วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กรณีแม่ชีทศพร
ว่าด้วยการผูกขาดครอบงำทางวัฒนธรรม


http://prachatai3.info/journal/2011/04/34303

Sat, 2011-04-30 01:10


ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา วีดีโอ “แก้กรรม” ของแม่ชีทศพร เทวาพิทักษ์ หรือแม่ชีใหญ่ซึ่งเผยแพร่ในเวปไซต์ยูทูปได้กลายมาเป็นประเด็นการถกเถียงที่ร้อนแรงประเด็นหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟสบุ๊ค จนทำให้เกิดแฟนเพจล้อเลียนแม่ชีทศพรชื่อว่า “แม่ชี นะลูกนะ” ซึ่งมีสมาชิกจำนวนกว่าพันคน
เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา คำ ผกา นักคิดนักเขียนชื่อดังได้หยิบประเด็นการแก้กรรมของแม่ชีทศพรมาวิเคราะห์และวิพากษ์ในรายการ “คิดเล่นเห็นต่าง กับ คำ ผกา” ซึ่งเผยแพร่เป็นประจำทุกวันอาทิตย์ทางช่องเคเบิลทีวี Voice TV (ดูวีดีโอย้อนหลังได้ที่http://shows.voicetv.co.th/kid-len-hen-tang/7900.html)
และล่าสุด เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เดินทางไปวัดพิชยญาติการาม เพื่อขอเข้าพบพระพรหมโมลี เจ้าอาวาสและกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และได้พบกับแม่ชีทศพร จึงได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303911878&grpid=&catid=19&subcatid=1904) ในเย็นวันเดียวกันนี้เอง รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่วง “สรยุทธ์ เจาะข่าวเด่น” รมว.วธ. ได้รับเชิญมาชี้แจ้งท่าทีของกระทรวงวัฒนธรรมต่อกรณี “แก้กรรมแบบพิศดาร” (ดูวีดีโอย้อนหลังได้ที่http://www.youtube.com/watch?v=GJK1xMtti-s&feature=player_embedded#at=634) จนนำมาซึ่งการกดดันและการใช้มาตรการต่างๆ (ทั้งโดยตรงผ่านกฎหมายและโดยอ้อมผ่านผู้บังคับบังชา) เพื่อจัดการกับแม่ชีทศพรโดยศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303999145&grpid=00&catid=&subcatid=)

การผูกขาดครอบงำทางวัฒนธรรมผ่านกลไกอำนาจรัฐ
ปรากฏการณ์วิวาทะแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่สังคมเสมือนจริงไปจนถึงพื้นที่สื่อสารมวลชนนี้ นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจต่อพัฒนาการทางความคิดของสังคมไทย เพราะแสดงให้เห็นถึงการเริ่มเปิดกว้างสู่การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นอ่อนไหวทั้งหลายในสังคม (ในกรณีนี้คือ ความเชื่อทางศาสนา) เห็นได้จากข้อเสนอของ คำ ผกา ในตอนท้ายรายการที่ชักชวนให้ผู้ชมเห็นต่างและร่วมถกเถียง โดยเน้นย้ำว่าการวิพากษ์ของเธอไม่ได้ต้องการตัดสินคุณค่าดี/เลวให้กับความเชื่อเรื่องสแกนกรรม แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงที่มาที่ไปของ “กรอบคิด” ซึ่งแฝงอยู่เบื้องหลังการแก้กรรมของแม่ชี อันเต็มไปด้วยอคติทางเพศและมายาคติทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุดแล้ว การสแกนกรรมของแม่ชีนับเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการผูกขาดองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมผ่านกระบวนการกล่อมเกลาและปลูกฝังโดยระบบการศึกษาและจารีตประเพณีของทางการมาเป็นเวลาเนิ่นนาน
