (1964) ผู้เขียนอธิบายความหมายของชื่อหนังสือด้วยการยกข้อความต่อไปนี้มาพิมพ์ไว้ในหน้าแรกสุด:
To confuse truth with lies or good with evil is to mistake the Devil's lethal discus for the Buddha's lotus.

Siamese saying.
แปลแบบตรงๆว่า “การสับสนความจริงกับความเท็จหรือความดีกับความเลวคือการหลงผิดเห็นกงจักรอันร้ายแรงของปีศาจเป็นดอกบัวของพระพุทธองค์ ภาษิตสยาม”

เรน ครูเกอร์ เป็นใคร? หนังสือไม่ได้แนะนำอะไรไว้ (บางทีอาจจะมีบอกอยู่ที่แจ๊กเก็ตหนังสือตามแบบฉบับก็ได้ แต่เล่มที่ผมใช้ แจ๊กเก็ตหายไปนานแล้ว) นอกจากบอกว่าเขาเขียนหนังสือมาแล้ว 7 เล่มก่อน The Devil's Discus เป็นนิยาย 6 เล่ม และสารคดี 1 เล่มชื่อ Goodbye Dolly Gray: The Story of the Boer War ซึ่งผมไม่เคยเห็นตัวจริง แต่เท่าที่สำรวจดูอย่างคร่าวๆทางอินเตอร์เน็ต ดูเหมือนจะเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จพอควร เพราะได้รับการอ้างอิงถึงตามเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสงครามบัวร์แทบทุกแห่ง. อันที่จริงหนังสือเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเมื่อปี 1997 นี้เอง ซึ่งถ้าพิจารณาว่าเป็นงานที่ถูกพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1959 (คือ 38 ปีก่อนหน้านั้น) ก็ต้องนับว่าไม่เลวเลย ผมยังเห็นการอ้างถึงฉบับพิมพ์ปี 1983 ด้วย.

สรุปแล้วครูเกอร์น่าจะจัดได้ว่าเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จระดับปานกลาง ก่อนมาเขียน The Devil's Discus. เรารู้จากนามสุกลเขาด้วยว่าเขาเป็นเชื้อสายชาวผิวขาวในอาฟริกาใต้ที่เรียกว่าอาฟริคาน(Afrikaners) หรือบัวร์ (Boers) คือพวกที่สืบเชื้อสายมาจากชาวดัทช์ที่ไปตั้งรกรากที่นั่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17. สงครามบัวร์ที่เขาเขียนถึงคือสงครามในปี 1899-1903 ระหว่างพวกนี้กับอังกฤษซึ่งไปตั้งถิ่นฐานและอาณานิคมทีหลัง แย่งยึดพื้นที่เดิมของพวกบัวร์. ชื่อของหนังสือมาจากเพลงที่ทหารอังกฤษร้องขณะออกเดินทางจากอังกฤษไปเมืองเคปทาวน์ อาฟริกาใต้ เพื่อ “สู้กับพวกบัวร์”. ข้อมูลจากเว็ปไซต์แห่งหนึ่งบอกว่า เรน ครูเกอร์เองเกิดในอาฟริกาใต้และสามารถไล่เรียงบรรพบุรุษของตนไปเชื่อมโยงกับตระกูลครูเกอร์ที่มีชื่อเสียง (ผู้นำอาฟริคานในสงครามบัวร์ชื่อ พอล ครูเกอร์) เหตุใดนักเขียนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเอเชีย (อย่าว่าแต่กับประเทศไทย) ก่อนหน้านั้นเลยอย่างครูเกอร์ จึงมาเขียนถึงกรณีสวรรคต 10 กว่าปีหลังจากเหตุการณ์? น่าเสียดายและน่าแปลกใจที่ครูเกอร์ไม่ได้อธิบายไว้เลยในคำนำของ The Devil's Discus.

