วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

วันนี้เมื่อปีกลาย จุดยืนไทยอีนิวส์ต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน:
โปรดให้โอกาสสุดท้ายแก่สันติภาพ เปิดเจรจาหาทางออก


http://thaienews.blogspot.com/2011/04/blog-post_2407.html



หมายเหตุไทยอีนิวส์:วันนี้เมื่อปีกลาย ( 7 เมษายน 2553 เวลาราว 18.00 น. )รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ไทยอีนิวส์ได้เผยแพร่ จุดยืนไทยอีนิวส์ต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน:โปรดให้โอกาสสุดท้ายแก่สันติภาพ เปิดเจรจาหาทางออกในช่วงเย็นวันนั้น

โดยปกติแล้วไทยอีนิวส์จะเป็นเพียงเวทีในการรายงานข่าว บทความต่างๆเท่านั้น จะกล่าวถึงจุดยืนหรือท่าทีนโยบายของเราน้อยที่สุด หรือแทบจะไม่ประกาศจุดยืนท่าทีนโยบายใดๆเลย นี่เป็น 1 ในจำนวนน้อยครั้งที่สุดที่ว่านั้น


ลิ้งค์ จุดยืนไทยอีนิวส์ต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน:โปรดให้โอกาสสุดท้ายแก่สันติภาพ เปิดเจรจาหาทางออก ที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเย็นวันที่ 7 เมษายน 2553 http://thaienews.blogspot.com/2010/04/blog-post_6449.html


ได้โปรดให้โอกาสแก่สันติภาพที่ยังไม่ถึงทางตัน ได้โปรดดำเนินการทุกวิถีทางที่จำเป็นดังนี้


1.ยุติการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการปราบปรามสลายการชุมนุม


2.เปิดโอกาสสุดท้ายให้แก่สันติภาพ ด้วยการเปิดเจรจารอบใหม่ ซึ่งทำได้โดยทันที ในเมื่อรัฐบาลอ้างว่าจะดำเนินการตามขั้นตอน โดยเริ่มต้นจากการเจรจาก่อน ขณะที่แกนนำและผู้จัดการการชุมนุมต้องไม่ปิดตายหนทางการเจรจา ต้องถนอมรักมวลชนให้มาก ไม่ยอมให้เกิดการสูญเสียใดๆ และเปิดการเจรจาหาทางออกอย่างสันติ


3.ผู้สนับสนุนกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายต้องยุติการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าแตกหัก ซึ่งสะใจในระยะเฉพาะหน้า แต่สูญเสียในระยะยาวอย่างร้าวลึก และสมควรต้องสนับสนุนหนทางการเจรจาโดยสันติ



สถานการณ์ชุมนุมในเวลานี้ยังไม่อาจชี้ขาดแพ้-ชนะได้ โดยทั้งสองฝ่าย มีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงได้ ยิ่งภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

1.รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเตรียมการปราบปรามผู้ชุมนุมอันไม่สอดคล้องต่อสถานการณ์ เนื่องจากผู้ชุมนุมยังเคลื่อนไหวเรียกร้องโดยสันติ แต่รัฐบาลกลับไม่ใช้ความอดกลั้นที่ได้พยายามมาด้วยดีโดยตลอด

2.ผู้สนับสนุนรัฐบาล โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก และสื่อที่มีจุดยืนต่อต้านทักษิณ ได้ออกมาชี้นำตลอดให้ใช้กำลังจัดการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด และแสดงท่าทีแข็งกร้าวว่าหากรัฐบาลไม่ยอมจัดการปราบปรามสลายการชุมนุม กลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้ก็อาจลงมือจัดการต่อผู้ชุมนุมเอง ในลักษณะม็อบชนม็อบ หรือลอบก่อการร้าย อันเป็นการยั่วยุและบีบคั้นกดดันให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

3.ผู้นำและผู้จัดการประท้วง ยังไม่ได้แสดงความพยายามอย่างถึงที่สุดในการที่จะแสวงหาทางออกด้วยวิธีการเจรจา การประกาศว่าตายเป็นตายพร้อมพลีชีพ หรือประกาศว่าพร้อมรับมือการปราบปราม หากไม่มาปราบก็จะบุกไปจัดการต่อฝ่ายรัฐบาลนั้น เป็นการปลุกเร้าที่อาจนำไปสู่การสูญเสีย แกนนำการชุมนุมและผู้จัดการการชุมนุมยังไม่ได้แสดงออกว่าถนอมรักมวลชนอย่างที่ควรต้องทำ

