วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554


‘ผังล้มเจ้า’ผังกำมะลอ!ความรับผิดชอบทางกฎหมาย?
 http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11066

       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 314 ประจำวัน จันทร์ ที่ 13 มิถุนายน 2011
         โดย สาวตรี สุขศรี
         ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 23 ในเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com โดยอาจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตคำสารภาพเรื่อง “แผนผังล้มเจ้า” ของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบกและอดีตโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.สรรเสริญ ซึ่งศาลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท เมื่อนายสุธาชัยรับฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยที่ 3 จึงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีอีกต่อไป จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3


พ.อ.สรรเสริญกล่าวต่อศาลในทำนองว่า “แผนผังล้มเจ้า” แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงเรื่องที่ ศอฉ. คิดขึ้นเองแบบทันทีทันใด โดยยังไม่มีข้อยืนยันว่ารายชื่อที่อยู่ในแผนผังคือคนที่คิด “ล้มเจ้า” หรือ “ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” จริงๆ และกล่าวโทษสื่อมวลชนที่นำแผนผังดังกล่าวไป “ขยายความ” เองจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ก็แสดงความเชื่อมั่นต่อการใช้ “ดุลยพินิจและวิจารณญาณ” ของสังคมและประชาชนไทยว่าคงจะสามารถพิจารณาได้ว่าผังล้มเจ้าของ ศอฉ. หมายความว่าอย่างไรกันแน่ จึงควรตั้งเป็นข้อสังเกตและนำไปปฏิบัติหลายประการดังนี้


1.สังคมที่ร้องหาคนดี โดยไม่มีคำตำหนิต่อผู้กล่าวความเท็จ


ประการที่ 2 ในช่วงเวลานั้นมีข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวหาในลักษณะทำนองว่าท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ (ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ) ซึ่งเป็นราชเลขาธิการในพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โทรศัพท์มาสั่งการ ศอฉ. อยู่ตลอดเวลาให้ดำเนินการนานัปการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น หมายความว่ามีความพยายามจะสร้างภาพให้สังคมเห็นว่าพระองค์ท่านมีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง ซึ่งมิได้เป็นความจริง ศอฉ. ก็มีความจำเป็นที่ต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับทราบว่าความจริงเป็นเช่นไร”


คำให้การช่วงหนึ่งของ พ.อ.สรรเสริญคำชี้แจงของอดีตโฆษก ศอฉ. ในประเด็นเรื่องความพยายามในการช่วยแก้ข้อกล่าวหาที่อาจไม่เป็นความจริงและน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อ “ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์” นั้น อันที่จริงต้องถือเป็นเรื่องถูกต้องดีแล้วหาก ศอฉ. จะแสดงความเป็นสุภาพบุรุษหาทางชี้แจงเพื่อปกป้องบุคคลที่อาจได้รับความเสียหายในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการกระทำหรืออำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตนเอง และจะยิ่งถูกต้องที่สุดถ้าความเป็นสุภาพบุรุษของ ศอฉ. เยี่ยงนี้เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าผู้นั้นจะมียศถาเป็น “ท่านผู้หญิง” หรือเป็นเพียง “สามัญชนคนธรรมดา”


อย่างไรก็ตาม สังคมไทยไม่ควรยอมรับได้เลยหากคำชี้แจงเพื่อปกป้องบุคคลคนหนึ่งกลับกลายเป็นการกล่าวหาหรือ “เสมือนกล่าวหา” บุคคลอีกคนหรืออีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บน “มูลความจริง” เพราะนั่นย่อมทำให้บุคคลเหล่านั้นอาจได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบอันไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกับท่านผู้หญิง 


