วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฤกษ์ยุบสภาชักไม่ชัวร์ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูกไม่ทันสัปดาห์นี้
         ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องตีความกฎหมายลูก 3 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้ว แจ้งประธานรัฐสภา ประธาน กกต. นายกรัฐมนตรี ส่งคำชี้แจงประกอบเพิ่มเติมภายในวันที่ 6 พ.ค. นัดประชุมชี้ขาดวันที่ 9 พ.ค. ไม่ทันกำหนดยุบสภาที่ขีดเส้นเอาไว้ไม่เกินวันที่ 7 พ.ค. “อภิสิทธิ์” ระบุจะรอดูผลวินิจฉัยของศาลและรอขั้นตอนทางธุรการหลังชี้ขาดให้เรียบร้อยก่อนจึงยุบสภา แต่ยังหวังทูลเกล้าฯกฤษฎีกายุบสภาได้ก่อนไปประชุมอาเซียนวันที่ 7 พ.ค. 42 


พรรคการเมืองลงนามสัตยาบันไม่นำสถาบันมาหาเสียง กกต. ยื่นของบ 3,817 ล้านบาทจัดเลือกตั้ง คาดเปิดรับสมัคร ส.ส. วันแรกวันที่ 11 หรือ 12 พ.ค. เลือกตั้งวันที่ 26 มิ.ย. หรือ 3 ก.ค. ภูมิใจไทยหวังได้ที่ 3 เพื่อพลิกเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะรอดูผลการตีความกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาก่อนจึงจะนำพระราชกฤษฎีกายุบสภาขึ้นทูลเกล้าฯ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะทูลเกล้าฯวันที่ 4 พ.ค. นี้ได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าน่าจะทูลเกล้าฯได้ก่อนเดินทางไปประชุมผู้นำอาเซียนที่อินโดนีเซียวันที่ 7 พ.ค. นี้


พรรคอันดับ 2 มีสิทธิตั้งรัฐบาล


นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งว่า พรรคอันดับหนึ่งจะได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน หากไม่ได้ก็จะเป็นพรรคอันดับสอง ซึ่งเป็นสิทธิที่ทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ


“ในอดีตที่ผ่านมามีรัฐบาลเกิดขึ้นหลายแบบ เช่น ปี 2518 พรรคที่มีเพียง 18 เสียง ก็เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ และในระยะหลังพรรคอันดับหนึ่งหรืออันดับสองล้วนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาแล้วทั้งสิ้น หากไม่ให้พรรคอันดับสองตั้งรัฐบาล ถามว่าหากพรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลไม่ได้จะให้ทำอย่างไร ต้องกลับไปเลือกตั้งกันใหม่หรือไม่”


“สุเทพ” ชี้ยึดตามกฎหมายไม่มีปัญหา


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องมีการลงสัตยาบันอะไรในการเลือกตั้ง เพราะมีกฎหมายอยู่แล้ว หากทำตามกฎหมายก็จะไม่มีปัญหา


ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังยุบสภาจะไปหาเสียงในภาคอีสานหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไปทุกพื้นที่ เพราะเป็นหน้าที่ ส่วนกระแสข่าวความไม่พอใจการวางตัวผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ยืนยันว่าไม่มีปัญหา แต่ยอมรับว่าคนไม่ชอบใจก็ออกมาโวยวาย ซึ่งมีแค่ 3 คน


อัด ส.ส. ไม่สำนึกบุญคุณพรรค


“คนพวกนี้โวยวายไปก่อนทั้งที่กระบวนการของพรรคยังไม่จบ ช่วยไปกระซิบเขาหน่อยว่าโตแล้วอย่าพูดจาอะไรให้พรรคเสียหาย พรรคให้ประโยชน์มากแล้ว มาพึ่งพาพรรค พึ่งใบบุญของพรรคมานานแล้ว เพราะฉะนั้นให้รู้จักสำรวมตัว พูดจาอย่าให้พรรคเสียหาย ไม่มีหรอกครับข้อขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าไม่มีปัญหากับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคที่ทำหน้าที่วางตัวผู้สมัคร”


ภท. หวังได้ที่ 3 ชิงตั้งรัฐบาล


นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและแกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การเมืองไทยไม่มีอะไรที่แน่นอน สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคกิจสังคมมี 18 เสียงยังได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทยที่คาดว่าจะได้เสียงเป็นอันดับสามก็พร้อมสนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ


“การเมืองพูดอะไรตอนนี้ไม่ได้ ต้องรอหลังเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยพร้อมเป็นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล”


42 พรรคเห็นพ้องเลิกอ้างสถาบัน


ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดประชุมตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อหารือข้อกำหนดต่างๆเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
หลังการประชุมหารือ พรรคการเมืองที่เข้าร่วม 42 พรรค จากที่มีทั้งหมด 55 พรรค ได้ร่วมกันลงนามพันธะสัญญากันระหว่างพรรคการเมืองที่จะไม่นำสถาบันเบื้องสูงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ต้องการให้ กกต. อธิบายข้อกำหนดให้ชัดเจน โดยต้องการให้ กกต. กำหนดเป็นข้อห้ามมากกว่าข้อควรปฏิบัติ


กกต. เสนอทำสัตยาบัน 5 ข้อ


ทั้งนี้ นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง เป็นผู้เสนอให้ทำพันธะสัญญาระหว่างพรรคการเมือง 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.มิบังควรนำสถาบันมาเกี่ยวในการหาเสียงเลือกตั้ง 2.จะปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด 3.จะไม่ใช้กลไกของรัฐหรือทรัพยากรของรัฐบาล 4.จะหาเสียงเลือกตั้งโดยสันติวิธี ไม่ข่มขู่คุกคามคู่แข่งด้วยวิธีการใดๆ และไม่ใช้วิธีการรุนแรงในการหาเสียงเลือกตั้ง และ 5.จะยอมรับผลการเลือกตั้งตามที่ประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์ในการเลือกตั้งอย่างจริงใจ


คาดเลือกตั้งวันที่ 26 มิ.ย. หรือ 3 ก.ค.


นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า หากมีการยุบสภาสัปดาห์นี้ การเลือกตั้งน่าจะมีได้ในวันที่ 26 มิ.ย. หรือ 3 ก.ค. ส่วนงบประมาณที่ต้องใช้จัดเลือกตั้งนั้นเสนอขอจากคณะรัฐมนตรี 3,817 ล้านบาท


“ต้องขอบคุณทุกพรรคการเมืองที่เห็นพ้องต้องกันว่าไม่ควรนำสถาบันมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดย กกต. จะออกข้อกำหนดที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงสถาบันหากไม่แน่ใจขอให้หลีกเลี่ยงดีที่สุดจะได้ไม่ถูกร้องเรียน”


เปิดรับสมัคร ส.ส. วันที่ 11 หรือ 12 พ.ค.


ทั้งนี้ มีรายงานจาก กกต. ว่าได้ทำตารางเลือกตั้งเตรียมไว้แล้ว รอการประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการก็จะประกาศกำหนดการต่างๆได้ เช่น กำหนดเปิดรับสมัคร ส.ส. วันแรกวันที่ 11 หรือ 12 พ.ค. โดยจะรับสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อก่อน ใช้เวลา 5 วัน จากนั้นใช้เวลารับสมัคร ส.ส.เขตอีก 5 วัน


ศาล รธน. รับตีความกฎหมายลูก


ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมคณะตุลาการเพื่อพิจารณาเรื่องที่ประธานรัฐสภาส่งคำร้องให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง


ชี้ขาดไม่ทันกำหนดยุบสภาก่อนวันที่ 7 พ.ค.


ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแล้วให้รับคำร้องเอาไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 17 (5) พร้อมทั้งให้มีหนังสือแจ้งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และประธาน กกต. เพื่อทราบ หากมีคำชี้แจงหรือเสนอความเห็นเพิ่มเติมให้กระทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในวันที่ 6 พ.ค. 2554


มีรายงานว่า คณะตุลาการนัดประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับในวันที่ 9 พ.ค. และคาดว่าจะชี้ขาดได้ในวันเดียวกัน ส่วนที่นายกรัฐมนตรีกำหนดยุบสภาสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. หรือไม่เกินวันที่ 7 พ.ค. นั้น สามารถยุบได้ทันทีไม่ต้องรอการพิจารณาของศาล เพราะร่าง พ.ร.บ. ผ่านความเห็นชอบจากสภามาแล้ว การยุบสภาจึงไม่กระทบต่อร่าง พ.ร.บ.


******************************
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น