วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554


กองทัพกำลังมัดตัวเองกับการเมือง!

         รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการที่ติดตามทั้งด้านการเมืองและการทหารอย่างต่อเนื่อง จึงมีมุมมองถึงการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมว่าจะทำให้การเมืองเกิดความปรองดองได้หรือไม่ บทบาทของกองทัพกับการเมืองจะออกมาในรูปใด รวมทั้งตุลาการภิวัฒน์ที่เคยมีบทบาทอย่างมากหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มองสถานการณ์การเลือกตั้งอย่างไร


การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเห็นในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ด้านหนึ่งคงมีข้อสังเกตและมีข้อถกเถียงอยู่พอสมควรว่า ยุบสภาแล้วจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ และก่อนที่จะยุบสภาก็มีข้อถกเถียงว่าจะยุบสภาจริงหรือไม่ ผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองไทย ที่จริงแล้วการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 และผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายจนนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของการเมืองไทย


ประเด็นเหล่านี้คิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา เพราะแต่เดิมจะเห็นว่าพอยึดอำนาจเสร็จหลายคนก็มีข้อกังวลว่าการเลือกตั้งจะเกิดได้หรือไม่ ในท้ายที่สุดปลายปี 2550 การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นจริงๆ แต่พอการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะเห็นตัวแบบของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งสุดท้ายนำพารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นสู่อำนาจ แต่ในขณะเดียวกันตั้งแต่การมีอำนาจของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ในอีกด้านหนึ่งเราก็เห็นปมขัดแย้งของการเมืองไทยที่ไม่มีข้อยุติ


โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เป็นผลพวงจากการล้อมปราบการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ประเด็นเหล่านี้สะท้อนชัดว่ายิ่งนานวันการเมืองไทยยิ่งไร้เสถียรภาพ หลายคนจึงเรียกร้องว่า ในความไร้เสถียรภาพนั้นการเมืองไทยน่าจะถอยกลับไปตั้งหลักด้วยหลักการพื้นฐานเดิมของระบอบประชาธิปไตย คือให้รัฐบาลคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชน


คิดว่าหลายท่านที่เป็นคนเฝ้าดูการเมืองไทยก็มีความกังวลว่า โอกาสของการจะถอยกลับสู่การเลือกตั้งนั้นจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลว่ากลุ่มชนชั้นนำหรือกลุ่มทหาร รวมทั้งกลุ่มผู้มีอำนาจต่างๆยังเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดคือไม่ใช่ให้มีการเลือกตั้ง เพราะถ้าเกิดการเลือกตั้งแล้วประชาชนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วผลของการตัดสินใจนั้นจะทำให้เกิดความขัดแย้งกับความต้องการของชนชั้นนำ หรือกลุ่มทหาร หรือบรรดาผู้มีอำนาจ ปัญหานี้ก็เป็นที่ถกเถียงว่าในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การรัฐประหารอีกหรือไม่


แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่ารัฐบาลเมื่อไม่สามารถทานต่อข้อเรียกร้องและแรงกดดันทางการเมืองได้ ในที่สุดนายกฯอภิสิทธิ์ก็ตัดสินใจยุบสภา เมื่อยุบสภาอย่างที่ผมเรียนตอนต้น ข้อถกเถียงก็คือ ยุบสภาแล้วได้เลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งในที่สุดเราก็เห็นว่าการเลือกตั้งได้เกิดขึ้นจริงในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ที่จะนำไปสู่ข้อถกเถียงอีกแบบหนึ่งว่า การเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง แล้วการจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นจริงจากเสียงของประชาชนหรือไม่ ตรงนี้ผมคิดว่าคงเป็นอะไรที่ต้องติดตามดูต่อในอนาคต


