วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กรณีแม่ชีทศพร : ตัวอย่างของ ‘ความงมงายที่ควรแก้ด้วยเหตุผล'

Sat, 2011-04-30 18:08


บทความจาก “สุรพศ ทวีศักดิ์” กรณีแม่ชีทศพร “ต้องเปิดพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงด้วยเหตุผลให้กว้างขวางมากขึ้น และลงลึกมากขึ้นๆ เท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาความงมงายและแก้ระบบอำนาจนิยมในมิติต่างๆ ได้”
ความเชื่อเรื่อง กรรมสูตรสำเร็จ คือความเชื่อที่ว่า ความเป็นไปทุกอย่างในชีวิตของเราเกิดจากกรรม และเมื่อพูดถึงความเป็นไปในชีวิตที่เกิดจากกรรมก็มักเน้นไปที่เรื่องร้ายๆ ที่อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ เช่น เวรกรรม เคราะห์กรรม บาปกรรม ฯลฯ เมื่อมีความเชื่อเป็นสูตรสำเร็จเช่นนี้จึงทำให้เกิดวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวแบบสูตรสำเร็จคือ วิธีแก้กรรม
ความหมายของ กรรม ตามความเชื่อดังกล่าวมักหมายถึงการทำกรรมและผลของกรรมแบบข้ามภพข้ามชาติ ปัญหาของความเชื่อเช่นนี้คือ เรารู้ได้อย่างไรว่า การกระทำกรรมและการให้ผลของกรรมแบบข้ามภพข้ามชาตินั้นเป็นความจริง เพราะการที่เราจะรู้ได้ว่าอะไรจริงก็ต่อเมื่อเราสามารถพิสูจน์สิ่งนั้นได้ เช่น โดยการเห็นด้วยตา หรือรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส ถ้าเป็นปรากฏการณ์ด้านใน เช่น ความสงบทางจิต เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์กับความสงบนั้นตรงๆ เป็นต้น
ส่วนเรื่องว่า ตัวเราทำอะไรไว้ในชาติก่อน หรือนายขาว นายเขียว ทำอะไรไว้ในชาติที่แล้วจึงทำให้ชีวิตเป็นอย่างนี้ในชาตินี้ เป็นเรื่องที่ไม่มีทางพิสูจน์อย่างเป็นสาธารณะ (เหมือนพิสูจน์น้ำเดือดที่ระดับอุณหภูมิ 100 องศาฯ) แต่มีการอ้างว่าเรื่องราวเช่นนี้สามารถรู้ได้ด้วย ญาณวิเศษ ของบุคคลพิเศษ เช่น ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาอธิบายว่า เรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าผู้มีญาณหยั่งรู้การเกิดตายของสรรพสัตว์ที่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ)
แต่ถึงที่สุดแล้ว ญาณวิเศษ ดังกล่าวก็เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของปัจเจกบุคคล ในทางญาณวิทยา (ปรัชญาที่ตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของ ความจริง) มองว่าการยืนยัน ความจริง ด้วยการอ้างอิงญาณวิเศษของปัจเจกบุคคลเป็นการยืนยันที่มีความน่าเชื่อถือน้อยมาก เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าคนๆ นั้นมีญาณวิเศษจริงหรือไม่ (นอกจากเราจะมีญาณวิเศษแบบเดียวกับที่เขามี?)