เราย่อมไม่อาจให้อภัยได้เมื่อพบว่า “ความจำเป็นที่ต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับทราบว่าความจริงเป็นเช่นไร” อันเป็นคำชี้แจงของอดีตโฆษก ศอฉ. นั้น กลับไม่ใช่การชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่เป็น “ความจริง” เพื่ออธิบายให้สังคม “ทราบความจริง” แต่กลายเป็นการกล่าว “ความไม่จริง” เรื่องหนึ่งเพื่ออธิบาย “ความไม่จริง” อีกเรื่องหนึ่ง คำถามก็คือเช่นนี้แล้วเมื่อไรที่สังคมไทยจะได้รับทราบ “ความจริง”


อนึ่ง ไม่ว่าในความเป็นจริงจะมีขบวนการล้มล้างสถาบันอยู่หรือไม่ หรือใครเป็นผู้คิดล้มล้าง แต่นั่นย่อมไม่ใช่ประเด็นหรือข้อแก้ตัวให้กับการกล่าวหาบุคคลใดๆโดยขาด “ข้อเท็จจริง” ที่จะมายืนยันความผิดที่ผู้ถูกใส่ความจนอาจได้รับโทษหรือถูกเกลียดชังจากสังคม ฉะนั้น ศอฉ. จึงต้องมีความรับผิดชอบบางประการต่อเรื่องนี้ (ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป) ในขณะที่คนอื่นใดที่เพิกเฉยต่อการกระทำของ ศอฉ. โดยยกข้ออ้างทำนองว่า “แผนผังอาจไม่จริง แต่ก็ใช่ว่าขบวนการล้มเจ้าจะไม่มีอยู่จริง” ควรต้องนับว่าเป็นผู้บกพร่องทางตรรกะ วิจารณญาณ และออกจะไร้สติสัมปชัญญะอยู่มาก


นับเป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกันเมื่อปรากฏการณ์นี้มาพร้อมกับความเงียบงันโดยพร้อมเพรียงกันของผู้คนทั้งที่มีอาวุโสและไม่มีอาวุโสทั้งหลาย ที่มักคร่ำครวญหาผู้มีศีลธรรมความดีงามให้เข้าสู่อำนาจและทำตนเป็นแบบอย่าง เป็นหลักเป็นฐานกับบ้านเมือง 


เขาเหล่านี้ทำเหมือนกับว่า “การไม่กล่าวคำเท็จ การไม่พูดจาส่อเสียด หรือการไม่นำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน รวมทั้งการกล่าวคำที่อาจทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย” เหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อหนึ่งที่ผู้มีธรรมควรยึดถือปฏิบัติ หรือเป็นหมุดหมายหนึ่งของคุณลักษณะแห่งการเป็น “คนดีมีศีลธรรม” บุคคลเหล่านี้คือคนที่พร้อมยกมือสนับสนุนให้จำกัดจัดการเสรีภาพของสามัญชนอย่างถึงที่สุด หากคำพูดของมันผู้นั้นทำท่าว่าจะก่อความเสียหายให้แก่อภิสิทธิ์ชน แต่กลับหดมือซุกกระเป๋าเมื่ออภิสิทธิ์ชนเป็นคนทำให้สามัญชนต้องเสื่อมเสีย


ฤาคำว่า “ศีลธรรมและความดีงาม” ของประเทศนี้ไม่ได้รวมถึงการ “ห้ามกล่าวความเท็จ”



2.บทบาทของสื่อกระแสหลัก


น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยต้องพบว่า ณ เวลาที่ ศอฉ. แถลงข่าวต่างๆในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สื่อกระแสหลักทุกช่องต่างทำจ้องทำหรือต้องทำข่าวเพื่อนำเสนอต่อประชาชนทุกหมู่เหล่า ซึ่งนอกเหนือจากการถ่ายทอดสดการแถลงข่าว (อันเป็นเสมือนหน้าที่ของสื่อเหล่านั้น) แล้วยังมีการสรุปความและนำเสนอในช่วงเวลาเช้า บ่าย เย็นอีกด้วย แต่การณ์กลับปรากฏว่าสื่อกระแสหลักทุกช่อง สื่อหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อ้างว่าอยู่เคียงข้างประชาชน ต่างพร้อมใจกันเพิกเฉยและไม่ทำข่าวการสารภาพของโฆษก ศอฉ. ว่าแท้ที่จริงแล้ว “แผนผังล้มเจ้า” (ที่สำนักข่าวตนเคยนำไปขยายความเองตามคำซัดทอดของ พ.อ.สรรเสริญ) นั้น ศอฉ. มิได้พูดหรือมิได้ตั้งใจให้หมายความว่าคนซึ่งมีรายชื่อในผังนั้นมีพฤติกรรมหรือมีความคิดที่จะล้มล้างสถาบันจริง ๆ