อาจกล่าวได้ว่า “วัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์” ที่เกิดขึ้นจาก “กรณีแม่ชีทศพร” นี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องการอย่างมากในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและวัฒนธรรมซึ่งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะสังสรรค์ของความคิดความเชื่อหลักของคนในสังคม อันจะนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนทัศน์อย่างถอนรากถอนโคนในไม่ช้าอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี การแสดงบทบาทและท่าที ตลอดจนการทยอยออกมาตรการต่างๆ ของกระทรวงวัฒนธรรม ผ่านรัฐมนตรีเจ้าประจำกระทรวงและศูนย์เฝ้าจับระวังทางวัฒนธรรมนั้นสวนทางกับวัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์นี้อย่างมีนัยสำคัญ
ดังที่ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) ได้กล่าวในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ว่า “เราต้องกลับไปที่หลักของพระพุทธศาสนา เรารู้ว่ามนุษย์สามารถแยกแยะความผิดความถูกได้ ความดีความเลวได้ ถ้าสิ่งที่เราทำนั้นหลักศาสนาพุทธบอกว่าเป็นความชั่ว เป็นอกุศลกรรมก็อย่าไปทำ แต่ถ้าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นความดี เราก็ต้องทำดียิ่งๆ ขึ้นไป หลักมันอยู่ตรงนั้นเอง”
โดยการอ้าง “หลักที่แท้จริงของศาสนา” รมว.วธ. ได้สถาปนาหน่วยงานของตนเป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการตีความศาสนาพุทธ และในขณะเดียวกัน ในฐานะหน่วยงานของรัฐ กระทรวงวัฒนธรรมได้ใช้กลไกอำนาจทั้งหมดที่อยู่ในมือ “เซ็นเซอร์” บุคคลใดๆ ที่แสดงออกซึ่งรสนิยมและแนวทางความเชื่อที่แตกต่างไปจากการตีความศาสนาของตนด้วยวิธีการเผด็จการนิยม ไม่ว่าจะเป็นการชงเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งล่าสุดได้ถอดถอนวีดีโอในยูทูปทั้งหมด และข่มขู่จะดำเนินการกับผู้ที่ทำการเผยแพร่คลิปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือการใช้วิธีการ “มาเฟีย” คุกคามสถานะของแม่ชีทศพรผ่านผู้บังคับบังชาคือพระพรหมโมลีเจ้าอาวาสนั่นเอง
นอกจากนี้ โดยยังไม่ต้องเข้าไปถกเถียงประเด็นการตีความ “พุทธปรัชญา” เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า การอุปโลกน์ “ความดี/เลว” ให้เป็น “หลักของพระพุทธศาสนา” ตามความเข้าใจของ รมว.วธ. นี้ แท้จริงกำลังจะสับสนระหว่าง “หลักพุทธศาสนา” (หรือพุทธปรัชญา ซึ่งเป็นแนวทางสู่ “อิสรภาพ” ทางจิตวิญญาณ) กับ “หลักศีลธรรม” (ซึ่งเป็น “กฎเกณฑ์” แนวปฏิบัติทางโลกอันเกิดขึ้นจากฉันทามติของคนในสังคมเดียวกัน) เสียด้วยซ้ำ
