วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

ขั้วอำมาตย์ผงาด ยึดสภาสูง-สกัด"ทักษิณ"
« เมื่อ: เมื่อวานนี้ เวลา 09:29:58 PM »


73 ส.ว.สรรหา - ขั้วอำมาตย์ผงาด 
กลุ่ม 40 ส.ว."คึก" ลูกข่าย คมช."คัก" ยึดวุฒิสภา - สกัด "เพื่อนแม้ว"
 ในประเทศ

ในที่สุดรายชื่อ 73 ส.ว.สรรหา โดยการเลือกเฟ้นเป็นอย่างดีของของคณะกรรมการสรรหา 6 อรหันต์ทองคำ ก็ประกาศผลการสรรหาอย่างเป็นทางการแล้ว

กระแสสังคมไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ตอบรับเท่าที่ควร กับชื่อที่ประกาศออกมา เพราะกริ่งเกรงว่าสภาสูงจะขาดความสง่างาม และกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของอำนาจที่มองไม่เห็น เนื่องเพราะ "ตัวบุคคล" ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามา มีจำนวนไม่น้อยที่ "แบ๊กกราวด์" สามารถโยงใยไปถึงกลุ่มบุคคลที่เรืองอำนาจในอดีต

โดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รู้กันดีว่าเป็นเจ้าของ "ตัวจริง-เสียงจริง" ของพรรคเพื่อไทย

จนทำให้คาดการณ์ว่าการเมืองในระบอบคือ เวทีรัฐสภา หากเกิดปรากฏการณ์พรรคฝ่ายค้านพลิกบทบาทกลับมาเป็นฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหารในปัจจุบันต้องกลับไปทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบแล้ว ฟันธงล่วงหน้าได้ว่า การเมืองในซีก "สภานิติบัญญัติ" ระอุถึงขั้นปรอทแตกได้ง่าย

เพราะจะเห็นการรับ-ส่ง ลูก ระหว่างสภาผู้แทนราษฎร กับ วุฒิสภา ในการ "เกาะติด" ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอย่างกระชั้นชิดแน่นอน

ในทางกลับกัน ฝ่ายบริหารยังมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำอยู่เช่นเดิม ก็เชื่อแน่ว่าบรรยากาศอวยกันไปมาระหว่าง 2 สภาแน่นอน

 โดยหลักการของการมีวุฒิสภา รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดองค์ประกอบของสมาชิกวุฒิสภาไว้ 2 ส่วน โดยส่วนแรกมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เป็น ส.ว.ประจำจังหวัด และอีกส่วนหนึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 สาขา ได้แก่ ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพและภาคอื่นๆ

ฉะนั้น โดยองค์ประกอบของบุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกสภาสูงนั้น จึงสามารถทำหน้าที่ได้เป็นเหมือนกับ "เซพทีคัต" ทางการเมือง คอยเบรกหรือบรรเทาปัญหาก่อนที่จะบานปลายลุกลามใหญ่โต

แต่หากบังเอิญว่าในองค์กรที่ต้องทำหน้าที่สร้างสมดุลให้กับการเมืององค์รวม เพราะความเสียศูนย์ในตัวขององค์ประกอบสภา แล้วอะไรจะเกิดขึ้น?

ส่องกล้องดูรายชื่อ 73 ส.ว.สรรหา ใหม่ ก็พบว่ากลายเป็น ส.ว.สรรหา เก่า เสีย 31 คน ได้แก่ นางกอบกุล พันธุ์เจริญวรกุล นายคำนูณ สิทธิสมาน น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นางตรึงใจ บูรณสมภพ นายถาวร ลีนุตพงษ์ นายพิเชต สุนทรพิพิธ นายวิทวัส บุญญสถิตย์ นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ นายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล นายธวัช บวรวนิชยกูร นางนิลวรรณ เพชระบูรณิน นายบุญชัย โชควัฒนา นางยุวดี นิ่มสมบูรณ์ พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