คงมีเพียงสื่อทางเลือกหรือสื่อกระแสรองเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้นที่เขียนข่าวถึง
ไม่ว่าการ “ขยายความต่อ” จะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด หรือจากความสมัครใจหรือไม่ แต่เมื่อปรากฏว่าสิ่งที่นำไปขยายความนั้นไม่เป็นข้อความจริง หรืออย่างน้อยที่สุดอาจ
ทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จนอาจทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย คำถามก็คือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้บ้างหรือไม่ การทำข่าวนำเสนอ “ความจริง” เพื่อแก้ไข “ความไม่จริง” หรือแก้ไข “ความบิดเบือน” ที่ตนเคยเสนอออกไปในอดีต มิได้เป็นสิ่งที่ควรทำหรือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการทำหน้าที่ของ “สื่อไทย” ฉะนั้นหรอกหรือ



ฤาว่าผู้มีรายชื่อในแผนผังกำมะลอฉบับนี้และได้รับความเสียหายจากการเสนอข่าวของสื่อเหล่านี้ควรต้องดำเนินการฟ้องร้องสื่อจริงๆตามคำแนะนำของ พ.อ.สรรเสริญ เพื่อสร้างบรรทัดฐานแก่สังคม พร้อมๆกับเรียกร้องจรรยาบรรณจากสื่อ


3.โปรดใช้วิจารณญาณแบบไทยๆ
“...แต่หลังจากนั้นมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ไปขยายผล ขยายความ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนผังดังกล่าว ทำให้ได้รับความเสียหายจากมุมมองของสังคม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมต้องตัดสิน ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจะฟ้องร้องกับผู้ที่นำไปขยายความในทางที่ผิดจากเจตนารมณ์ของ ศอฉ  ก็สุดแล้วแต่บุคคลเหล่านั้นจะพิจารณา...” คำให้การช่วงหนึ่งของ พ.อ.สรรเสริญ


เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2553 สถานีวิทยุชุมชนถูกปิดจำนวน 26 แห่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ถูกยุติการออกอากาศจำนวน 6 แห่ง ปรากฏชื่อในข่ายมีความผิด 84 แห่งในพื้นที่ 12 จังหวัด ราวเดือนเมษายน 2554 วิทยุชุมชนเสื้อแดง 13 แห่งถูกปิดหรือให้ยุติการออกอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จากการสำรวจสถิติการปิดกั้นเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงกลางปี 2553 มีเว็บเพจถูกคำสั่งศาลปิดกั้นการเข้าถึงอย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 74,686 ยูอาร์แอล เลขหมายยูอาร์แอลดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากหลักพันเป็นหลักหมื่นในช่วงปี 2552 และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการชุมนุมและมีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง


ข้อเท็จจริงเบื้องต้นคือ สื่อต่างๆที่ถูกปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงเหล่านี้ นอกจากฝ่ายรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ปิดกั้นแล้ว ไม่มีใครมีโอกาสได้รับรู้เลยว่าเนื้อหาที่เผยแพร่อันเป็นสาเหตุของการถูกปิดกั้นนั้นเป็นอย่างไร หรือขัดต่อกฎหมายอย่างไร