ความเป็นคนที่ราวกับ “ไม่มีหัวนอนปลายเท้า” แต่จู่ๆมาเขียนเรื่องกรณีสวรรคตนี้เอง เป็นประเด็นที่ถูกหยิบฉวยเอามาโจมตีอย่างทันควันเมื่อหนังสือออกวางตลาดครั้งแรกในปี 2507 โดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพวกนิยมเจ้า (royalist). ในบทวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่เขาเป็นบรรณาธิการ (ปีที่ 2 ฉบับที่ 1, มิถุนายน 2517) สุลักษณ์ได้ประณาม The Devil's Discus อย่างรุนแรง. บทวิจารณ์ของสุลักษณ์นี้ต้องนับว่าเป็นบทวิจารณ์ที่แย่ ไม่ใช่เพราะผู้วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับผู้เขียนซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่เพราะผู้วิจารณ์เอาแต่โจมตี กระแนะกระแหนเสียดสีผู้เขียนและหนังสือ แทนที่จะโต้แย้งประเด็นที่ผู้เขียนเสนอด้วยข้อมูลหรือการตีความที่ผู้วิจารณ์เห็นว่าถูกต้อง. เช่น สุลักษณ์เห็นว่าทฤษฎีของครูเกอร์ที่ว่าในหลวงอานันท์ฯปลงพระชนม์พระองค์เองผิด แต่ก็ไม่ได้บอกว่าผิดยังไง หรืออะไรคือคำอธิบายที่ถูกต้องของการสวรรคต ด้วยเหตุผลอะไร. ขอยกตัวอย่างบางตอนมาให้ดูดังนี้:
หนังสือนี้ว่าด้วยกรณีสวรรคต สำนักพิมพ์คัสเซลส่งมาทางเมล์อากาศเพื่อขอให้วิจารณ์ โดยที่ข้าพเจ้าได้วิจารณ์หนังสืออื่นไปก่อนแล้ว จึงคิดว่าจะขอให้ผู้อื่นไปวิจารณ์หนังสือนี้ แต่ครั้นเมื่ออ่านจบลง กลับเห็นว่าต้องแสดงเอง

....ผู้เขียนเรียกตนเองว่าอังกฤษ (ใช้คำ English ไม่ใช่ British) ทั้งๆที่ชื่อแลชาติกำเนิดก็บ่งอยู่ชัดแล้วว่าเป็นบัวร์มาจากอาฟริกาใต้ ในรายการที่ลงชื่อหนังสือที่เขาแต่งนั้น ปรากฏกว่ามีสารคดีเรื่องเดียวซึ่งเกี่ยวกับสงครามบัวร์ อันเป็นต้นกำพืดของเขา นอกกระนั้นอีกหกเล่มล้วนเป็นนวนิยายทั้งสิ้น แสดงว่าเขาถนัดนวนิยายมากกว่าเรื่องจริง....

….นอกจากนั้น ผู้เขียนยังโจมตีวิธีพิจารณาคดีของศาลไทย ตลอดจนกฎหมายไทย โดยใช้ระดับมาตรฐานศาลแลกฎหมายอังกฤษ ถึงแม้ข้าพเจ้าจะเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษและนิยมยกย่องกฎหมายอังกฤษ ก็เห็นว่าระบบอังกฤษเหมาะสมแก่บางประเทศเท่านั้น หาเหมาะแก่ประเทศนี้ไม่ การที่ผู้เขียนทำท่าว่าเข้าใจเราแต่แรกนั้น ก็เพื่อซ่อนความรู้สึกไว้ เพื่อหักล้างหลักอธิปไตยหนึ่งในสามของเรานั่นเอง “ปมเขื่อง” ของฝรั่งลูกผสมที่เร้นอยู่แต่แรกก็ฉายแสงแสดงความเลวทรามมาตอนนี้เอง….

