วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554


‘มาร์ค’ไม่รับรู้ทหารอุ้มนั่งนายกฯรับมีคนแสลงใจกอดสยิว‘เนวิน’

        เรื่องจากปก
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3070 ประจำวัน อังคาร ที่ 7 มิถุนายน 2011
         “อภิสิทธิ์” เขียนบันทึกเปิดใจเผยแพร่ผ่านเฟชบุ๊ค ยืนยันได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีตามระบบรัฐสภา ไม่รับรู้ใครไปคุยกับทหารให้สนับสนุนหรือไม่ และไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวโค่นล้มระบอบทักษิณของพันธมิตรฯ ยอมรับผู้สนับสนุนแสลงใจภาพกอดกับ “เนวิน” แต่ต้องเสียสละเพื่อทำงานให้บ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤต ย้ำไม่ได้กระสันอยากเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะรู้ดีว่าจะทำให้ชีวิตไม่เป็นปรกติอีกต่อไป แขวะถูกต่อต้านเพราะ “ทักษิณ” สั่งไม่ได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบันทึก “จากใจอภิสิทธิ์ ถึงคนไทยทั้งประเทศ” เพื่อชี้แจงเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงบริหารประเทศ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา โดยระบุว่า


แม้ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพยายามสื่อสารกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและมีความเข้าใจในการทำงาน แต่ที่ผ่านมาหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความละเอียดอ่อน เพราะพยายามลดเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่ขณะนี้สื่อมวลชนบางส่วนเสนอข้อมูล ข้อคิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จึงจำเป็นต้องทำบันทึกชุดนี้เพื่อเป็นหลักฐาน และเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจชี้ชะตาอนาคตของประเทศโดยพี่น้องทุกคนในเร็วๆนี้


ตอนที่ 1 การเมืองสลับขั้ว : สู่เส้นทางนายกรัฐมนตรี


หลังจากที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งปลายปี พ.ศ. 2550 ตั้งใจทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรให้ดีที่สุด ไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ไม่ปรกติ โดยเริ่มต้นจากความขัดแย้งที่เกิดจากนายกฯสมัคร (นายสมัคร สุนทรเวช) เปิดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดกระแสต่อต้านรุนแรงจากประชาชนที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองกลายเป็นอาชีพเดียวที่อยู่เหนือกฎหมายได้ เพราะสามารถใช้เสียงข้างมากในสภาออกกฎหมายล้างความผิดตัวเองได้ ในความผิด เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สั่นคลอนความมั่นคงของกระบวนการยุติธรรมและระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นอย่างยิ่ง


ไม่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรฯ


หลายคนมองว่าพรรคประชาธิปัตย์สมคบกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ส่วนตัวระมัดระวังที่จะแยกแยะบทบาทของพรรคการเมืองกับภาคประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ไปขึ้นเวทีแต่ปกป้องสิทธิของพวกเขา เมื่อใดที่มีการทำผิดกฎหมาย เช่น การยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน หรือขัดขวางการลงพื้นที่ของรัฐมนตรี ก็แสดงจุดยืนชัดเจนทุกครั้งว่า “ผมไม่เห็นด้วย”


เสนอ “สมัคร” ยุบสภาแก้ปัญหา


เมื่อสถานการณ์ลุกลาม การบริหารบ้านเมืองแทบเดินไม่ได้ ประเทศชาติเสียหายยับเยิน ขาดความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติ ในช่วงวิกฤตนั้นในฐานะผู้นำฝ่ายค้านเป็นคนเสนอนายกฯสมัครกลางสภาให้แก้ปัญหาด้วยการยุบสภา ทั้งๆที่รู้ว่ายุบสภาในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้เลือกตั้ง แต่ต้องการให้ประเทศมีทางออกตามระบบ ไม่เคยเสนอให้นายกฯสมัครลาออกจากตำแหน่ง เพราะนั่นเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม การลาออกจะกลายเป็นการยอมจำนนต่อการใช้มวลชนกดดัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาระยะยาวต่อการบริหารประเทศ จึงเห็นว่าการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าพรรคจะแพ้การเลือกตั้ง เพราะการแก้ปัญหาเพื่อชาติต้องอยู่เหนือประโยชน์ของพรรคตัวเอง นี่คือจุดยืนของตัวเองและพรรคประชาธิปัตย์


ไม่ดิ้นรนเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี


ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความตึงเครียดให้กับประเทศไทยมากขึ้น คดีของพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการยุบพรรค เพราะนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรค ทุจริตเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบแดงนายยงยุทธ จากนั้นศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำพิพากษายืนให้ใบแดงกับนายยงยุทธ ซึ่งกติกาที่ทุกพรรคก็รับทราบมาตั้งแต่ต้นคือ หากผู้บริหารพรรคได้ใบแดงพรรคการเมืองนั้นต้องถูกยุบ ดังนั้น คดีนี้จึงชัดเจนอย่างยิ่งชนิดที่เรียกว่าปิดไว้ข้างฝาได้เลยว่าจะมีปัญหาแน่สำหรับรัฐบาลคุณสมัครกับคุณสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) แต่ส่วนตัวไม่เคยคิดและไม่เคยดิ้นรนว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วจะเป็นโอกาส


ยุบพลังประชาชนไม่เกี่ยว ปชป.


