วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

ความลับใต้ปีกงาม ชายแดนใต้


โดย ปาแด งา มูกอ
16 เมษายน 2554

ผมขอนำข้อมูลจากเว็ปมติชน มาเปรียบเทียบกันระหว่าง โครงการมหาดไทยอาสาปกป้องสถาบันฯ กับ โครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 ชายแดนใต้ ว่า โครงการไหนจะ คอรับชั่น โกง กิน เก่งกว่าใคร 

ตลอดกว่า 7 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโครงการของรัฐโครงการหนึ่งที่โด่งดังพอสมควร และประชาชนในพื้นที่ล้วนรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ "โครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท"

โครงการที่ว่านี้เกิดขึ้นจาก "โจทย์" ที่รัฐตั้งเอาไว้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาคนในพื้นที่ไม่มีงานทำ จึงง่ายต่อการถูกชักจูงให้ไปเป็นแนวร่วมของขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ด้วยเหตุนี้รัฐจึงจัดสรรงบประมาณลงไปเพื่อ "จ้างงานระยะสั้น" กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

ด้านหนึ่งก็เพื่อตัดวงจรการขยายตัวของแนวร่วมก่อความไม่สงบ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งซบเซาต่อเนื่องนับ ตั้งแต่เกิดความรุนแรงรายวันเป็นต้นมา

โครงการนี้ตามหลักการแล้วฟังดูดี และใช้งบประมาณปีหนึ่งๆ จำนวนไม่น้อย เนื่องจากมีการจ้างงานหลายหมื่นตำแหน่ง...

ทว่านับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 ซึ่งเริ่มโครงการนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก กลับมีข้อครหาตามมามากมาย โดยเฉพาะความโปร่งใสและปัญหาการรั่วไหลของเม็ดเงิน เนื่องจากมีเสียงติฉินนินทาว่า บางส่วนกลายเป็นงบที่ฝ่ายความมั่นคงนำไปใช้สร้างเครือข่ายและแจกจ่ายให้กับ พรรคพวกของตนเอง โดยไม่ได้เป็นการ "จ้างงาน" เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้จริงๆ

ขณะเดียวกันบุคคลที่รับเงินจากโครงการฯ ซึ่งเรียกกันในพื้นที่ว่า "ลูกจ้าง 4,500" ก็มีสถานะกลายเป็น "คนของรัฐ" จึงตกเป็นเป้าสังหารของบรรดากลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามี "ลูกจ้าง 4,500" ต้องสังเวยชีวิตไปจำนวนไม่น้อย

“ทีมข่าวอิศรา" นำเสนอสกู๊ปพิเศษความยาว 3 ตอน เพื่อล้วงลึกโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาทว่ามีปัญหาอย่างไร สัมฤทธิ์ผลตรงตามเป้าหมาย "จ้างงาน" หรือว่าเป็นการ "ผลาญงบ" ก้อนโต

ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่มองโครงการนี้ว่าเป็น "ความหวังสุดท้าย" เพื่อต่อลมหายใจในการดำรงชีพของพวกเขา หรือกลับต้องเผชิญเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ตกเป็นเป้าของการก่อเหตุรุนแรง

รู้จักโครงการ 4,500

"โครงการจ้างงาน 4,500" มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โครงการสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท" เดิมรับผิดชอบโดยกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กอ.สสส.จชต. ริเริ่มมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงานและสร้างรายให้กับประชาชนในพื้นที่ ต่อมาภายหลังอยู่ในความดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)

ลักษณะของโครงการจะเป็นการจ้างงานแบบจ้างเหมาไม่จำกัดวุฒิการศึกษา โดยมีอัตราค่าจ้างรายละ 4,500 บาทต่อเดือน กรณีที่ทำงานไม่ครบตามกำหนด ให้จ้างวันละ 150 บาทต่อวันต่อคน

สำหรับจำนวนลูกจ้างโครงการฯ ขึ้นอยู่กับนโยบายและงบประมาณในปีนั้นๆ โดยในปีงบประมาณแรกๆ เคยจ้างสูงถึง 44,000 อัตรา ขณะที่ปีงบประมาณล่าสุดเท่าที่ตรวจสอบได้คือปี 2552 ถึง 2553 อยู่ที่ 24,710 อัตรา

ใช้งบประมาณเพื่อการนี้ทั้งสิ้นเดือนละ 111,195,000 บาท ตลอดทั้งปี 1,334,340,000 บาท