สื่อที่ถูกปิดกั้นบางสื่อนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลาย มีทั้งที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดได้ และเรื่องทั่วๆไปที่ไม่น่าจะเป็นความผิด (เพราะเนื้อหาในลักษณะเดียวกันสามารถนำเสนอได้ในสื่ออื่นๆที่ไม่ถูกปิดกั้น) แต่ด้วยเหตุผลบางประการ “สื่อเหล่านั้น” ก็กลับถูกปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงทั้งหมดแบบไม่เลือกเนื้อหา


จำนวนตัวเลขยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นโดยคำสั่งศาลจากผลการสำรวจดังกล่าวยังมิได้นับรวมเว็บเพจอีกจำนวนมหาศาลที่ถูกปิดกั้นโดยคำสั่งของ ศอฉ. ซึ่งไม่ได้ขอคำสั่งศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (มาตรา 20) แต่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อเท็จจริงเบื้องต้นอีกเรื่องหนึ่งคือที่ผ่านมาแม้สื่อจำนวนมากจะโดนปิดกั้นไปแล้ว (ปัจจุบันหลายแห่งยังถูกปิดกั้นต่อไป แม้จะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้วก็ตาม) หรือห้ามไม่ให้ดำเนินการ หรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน แต่กลับมีผู้ที่ต้องรับผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นเจ้าของสื่อเหล่านั้นถูกฟ้องร้องหรือถูกศาลพิพากษาว่าเผยแพร่สิ่งที่เป็นความผิดตามกฎหมายจริงๆในจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสื่อที่ถูกปิดกั้นไป จึงนำมาซึ่งข้อสงสัยว่าตกลงแล้ว “เนื้อหา” ที่ถูกปิดกั้นนั้นเป็นความผิดหรือว่าไม่ผิด



ตัวเลขสถิติ (ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) รวมทั้งรูปแบบและวิธีในการปิดกั้นสื่อเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุดสามารถสะท้อนได้ว่าที่ผ่านมาฝ่ายรัฐไม่ได้ต้องการให้ประชาชนรับสื่อโดยใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการตัดสินความน่าเชื่อถือของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง รัฐหาได้พยายามเปิดพื้นที่หรือให้โอกาสในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสำหรับทุกๆฝ่ายไม่ ทั้งที่ข้อมูลที่หลากหลายเหล่านั้นมีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้การคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งของประชาชนและสังคมเป็นไปได้อย่างถูกต้องหรือไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และด้วยสถานการณ์การไล่ล่าสื่อที่เห็นต่างจากฝ่ายรัฐดังกล่าว ประกอบกับพฤติกรรมดูถูกหรือไม่ไว้วางใจสติปัญญาของประชาชนไทยของภาครัฐ จึงนับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจยิ่งว่าเมื่อมาถึงกรณี “แผนผังล้มเจ้า” แล้ว พ.อ.สรรเสริญกลับร้องหาและเชื่อมั่นอย่างมากในวิจารณญาณของผู้คนในสังคม


ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ประเด็นคงมิใช่เรื่องที่ผู้เขียนอยากตัดพ้อหรือประชดประชันการใช้อำนาจรัฐแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญที่อยากชี้ชวนให้ตั้งคำถามดังๆก็คือ ในท้ายที่สุดแล้วประชาชนคนไทยมีโอกาสเข้าถึงหรือได้รับข้อมูลข่าวสารอย่าง “ครบถ้วนรอบด้าน” จากทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอหน้ากันหรือไม่ อย่างไร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจหรือใช้วิจารณญาณต่อเรื่อง “แผนผังล้มเจ้า” (รวมทั้งเรื่องอื่นๆในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมาด้วยว่าฝ่ายใดผิดถูก) หากพิจารณาให้ดีจะเห็นถึงความย้อนแย้งในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะในขณะที่ ศอฉ. เรียกร้องการตัดสินใจจากสังคมโดยวิเคราะห์จากข้อมูลอื่นๆที่มีอยู่ แต่ปรากฏว่าในช่วงเวลานั้นรัฐ ศอฉ. และสื่อที่เห็นด้วยกับรัฐแทบจะเป็นฝ่ายเดียวที่มีพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนได้อย่างเต็มที่


