คำถามสั้น ๆ แต่ตอบ ย้าวยาาาาาาาาว
โดย Pegasus 3 เมษายน 2554 ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นโรงละครโรงใหญ่ มีการเขียนบทให้เล่นละครกันแปลกๆมากมาย ถ้าประชาชนไม่รู้เท่าทันก็จะหลงใหลได้ปลื้มไปกับคนที่ดูดี น่าเคารพหรือดูท่าทางเป็นคนดี คนเก่งอะไรก็แล้วแต่จะโฆษณากันไป แต่ภายหลังกลับพบว่าเป็นคนเลวร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ เข้าทำนอง เทพบุตร ซาตานอะไรประเภทนั้น การเตรียมตัวสำหรับประชาชนในการเข้าสู่สนามเลือกตั้ง หรือแม้แต่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย และรวมถึงการรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ให้แข็งแรงมั่นคงก็อยู่ที่การมีข่าวสารข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ การแข่งกันทำความดีจึงจะเป็นของจริงไม่ใช่การสร้างข่าวเพื่อโปรโมทตัวเองอย่างที่คนดังๆในปัจจุบันนิยมทำกันแบบว่า ไม่อายตัวเองหรือฟ้าดิน จนไม่อาจแยกแยะได้ว่าอันไหนจริง อันไหนโกหก ด้วยเหตุนี้การฝึกจับโกหกนักเล่นละครในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคนที่อ้างตัวเป็นคนดี มีคุณธรรม มีอาวุโสเที่ยวสั่งสอนคนนั้นคนนี้ หรือนักการเมืองที่แลบลิ้นปลิ้นตาอยู่ในรัฐสภา คนที่อ้างว่าตัวเองพูดจริงหรือพูดว่า”เชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า”แต่ทว่าคำพูดนั้นจริงแน่ละหรือ ที่มาของบทความนี้มาจากทีวีซีรีส์ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Lie to me” ซึ่งเป็นเรื่องของการจับโกหก เนื้อเรื่องสนุก น่าติดตามฉายมาเข้าปีที่สามแล้ว ที่สำคัญคือมีชาวเสื้อแดงจำนวนหนึ่งอาศัยข้อมูลจากหนังทีวีซีรีส์เรื่องนี้มาจับผิดนักการเมือง และผู้ที่มาออกรายการโกหกในรูปแบบต่างๆและนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองกันเป็นที่สนุกสนาน ที่น่าประหลาดใจคือมีการนำเอาคลิปของแกนนำทุกฝ่ายที่ขึ้นปราศรัยมาวิเคราะห์กันด้วยว่า ประโยคไหนโกหก ประโยคไหนเป็นความจริง โดยดูจากความขัดแย้งระหว่างคำพูดที่ออกมาจากปากกับสีหน้า แววตา ภาษากายในขณะนั้นซึ่งไม่โกหก เพื่อที่ว่าจะได้เลือกเชื่อในสิ่งที่ชัดเจนว่าไม่โกหกเท่านั้น ฟังดูแล้วก็รู้สึกเสียวสันหลังแทนแกนนำเหมือนกัน ขอกระซิบว่า ในวันที่มีการปราศรัยสำคัญหลังจากแกนนำได้ขึ้นเวทีครบทุกคนปรากฏว่า มีการจับสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นเหมือนกัน จะผิดถูกอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป เพื่อให้แนวทางการจับผิดดังกล่าวมีความชัดเจนขึ้น จึงได้ทำการค้นคว้าจากเจ้าของทฤษฎีการจับโกหกนี้คือนักจิตวิทยาคลินิกชื่อว่า Dr. Paul Ekman แห่ง Langley Porter ตามรูปด้านล่างนี้ ซึ่งรายละเอียดและการฝึกฝนผ่านเนทสามารถทำได้ตามลิงค์http://www.paulekman.com/about-ekman/ ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ ประการสำคัญคือการวิจารณ์หนังทีวีซีรีส์ดังกล่าวด้วยว่า จุดใดตรงกับทฤษฏีหรือการวิจัย จุดไหนหรือตอนไหนไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกเหนือจากแนวทางของ Ekman แล้ว ผู้เขียนขอเพิ่มเติมภาษากายบางประการเข้าไปด้วย ซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวกับการจับโกหกโดยตรง แต่ก็สามารถใช้ประโยชน์ในเรื่องการจับโกหกด้วย ก่อนอื่นขอเริ่มต้นจากโมเดลของ Ekman ซึ่งแสดงสีหน้าโดย Tim Roth ผู้แสดงนำในซีรีส์ชุดนี้ โดยแยกการตีความสีหน้าบุคคลออกเป็น 7 ประเภทคือ ความสุข (Happiness) การเหยียดหยาม(Contempt) การรังเกียจ(Disgust) หวาดกลัว(Fear) แปลกประหลาดใจ(Surprise) โกรธ(Anger)และ ความเศร้า(Sadness)โดยหากว่าคำพูดที่ออกมาไม่สอดคล้องกับสีหน้า แววตา ดังกล่าวนี้ก็แสดงว่า ณ จุดนั้น มีการโกหกเกิดขึ้นแต่จะเพราะอะไรต้องแกะรอยกันต่อไป ลองมาศึกษาความหมายและลักษณะของสีหน้าดังต่อไปนี้ เวลามีความสุขจะปรากฏรอยตีนกาขึ้นที่หางตา โหนกแก้มจะยกสูงขึ้นและมุมปากสองข้างจะยกขึ้น เวลามีอาการเหยียดหยามมุมปากด้านเดียวจะยกขึ้นแบบที่คนไทยรู้จักกันว่า ยิ้มเหยียดๆหรือยิ้มแค่นๆนั่นเอง สำหรับคนไทยอาจมีเสียง หึ หึ ตามออกมาด้วย เวลารู้สึกรังเกียจ ที่โคนจมูกด้านบนจะย่น และริมฝีปากบนหรือระหว่างปลายจมูกกับริมฝีปากจะยกขึ้น ถ้าคิดแบบไทยๆ ก็อาจมีเสียง แหยะ หรือ แหวะ ตามมาด้วย เวลามีความกลัว หัวคิ้วจะยกขึ้นและขมวดเข้าหากัน ขอบตาบนยกขึ้น ขอบตาล่างตึง และ มุมปากสองข้างเหยียดออกไปด้านข้างทั้งสองข้าง เวลาประหลาดใจคิ้วจะยกขึ้น ตาเบิกกว้างและปากเปิดขึ้นแต่จะปรากฏขึ้นเพียง 1 วินาทีเท่านั้น ถ้าทำตาโตอยู่นานๆแบบพวกนางงามเวลาได้มงกุฎอันนี้แกล้งทำ (fake) เห็นๆ เวลาโกรธ หัวคิ้วจะกดต่ำลงและขมวดเข้าหากัน ตาถลึงกว้างและเม้มปาก ในทีวีซีรีส์จะใช้รูปแบบหน้านี้ในการจับว่าใครจะก่อกวน ลอบยิง