เนื้อหาและแนวทางของแม่ชีนั้นดีไม่ดี ถูกผิด เหมาะสมหรือไม่อย่างไร คงจะเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องร่วมกันพูดคุยถกเถียง (ต้องไม่ลืมว่าแม่ชีเองก็มีลูกศิษย์ลูกหาหลายพันคน) และกระทรวงวัฒนธรรมก็มีความชอบธรรมในการที่จะออกมาแสดงจุดยืนและท่าทีของตนได้ แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการ “อำนาจนิยม” ที่กำลังทำอยู่ ซึ่งมุ่งยืนยัน “อำนาจ” ของตนเองผ่าน “บทลงโทษ” มากกว่าจะเปิดกว้างสู่ “วัฒนธรรมการวิพากษ์” เพื่อสร้างปัญญาให้กับสังคมอย่างแท้จริง
นี่สะท้อนปัญหาในเชิงกรอบคิดอันเป็นปัญหาเรื้อรังของกระทรวงนี้ กรอบคิดแบบ “ผูกขาดครอบงำเชิงวัฒนธรรม” (cultural hegemony) ได้ถูกสถาปนาให้เป็น “อัตลักษณ์” ประจำกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งทึกทักเอาเองว่าการมีอยู่ของตนไม่สามารถแยกออกจากการ “เฝ้าระวัง” และ “ลงโทษ” ได้
เราต้องการสังคมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ สังคมที่จะเปิดพื้นที่ให้กว้างมากพอสำหรับการต่อรองและการแสดงออกถึงความแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างๆ ไม่ใช่สังคมที่ถูกกำกับโดยองค์กรซึ่งมีแนวคิดฟาสชิสต์ ในนามของ “ความถูกต้อง” หรือ “ความบริสุทธิ์ดีงาม” ทางวัฒนธรรม เพราะแม้แต่ความถูกต้องดีงามที่ถูกสถาปนาเป็นแนวคิดหลักนั้นก็ต้องถูกตรวจสอบและสอบทานได้
และถึงที่สุดแล้ว อาจไม่ใช่แม่ชีทศพรหรือสแกนกรรมใดๆ ที่เป็นภัยอย่างแท้จริงต่อความมั่นคงของพุทธศาสนา (เพราะพุทธศาสนาแบบทางการดำเนินอยู่ควบคู่ไปกับพุทธศาสนาแบบชาวบ้านมาตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว) หากแต่เป็นกระบวนการครอบงำทางวัฒนธรรมที่มีหัวขบวนเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่เฉกเช่นกระทรวงวัฒนธรรมต่างหาก เพราะสิ่งที่ท่านทำคือ การปิดกั้นกดทับผู้คนในสังคมไม่ให้พวกเขาได้มี “อิสรภาพ” และ “พื้นที่” ในการแสดงออกซึ่งความเชื่อและความต้องการทางจิตวิญญาณที่หลากหลาย
ผู้หญิงกับพุทธศาสนาของไทย : เมื่อผู้หญิงไม่เคยมีพื้นที่ยืนในยุคกลางของยุโรป ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้สถาปนาตนเองเป็น “สถาบัน” (Establishment) ที่มีอำนาจและสถานะทางสังคมการเมืองที่มั่นคงและเบ็ดเสร็จ ประวัติศาสตร์ได้จารึก “กระบวนการล่าพวกนอกรีต” (Inquisition) ซึ่งกระทำโดยพระสงฆ์และคริสต์ศาสนิกชนในนามของความบริสุทธิ์ดีงามของศาสนา และหนึ่งในกลุ่มนอกรีตคือ กลุ่มผู้หญิงซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น “แม่มด”
หากพิจารณาขบวนการแม่มดที่เกิดขึ้นในยุโรปนี้ด้วยมุมมองใหม่ทางประวัติศาสตร์ผนวกกับองค์ความรู้สายสตรีนิยม เราสามารถตีความได้ว่า ในแง่หนึ่ง การมีอยู่ของ “แม่มดหญิง” นี้เป็นความพยายามในการต่อรองกับ “อำนาจ” (ของศาสนจักรและศิลปวิทยาการ ซึ่งก็คือ “องค์ความรู้” ทั้งหลายของมนุษย์) ซึ่งถูกผูกขาดเรื่อยมาโดย “ผู้ชาย” การตั้งชื่อในแง่ลบให้กับกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ว่าเป็น “แม่มด” ตลอดจนการยัดเยียดข้อกล่าวหา “นอกรีต” ก็แสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่ “สถาบัน” (ผ่านอำนาจชายเป็นใหญ่) จัดการกับการต่อสู้เพื่อจะมี “ที่ยืน” ในสังคมของกลุ่มคนชายขอบไร้อำนาจซึ่งคือ ผู้หญิง