เช่นนี้แล้ว ศอฉ. จะต้องแปลกใจด้วยหรือ หรืออันที่จริง ศอฉ. ควรคาดหมายได้อยู่แล้วด้วยซ้ำไปว่าด้วยการใช้ “วิจารณญาณแบบไทยๆ” ผลลัพธ์ที่ออกมาต่อกรณีแผนผังล้มเจ้าของตนและพวกจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร



4.ว่าด้วยความรับผิดชอบในทางกฎหมาย


ไม่ว่าเสธ.ไก่อู ศอฉ. หรือคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่ย่อมปฏิเสธได้ยากว่า “แผนผังล้มเจ้า” มีหน้าที่ “ทางการเมือง” ประการสำคัญ (ดังที่เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวไว้แล้ว) เพราะนอกจากผังดังกล่าวจะกลายเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ถูกอ้างอิงโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการดำเนินการกับกลุ่มบุคคลแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเคยใช้ผังนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการอ้างอิงความชอบธรรมสำหรับการกระทำของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำรุนแรงต่อคนไทยด้วยกัน ในฐานะองค์กรผู้ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ ทั้งนี้ รายชื่อบุคคลหรือองค์กรที่ปรากฏอยู่ในแผนผังจำนวนหนึ่งคือชื่อของแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาหรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดี รวมทั้งผู้ที่อาจยังไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ แต่ถูกประณามจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง


ด้วยพลังการทำลายล้างของ “แผนผังล้มเจ้า” ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุมจนมีประชาชนบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมากถึงสองครั้งสองครา การสร้างความรู้สึกเกลียดชังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ตำรวจ ทหาร การดำเนินคดีกับบุคคลฝ่ายต่างๆโดยมีประเด็นที่เกี่ยวพันกับการล้มล้างสถาบัน ส่งผลให้บุคคลจำนวนไม่น้อยถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว หมายรวมกระทั่งความไม่พอใจต่อสถาบันที่เริ่มแผ่ขยายไปในหมู่ประชาชนมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 


เราจึงไม่อาจเพิกเฉยหรือไม่ตั้งคำถามใดๆต่อเรื่องนี้ได้เลย และกลุ่มบุคคลผู้เต้าแผนผังจะสามารถลอยตัวเหนือปัญหา โยนภาระให้ฝ่ายต่างๆได้อย่างง่ายดายแบบที่เป็นอยู่กระนั้นหรือ หากวิเคราะห์จากพฤติการณ์และเจตนาแล้ว การกระทำของ ศอฉ. และพวกจึงน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 326, 328 กล่าวสรุปให้สั้นและง่ายสำหรับบทบัญญัติทั้ง 3 มาตรานี้ได้ว่า มาตรา 157 คือบทที่ว่าด้วย “ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ” กล่าวคือ เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปในทางมิชอบก็ดี ไปในทางทุจริตก็ดี เพียงเพื่อใส่ร้าย กลั่นแกล้ง หรือก่อให้เกิดความเสียหายในทางใดทางหนึ่งแก่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ดี เจ้าพนักงานของรัฐเหล่านั้นจะต้องมีความรับผิดทางอาญา เช่นนี้แล้วเมื่อ ศอฉ. รู้ทั้งรู้ว่ารายชื่อที่นำมาจับโยงใยไปมาในเอกสารแล้วตั้งชื่อว่า “แผนผังเครือข่ายล้มเจ้า” เป็นเรื่องที่ยังไม่มีมูล หรือยังไม่มีข้อยืนยันได้ว่าคนเหล่านั้นคิดล้มล้างสถาบันจริงๆ แต่ยังนำมาแถลงให้เป็นข่าวใหญ่ครึกโครม แจกจ่ายเอกสารแก่สื่อมวลชน จึงย่อมมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่มิชอบ มุ่งแต่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สังคม และทำให้บุคคลในแผนผังได้รับความเสียหาย


นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังเข้าข่ายเป็นการ “ใส่ความ” ตามมาตรา 326 คือการกล่าวร้ายต่อบุคคลอื่นใดกับบุคคลที่สาม ในประการที่ “น่าจะ” ทำให้บุคคลที่ถูกใส่ความนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดในฐานหมิ่นประมาท 


บทบัญญัตินี้มีความน่าสนใจอยู่มากตรงที่ผู้ถูกใส่ความสามารถร้องขอความเป็นธรรมจากศาลได้ แม้จะไม่ปรากฏ “ความเสียหาย” ที่เป็นรูปธรรมขึ้นจริงก็ตาม เพราะกฎหมายใช้คำว่า “น่าจะ” เท่านั้น 


จากกรณีนี้ย่อมชัดเจนว่าประเทศไทยและสังคมยังคงอ่อนไหวกับเรื่องราวใดๆที่เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (พิจารณาได้จากสถานการณ์เชียร์และต้านมาตรา 112) ดังนั้น ไม่ว่าในความเป็นจริงบุคคลต่างๆที่มีรายชื่ออยู่ในแผนผังจะได้รับความเสียหายหรือถูกใครเกลียดชังจริงหรือไม่ แต่คำว่า “ล้มเจ้า” นี้ห้วงยามปัจจุบันย่อมเป็นถ้อยที่ “น่าจะ” ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเสียหายหรือถูกเกลียดชังได้ทั้งสิ้น อนึ่ง พฤติการณ์ในการ “ใส่ความ” ดังกล่าวได้ปรากฏชัดเจนว่า ศอฉ. กระทำด้วยการแถลงต่อ “สื่อ” หรือด้วยการ “โฆษณา” ดังนั้น จึงอาจต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 328 (หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา)


อย่างไรก็ตาม จากคำรับสารภาพของ พ.อ.สรรเสริญที่ว่า


“ข้าฯได้รับมอบหมายให้นำเอกสารเหล่านั้นไปแจกแก่สื่อมวลชน ซึ่งเอกสารที่ไปแจกนั้นมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ซึ่งให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง...ซึ่งมิได้แถลงเลยว่าบุคคลทั้งปวงเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในขบวนการ และมิได้ให้หมายความเช่นนั้น แต่หลังจากนั้นมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ไปขยายผล ขยายความ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนผังดังกล่าว ทำให้ได้รับความเสียหายจากมุมมองของสังคม...”


ผู้เขียนจึงเห็นควรต้องอธิบายถึงบทที่ว่าด้วย “เจตนา” ในทางอาญาโดยสังเขปไว้เสียด้วย ทั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ศอฉ. ไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยคำแก้เกี้ยวง่ายๆดังกล่าว


ในทางกฎหมายอาญานั้น “เจตนา” ในการกระทำความผิดอันถือเป็นองค์ประกอบ (ภายใน) สำคัญที่จะตัดสินได้ว่าผู้กระทำต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนหรือไม่นั้น มิได้มีแค่เพียง “เจตนาประสงค์ต่อผล” เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเจตนาอีกประเภทหนึ่งที่ผู้กระทำสามารถ “คาดหมาย” หรือ “เล็งเห็น” ผลเสียหายจากการกระทำของตนด้วย หรือที่เรียกว่า “เจตนาเล็งเห็นผล” ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ยิงปืนไปที่นาย ข. เพราะต้องการฆ่านาย ข. ให้ตาย ปรากฏว่านาย ข. ตายจริง เช่นนี้ย่อมชัดเจนว่านาย ก. มีเจตนาที่ประสงค์ต่อผลคือความตายของนาย ข. นาย ก. ต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาประสงค์ต่อผล