หรือกดระเบิด เวลาเศร้า จะมีขอบตาบนตกลง ตาเหม่อลอย และมุมปากสองข้างตกลงจนเห็นได้ชัด ลักษณะการดึงเข้าหากันของผิวหน้าจะเป็นไปตามรูปนี้ จะเห็นได้ว่าจุดสำคัญจะอยู่ที่ คิ้ว ตา โหนกแก้ม ริมฝีปากบนและล่าง ตัวอย่างอีก 6 รูปจากซ้ายไปขวา จากบนลงล่างคือ อาการกลัว รังเกียจ โกรธ คิด/โกรธ เศร้า เศร้า การจับอาการดังกล่าว ต้องกระทำพร้อมๆกับการพูดออกมาด้วยคำนั้นๆ และยังมีองค์ประกอบทางภาษากายที่ใช้อธิบายเพิ่มเติมได้ยกตัวอย่างเช่น กรณีการเอามือแตะที่จมูกเมื่อจะพูดโกหกก็เพราะมีการไหลของเลือดมากขึ้นและจมูกจะไวต่อเรื่องแบบนี้ หรือ กรณีการยกมือแตะที่หู หรือ คอ ก็เป็นการแสดงถึงการโกหก ณ เวลานั้น เหมือนลักษณะการแก้เขิน บางทีเมื่อต้องตอบคำถามเมื่อพูดโกหกออกไปจะมีการกลืนน้ำลายอย่างแรงจนสังเกตได้ เป็นต้น ยังมีการกระทำที่แสดงถึงการละอายใจที่พูดโกหก เช่น การก้มหน้า การถอยห่างจากเพื่อนที่โกหก การเมินหน้าหนีจากคนโกหก ฯลฯ หรือ เตรียมตัวโกหก ด้วยการเอามือกอดอก เอามือมาจับกันบังไว้ข้างหน้า เป็นต้น การตีความบางทีต้องใช้ความพยายามมาก เช่น การฟังหรือหลอกถามให้ตรงคำถาม แล้วคนปากแข็งรู้สึกว่า หลอกคนฟังได้สำเร็จจะแสดงอาการเหยียดหยามคือยิ้มมุมปากออกมา หรือแกล้งโกหก แล้วคนเชื่อก็จะแสดงอาการมีความสุขออกมาเป็นต้น บางครั้งถ้าถูกจับได้ หรือแทงใจดำจะมีการกำมืออย่างไม่รู้ตัวก็เป็นภาษากายได้อย่างหนึ่ง หรือจังหวะการพูดเปลี่ยนไปจากเร็วเป็นช้า จากช้าเป็นเร็วแสดงว่า ตรงจุดนั้นกำลังโกหก หรือเตรียมท่องมาก่อน เป็นต้น เรื่องที่น่าขำคือ บางคนที่ได้รับความเคารพนักถือกันนักหนาในประเทศไทย พอเอาวิทยาศาสตร์แบบนี้เข้าไปจับก็ถึงบางอ้อกันมากมาย ตัวอย่างเช่น ทนายมีชื่อท่านหนึ่ง เวลาพูดจะชอบยกหัวไหล่เล็กน้อย ซึ่งตามแนวทางของภาษากายในทีวีซีรีส์นี้คือกำลังโกหกนั่นเอง อย่างไรก็ตามอาจไม่เป็นตามนั้นเสมอไป เพราะอาจเป็นเรื่องของความเคยชินหรือวัฒนธรรม ซึ่งจะใช้คำว่า base line แปลง่ายๆว่า พื้นฐานเป็นอย่างไรมาก่อน เช่น เป็นคนพูดช้า เวลาพูดจริงหรือโกหกหน้าตาจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือไม่ หรือไปผ่าตัดมาทำให้หน้าตึงเป็นต้น ต้องทดสอบก่อนเสมอ ดังนั้นการยกไหล่เล็กน้อยกั บการหมุนมือเวลาโกหกอาจไม่จริงเสมอไป และนอกจากนั้นการโกหกนั้น อาจไม่ใช่การโกหกในคำตอบที่เราคิด แต่อาจเกิดจากเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่อาชญากรรมก็เป็นได้เป็นต้น