ในแง่นี้ การ “เตือนสติสังคม” ของกระทรวงวัฒนธรรมโดยการผูกขาด “ความถูกต้อง” ของการตีความทางศาสนานี้เป็นการกระทำที่รุนแรงภายใต้กรอบความคิดผู้ชายเป็นใหญ่ ในสังคมที่อำนาจและองค์ความรู้ถูกผูกขาดเรื่อยมาโดยผู้ชาย
การปกป้องศาสนาถูก “เลือกปฏิบัติ” กับแม่ชีทศพร (ซึ่งไม่มีสถานะใดๆ เนื่องจากความเป็นแม่ชีไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสังคมหรือจากองค์กรสงฆ์ไทย ไม่ใช่นักบวช เป็นเพียงแค่ฆราวาสนุ่งขาวห่มขาวที่ถือศีล 8 ธรรมดา) ในขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมไม่เคยมีความจริงใจใดๆที่จะตรวจสอบพระสงฆ์องค์คณะที่มีพฤติกรรมการสอนเข้าข่าย “เบี่ยงเบน” (หากวัดจากบรรทัดฐานทางศีลธรรมของรมว.กธ.) อย่างสำนักธรรมกายหรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ในการกำกับดูแลของมหาเถรสมาคมเองก็ตาม
ใช่, วิธีคิดและชุดคำสอนของแม่ชีมีปัญหาอย่างแน่นอน แต่การเกิดขึ้นและมีอยู่ของแม่ชีเป็นผลพวงจากส่วนเกิน (excess) ที่สังคมนี้ผลิตขึ้นมาเอง ผ่านกระบวนการครอบงำและกดขี่ทางวัฒนธรรมที่ดำเนินมาช้านานซึ่งไม่เคยมี “พื้นที่” ให้กับผู้หญิงอย่างจริงจัง
เพราะ ในปริมณฑลของพุทธศาสนาไทย มีผู้หญิงเพียงสองประเภทเท่านั้นที่สามารถมีพื้นที่ยืนอยู่ได้ คือผู้หญิงอย่างแม่ชีศันสนีย์ที่ต้องอ่อนน้อมสยมยอมต่อระบอบชายเป็นใหญ่ หรือฆราวาสหญิงทั้งหลายซึ่งเป็นได้เพียงแค่อุบาสิกาผู้ค้ำจุนทำนุบำรุงศาสนา แต่ “ผู้หญิง” ในฐานะปัจเจกที่มีความเป็นเอกเทศและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะสามารถเข้าถึงนิพพานได้ดังเช่นผู้ชายนั้น พุทธศาสนาไทยไม่เคยรับรองพื้นที่ให้กับพวกเธออย่างเป็นทางการและอย่างเท่าเทียม
ลูกศิษย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงของแม่ชีอาจไม่ “หลุดพ้น” แต่ภายใต้สถานภาพของผู้หญิงที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ แม่ชีได้ช่วยปลดเปลื้องความทุกข์เฉพาะหน้าของพวกเธอ
ใช่, การตีความพุทธศาสนาและรูปแบบการนำเสนอของแม่ชีอาจหมิ่นเหม่และล่วงละเมิดไม้บรรทัดทางศีลธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม แต่แม่ชีทศพรไม่ใช่อาชญากรของรัฐที่จะทำลายความสงบสุขของสังคมไทยดังเช่นที่ รมว.วธ.กล่าวอ้าง
ดังนั้น กรณีแม่ชีทศพรนี้จึงเป็นกรณีที่น่าสนใจและท้าทายต่อสติและวุฒิภาวะของสังคมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ของการปะทะต่อสู้ระหว่างความเชื่อแบบทางการกับความเชื่อแบบชาวบ้านแล้ว ในภาพที่กว้างออกไป กรณีนี้ยังชี้ให้เราเห็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนว่าด้วยความไม่เท่าเทียมทางเพศในปริมณฑลของพุทธศาสนาไทยอีกด้วย !
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น