แต่ในอีกกรณีหนึ่ง นาย ก. ยิงปืนไปในฝูงชนโดยมีความประสงค์แค่ต้องการ “ข่มขู่” ไม่ได้อยากให้ใครตาย แต่ในความเป็นจริงการยิงปืนไปเช่นนั้นนาย ก. ย่อมสามารถคาดหมายหรือเล็งเห็นผลได้ว่าต้องมีหรืออาจมีใครตาย ปรากฏว่านาย ข. ซึ่งยืนอยู่ในฝูงชนนั้นตายจริงๆจากลูกกระสุนของนาย ก. เช่นนี้นาย ก. จะโบ้ยใบ้ว่าไม่ได้เจตนาให้นาย ข. ตาย หรืออย่างมากก็แค่ประมาทเลินเล่อ (ซึ่งมีโทษน้อยกว่าเจตนา) มิได้ ในทางกฎหมายอาญานั้นนาย ก. ต้องรับผิดฐานฆ่านาย ข. ตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล


เมื่อนำตัวอย่างดังกล่าวมาพิจารณากับกรณี “แผนผังล้มเจ้า” จะเห็นได้ว่าด้วยห้วงยามแห่งการแถลงข่าว ด้วยความที่เป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างมากสำหรับประเทศไทย ด้วยรายชื่อที่เกี่ยวข้อง (คนที่โดนพิพากษาว่าหมิ่นแล้ว โดนข้อหา แกนนำ นปช.) ด้วยข้อมูลอื่นที่ ศอฉ. และฝ่ายรัฐโหมเสนอต่อประชาชนก่อนหน้า ซึ่งแวดล้อมแผนผังอยู่เช่นนี้ แม้ ศอฉ. ไม่ได้กล่าวถ้อยคำด้วยตนเองตรงๆชัดๆว่า “เอกสารที่ไปแจกนั้นหมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้คิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” ก็ย่อมเป็นกรณีที่ ศอฉ. สามารถเล็งเห็นผลได้ว่าสื่อและสังคมจะเข้าใจไปเช่นนั้น และเมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏในหลายๆกรณีว่าได้เกิดความเข้าใจไปเช่นนั้นจริงๆ ศอฉ. ย่อมมิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนได้โดยอาศัยหลักการในเรื่อง “เจตนาเล็งเห็นผล” นี้เอง


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 423 สำหรับคนที่มีรายชื่อในแผนผังและความเสียหายได้เกิดขึ้นจริงจนอาจพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมถึง “ค่า” แห่งความเสียหายนั้นน่าจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งได้อีกด้วย ทั้งนี้ โดยอาศัยมาตรา 420 และมาตรา 423 ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องละเมิดโดยทั่วไป และการหมิ่นประมาทในทางแพ่ง เพราะจากคำรับสารภาพของ พ.อ.สรรเสริญเองย่อมชัดเจนแล้วว่าเป็นการ “กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง”


พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) สำหรับประเด็นนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมาเคยมีการนำเอกสารหรือแผนผังดังกล่าวไปเผยแพร่หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยหน่วยงานของ ศอฉ. หรือหน่วยงานของรัฐบาลเองด้วยหรือไม่ แต่หากมีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น กรณีเช่นนี้ย่อมมีโอกาสเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) ได้เช่นกัน ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน...”


ปฏิเสธได้ยากว่าข้อหา “ล้มเจ้า” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยฝ่ายรัฐ (ไม่มีฐานความผิดนี้ปรากฏอยู่ที่ใดในกฎหมาย) เป็นคำกล่าวหาที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการกล่าวหานี้เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง หรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เกิดกระแสการคัดง้างกันระหว่างฝ่ายนิยมเจ้าและไม่นิยมเจ้าอยู่เนืองๆ ในขณะที่ประชาชนโดยทั่วไปก็เริ่มรู้สึกหวาดกลัวและไม่มั่นคงในเสถียรภาพ เมื่อจู่ๆหน่วยงานของรัฐ (ศอฉ.) เป็นผู้ลุกขึ้นมาปั้นแต่งว่ามีขบวนการล้มเจ้าอยู่จริง โดยทำทีชี้ชัดได้ว่ามีใครในขบวนการนี้บ้าง ย่อมต้องก่อให้เกิด “ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ได้เป็นธรรมดา


