วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

เมื่อนายทุนเหมืองโปแตชกับข้าราชการอุดรฯ จูบปากกัน 

ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จึงไม่มีทางออก





โดย ชุมชนฮักถิ่น
2 เมษายน 2554

รายงานสถานการณ์ : วันที่ 2 เมษายน 2554 ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เมื่อนายทุนเหมืองโปแตชกับข้าราชการอุดรฯ จูบปากกัน ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จึงไม่มีทางออก

ขอบคุณภาพจากประชาไท
จากเหตุการณ์ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) รวมหัวกันกับบริษัทเอเชียแปซิกฟิกโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ดำเนินการปักหมุดรังวัดในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โดยมีข้าราชการระดับสูงในจังหวัดอุดรธานี คอยเอื้ออำนวยเปิดทางให้

ย้อนเหตุการณ์ที่มีการจัดฉากจ้างชาวบ้านไปร่วมเวทีประชุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมเซ็นทารา จ.อุดรธานี เรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายใต้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 และเป็นการชี้แจงการจัดทำรายงานศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment: SEA) โครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พอรุ่งเช้าก็เร่งรีบทำการปักหมุดรังวัดขอบเขตเหมืองแร่ในพื้นที่ขอสัมปทานโครงการเหมืองแร่โปแตช แหล่งอุดรใต้ 4 แปลง พื้นที่ 26,446 ไร่ (ครอบคลุมเนื้อที่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม) ทันที

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เห็นว่าการปักหมุดรังวัดในครั้งนี้ไม่ชอบธรรม เพราะบริษัทเอพีพีซี และ กพร. ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 88/9 ว่าด้วยการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย ในพ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่5) ปีพ.ศ.2545 และประชาชนขาดการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ยอมรับและออกมาร่วมกันคัดค้าน ตามที่เป็นข่าว

หลังจากนั้นบริษัท เอพีพีซี ก็ได้ป่าวประกาศบอก (ข้าราชการก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์อย่างแข็งขัน) ให้ผู้ที่มีที่ดินในเขตเหมืองนำเอาเอกสารสิทธิ์ในที่ดินไปรับเงินค่าลอดใต้ถุนไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นแผนเพื่อบริษัทฯ จะได้หลอกเอาเอกสารสิทธิ์ในที่ดินไปประกอบเป็นหลักฐานในการขออนุญาตประทานบัตร และนำรายชื่อไปแอบอ้างว่าชาวบ้านให้การสนับสนุนเหมืองและเห็นชอบกับการปักหมุดรังวัดแล้ว ส่งผลให้ในพื้นที่ ณ เวลานี้ได้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง บางรายถึงขั้นถูกขโมยเอาโฉนดที่ดินไปเพื่อยื่นขอเงินกับบริษัทเอพีพีซี โดยที่เจ้าของที่ไม่รู้และไม่ยินยอมด้วยเลย

ในวันที่ 5 เมษายน นี้ ที่เทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด (ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทเอพีพีซี) ร่วมกับบริษัทเอพีพีซี จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่โปแตช ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงการจัดเวทีดังกล่าวไม่ได้ถูกกำหนดให้มี ตามกฎหมายแร่ หรือตามประกาศโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 67 วรรค 2 เนื่องจากว่ากรณีเหมืองใต้ดินที่มีเสาค้ำยัน (โครงการเหมืองแร่โปแตช) ไม่จัดอยู่ในโครงการรุนแรงตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ บริษัทเอพีพีซี กำลังจะสร้างภาพอีกครั้ง โดยใช้วิธีการจ้างชาวบ้านให้ไปร่วมรับฟัง และให้ยกมือสนับสนุนเพื่ออ้างความชอบธรรม ต่อโครงการฯ

จากการตรวจสอบในพื้นที่พบว่า มีความเคลื่อนไหว คือ ฝ่ายบริษัทเอพีพีซี ได้เข้าไปขอความร่วมมือ (ล็อบบี้) กับข้าราชการระดับสูงในจังหวัดอุดรธานี เพื่อขอให้เปิดทางให้ผู้นำหมู่บ้านได้เกณฑ์ลูกบ้านออกไปยกมือในวันนั้นอย่างน้อยหมู่บ้านละ 5 คน โดยบริษัทฯ ยินดีที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และราคาค่าหัวทั้งหมดให้

ในวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ข้าราชการในจังหวัดอุดรธานี ก็ได้ลงพื้นที่มาเป่ากระหม่อมผู้นำหมู่บ้าน ที่เทศบาลตำบลหนองไผ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ให้พาชาวบ้านไปร่วมเวที) ซึ่งพอได้รับสัญญาณไฟเขียวผู้นำหลายหมู่บ้านเร่งโหมโรงออกเกณฑ์ชาวบ้านกันจ้าละหวั่น โดยมีค่าหัว 200-300 บาท บางหมู่บ้านใช้วิธีการจ่ายก่อน 100 บาท แล้วบอกว่าส่วนที่เหลือให้ไปเอาในวันที่ 5 เมษา โดยกลวิธีต่างๆ นี้ ก็แล้วแต่ใครจะดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ชำนาญกันอยู่แล้ว

เมื่อปี่กลองเชิด บริษัทเอพีพีซี ก็รับลูกทันที โดยในวันที่ 31 มีนาคม ก็ได้เกณฑ์ชาวบ้านฝ่ายสนับสนุนเข้าไปที่บริษัทฯ เพื่อเตรียมการด้วยเช่นกัน ฉะนั้นแล้ว สถานการณ์ 5 เมษา หน้าร้อนนี้ จึงเป็นที่จับจ้องของสาธารณชนว่าผลของเวทีจะออกมาเช่นไร?

อย่างไรก็ตาม มูลเหตุของปัญหา อันเนื่องมาจากการเร่งรัดให้มีการปักหมุดรังวัดเขตเหมืองแร่ โดยการเอื้อประโยชน์จากฝ่ายข้าราชการ เพื่อนำไปสู่กระบวนการออกใบอนุญาตประทานบัตรให้กับบริษัทฯ แต่ไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ หรือแม้แต่เสียงทักท้วงจากนักวิชาการ ตลอดจนข้อเสนอขององค์กรอิสระ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฯลฯ ที่ได้มีข้อเสนอตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเพื่อให้ กพร.และบริษัทเอพีพีซี ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญ (การมีส่วนร่วมไม่ใช่เกณฑ์คนมาฟังแล้วให้ยกมือเห็นด้วย) ให้มีการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย ตามมาตรา 88/9 ในขั้นแรกของการยื่นขออนุญาตประทานบัตร ตามพ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่5) ปี พ.ศ.2545 และให้มีองค์กร หรือคณะทำงานที่มีความเป็นกลางทำการศึกษาศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) โครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ฯลฯ กลับเมินเฉย ซ้ำยังถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ ดังนั้น จึงก่อปัญหาความแตกแยก และมีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่มาตราบจนถึงทุกวันนี้ แต่เท่านั้นยังไม่พอยังจะมีฟืนมาสุมไฟให้โหมลุกไหม้แรงขึ้นอีก...
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น