....ในคำนำเองเขาก็บอกว่าเขาเข้ามากรุงเทพฯ เขาไปโลซาน เพื่อหาเอกสารหลักฐาน แต่เหตุไฉนเขาจึงปิดเสียสนิทว่าเขาไปสัมภาษณ์นายปรีดีที่เมืองจีนด้วยเล่า หนังสืออย่างนี้จะพิมพ์ได้สักกี่พันเล่ม ลำพังผู้เขียนชนิดไม่มีหัวนอนปลายเท้าอย่างนี้จะได้ค่าลิขสิทธิ์คุ้มที่ลงทุนไปละหรือ ที่ข้าพเจ้าอยากจะตั้งกระทู้ถามบ้างก็คือ ใครออกทุนให้ผู้เขียนสืบสาวราวเรื่องทั้งหมดนี้ เพื่อให้เสื่อมเสียถึงชาติและพระราชวงศ์

....แม้เพียงเท่านี้ ผู้เขียนคนนี้ก็จับจิตใจไทยเราผิดไปเสียแล้ว นับประสาอะไรจะไปพยายามพิสูจน์กรณีสวรรคตอันลึกลับซับซ้อน เว้นไว้แต่จะมีใครสนับสนุนออกทุนรอนให้แต่งเรื่องอิงพงศาวดารไปในรูปนั้น
ลักษณะไม่ใช้เหตุผล (irrationalism) ของบทวิจารณ์ของสุลักษณ์เป็นแบบฉบับ (typical) ของท่าทีของพวกนิยมเจ้าในสมัยนั้นเมื่อพูดถึงปัญหาปรีดีและกรณีสวรรคต. (เพียงการวิจารณ์ศาลและระบบกฎหมายไทยก็ถูกถือเป็นการพยายาม “หักล้างหลักอธิปไตยหนึ่งในสามของเรา”!) ปฏิกิริยาต่อ The Devil's Discus ของสุลักษณ์ยังสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ในความเห็นของผม มีความสำคัญอย่างมากในการเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (ตั้งแต่กรณี “สมุดปกเหลือง” 2476 เป็นต้นมา) กล่าวคือในสังคมไทยนั้น royalism กับ anticommunism เป็นสิ่งที่ควบคู่กันอย่างใกล้ชิด. ในบทความที่ตีพิมพ์ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับต่อมา (ปีที่ 2 ฉบับที่ 2, ตุลาคม 2507) เพื่อขยายความต่อจากบทวิจารณ์ของเขา, สุลักษณ์กล่าวว่า “จะเป็นเผอิญหรืออย่างไรก็ตาม พอหนังสือนั้น (The Devil's Discus) ออกไม่ทันไร คอมมูนิสต์ก็มีบทบาทใหญ่อย่างน่าสะพรึงกลัว”!


4.

ผู้แปล กงจักรปีศาจ เป็นภาษาไทยคือเรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช พี่ชายของเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช. ดังที่ทราบกันทั่วไป, เรือเอกวัชรชัยซึ่งเป็นเลขานุการของปรีดี พนมยงค์ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี คือผู้ที่พวกนิยมเจ้ากล่าวหาว่าเป็น “มือปืน” ลอบปลงพระชนม์. เรือเอกชลิตเองมีประวัติอย่างไร? ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่? (วัชรชัยถึงแก่กรรมในปี 2538) ผมไม่ทราบ. เขาได้มาเป็นผู้แปล กงจักรปีศาจ อย่างไร? เมื่อใด? (เมื่อฉบับภาษาอังกฤษออกจำหน่ายครั้งแรกหรือเมื่อปรีดีจะฟ้องคึกฤทธิ์?) ใช้เวลาในการแปลนานแค่ไหน? ไม่มีการชี้แจงไว้ทั้งในฉบับพิมพ์และฉบับโรเนียวที่มีอยู่.

ในแง่สำนวนแปลภาษาไทย ในส่วนที่แปลได้ถูก นับว่าเรือเอกชลิตมีสำนวนแปลที่ดีทีเดียว. แต่ปัญหาคือ จากการตรวจสอบกับฉบับภาษาอังกฤษอย่างคร่าวๆ ผมพบว่าเขาแปลผิดความหมายหลายแห่ง เรียกได้ว่าเกือบจะทุกหน้าที่ผมลองสุ่มเปิดเปรียบเทียบกันดู จะมีบางประโยคที่แปลผิด. ส่วนใหญ่ของความผิดพลาดเหล่านี้ ดูเหมือนจะไม่ทำให้สาระของหนังสือผิดเพี้ยนไปโดยสำคัญอะไร. อย่างไรก็ตาม, ความผิดพลาดบางแห่งก็ทำให้รายละเอียดที่สำคัญบางประเด็นเสียไป จะขอยกตัวอย่างมาให้ดูดังนี้:

ในหน้า 71 ของฉบับภาษาอังกฤษ ครูเกอร์เล่าว่า ที่ท่าอากาศยานสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะทรงโดยสารเครื่องบินที่จะนำพระองค์กลับไทย ในหลวงอานันท์ฯทรงแอบหลบไปโทรศัพท์ถึง “a student friend” (พระสหายนักเรียนผู้หนึ่ง) “With journalists swarming about he had time but to say au revoir. He told no one of the call.” ซึ่งชลิตแปลว่า “พระองค์ทรงมีเวลาที่จะรับสั่งกับบรรดานักหนังสือพิมพ์ซึ่งมาห้อมล้อมพระองค์อยู่ว่า 'ลาก่อน' แต่พระองค์มิได้ทรงรับสั่งถึงเรื่องที่ได้ทรงโทรศัพท์กับใคร” แต่ความจริง ควรจะแปลว่า “ด้วยเหตุที่มีนักหนังสือพิมพ์คอยห้อมล้อมเต็มไปหมด, พระองค์จึงทรงมีเวลารับสั่งต่อพระสหายผู้นั้นเพียงว่า 'ลาก่อน' พระองค์มิได้ทรงบอกใครถึงเรื่องที่ได้ทรงโทรศัพท์นั้น” (ในหน้าเดียวกันนั้น ยังมีประโยคที่แปลผิดอีกหลายประโยค)

ในหน้า 110 ของฉบับภาษาอังกฤษ ครูเกอร์เขียนว่า “Rejection of the accident theory could scarcely have been more embarrassing to Pridi and the authorities who had set so much store by it in trying to hush up the whole affair.” ซึ่ง ชลิต แปลว่า “การไม่ยอมรับทฤษฎีอุบัติเหตุของคณะกรรมการฯทำให้นายปรีดีซึ่งเห็นความสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้ มีความรู้สึกอึดอัด และเจ้าหน้าที่ได้พยายามที่จะทำให้เรื่องนี้ทั้งหมดให้เงียบหายไป.” แต่ที่ถูกควรจะแปลว่า “การปฏิเสธทฤษฎีอุบัติเหตุของคณะกรรมการฯสร้างความอับอายอย่างใหญ่หลวงให้กับทั้งนายปรีดีและทางการที่หวังอย่างมากจะอาศัยทฤษฎีนี้มาทำให้เรื่องทั้งหมดเงียบหายไป”

ในหน้า 166 ของฉบับภาษาอังกฤษ ครูเกอร์เล่าคำให้การในฐานะพยานโจทก์ของสมเด็จพระราชชนนี “She recalled a private audience Pridi had of the King after dinner on 7 June.... Ananda told her that under the constitution he had the power of appointment [of the Regency Council]. She confirmed the Buddhist tutor's reporting to her Pridi's threat after this audience that he would not support the throne again.” ในฉบับแปล “สมเด็จพระราชชนนีทรงให้การว่า.... ปรีดีเข้ามาเฝ้าในหลวงอานันท์ฯเป็นการส่วนพระองค์ในวันที่ 7 มิถุนายน.... ในหลวงอานันท์ฯได้ทูลพระองค์ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ นายปรีดีได้ขู่ภายหลังการเข้าเฝ้านี้ว่าเขาจะไม่สนับสนุนพระราชวงศ์อีก” ข้อความที่ว่า “She confirmed the Buddhist tutor's reporting to her” หายไปไม่มีการแปล (อาจเป็นเพราะปัญหาการพิมพ์ก็เป็นได้) ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ในหลวงอานันท์ฯทรงเล่าเรื่อง “การขู่” ของปรีดีให้สมเด็จพระราชชนนีฟังด้วยพระองค์เอง แต่ความจริง สมเด็จฯทรงได้ยินเรื่องนี้จากปากของ “the Buddhist tutor” (อนุศาสนาจารย์ คือนายวงศ์ เชาวนะกวี ผู้ถวายอักษรไทย)