สำหรับคำถามที่ว่าแผนผังล้มเจ้ากำมะลอฉบับนี้สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานชี้ได้เลยหรือไม่ว่าฝ่ายรัฐกระทำผิดกฎหมายในการสั่งให้ทหารสลายการชุมนุมจนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย หรือใช้เพื่อสั่งการให้จับกุมหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคลอื่นไว้โดยมิชอบ โดยความเห็นของผู้เขียนเห็นว่า ณ ปัจจุบันโดยตัวของเอกสารเองคงไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อชี้ชัดเช่นนั้นได้ เว้นแต่มีเอกสาร “คำสั่ง” ชิ้นอื่นใดมาประกอบว่าการสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมหรือการดำเนินการต่างๆเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยแผนผังนี้เป็น “ข้อหา” หลัก หรือข้อหาพื้นฐาน ไม่ใช่ข้อหาอื่นใด 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อหาการ “ก่อการร้าย” ที่รัฐบาลมักกล่าวถึงเสมอๆ หากในที่สุดแล้วข้อเท็จจริงยังมีแค่เพียงว่า ศอฉ. หรือฝ่ายรัฐใช้แผนผังนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการ “กล่อมเกลา” หรือ “ชักจูง” ให้ตำรวจ ทหารปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ เพราะรู้สึกว่าตนกำลังกระทำใน “สิ่งที่ถูกต้อง” หรือกำลัง “กำจัดอริราชศัตรู” การดำรงอยู่ของแผนผังนี้คงเป็นได้แค่เพียงเอกสาร “โฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda) ของฝ่ายรัฐหรือฝ่ายนิยมเจ้าเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าพฤติกรรมการสร้างเรื่อง แต่งผังฯ รวมทั้งการแถลงข่าวแบบเล็งเห็นผลในความเสียหายที่อาจมีต่อบุคคลอื่นได้ดังกล่าวไปแล้วนั้น ย่อมใช้เป็น “หลักฐานประกอบ” ในประเด็นชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของคำพูดและการกระทำในช่วงที่ผ่านมาของฝ่ายรัฐได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่รัฐมีข้อพิพาทกับประชาชน, ปัญหาการยัดเยียดข้อกล่าวหา, การบิดเบือนคลิปภาพ เสียง หรือวิดีโอ, การกระพือข่าวการพบอาวุธหนักในที่เกิดเหตุ ฯลฯ เพราะคำสารภาพโดย ศอฉ. ครั้งนี้ย่อมเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยได้ว่าการให้ข่าวก็ดี การปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่างๆก็ดีของฝ่ายรัฐที่ผ่านมาตั้งอยู่บนความโปร่งใส มีมูลเหตุที่ไม่สุจริต มีเป้าหมายอื่นใดแอบแฝง หรือทำไปเพื่อความสงบสุขหรือเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริงหรือไม่


สุดท้ายอาจกล่าวได้ว่าถ้าสื่อไทยมีจรรยาบรรณกว่านี้อีกนิด ถ้าคนไทยเปิดตากว้างกว่านี้อีกหน่อย และถ้าสังคมไทยมีวุฒิภาวะกว่านี้อีกเพียงเล็กน้อย กรณีแผนผังล้มเจ้ากำมะลอของ ศอฉ. ก็น่าจะพอมีคุณูปการได้บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะที่เป็นเครื่องเตือนสติคนไทยว่าอย่างมงายหลงเชื่อถ้อยแถลงของฝ่ายรัฐไปเสียทุกเรื่อง


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7
ฉบับ 314 วันที่ 11-17 มิถุนายน 2554 พ.ศ. 2554 
หน้า 5-8 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย สาวตรี สุขศรี 


http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น