ต้องดูประกอบกับการสำนึกผิด ด้วยการก้มหน้า หรือการยกตนด้วยการเชิดคาง หรือการแสดงว่า ตัวใหญ่ด้วยการกางแขน ยกตัว เป็นต้น เช่นบางคนปกติพูดช้า แต่พอถึงจุดสำคัญพูดเร็วก็เพราะท่องบทมาก่อน หรือปกติพูดเร็ว แต่มาพูดช้าก็เพื่อลำดับเหตุการณ์ขึ้นใหม่ด้วยการโกหก คำศัพท์ที่เพิ่มมาแบบฟุ่มเฟือย ก็แสดงถึงการโกหก เพราะตั้งตัวไม่ทั นหรือพยายามกันตัวเองออก เช่น กรณี ที่คลินตันกล่าวว่า “ลูวินสกี้ คนนั้น”คำว่าคนนั้นเป็นการสร้างเกราะป้องกันขึ้นมา แสดงความห่างเหิน ซึ่งไม่จำเป็น ปกติเรียกแต่ชื่อกันเท่านั้นจึงเป็นพิรุธอย่างหนึ่ง Ekman ยังกล่าวต่อไปว่า ความรู้สึกเศร้า ที่มีมุมปากตกลง กับ ความรู้สึกละอาย และ ความรู้สึกผิดจะมีอาการเดียวกัน ดังนั้นต้องตีความให้ดี ความเศร้านั้นเกิดจากความผิดหวัง หมดหวังจากการสูญเสียคนสนิท ถ้าละอายเป็นการกระทำเกี่ยวกับ ใครและอะไรที่ตัวเอาทำซึ่งปกตินอกจากจะมุมปากตกเหมือนอาการเศร้าแล้วมักจะมีการเอามือมาปิดหน้าแบบไม่รู้ตัวลักษณะอยากซ่อนตัวด้วย ส่วนการรู้สึกผิดนั้นมาจากการกระทำผิดอย่างเดียว ส่วนอาการกลัวกับประหลาดใจนั้นตาเบิกกว้างเหมือนกันแต่ การกลัวนั้นตาจะกว้างชัดเจนกว่ามาก ถ้ากว้างแค่พอประมาณแสดงว่าแปลกใจมากกว่าประหลาดใจ ยังมีแนวทางดูภาษากายอื่นๆนอกเหนือจากแนวทางของ Dr. Ekman เช่นถ้านั่งพูดแล้ววางท่าป้องกันตัวเต็มที่ด้วยการประสานมือไว้ แต่พอจะโกหก ขาจะมีการเปลี่ยนท่ากะทันหันเช่น แกว่งขาหรือกระดิกเท้า ภาษากายที่ใช้จับโกหกแบบทั่วไปคือการสังเกตการกระพริบตา ดังนั้นจึงควรจับตาคนพูดไว้ตลอดเวลา เพราะเวลาที่พูดโกหกจะมีอาการเครียด เหมือนกับการเปิดตากว้างไว้ และกระพริบตาช้าลง ต่อมาเมื่อพูดโกหกจบลง ก็จะตามด้วยการกระพริบตาจำนวนมากจนผิดปกติถึง 8 เท่า(ดร.ชารอน ลิลล์ มหาวิทยาลัย พอร์ตสมัธ ประเทศอังกฤษ) อีกแนวทางหนึ่งมาจากหนังสือ never be lied to again โดย Dr.David J. Lieberman กล่าวโดยสรุปไว้ว่า เวลาพูดจริงมือจะแสดงออกเปิดเผย แต่ถ้าเอาซุกไว้ในกระเป๋าหรือกำแน่นเพื่อเก็บนิ้วไว้ในฝ่ามือหรือคว่ำฝ่ามือวางไว้ที่หน้าตัก แสดงว่าไม่จริงใจ หรือซ่อน หรือโกหกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการใช้มือ ใช้ร่างกายดูแข็งๆไม่เคลื่อนไหว ปกติ นอกจากนั้นการใช้มือ เช่นการปิดหน้า ปิดปาก แตะลำคอ แตะจมูก เกาใบหูด้านหลัง ขยี้ตา