ฯลฯ....ฯลฯ....ฯลฯ

ความผิดพลาดของการแปลเหล่านี้แม้จะทำให้รายละเอียดหลายอย่างสูญไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนถึง “ภาพใหญ่” ที่สำคัญที่สุดของหนังสือ คือการตอบคำถามว่า “ใครปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ฯ?” ไม่มีใครที่ได้อ่าน กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทย ที่แปลได้ไม่สู้จะสมบูรณ์นี้แล้ว จะไม่รู้ว่าเรย์น ครูเกอร์มีคำตอบต่อปัญหานี้ว่าอย่างไร


5.

แม้ผู้ที่ไม่เคยได้เห็นหรืออ่าน กงจักรปีศาจ เลย ไม่ว่าจะเป็นฉบับจริงหรือฉบับแปล แต่หากสนใจติดตามกรณีสวรรคตอย่างใกล้ชิดจริงๆ ก็ต้องทราบว่าเรย์น ครูเกอร์ เสนอว่าในหลวงอานันท์ฯทรงปลงพระชนม์พระองค์เอง. นักเขียนนิยมเจ้าบางคนเป็นผู้เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเองด้วยซ้ำ. ในหนังสือกรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 ของพวกเขา, สรรใจ แสงวิเชียร และวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้อุทิศย่อหน้าขนาดยาวให้กับ กงจักรปีศาจ ดังนี้:
ในแนวทางที่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคับแค้นพระทัยเกี่ยวกับความรักนั้น ปรากฏว่ามีการปล่อยข่าวลือมาตั้งแต่หลังสวรรคตใหม่ๆ....

ข่าวลือเรื่องนี้ได้แพร่หลายออกไปอีก เมื่อฝรั่งนายหนึ่งนำเรื่องกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไปแต่งขึ้นเป็นหนังสือภาษาอังกฤษชื่อว่า The Devil's Discus ไม่ปรากฏว่านาย Rayne Kruger ได้รับรายละเอียดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตไปจากผู้ใด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีความสนใจในเรื่องนี้เกินกว่าที่ฝรั่งซึ่งอาจจะเคยเพียงผ่านเมืองไทยเป็นระยะสั้นๆ นาย Rayne Kruger เขียนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรักใคร่อยู่กับสาวชาวสวิส และจะถูกบังคับให้ทรงเศกสมรสกับเจ้านายไทยจึงปลงพระชนม์เอง นาย Kruger เขียนข้อความเหล่านั้นดูน่าเชื่อ เพราะมีรูปผู้หญิงให้ดูด้วย ทั้งยังได้อ้างว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเผาจดหมายก่อนวันสวรรคต ซึ่งความข้อนี้แม้แต่จำเลยในคดีสวรรคตที่นาย Kruger เขียนเรื่องราวต่างๆให้เป็นประโยชน์แก่เขาก็ยังให้การยืนยันกับศาลกลางเมืองว่าไม่รู้เรื่อง แสดงให้เห็นว่านายฝรั่งคนนี้ปั้นเรื่องและบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยตั้งใจ นอกจากนี้ นาย Kruger ยังตั้งสมมุติฐานเอาเองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยิงพระองค์ขณะประทับนั่ง อ้างด้วยว่าหมอนไม่ทะลุ ทั้งนี้เพื่อแก้ข้อขัดเขินในตำแหน่งของบาดแผลซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าบรรทม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหมอนทะลุ ที่นอนก็มีรอยกระสุนที่ตำแหน่งตรงกับพระเศียรในท่าบรรทม นอกจากนี้ นาย Kruger ยังได้พยายามอ้างหลักจิตวิทยา.... และได้เขียนเป็นเชิงจิตวิทยาวิเคราะห์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเติบโตในต่างประเทศจึงปรับพระองค์เข้ากับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้ยาก จึงทำให้มีโอกาสปลงพระชนม์เองมากขึ้น นับเป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งที่ฝรั่งพยายามจะหลอกคนไทย มีคนไทยเป็นจำนวนมากที่เติบโตในต่างประเทศ แต่ก็สามารถปรับตัวให้อยู่ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้าเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็ยิ่งจะแน่ใจได้ว่า พระองค์ท่านจะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างเจ้านายไทย.... ข้อเขียนของนาย Rayne Kruger ในหนังสือเรื่อง The Devil's Discus ทั้งหมดมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างน่าละอายที่สุด จึงเป็นที่น่าสลดใจว่าสิ่งตีพิมพ์โกหกชิ้นนี้ได้กลายเป็นที่เชื่อถือของคนไทยบางหมู่บางเหล่า โดยเฉพาะนักเรียนไทยในต่างประเทศที่ยกย่องเชิดชูชาวต่างชาติและเห็นว่าเมื่อเป็นฝรั่งแล้วทำอะไรก็ถูกหมด หลักฐานและข้อเท็จจริงอื่นๆไม่ต้องคำนึงถึง