นางกีรณา สุมาวงศ์ นายตวง อันทะไชย น.ส.ทัศนา บุญทอง นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ น.พ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ นายสมชาย แสวงการ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ นายอนุรักษ์ นิยมเวช พล.อ.เกษมศักดิ์ ปลูกสวัสดิ์ นายประสงค์ นุรักษ์ นายมณเฑียร บุญตัน พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี นายสมัคร เชาวภานันท์ และ นายอโนทัย ฤทธิปัญญาวงศ์

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ในจำนวน ส.ว.สรรหา ชุดเก่า ที่ได้รับสรรหากลับเข้ามาทำงานต่ออีกครั้งนั้น อยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว. ถึง 21 คน

คงยังไม่ลืมกันว่า บทบาทการทำหน้าที่สภาพี่เลี้ยงของกลุ่ม 40 ส.ว. นี้ มีความใกล้ชิดและสอดคล้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองบางกลุ่ม ที่อยู่ตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคไทยรักไทยอยู่ จนมีหลายคนแอบเรียก ส.ว. กลุ่มนี้ลับหลังว่า "ส.ว.เสื้อเหลือง"

 ขณะที่ ส.ว.สรรหาหน้าใหม่ ที่แจ้งเกิดเข้ามาได้อีก 51 คน เมื่อดูความเป็นไปในอดีตที่ผ่านมา เชื่อว่าคงทำให้ "คนรักแม้ว" ขนหัวลุกไปตามๆ กัน เพราะส่งตรงมาจากกลุ่มก้อนของขั้วอำนาจที่เคยยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ชื่อของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) บรรดาสมาชิกพรรคไทยรักไทย คงคุนเคยกันดี

พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมทหาร (ตท.6) รุ่นเดียวกับแกนนำ คมช. พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ อดีต ผอ.ททบ.5 เพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในปัจจุบัน

หรือแม้กระทั่ง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีตที่ปรึกษา รมว.กลาโหม น้องชาย พล.อ.ประวิตร

ถามว่า นี่คือปรากฏการณ์แห่งการรุกคืบเข้าใกล้ศูนย์กลางอำนาจการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ใช่หรือไม่ ?

และหากนำมาประกบกับ ส.ว.สรรหาหน้าใหม่ ที่เป็นแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มาก่อนเก่า นักคิดนักวิชาการ นักกฎหมาย และเครือข่ายของพรรคประชาธิปัตย์ อีกกว่า 10 คน ก็เท่ากับว่า น้ำหนักของ ส.ว. ซีกที่ "ไม่เอาทักษิณ-ไม่เอาเสื้อแดง" ก้ำกึ่งเกินครึ่งค่อนสภาสูงไปแล้ว

นายวันชัย สอนศิริ ทนายความ และผู้จัดรายการ "คลายปม" ทางช่อง 11 ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของรัฐบาล ขณะที่ นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ ก็ใกล้ชิดกับพรรคสีฟ้า เมื่อครั้งหลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ก็เคยรับหน้าที่เป็นหนึ่งในกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้องในข้อหาทุจริตมาแล้ว

ส่วน นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง "นามสกุล" คงจะพอคุ้นหูใครหลายคน หรือ นายปัญญา เบ็ญจศิริวรรณ ส.ว.สรรหาจากภาคอื่นๆ ก็เป็นพี่ชายของสามี นางนาตยา เบ็ญจศิริวรรณ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดียวกันกับ นายสุธรรม พันธุศักดิ์ เจ้าของทิฟฟานี่ บิดา น.ส.อริสา พันธุศักดิ์ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.ชลบุรี ของพรรคประชาธิปัตย์

ทำให้เมื่อประกาศรายชื่อ ส.ว.สรรหาชุดใหม่ออกมา พรรคเพื่อไทยถึงกับเต้นผาง รีบตั้งโต๊ะแถลงข่าว เตรียมร้องเรียนกระบวนการสรรหาว่าไม่ชอบธรรม ...เหมือนรู้ชะตากรรมล่วงหน้าว่าสภาสูงไม่ใช่มหามิตรอีกต่อไป
(ที่มา มติชน สุดสัปดาห์ ,ฉบับประจำวันที่ 15-21 เมษายน 2554)*

http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น