ถ้าวันนี้เราดูการเมืองไทย แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้เป็นความกังวล แต่ผมคิดว่าถ้าผลของการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เกิดจากเสียงของประชาชน นั่นน่าจะกลายเป็นปมปัญหาใหญ่อีกประเด็นหนึ่งในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอของกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มผู้มีอำนาจบางส่วนที่ว่า พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุดไม่จำเป็นต้องมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล แต่พยายามที่จะเสนอวาทกรรมว่า กลุ่มที่รวมเสียงได้มากที่สุดต่างหากที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล


ข้อเสนอเหล่านี้เป็นความพยายามที่จะสร้างทฤษฎีใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการที่จะอยู่ในอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ หรือกลุ่มทหาร หรือกลุ่มที่ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แน่นอนว่าถ้าเราพิจารณาอย่างนี้การเมืองก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวันที่ 3 กรกฎาคมนั้นน่าจะยิ่งมีความเข้มข้น และในระยะสั้นๆ ยิ่งใกล้วันที่ 3 กรกฎาคมเท่าไร ความเข้มข้นของการเมืองจะมีมากขึ้น แน่นอนเราไม่ใช่หมอดู แต่สิ่งที่เราเห็นชัดก็คือ ในความเข้มข้นนี้ด้านหนึ่งจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลายฝ่ายพยายามสกัดกั้นเพื่อไทย


การที่มีกลุ่มเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่นทักษิณ (คนท.) นำโดยนายแก้วสรร อติโพธิ (อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส.) ออกเอกสารเชิญร่วมกล่าวโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย) ซึ่งเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีกลุ่มเสื้อหลากสี นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์จากคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดจากความคาดหมายเท่าไร


ในส่วนของคดีซุกหุ้นมีความพยายามที่จะก่อกระแสในสื่อหนังสือพิมพ์บางส่วนมาก่อน แต่ถ้าเราสังเกตกระแสนี้คนหลายส่วนมองว่าน่าจะจบไปแล้ว เมื่อนักหนังสือพิมพ์บางส่วนก่อกระแสขึ้น ก็จะเห็นว่าหลังจากนั้นมีกลุ่มบางกลุ่มพยายามใช้ประเด็นนี้ในการเคลื่อนไหวต่อ ในภาพรวมของสังคมไทยเชื่อว่าประเด็นนี้ไม่เป็นประเด็น ประเด็นนี้จะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจใช้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์กลับเข้ามาเล่นหรือกลับเข้ามามีบทบาทใหม่
แต่เชื่อว่าถ้าถามคนโดยทั่วไป หลายคนมีความรู้สึกคล้ายๆกันว่าเรื่องนี้จบแล้ว ปัญหานี้น่าจะยุติลงไปแล้ว ไม่น่าจะหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้ในการไล่ล่าหรือทำลายล้างพรรคเพื่อไทย หรือกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณอีกต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นใหม่หรือไม่ ก็ไม่ได้ผิดความคาดหมายอะไร กลุ่มที่ออกมาก็รู้อยู่ว่ามีความสัมพันธ์และมีเครือข่ายอย่างไร พูดง่ายๆเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549


วันนี้มีความพยายามที่จะฟื้นกลุ่มเหล่านี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง อันนี้เป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูว่ากลุ่มเหล่านี้จะมีประเด็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากกรณีการซุกหุ้นอย่างไร ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมคิดว่าเป็นประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาเหมือนกับการตีปลาหน้าไซ เพราะว่าทุกฝ่ายมองว่าถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณก็คงเป็นผลพวงที่สืบเนื่องตามมา แต่ทั้งหลายทั้งปวงประเด็นนี้ต้องดูในอนาคต ถ้าพรรคเพื่อไทยชูนโยบายที่จะนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ


ถ้าเกิดพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากและเป็นรัฐบาล คำถามก็คือ เรายอมรับได้หรือไม่ว่าเสียงข้างมากนั้นสามารถทำให้เรื่องนี้กลายเป็นนโยบายได้ แล้วนำไปสู่การเสนอทิศทางที่จะนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับ แต่คิดว่าประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่าประชาชนจะรับได้หรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นแล้วประชาชนรับไม่ได้ คงจะเป็นปัญหาสำหรับพรรคเพื่อไทยเอง ในท้ายที่สุดยังเป็นประเด็นที่ต้องนำไปพิจารณากันจริงๆหลังจากผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว


ขอย้ำว่ากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยเป็นประเด็นที่ไม่ได้ผิดคาด เพราะเราเห็นมาตลอดว่ามีความพยายามที่จะสกัดการเติบโตของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยมาตรการต่างๆ ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น อย่างที่ผมบอกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทยทวีความเข้มข้นมากขึ้น และอีกด้านหนึ่งมาตรการต่างๆที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้ในการต่อต้านพรรคเพื่อไทยนั้น ในข้อพิจารณาอาจน่าสนใจว่ายิ่งต่อต้านมากเท่าไร ถ้าเกิดประชาชนรับไม่ได้จะยิ่งเป็นผลในด้านกลับ


ขณะเดียวกันมาตรการในการไล่ล่าอย่างนี้ ด้านหนึ่งทำให้คนบางส่วนเริ่มรู้สึกว่าวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีที่ไม่อาจยอมรับได้ ฝ่ายที่มีอำนาจ ฝ่ายที่พยายามขัดขวางพรรคเพื่อไทยด้วยการใช้มาตรการเหล่านี้อาจรู้สึกว่ามาตรการเหล่านี้เป็นวิธีเดียวที่จะหยุดยั้งการเติบโตของพรรคเพื่อไทยได้ แต่คำตัดสินสุดท้ายก็อยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน เพราะยิ่งเคลื่อนไหวต่อต้านเท่าไร แล้วเกิดผลกลายเป็นผลักดันให้ประชาชนเป็นแนวร่วมมุมกลับให้พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยก็ยิ่งได้คะแนนเสียงและเติบโต จึงเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องนำมาชั่งใจดู
เป็นห่วงกองทัพแทรกแซงอีกหรือไม่


ไม่ว่าจะใช้คำว่า “อำนาจนอกระบบ” หรือ “อำนาจของฝ่ายทหาร” ก็จะมีผลต่อการเลือกตั้งแน่นอน คงปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่าหลายครั้งหลายคราวมีความพยายามที่จะยืนยันจากผู้นำฝ่ายกองทัพว่าทหารจะไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง แต่ด้านหนึ่งเราก็เห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าโครงการ 315 ออกมาเคลื่อนไหวกับชุมชนในกรุงเทพฯ แล้วอีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน (กอ.รมน.) ในพื้นที่ต่างจังหวัดและชนบทนั้นก็เป็นตัวแบบของปัญหา


คิดว่าคำพูดเฉยๆในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าจะบอกว่าทหารไม่ยุ่งกับการเมือง ในเชิงน้ำหนักของคำพูดไม่ค่อยทำให้คนเชื่อเท่าไร เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ทหารมีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในค่ายทหาร ทำให้วาทกรรมที่บอกว่าทหารไม่ยุ่งกับการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นภาษาซึ่งคนไม่ให้น้ำหนักเท่าไร


ในทางกลับกันมีคำถามว่า ทำไมโครงการ 315 และโครงการต่างๆของ กอ.รมน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าเป็นโครงการปราบปรามยาเสพติดนั้น ผมไม่ได้ต่อต้านบทบาทของทหารกับการปราบปรามยาเสพติด แต่จังหวะเวลาของการนำโครงการเหล่านี้เข้าไปในชุมชนทั้งในกรุงเทพฯและชนบทเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าบอกว่าการเคลื่อนไหวของทหารต้องลงพื้นที่ในภาวะที่จะมีการเลือกตั้ง แน่นอนไม่ว่าทหารจะตั้งใจดีอย่างไร ก็จะถูกมองด้วยสายตาที่เคลือบแคลงว่ากองทัพพยายามเข้าไปมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทั้งในเมืองและชนบท เพื่อหวังผลว่าจะทำให้เสียงของการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ผู้นำทหารต้องการ
มีผลกระทบต่อการเมืองไทยแค่ไหน


เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาก็จะหวนกลับมาสู่ประเด็นเดิม หลายคนกลับมาตั้งโจทย์เก่าว่า ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาไม่ตรงใจกับที่ผู้นำทหารและผู้มีอำนาจต้องการ กลุ่มทหารจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร พูดในสถานการณ์ปัจจุบันคงตอบได้ยาก เพราะถ้าตอบแล้วเหมือนกับการนั่งทำนายเหมือนดูดวง แต่สิ่งที่เป็นความกังวลของหลายฝ่ายก็คือ ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาไม่ตรงกับความต้องการของฝ่ายทหาร และถ้ากองทัพตัดสินใจเข้าแทรกแซงอีกครั้งหนึ่ง เชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อกองทัพจะมีมากขึ้น


การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าด้านหนึ่งกองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองสูง ผมเองใช้คำพูดว่า กองทัพในปัจจุบันนั้นกำลังพันธนาการตัวเองกับการเมือง ทำให้ทหารปลีกตัวออกจากการเมืองได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นมีแต่ยิ่งผูกมัดกองทัพ ขณะเดียวกันต้องถามใจคนในสังคมไทยว่าถ้าผลเลือกตั้งออกมาไม่เป็นดั่งใจทหาร แล้วผู้นำทหารตัดสินใจแทรกแซง คำถามใหญ่ก็คือ สังคมไทยในอนาคตอย่างการเลือกตั้งนั้นยอมรับได้หรือไม่


ถ้าไม่ยอมรับแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ผมไม่ต้องการเปรียบเทียบว่าการแทรกแซงเหล่านั้นอาจทำให้สังคมไทยกลายเป็นตัวแบบเหมือนประเทศตูนิเซีย อียิปต์ หรือสถานการณ์ในหลายประเทศของตะวันออกกลางในปัจจุบัน แต่ก็เป็นประเด็นที่น่านำมาพิจารณาสำหรับกลุ่มมีผู้อำนาจทั้งหลายว่า การแทรกแซงผลการเลือกตั้งในท้ายที่สุดอาจส่งผลเสียและผลกระทบต่ออำนาจของพวกเขามากขึ้น


ส่วนคำถามที่ว่ากองทัพจะยอมหรือไม่ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคเพื่อไทยชนะ ก็คงต้องดูว่าชนะมากน้อยเพียงใด หรือชนะในลักษณะที่ภาษาการเมืองเรียกว่าเสียงปริ่มน้ำ ประเด็นนี้คงต้องมีการถกกันจริงๆในสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง เมื่อตัวเลขจริงๆออกมาให้เห็น ขอย้ำว่าแม้มีความพยายามที่กองทัพจะกระทำการบางอย่างโดยหวังว่าการเลือกตั้งจะส่งผลตามที่ผู้นำทหารปรารถนา ถ้าผลออกมาเป็นอย่างอื่นแล้วมีความพยายามที่จะทำรัฐประหารเงียบ หรือมีความพยายามที่จะเดินเกมผ่านกลไกตุลาการภิวัฒน์ ประเด็นเหล่านี้น่าจะเป็นปมของความขัดแย้งที่มากขึ้น


ถ้าเรามองสถานการณ์การเมืองไทย คิดว่าวันนี้กลุ่มผู้มีอำนาจต้องชั่งใจมากขึ้น และพยายามที่จะผูกมัดอำนาจไว้ในมือของตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีลักษณะของการที่จะทำให้ระบบการเมืองถอยคืนสู่ภาวะปรกติ ในทางกลับกันจะยิ่งทำให้ระบบการเมืองกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในตัวระบบเองมากขึ้น แล้วสิ่งที่น่ากังวลคือ ความขัดแย้งเหล่านี้ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ แล้วนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองในวงกว้าง จะส่งผลให้เป็นปัญหาเหมือนในตะวันออกกลางอย่างแน่นอน