ข่าวลือทำนองที่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีเรื่องขัดเคืองกับพระราชชนนีนั้นมีการปล่อยข่าวลือไปหลายกระแส นับตั้งแต่ทรงขัดเคืองกันด้วยเรื่องธรรมดาจนกระทั่งถึงเรื่องที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระองค์สมเด็จพระราชชนนี ข่าวลือดังกล่าวนี้เป็นสิ่งอัปยศอดสูสำหรับคนไทยและแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมทรามทางสภาพจิตของคนที่ปล่อยข่าวลืออย่างเห็นได้ชัด และที่น่าละอายที่สุดก็คือ ข่าวลือนี้ออกมาจากสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ค่อนข้างจะแน่นอนว่า ประโยคสุดท้าย สรรใจและวิมลพรรณตั้งใจจะหมายถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผมอ่านแล้วก็อดขันไม่ได้ ที่ด้านหนึ่งพวกนิยมเจ้าอย่างทั้งคู่มีอคติต้องการจะประณามมหาวิทยาลัยที่ปรีดีตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่กล้าระบุชื่อออกมาตรงๆ. ที่น่าขันยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ท้ายประโยคนี้มีเครื่องหมายดอกจันทน์ (*) ใส่ไว้ด้วย และมีข้อความเป็นเชิงอรรถของเครื่องหมายดอกจันทน์ว่า “บันทึกการสอบสวนของตำรวจ” น่าสงสัยว่า จะเป็นการเติมเข้ามาทีหลัง เพราะเชิงอรรถอื่นๆในหนังสือเป็นตัวเลข 1, 2, 3... เรียงลำดับกันไป ชะรอยว่าสรรใจ และวิมลพรรณ หลังจากพิมพ์ปรู๊ฟหนังสือไปแล้วเกิดเกร็งขึ้นว่า แม้จะไม่ระบุชื่อธรรมศาสตร์แล้วก็ตามอาจจะถูกหาว่าด่าธรรมศาสตร์โดยไม่มีหลักฐาน จึงใส่เข้ามาให้ดูน่าเชื่อถือ แต่กลับชวนขันมากกว่า เพราะการอ้าง “บันทึกการสอบสวนของตำรวจ” นี้ เลื่อนลอยจนหาค่าอะไรไม่ได้. (ขอให้ผู้อ่านกลับไปดูบทวิจารณ์ของนักวิชาการรุ่นใหม่ 2 คนที่ผมยกมาในตอนแรก ซึ่งแสดงความชื่นชมหนังสือของสรรใจและวิมลพรรณ โดยเฉพาะในประเด็นที่ “มีเชิงอรรถ...ตามลักษณะวิชาการน่าเชื่อถือ”!)