ทั้งนี้ ตำแหน่งงานจะถูกจัดสรรไปตามหน่วยงานรัฐที่ทำงานในพื้นที่ ทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครอง ยกตัวอย่างในปี 2551 ถึง 2552 ตัวเลขลูกจ้างโครงการจ้างงานเร่งด่วนเฉพาะในโควต้าที่พิจารณาโดย "ฝ่ายทหาร" มีทั้งสิ้น 8,285 คน แยกเป็น จ.ยะลา 1,869 คน ปัตตานี 2,475 คน นราธิวาส 2,904 คน และ จ.สงขลา 1,037 คน เป็นต้น

"บิ๊ก ขรก.-ท้องถิ่น"สบช่องแจกพวกพ้อง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา "โครงการจ้างงาน 4,500" แม้จะช่วย สร้างรายได้ให้กับประชาชนผู้เดือดร้อนได้จำนวนหนึ่ง แต่ขณะะเดียวกันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบและสร้างปัญหาในพื้นที่ไม่น้อย เหมือนกัน

จากการลงพื้นที่ของ "ทีมข่าวอิศรา" เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย พบสภาพปัญหาพอสรุปได้ดังนี้

1.ประชาชนบางส่วนมองว่าโครงการนี้เป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับเครือข่ายและ พรรคพวกของข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น และผู้นำชุมชน มีการจัดสรรโควต้าตำแหน่งงานให้กับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของฝ่ายความมั่นคง ไล่ลงไปจนถึงผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัวที่รับผิดชอบระดับอำเภอ, นักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นบางคน บางกลุ่ม รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นคนของฝ่ายปกครอง

ข้อมูลจากการตรวจสอบพบว่า ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ เช่น แม่ทัพ จะได้รับการจัดสรรอัตราการจ้างงานในโครงการจ้างงาน 4,500ฯ ปีละ 200 อัตรา ขณะที่ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลขตัวเดียว (รับผิดชอบพื้นที่ระดับจังหวัด) ได้รับการจัดสรรตำแหน่งงาน 80 อัตรา หรือบรรดาผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่สนับสนุนงานของภาครัฐ ก็จะได้รับการจัดสรรตำแหน่งงานคนละ 5-10 อัตรา เป็นต้น

ทั้งนี้ ตำแหน่งงานที่ได้รับการจัดสรรดังกล่าวนี้ เมื่อติดตามตรวจสอบลึกลงไปจะพบว่า มีตำแหน่งงานจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ตกถึงประชาชนผู้เดือดร้อนหรือครอบครัวของเหยื่อสถานการณ์รุนแรงจริงๆ ที่ควรได้รับการเยียวยา แต่กลับมีการบรรจุสายข่าวของรัฐ, ลูกหลานของนักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านบางรายเข้าเป็นลูกจ้างของโครงการฯ โดยที่ลูกจ้างบางคนก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำงานอะไร หรือบางส่วนที่เป็นสมัครพรรคพวกของผู้มีอำนาจในท้องถิ่นก็ได้รับการบรรจุ เข้าเป็นลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยใช้งบจากโครงการจ้างงานเร่งด่วนฯ จ้างแทน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ตำแหน่งงานจำเป็น

นายกเทศมนตรีรายหนึ่งในพื้นที่ จ.ยะลา ให้ข้อมูลว่า แต่ละปีจะได้รับการจัดสรรตำแหน่งงานมาจำนวนหนึ่ง เมื่อมีตำแหน่งงานในมือก็จะมีเจ้าหน้าที่หรือนักการเมืองท้องถิ่นติดต่อมา เพื่อฝากฝังให้ลูกหลานหรือพรรคพวกของตนเองเข้าทำงาน ลูกจ้างหลายคนเข้าใจว่าเป็นการจ้างฟรี ไม่ต้องทำงานอะไร เหมือนเป็นเงินแจกของภาครัฐเดือนละ 4,500 บาท

"บัญชีผี" เบิกเงินแต่ไร้งาน

2.มีการจัดสรรตำแหน่งงานให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) บางองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อ "รับงาน" หรือ "โครงการ" จากหน่วยงานของรัฐ โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นผู้ประสานงานเพื่อดึงตำแหน่งงานมา จากนั้นก็จะมีการจ้างงานจริงๆ จำนวนหนึ่ง กับอีกจำนวนหนึ่งจะจัดทำ "บัญชีผี" ขึ้นเป็นรายชื่อลูกจ้างที่ไม่มีอยู่จริง

อีกรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏในพื้นที่ก็คือ เอ็นจีโอกำมะลอบางแห่งจะไปชักชวนนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ ให้มาช่วย งาน โดยนำลายมือชื่อคนเหล่านั้นไปเบิกเงินจากโครงการจ้างงานเร่งด่วนฯ แต่เมื่อถึงคราวจ่ายเงิน บางคนก็ไม่ได้รับเงินเดือน ขณะที่บางคนก็ได้ต่ำกว่า 4,500 บาท เพราะถูกหักหัวคิว ซึ่งนักศึกษาจบใหม่เหล่านี้ บางรายไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกนำชื่อไปเบิกเงินในฐานะที่เป็น "ลูกจ้าง 4,500"

ทั้งนี้ ผลกระทบจากขบวนการ "กินหัวคิว" งบจ้างงาน 4,500 บาท กับการจัดสรรตำแหน่งงานอย่างไม่โปร่งใสและมีการรั่วไหลของงบประมาณดังกล่าว ทำให้ "เงินและงาน" ไม่ได้ตกถึงมือผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้เกิดเงื่อนไขความไม่พอใจหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นด้วย

ทหารยอมรับมีรั่วไหลแต่แก้ไขแล้ว

พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ นายทหารฝ่ายอำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวถึงปัญหาของโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาทว่า ช่วงปีแรกๆ ของโครงการได้เน้นไปยังกลุ่มด้อยคุณภาพ (ว่างงานเพราะไม่มีวุฒิการศึกษา) และกลุ่มที่ต้องการพัฒนาอาชีพ แต่เมื่อได้ประเมินผลหลังจากทำไปได้ 2 ปีพบว่ามีการจ้างงานในอัตราที่มากเกินไป (ปีแรก 44,000 อัตรา) ทำให้บางส่วนไม่ได้ผลในเชิงประสิทธิภาพ เช่น จ้างแล้วไม่ได้ไปทำงาน อยู่บ้านเฉยๆ แต่กลับได้รับเงิน เป็นต้น

"ยอมรับว่าช่วงแรกๆ เราดูแลได้ไม่ทั่วถึง และมองแต่มิติของชาวบ้าน ไม่ได้มองถึงผู้ประกอบการ ปีถัดมาทางหน่วยงานที่รับผิดชอบคือสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.)และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงได้วิเคราะห์ร่วมกันและสรุปว่าน่าจะเปลี่ยนแปลง จึงมีการปรับรูปแบบของโครงการมาตั้งแต่ปี 2550"พ.อ.ฐกร กล่าวต่อว่า โครงการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ มุ่งจ้างงานไปที่กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเยียวยา ให้จ้างงาน 1 อัตราต่อ 1 ครอบครัว

2.กลุ่มภารกิจเสริมสร้างสันติสุขในชุมชน

3.กลุ่มการฝึกทักษะอาชีพตามความต้องการของประชาชน โดยส่งเสริมให้เยาวชนทำงานในสถานประกอบการต่างๆ ในพื้นที่

"การจ้างงานในกลุ่มที่ได้รับเยียวยา คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ จะได้สิทธิครอบครัวละหนึ่งอัตรา ให้ทำงานใกล้บ้านซึ่งไม่กระทบกับการดำรงชีวิตและการเดินทาง ถ้าอยู่ใกล้โรงเรียนก็ให้ดูแลเด็ก อยู่ใกล้มัสยิดก็ดูแลมัสยิด สำหรับคนที่สะดวกเรื่องการเดินทางอาจไปทำงานที่อำเภอก็ได้ ครอบครัวไหนไม่ต้องการก็ไม่บังคับ"

"ยอมรับว่าเมื่อก่อนเราไม่มีกฎเข้มงวด บางคนโดนสะเก็ดระเบิดนิดเดียวก็ได้เข้ามาทำงาน ฉะนั้นต้องดูแลใหม่ไม่ให้มีการทุจริต และจ้างงานตามสถานการณ์ที่เกิดจริง ยืนยันว่าตั้งแต่ปรับปรุงโครงการใหม่มีการรั่วไหลน้อยมาก เพราะจัดระบบการควบคุมได้ดีพอสมควร โดยกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนว่าสำหรับกลุ่มเยียวยาต้องบาดเจ็บสาหัสหรือ เสียชีวิตเท่านั้น ทายาทจึงจะได้รับสิทธิ์จ้างงาน ถ้าผู้ประสบเหตุเป็นเด็ก ก็ให้ญาติมาทำงานแทน อย่างเหตุเกิดเดือนนี้ เดือนถัดไปต้องได้รับการจ้าง"