ถ้าหากมีการใช้กลไกตุลาภิวัฒน์จริง ผมอาจไม่กล้าตอบรูปแบบการใช้กลไกตุลาภิวัฒน์ของกลุ่มผู้มีอำนาจ แต่ถ้าเราดูกลไกการเคลื่อนไหวหลังรัฐประหารปี 2549 เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งว่า มี 2 ส่วนที่ผมเรียกเสมอว่ากลไก 1 คือกลไกเสนาภิวัฒน์ เป็นรูปแบบการใช้ทหารในลักษณะของการกดดันทางการเมือง เพื่อหวังผลตามที่ฝ่ายตัวเองต้องการ กับอีกด้านหนึ่งที่คู่ขนานกันคือ ตุลาการภิวัฒน์ ถ้าเราสังเกตให้ดีการเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร กลไกอีกส่วนหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนและให้ผลเชิงนโยบายอย่างที่ผู้มีอำนาจต้องการได้มากเป็นกลไกตุลาการภิวัฒน์


ขณะนี้หลายฝ่ายก็นั่งดูว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าผลออกมาเป็นอย่างอื่น ถ้าสถานการณ์นำไปสู่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเผชิญปัญหาเดียวกับรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช หรือรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือไม่ บทเรียนจากรัฐบาลนายสมัครและรัฐบาลนายสมชายเป็นตัวแบบที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั้นก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนขั้วจริงๆ แล้วขั้วเดิมถูกทำลายทิ้งด้วยการอาศัยกลไกตุลาการภิวัฒน์


มุมอย่างนี้แน่นอนว่าคอการเมืองมีความกังวลไม่ต่างกันว่า ถ้ากลไกเสนาภิวัฒน์ทำงานได้ไม่เต็มที่ กลไกหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในอนาคตก็คือ ตุลาการภิวัฒน์ เช่น ผู้มีอำนาจอาจใช้ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ทำโน่นทำนี่ แต่ผมเชื่อว่า กกต. ได้เห็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหลายรูปแบบ เชื่อว่าคงไม่มีการนำ กกต. มาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้าง ไม่อย่างนั้นจะนำไปสู่ปัญหาที่คนอาจไม่ยอมรับกกต. และจะกลายอีกปมปัญหาหนึ่ง โดยภาพรวมปัญหาจะไม่หนีจากเดิม ไม่ว่าจะใช้กลไกเสนาภิวัฒน์หรือตุลาการภิวัฒน์ คำถามใหญ่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับกลไกที่ถูกนำมาใช้เหล่านั้นจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่มากขึ้นในสังคมไทยหรือไม่


แนวโน้มถึงขั้นยุบเพื่อไทยอีกหรือไม่


หลายฝ่ายก็มีความกังวลในประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน และเป็นประเด็นที่คาดการณ์ว่า อันแรกเราจะได้ยินข้อถกเถียงว่า พรรคเพื่อไทยชนะแล้วตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีได้หรือไม่ ประเด็นถัดไปตั้งรัฐบาลได้จริง แต่จะถูกยุบพรรคหรือไม่ คิดว่าดีที่สุดต้องไปดูกันในอนาคตอย่างที่เรียนตอนต้นว่า หลายฝ่ายกังวลว่าถ้าพรรคเพื่อไทยชนะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ชะตากรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์จะจบลงแบบเดียวกับรัฐบาลนายสมัครและรัฐบาลนายสมชายหรือไม่


แต่อย่างที่มีการกล่าวถึงเสมอว่าการตัดสินทางการเมืองที่มีนัยสำคัญต่ออนาคตของประเทศและระบบการเมืองนั้น ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและความเที่ยงธรรม ถ้าการตัดสินเป็นเพียงการใช้อำนาจเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามและพรรคการเมืองคู่แข่ง ยิ่งนานวันอาจจะยิ่งทำให้เกิดผลด้านกลับ และไม่เป็นผลดีต่อกลุ่มผู้มีอำนาจเองในท้ายที่สุด


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 314 วันที่ 11-17 มิถุนายน 2554 พ.ศ. 2554 
หน้า 18 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น