ที่ชวนขันในลักษณะ ironic อีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ กงจักรปีศาจ ก็คือ ในขณะที่หนังสือเป็นของ “ต้องห้าม” เพราะความที่ถูกกล่าวหาว่าทำความเสียหายให้พระราชวงศ์ พวกนิยมเจ้าอย่างสรรใจและวิมลพรรณกลับเป็นฝ่ายนำมาเล่าให้คนอ่านทั่วไปที่ไม่มีโอกาสได้รู้จักหนังสือเพราะความต้องห้ามนั้น ว่าสาระสำคัญของหนังสือคืออะไร!

อันที่จริง สรรใจและวิมลพรรณยังได้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ กงจักรปีศาจ อีกประเด็นหนึ่ง ดังนี้:
นาย Kruger ได้บรรยายชักนำให้ผู้อ่านหนังสือ The Devil's Discus เข้าใจในทำนองนี้ [อุบัติเหตุปืนลั่นโดยผู้อื่น] เช่นเดียวกัน ด้วยพยายามเขียนในทำนองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาเล่นปืนกันเป็นประจำ ถึงแม้ในท้ายบทของตอนนั้นจะให้ความเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไม่ได้สวรรคตเพราะอุปัทวเหตุโดยสมเด็จพระอนุชาก็ตาม แต่ก็แสดงเจตนาให้เห็นว่า หนังสือเล่มนี้พยายามสอดใส่ความเท็จเพื่อให้อ่านเข้าใจไขว้เขว
ในแง่นี้ต้องนับว่า สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ในบทวิจารณ์ประณาม กงจักรปีศาจ ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ฉลาดกว่า คือหลีกเลี่ยงไม่ยอมเปิดเผยว่าครูเกอร์เขียนพาดพิงถึงใคร: “เขายกตัวอย่างใครต่อใครอย่างเหลือเชื่อ อย่างขาดสัมมาคารวะ อย่างแสดงความทรามในใจของเขาออกมาให้ปรากฏ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสรุปว่าไม่มีใครลอบปลงพระชนม์ดอก และก็ไม่ใช่คดีอุปัทวเหตุ หากเป็นการปลงพระชนม์ชีพเอง เขาสร้างนวนิยายขึ้นจนพระเจ้าอยู่หัวรัช-กาลที่ 8 ทรงมีคู่รักชาวสวิส จนจะทรงถูก 'คลุมถุงชน' กับเจ้านายฝ่ายในที่สูงศักดิ์ในนี้ ฯลฯ” (โปรดสังเกตเครื่องหมาย “ฯลฯ” แปลได้ว่าจะไม่ยอมเล่ามากไปกว่านี้)

อาจกล่าวได้ว่า แม้แต่ในปี 2517 ที่มีผู้พิมพ์ฉบับแปลออกมาแต่ไม่กล้าวางขายโดยเปิดเผย กงจักรปีศาจก็ไม่ใช่หนังสือที่บรรจุ “ความลับดำมืด” ของกรณีสวรรคตที่น่าตื่นใจอย่างแท้จริง ทฤษฎี “อุปัทวเหตุโดยสมเด็จพระอนุชา” นั้น ในหนังสือที่ โปรเจ้า-แอนตี้ปรีดี อย่างเต็มที่ของสรรใจและวิมลพรรณเอง ก็มีการนำมาอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาไม่น้อยกว่าครูเกอร์ (ดูหน้า 161-162, 176-180) ถึงกระนั้น สำหรับผู้สนใจกรณีสวรรคตอย่างจริงจัง กงจักรปีศาจ ยังเป็นหนังสือที่จำเป็นต้องอ่าน (required reading) โดยเฉพาะในประเด็น “คู่รักสาวชาวสวิส” และทฤษฎีปลงพระชนม์เองที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งนับเป็นส่วนที่ “ใหม่” (original) ที่สุดของหนังสือ ยิ่งในปัจจุบันที่ประเด็นแบบนี้ไม่อาจนับเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้อีกต่อไป แม้ว่าอันที่จริงส่วนที่ original ที่สุดของหนังสือนี้ ก็เป็นส่วนที่อ่อนที่สุดและน่าเชื่อถือน้อยที่สุดด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น