4.ผู้สนับสนุนทักษิณและสนับสนุนการชุมนุม ก็เชื่อมั่นอย่างสุดจิตสุดใจเกินไปว่าการยกระดับการชุมนุม และออกนอกแนวทางสันติในบางครั้ง เช่น กรณีบุกเข้าไปในที่ทำการรัฐสภา จะสามารถกดดันให้รัฐบาลตัดสินใจยุบสภา หรืออยู่ในสภาพที่ไม่สามารถปกครองบริหารประเทศได้ ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆที่ยุ่งยากกว่า เช่น เปิดช่องให้เกิดการทำรัฐประหาร หรือการปราบปราม ม็อบชนม็อบ หรือวิถีที่ห่างไกลจากข้อเรียกร้องออกไป

ในเมื่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นเป็นเพียงขอให้รัฐบาลยุบสภา ไม่ใช่การโค่นล้มขับไล่รัฐบาล ซึ่งแกนนำผู้ชุมนุมก็ย่อมทราบดีว่าเป็นเพียงข้อต่อสู้เรียกร้องในระดับที่ต่ำที่สุด และเป็นไปได้ที่สุดที่จะพลิกสถานการณ์มาเป็นฝ่ายชนะได้ด้วยการชี้ขาดของประชาชาติไทยในการเลือกตั้งครั้งใหม่ ดังนั้นการดำเนินการชุมนุมต่อไป โดยปลุกเร้าให้มีการยอมเสียสละชีพ หรือด้วยยุทธวิธีที่เรียกกันว่า"ยกระดับชุมนุม"ก็รังแต่จะทำให้สุ่มเสี่ยงจะเพลี่ยงพล้ำทั้งขบวนได้

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลและกลไกรัฐ ทั้งตำรวจและทหารก็ต้องทราบด้วยว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นผู้ที่ก่อความรุนแรงและสร้างความสูญเสียทุกครั้งคือฝ่ายกุมอำนาจรัฐนั่นเอง ไม่ใช่ประชาชนที่ปราศจากอาวุธ

หนทางการกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาจึงเป็นทางเลือกที่ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุม และรัฐบาลควรเดินหน้าต่อไปมากที่สุดในสถานการณ์นี้โดยไม่ชักช้า และโดยไม่ต้องกลัวเสียหน้า โดยในเมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมเสนอไป 15 วัน ฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธและเสนอกลับมา 9 เดือน ก็สมควรจะต้องเจรจากันในยกที่สามต่อไป ซึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมก็ชอบที่จะผ่อนปรนข้อเสนอตามสมควร เช่น อาจพิจารณาตามข้อเสนอของกลุ่มนักวิชาการเครือข่ายสันติประชาธรรมที่กำหนดให้ยุบสภาใน 3 เดือน ให้ทุกฝ่ายยอมรับในกติกา ให้เคารพผลการเลือกตั้ง และไม่ต้องจัดทำประชามติ เป็นต้น

ทั้งนี้หากฝ่ายรัฐบาลยังคงยืนกรานที่ 9 เดือน โดยไม่ขยับลดกรอบเวลายุบสภาลงมา ความชอบธรรมในการจัดการชุมนุมแบบเอาแพ้เอาชนะก็จะมีความชอบธรรม หรือได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณชนมากขึ้น ขณะที่หากฝ่ายรัฐบาลยืนกรานที่ 9 เดือนก็จะเสียการสนับสนุนจากสาธารณชน เช่นกัน

เราขอเรียกร้องต่อทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้สนับสนุน กับฝ่ายผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุน ได้โปรดให้โอกาสแก่สันติภาพที่ยังไม่ถึงทางตัน หลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธ ความรุนแรง การยั่วยุใดๆ รวมทั้งทุกภาคส่วนที่ปรารถนาสันติภาพได้โปรดดำเนินการทุกวิถีทางที่จำเป็นดังนี้

1.ยุติการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการปราบปรามสลายการชุมนุม
2.เปิดโอกาสสุดท้ายให้แก่สันติภาพ ด้วยการเปิดเจรจารอบใหม่ ซึ่งทำได้โดยทันที หากรัฐบาลจะอ้างว่าจะดำเนินการตามขั้นตอน โดยเริ่มต้นจากการเจรจาก่อน ขณะที่แกนนำและผู้จัดการการชุมนุมต้องไม่ปิดตายหนทางการเจรจา ต้องถนอมรักมวลชนให้มาก ไม่ยอมให้เกิดการสูญเสียใดๆ และเปิดการเจรจาหาทางออกอย่างสันติ
3.ผู้สนับสนุนกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายต้องยุติการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าแตกหัก ซึ่งสะใจในระยะเฉพาะหน้า แต่สูญเสียในระยะยาวอย่างร้าวลึก และสมควรต้องสนับสนุนหนทางการเจรจาโดยสันติ


ยกเว้นแต่กลุ่มผู้ชุมนุม และฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการทางออกที่สันติ ปิดทางสันติภาพทั้งที่ยังไม่หมดโอกาส นั่นก็เป็นเคราะห์กรรมของประเทศ และประชาชาติไทยมีราคาที่ต้องจ่ายแสนแพง

กองบรรณาธิการไทยอีนิวส์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น