ล้วนแต่เป็นการโกหกทั้งสิ้น Lieberman ยังกล่าวต่อไปว่า พวกที่พูดแล้วหลบตาก็มักจะกำลังโกหก ไม่ยอมจับหน้าอกและแบมืออย่างเปิดเผย Lieberman ยังพูดถึงการใช้จังหวะคำพูดและการแสดงออก เช่น บอกว่าผมกำลังโกรธนะ หยุดนิดหนึ่งแล้วค่อยชักสีหน้าแสดงว่าโกหก หน้าสะบัดแตกต่างจากคำพูดเช่น บอกว่าใช่แต่ศีรษะส่ายสั่นแสดงว่าไม่ใช่ หรือ บอกรักแต่กำมือแน่น หรือ การแสดงออกซึ่งใบหน้าเฉพาะที่บริเวณปากเท่านั้น ส่วนอื่นๆของใบหน้าไม่ได้คล้อยตามกันไปก็แสดงถึงการโกหกเช่นกัน ในส่วนการแสดงออก ถ้ามีการกล่าวหาแล้วหากเป็นคนผิดจะพยามยามป้องกันตัวเองเช่นหลบ ไม่แสดงตัว ส่วนผู้บริสุทธิ์จะยินดีแสดงตัว เช่นการหลบมุม การเบี่ยงตัวจากผู้กล่าวหา หรือหลบตัวเช่นไขว้หลัง ห่อตัว พยายามไปอยู่ตรงทางออก จะไม่พยายามมาสัมผัสตัวหรือมีน้อยมากกับผู้กล่าวหา จะไม่ชี้นิ้วไปยังผู้ที่เขาอยากให้เชื่อถือ จะสร้างเครื่องกัดขวางทางกายภาพเช่น แก้วน้ำ สิ่งของขวางหน้าตัวเองหรือใช้ภาษาเช่น จะไม่พูดถึงสิ่งนั้นอีกแล้ว เป็นต้น การพูดตอบด้วยคำพูดที่ถูกถามเช่น คุณหยิบขนมไปหรือเปล่า จะตอบกลับมาว่า เปล่าผมไม่ได้หยิบขนมนั้นไป แทนที่จะพูดแค่ว่า เปล่าครับ หรือกรณีคำฟุ่มเฟือยอื่น เช่น คุณลูวินสกี้คนนั้น คำว่าคนนั้นเป็นคำเกินมาเป็นต้น หรือใช้คำว่ารถคันนั้น แทนที่จะพูดตรงๆว่ารถของผม อีกตัวอย่างคือการใช้คำพูดประเภทปิดปากไม่ให้ถาม เช่น “ผมเสียใจ เราทำดีที่สุดแล้ว” สำหรับไทยๆ อาจมีคำพูดอื่นๆสำหรับคนโกหกที่พบได้บ่อยๆเป็นการตัดบท หรือในทางจิตวิทยาเรียกว่าคำพูดปิดปาก เช่น “ก็ต้องยอมรับว่า” “ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า” หรือ “ผมเป็นคนมีคุณธรรม หรือวีรบุรุษไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ” เป็นต้น นั่นแปลว่ามีปัญหาใหญ่ที่นั่งทับอยู่แน่นอน คนโกหกมักมีคำพูดเกินความจำเป็นมากมายจนผิดสังเกต หรือมักจะตอบไม่ตรงคำถามมักตอบให้คิดไปเองมากกว่าตอบตรงๆเช่น เมื่อถามว่าเป็นคนสัญชาติต่างประเทศหรือไม่ แทนที่จะตอบตรงๆว่า “ผมเป็นคนสัญชาติ..” หรือ “ผมไม่มีสัญชาติ..” แต่กลับตอบให้คิดไปเองว่า “ผมเป็นคนสัญชาติไทย” หรือ “ผมไม่ได้มีสัญชาติ...