พ.อ.ฐกร กล่าวอีกว่า ระยะหลังมีการเก็บสำรองตำแหน่งงานสำหรับกลุ่มที่ต้องได้รับการเยียวยาเป็น การเฉพาะด้วย เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจะเพิ่มขึ้นตลอดและเป็น กลุ่มใหญ่ ตอนนี้เข้าระบบแล้ว และเพิ่มการฝึกอาชีพเข้าไป โดยมี "โครงการทำดีมีอาชีพ" ของกองทัพบกรองรับ

ซื้อความสงบหมู่บ้านละ 9 หมื่น

นายทหารจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวต่อว่า ตำแหน่งงานยังจัดสรรไปยังกลุ่มภารกิจเสริมสร้างสันติสุขในชุมชน โดยมอบหมายให้หน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) และหน่วยทหารในแต่ละจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกคนเข้าเป็นลูกจ้างของโครงการฯภาย ใต้นโยบาย "รางวัลของหมู่บ้านแห่งความดี" หมู่บ้านไหนที่ มีการดูแลชุมชนได้ดี จะมีการจ้างงานทีมละ 20 คนคอยดูแลความปลอดภัย รัฐจ่ายให้เดือนละ 90,000 บาทต่อชุมชน แต่ต้องมีการฝึกอบรมก่อนทำงาน และมีการฝึกทบทวน มีประชุมเดือนละครั้ง

หลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้สำหรับ "รางวัลหมู่บ้านแห่งความดี" มีอยู่ 3 ข้อคือ ห้ามมีเผา ซุ่มโจมตี และวางระเบิดในชุมชน หากดูแลไม่ได้ก็จะจ้างงานชุมชนอื่นที่ดูแลชุมชนได้ดีกว่าแทน

"โครงการนี้ทำให้ชุมชนตื่นตัวกันมาก มีการจ้างงานชุมชนละ 10-20 คน ในกว่า 900 หมู่บ้านทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" พ.อ.ฐกร ระบุ

ลูกจ้างหน่วยงานรัฐล้มเหลวสุด

อีกกลุ่มหนึ่งคือฝึกทักษะอาชีพตามความต้องการของประชาชน พ.อ.ฐกร อธิบายว่า กลุ่มนี้มีสองรูปแบบ คือ ให้ประชาชนหรือกลุ่มเยาวชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพ แล้วภาครัฐสร้างงานให้ โดยทำงานแบบบูรณาการกันทั้งจังหวัด แต่ปัญหาที่พบคือเมื่อได้เงินเดือนจากการจ้างงาน 4,500 บาทแล้ว บางคนก็คิดว่าเพียงพอ ไม่ขวนขวายที่จะทำอะไรต่อ ทำให้พึ่งพาตัวเองได้ช้า ซึ่งขัดกับเป้าหมายของโครงการที่ต้องการให้ประชาชนพึ่งตนเองได้

อีกรูปแบบหนึ่งคือร่วมมือกับสถานประกอบการ โดยรัฐจะจ่ายเงินให้ลูกจ้างได้ที่รับเลือกเข้าไปทำงานเดือนละ 4,500 บาท แล้วให้สถานประกอบการออกเงินเพิ่มให้อีก 500 บาทขึ้นไป บวกกับเงินประกันสังคม

"ภายหลังเราเพิ่มหลักเกณฑ์ว่า หากลูกจ้างในโครงการทำงานแล้วมีประสิทธิภาพ สถานประกอบการนั้นๆ ต้องรับเข้าทำงานอย่างน้อย 60% กลุ่มนี้ได้ผลค่อนข้างน่าพอใจ สถานประกอบการก็พอใจ ส่วนกลุ่มที่ยังเป็นปัญหาคือไปทำงานกับหน่วยราชการ กลุ่มนี้จะมียอดสมัครเต็มตลอด เพราะเยาวชนชอบความสบาย แต่ไม่ได้พัฒนาทักษะอะไร ที่ผ่านมาได้เป็นพนักงานของรัฐไม่เกิน 10 คน พอหมดโครงการก็ต้องเริ่มต้นหางานใหม่"

ย้ำมุ่งสร้างงานไม่ผลาญงบ

ข้อมูลจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังระบุว่า จำนวนลูกจ้างในโครงการจ้างงานเร่งด่วนปี 2552 ถึง 2553 มีทั้งสิ้นจำนวน 24,710 คน แยกเป็น