ฉะนั้น ความจริงที่อ้างอิงญาณวิเศษ จึงเป็นความจริงที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือในตัวบุคคลที่เราเชื่อว่าเขามีญาณวิเศษ คนที่เชื่อคำทำนายกรรมเก่าและวิธีแก้กรรมของแม่ชีทศพร ไม่ใช่เชื่อเพราะพวกเขาได้พบข้อพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่แม่ชีพูดเป็นความจริง แต่เชื่อเพราะพวกเขาเชื่อว่าแม่ชีทศพรมีญาณวิเศษหยั่งรู้กรรมเก่าที่คนทั่วไปไม่สามารถจะรู้ได้
ตามหลักกาลามสูตร การยอมรับความจริงที่ขึ้นอยู่กับการเชื่อถือในตัวบุคคล (ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ตัวความจริงได้) ถือว่าเป็นการยอมรับความจริงที่ไม่สมเหตุสมผล การยอมรับความจริงที่สมเหตุสมผลตามหลักกาลามสูตรคือ การยอมรับความจริงที่พิสูจน์ได้ หรือมีประสบการตรงต่อความจริงนั้นได้แล้วเท่านั้น (ทั้งความจริงเกี่ยวกับโลกกายภาพ และความจริงเชิงนามธรรม เช่น ความจริงในมิติด้านจิตวิญญาณ เป็นต้น)
ข้อสังเกตคือ แม้พุทธศาสนาจะไม่ได้ปฏิเสธ ญาณวิเศษ ในการรู้ความจริงบางมิติ แต่ดูเหมือนพุทธศาสนาจะระมัดระวังอย่างยิ่งในการพูดถึงความจริงที่อ้างอิงญาณวิเศษ แม้แต่มีพระภิกษุมาคาดคั้นให้พระพุทธเจ้ายืนยันว่าชาติหน้ามีจริงหรือไม่ หากไม่ยืนยันเขาจะสึก แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ยืนยัน โดยอ้างว่าการยืนยันเรื่องดังกล่าวไม่มีประโยชน์แก่การเข้าใจทุกข์และการดับทุกข์ ในวินัยของพระสงฆ์ก็มีบทบัญญัติห้ามพระภิกษุอ้างญาณวิเศษมายืนยันความจริง เพื่อปิดโอกาสไม่ให้เกิดการหลอกลวง หรืออวดอ้างญาณวิเศษเพื่อแสวงหาลาภสักการะหรือผลประโยชน์เข้าตัว
ผมเข้าใจว่า พุทธศาสนาให้ความสำคัญสูงสุดกับความจริงที่พิสูจน์ได้ ความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่เรียกว่าอริยสัจ 4 หรือพูดให้สั้นว่า ทุกข์กับความดับทุกข์ นั้น มีความหมายสำคัญว่า การเข้าใจความจริงเกี่ยวกับทุกข์อย่างชัดแจ้ง หรือตรงตามเป็นจริงเท่านั้นจึงจะนำไปสู่การดับทุกข์ได้จริง
และความจริงตามหลักอริยสัจคือความจริงที่ต้องพิสูจน์ หรือต้องประจักษ์ด้วยประสบการณ์ตรง หรือใช้ประสบการณ์ตรงในการยืนยัน ลักษณะสำคัญของความจริงเช่นนี้คือเป็นความจริงที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ด้วยเหตุผล (เช่น อธิบายให้เห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่าง สมุทัยกับทุกข์ มรรคกับนิโรธ)
ฉะนั้น การเข้าใจความจริงเกี่ยวกับทุกข์อย่างชัดแจ้ง กับการดับทุกข์ได้จริง จึงเกี่ยวข้องอย่างจำเป็นกับความงอกงามทางปัญญา ความมีเหตุผล หรือการข้ามพ้นความงมงายใดๆ
ต่างจากความจริงจากญาณวิเศษแบบของแม่ชีทศพร (เช่น) ที่ว่า ในชาติก่อน คนๆ หนึ่งไปเปิดประตูเมืองให้ข้าศึก ผลแห่งการกระทำนั้นทำให้ในชาตินี้เกิดมาเป็นผู้หญิงที่ต้องถูกผู้ชายทิ้งซ้ำซาก จึงต้อง แก้กรรม โดยใช้หอยจริงให้รับผลกรรมแทน หอยเชิงสัญลักษณ์ จะเห็นว่าความจริง (ความเชื่อ) ดังกล่าวนี้ไม่สามารถอธิบายให้เห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างการเปิดประตูเมือง-หอยจริง-หอยเชิงสัญลักษณ์-ความทุกข์-การดับทุกข์ของคนที่ตั้งคำถามกับแม่ชีแต่อย่างใด