(แบบคนอื่น)” เป็นต้น คนโกหกจะไม่ค่อยพูดคำสรรพนามเช่น เขา เธอ และมักพูดไม่เน้นคำพูดสูงต่ำ แต่จะพูดโทนเสียงเดียว หรือเบาๆ เรื่อยเปื่อย ติดจะพูดแบบถามตัวเอง เมื่อพูดจบแล้วหน้ากับตามักเงยขึ้นดังนั้นใครที่เวลาพูดเหมือนลอยหน้า ลอยตาอยู่ตลอดเวลาก็น่าจะเชื่อว่าโกหกอยู่ได้ตลอดเวลา เช่นกัน ในแง่ภาษา คนผิดจะพอใจแสดงอาการผ่อนคลาย( ปากห่อ ผ่อนลมหายใจ) เมื่อเปลี่ยนเรื่อง ในขณะที่คนปกติจะอยากรู้เรื่องราวต่อไปมากกว่า ปกติคนโกหกจะไม่แสดงอาการโกรธถ้ามีการกล่าวหา ที่ผิดจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ส่วนคำที่มักใช้คือ “ผมจะโกหกทำไม” “ความจริงก็มีอยู่ว่า” “ตอบตามความจริงคือ” หรือ มักมีคำอธิบายที่ชัดเจนจนเกินไป เช่น จำเรื่องเมื่อปีก่อนได้ทุกรายละเอียด มักมีการทวนคำถามตลอดเวลาเช่น “ได้ยินมาจากที่ไหน” “อธิบายให้ละเอียดขึ้นได้หรือไม่” หรือทวนทำถามซ้ำ เป็นต้น หรือ มักใช้คำอ้างที่เหลือจะเชื่อเช่น “ตลอดชีวิตมานี้ไม่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลย” หรือ มักมีคำกล่าวนำมาก่อนยืดยาว เช่น “ผมไม่ได้อยากให้คิดอะไรเช่นว่า” เป็นต้น หรือ มักจะใช้คำประเภทปฏิเสธ เช่น “เขามีปัญหาเรื่องชีวิตแต่งงาน แต่คงไม่มีผลกับงานใหม่ของภรรยาเขากระมัง” เป็นต้น หรือ ไม่ตอบคำถามตรงๆ แต่จะพาออกไปในทางตลกเบี่ยงเบนไป แทนที่จะตั้งใจหาความจริง หรือ มักจะเสนอทางเลือกอื่นๆแทน มีผู้รวบรวมการจับโกหกไว้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งก็มาจากนักวิชาการด้านจิตวิทยาข้างต้นนี้นั่นเอง 13 เทคนิคจับโกหก 1.การนำมือปิดปาก ที่มา : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=fino4710&date=04-03-2010&group=41&gblog=35 สุดท้าย เป็นการจับโกหกแบบง่ายๆใช้สำหรับคู่สนทนาที่เห็นชัดหรือมีการบันทึกคลิปไว้ ที่มาคือเวลาที่เราพูดความจริงเราจะใช้สมองซีกซ้ายซึ่งเป็นเรื่องของเหตุผลและตัวเลข เวลาคิดจึงออกมาจากสมองด้านซ้ายเป็นลำดับไป แต่ถ้าจะโกหกต้องเริ่มคิดเรื่องซึ่งต้องอาศัยสมองซีกขวา ซึ่งทำหน้าที่จินตนาการ หรือสร้างเรื่องขึ้นมาเวลาพูด ก็ต้องใช้สมองซีกขวา ตาก็จะมองไปตามนั้น โดยดูจากรูปได้ดังข้างล่างนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องในการจับโกหกต่างๆเหล่านี้ แต่สำหรับชาวเสื้อแดงที่รักความจริง แสวงหาความจริง เพียงตัวอย่างเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ก็น่าจะเกินพอแล้วสำหรับจับโกหกพวกคนดีทั้งหลาย รวมถึงแกนนำกลุ่มย่อยคนใกล้ๆตัวของทุกๆท่านด้วย********** |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น