-กลุ่มโครงการตามพระราชเสาวนีย์ (โครงการพระราชดำริและฟาร์มตัวอย่างใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) จำนวน 9,500 คน กลุ่มเยียวยาจำนวน 1,870 คน (แยกเป็น จ.นราธิวาส 850 คน จ.ยะลา 400 คน จ.ปัตตานี 500 คน และ จ.สงขลา 120 คน)

-กลุ่มเสริมสร้างสันติสุขชุมชนจำนวน 11,860 คน

-กลุ่มฝึกทักษะอาชีพ 1,200 คน

-และกลุ่มสำรองจำนวน 280 คน

"โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานมวลชนและกิจการพิเศษของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือพยายามให้ทุกพื้นที่มีความยั่งยืน งานทุกงานมีความสัมพันธ์กันอย่างบูรณาการ ขอย้ำว่าทหารลงพื้นที่มาเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์ให้อยู่ดีมีสุข ดำรงชีวิตได้ตามปกติ ฉะนั้นเราไม่ทำแบบทิ้งขว้าง ต้องให้มีความยั่งยืนและบูรณาการ ไม่ใช่ผลาญงบประมาณให้สูญเปล่า เนื้องานที่ออกมาถือว่าจับต้องได้" นายทหารฝ่ายอำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุ

พ.อ.ฐกร กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาซึ่งสอดคล้องกับแนวทางแก้ไขปัญหาความ ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ และมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

"ลึกๆ แล้วคือเป็นช่องทางในการเข้าถึงประชาชน เราต้องมีประชาชนสนับสนุน เพราะต่อให้มีกองกำลังทหารและยุทโธปกรณ์มากขนาดไหน ปัญหาภาคใต้ก็ต้องอาศัยพลังจากประชาชนทุกภาคส่วนในการคลี่คลาย ทหารไม่ได้เป็นพระเอก ต้องให้ชาวบ้านเป็นพระเอก ผู้ช่วยพระเอกคือเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ทหารช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง ถ้าทุกคนมองแบบนี้ เชิดชูพลังชุมชน มีสภาสันติสุขตำบลและภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง พื้นที่นี้จะสงบสุขเร็วขึ้น"

พ.อ.ฐกร กล่าวด้วยว่า ถึงที่สุดแล้วโครงการนี้จะปรับลดการจ้างงานลง เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้จริง และปิดโครงการไปในที่สุด ส่วนที่ยังเหลือก็อาจปรับเป็นการจ้างงานแบบปีต่อปี มีห้วงเวลาในการรับคัดเลือก ไม่ใช่จ้างงานถาวร มิฉะนั้นจะทำให้เกิดความเฉื่อยชา

นักวิชาการสับ "หากิน-ก่อปมขัดแย้ง"

ด้าน ผศ.นุกูล รัตนดากุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า โครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท เป็นปัญหาทางความรู้สึก เพราะทำให้คนในพื้นที่กลายเป็นเครื่องมือของรัฐ เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวบ้าน เพราะงานในโครงการเป็นงานที่สบาย ทุกคนอยากเข้าไปทำ จึงเกิดการใช้เส้นสายกัน อีกทั้งยังถูกแปรเจตนากลายเป็นเครื่องมือหากินมากกว่าจะทำให้เกิดความ สมานฉันท์ในพื้นที่

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ผศ.นุกูล เห็นว่า ที่ผ่านมาคนในพื้นที่สามจังหวัดอยู่อย่างพึ่งพากัน รัฐจึงควรเข้าไปส่งเสริมให้มีการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ทำโครงการให้เกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่มุ่งประโยชน์ด้านความมั่นคงเท่านั้น

"ยังมีงานพัฒนาในพื้นที่อีกมากที่ควรทำ ไม่ใช่จ้างคนไปเฝ้ายามตามหน่วยราชการต่างๆ อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในตอนนี้ ผมอยากให้รัฐมองในมิติวัฒนธรรมและชุมชนให้มากๆ เพื่อชาวบ้านจะได้สร้างอาชีพจากพื้นฐานของพวกเขาอย่างแท้จริง จะได้ไม่ต้องพึ่งพาโครงการต่างๆ ของรัฐไปเรื่อยๆ และสามารถยืนได้ด้วยตนเองอย่างภาคภูมิในที่สุด" ผศ.นุกูล ระบุ

อ่านเปรียบเทียบกันดูทั้งสองโครงการแล้ว ได้แต่นั่งรำพึงว่า สวัสดีความเศร้าประเทศไทย

*******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:เสื่อม!เสียชื่อข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอภ.ต่อยม็อบ-อมเงินอาสาปกป้องสถาบันฯ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น