ปัญหาคือ ความเชื่อที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลเป็นความเชื่อที่งมงายหรือไม่ หากตอบตามหลักพุทธ ก็ต้องบอกว่างมงาย เพราะไม่สามารถแก้สาเหตุของทุกข์ตามเป็นจริงได้ (ถ้าต้องการแก้ทุกข์เพียงแค่ว่า ทำให้สบายใจ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ธรรมะ ใช้ ยากล่อมประสาท เป็นต้น ก็ได้) แต่การแก้ความงมงายต้องแก้ด้วย เหตุผล ไม่ใช่แก้ด้วยการใช้อำนาจ นั่นคือสังคมควรจะเปิดพื้นที่ให้มีการนำประเด็นความเชื่อที่งมงายหรืออธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลมาสู่เวทีการถกเถียง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อคนได้ถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น คนก็จะใช้เหตุผลกันมากขึ้น ความเชื่อที่งมงายก็จะมีอิทธิพลต่อชีวิตและสังคมน้อยลง
แต่อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแล้วในสังคมเราไม่ใช่มีเฉพาะความเชื่อแบบแม่ชีทศพร หรือความเชื่อทำนองเดียวกันนี้ในวงการพุทธศาสนา และไสยศาสตร์เท่านั้นที่อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ ยังมีความเชื่ออื่นๆ ที่อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้และมีผลกระทบต่อสังคมมากยิ่งกว่าความเชื่อทางศาสนาที่ควรนำมาสู่เวทีการถกเถียงอย่างตรงไปตรงมายิ่งกว่าด้วยซ้ำ
เช่น ความเชื่อที่ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 8 และกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 ไม่ขัดกับความเป็นประชาธิปไตย ก็เป็นความเชื่อที่ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลบนหลักการประชาธิปไตยได้เลย แต่บ้านเราก็ไม่สามารถเปิดพื้นที่ของการใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างถึงที่สุด
ความเชื่อที่งมงายหรือที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลในเรื่องใดๆ ก็ตาม ย่อมจะมีทั้งคนที่เชื่อและปฏิเสธ มองในแง่หนึ่งย่อมเป็นสิทธิที่แต่ละคนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่หากความเชื่อนั้นส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคม ส่งผลกระทบต่อความเป็น-ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือส่งผลต่อความเป็นธรรม-ไม่เป็นธรรมทางสังคม (เช่น ความไม่เป็นธรรมทางอำนาจต่อรองทางการเมือง การตรวจสอบ ความรับผิดชอบของอำนาจสาธารณะ ฯลฯ) ย่อมเป็นความชอบธรรมที่สังคมจะนำประเด็นปัญหาของความเชื่อนั้นๆ มาสู่เวทีการถกเถียงอย่างเป็นสาธารณะเพื่อหาทางออกด้วยการใช้เหตุผลร่วมกัน
(โดยไม่ควรกังวลจนเกินเหตุว่าเป็น เรื่องละเอียดอ่อน เพราะความเชื่อที่ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงไม่ควรนำมาพูด มาถกเถียงด้วยเหตุผล อาจเป็นความเชื่อที่ งมงายอย่างยิ่ง อีกแบบหนึ่ง)
กรณีแม่ชีทศพร หรือกรณีเจ้าอาวาสวัดใหญ่ทำนายกรรมเก่า ทำนายอดีตชาติออกทีวีแทบทุกวันเช่นกัน และ/หรือกรณีความเชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของบางสถาบันทางสังคมจนยอมรับกันว่าสถาบันนั้นควรอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ (เป็นต้น) ซึ่งเป็นความเชื่อที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผล ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ด้วยเหตุผล ไม่ใช่แก้ด้วยการใช้อำนาจ
แต่ สังคมพุทธ ศักดินาอำมาตยาธิปไตย เป็นสังคมที่มีลักษณะอำนาจนิยมทางศีลธรรมและทางความเชื่อ มีการใช้สองมาตรฐานทางศีลธรรม ในการปฏิบัติต่อการใช้หลักศีลธรรมและความเชื่อต่างๆ อย่างเป็นปกติ จึงเป็นสังคมที่ขาดวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงด้วยเหตุผล
ทว่ามีแต่ต้องเปิดพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงด้วยเหตุผลให้กว้างขวางมากขึ้น และลงลึกมากขึ้นๆ เท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาความงมงายและแก้ระบบอำนาจนิยมในมิติต่างๆ ได้ !
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น