ช่วงเวลานั้นนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ติดต่อผ่าน ส.ส. คนหนึ่งเพื่อขอพบตน เพราะมีธุระอยากพูดคุยด้วย เราก็ได้พบกันที่ร้านอาหารใกล้พรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณพสิษฐ์บอกว่าพรรคพลังประชาชนจะถูกยุบนะ ก็เพียงแต่รับฟัง คุณพสิษฐ์บอกว่าที่เล่าให้ฟังเพราะคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตอบกลับไปว่าการยุบพรรคพลังประชาชนหรือไม่เป็นเรื่องของเนื้อคดีและดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ แม้แต่วันนั้นยังบอกเขาเลยว่าหากยุบพรรคพลังประชาชนก็คิดว่าไม่ได้เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับประชาธิปัตย์ เพราะเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็คงจับมือกันเป็นรัฐบาลต่อ


พรรคร่วมเปลี่ยนขั้วหนุน ปชป. ไม่แปลก


แต่ถามว่าหากพรรคการเมืองอื่นเขาตัดสินใจย้ายมาร่วมตั้งรัฐบาลกับประชาธิปัตย์แปลกไหม ต้องบอกว่าไม่แปลก เพราะบ้านเมืองเดินไม่ได้จริงๆกับปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองจนถึงเรื่อง 7 ตุลาคม 2551 (สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา) ใครจะคุยกับทหารอย่างไรไม่ทราบ เพราะไม่เคยติดต่อกับทหารท่านใดเลย แต่เชื่อว่าไม่มีใครบังคับ ส.ส. ได้ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ซึ่งประสานงานกับพรรคการเมืองต่างๆมาถามจุดยืนก็บอกว่ามันเป็นเรื่องของสภา และคิดอยู่ในใจว่าหากเราจะปัดว่าไม่ใช่เรื่องของเราก็ได้ แต่คนเป็นผู้นำฝ่ายค้านต้องมีความรับผิดชอบ เราไม่ได้เป็นคนไปแย่งไปปล้นอำนาจใครมา และถ้ามีโอกาสเป็นนายกฯก็ไม่คิดทำอะไรเพื่อตัวเอง ทุกอย่างเป็นกระบวนการตามระบบ ตามกฎหมาย ถือว่าถ้าเสียงในสภายอมรับก็ยอมรับ และการลงคะแนนก็เปิดเผย การสลับขั้วในระบบรัฐสภาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในทุกประเทศที่ใช้ระบบนี้ พรรคเพื่อไทยเองพยายามรักษาอำนาจทุกวิถีทาง ถึงขั้นยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคเล็กด้วยซ้ำ ทำให้ พล.ต.อ.ประชาซึ่งพาตนไปเลี้ยงข้าวที่บ้านบอกจะสนับสนุน แต่อีกสองวันกลับประกาศว่าจะแข่งกับตน ก็ไม่มีปัญหา แข่งกันไป ถ้าทหารมีอำนาจบีบบังคับให้พรรคการเมืองต้องทำตามที่ตัวเองต้องการได้จริงทำไมจึงมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นในสภา


โต้ไม่ได้ยอมให้ “เนวิน” ขี่คอ


ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลที่วิจารณ์กันมากว่ายอมทุกอย่างให้คุณเนวิน (ชิดชอบ) ขี่คอ ได้กระทรวงหลักไปดูแล ความจริงคือในสถานการณ์นั้นง่ายที่สุดคือใครเคยดูแลกระทรวงไหนก็ดูแลกระทรวงนั้นเหมือนเดิมทั้งหมด หลักสำคัญคือพูดกันชัดเจนว่าเรามาแก้วิกฤตให้มันจบ ไม่เคยมีสัญญาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ตามที่คุณบรรหาร (ศิลปอาชา) กล่าวอ้าง และวันที่คุณเนวินคุยกับตนก็พูดเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนได้พูดชัด 3 เรื่องคือ เรื่องไหนที่เป็นปัญหาเชิงเทคนิคของรัฐธรรมนูญยินดีแก้ เพราะเป็นคนแรกที่พูดตอนการทำประชามติว่ารัฐธรรมนูญบางมาตราอาจต้องแก้ไข แต่เรื่องประเภทนิรโทษกรรมไม่เอานะ เพราะบ้านเมืองวุ่นมามากแล้ว และคุณเนวินก็บอกว่าเรื่องนิรโทษกรรมไม่ต้องพูดถึง เขาไม่สนใจ เขาไม่เอา เขาขอเรื่องเขตเล็ก ก็บอกคุณเนวินว่าเรื่องเขตเล็กประชาธิปัตย์เป็นคนเสนอเขตใหญ่ เพราะฉะนั้นการปรับปรุงตรงนี้พักไว้ก่อนแล้วค่อยมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร


มีคนเตือนอย่าเป็นนายกฯ


เมื่อสภาให้โอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีหน้าที่แก้ไขปัญหา และตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าจะไม่อยู่ครบวาระ ถ้าคลี่คลายวิกฤตได้ก็จะยุบสภา เพราะตอนนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตการเมือง เรียกว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตบนสถานการณ์ที่ประเทศชาติไม่อยู่ในภาวะปรกติ มีคนบอกด้วยซ้ำว่าอย่าไปเป็นนายกรัฐมนตรีเลย เพราะมีแต่เจ๊ากับเจ๊ง และจะเปลืองตัว ความดีจะถูกทำลายโดยองค์ประกอบรอบข้าง เพราะต้องยอมรับความจริงว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่ไว้วางใจพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่เคยอยู่กับพรรคพลังประชาชนจะทำให้ได้รับแรงเสียดทานไปด้วยว่า “อยากเป็นนายกรัฐมนตรีจนสามารถร่วมงานกับพรรคอะไรก็ได้” และเดี๋ยวนี้ข้อหาพัฒนาไปไกลถึงขั้นหาว่า “ผมพายเรือให้โจรนั่ง”


รู้มีคนแสลงใจภาพกอด “เนวิน”


เข้าใจดีถึงความรู้สึกของพี่น้องจำนวนไม่น้อยที่แสลงใจกับภาพที่คุณเนวินเข้ามาโอบกอด แต่มองอย่างให้ความเป็นธรรมกับคุณเนวินว่าการตัดสินใจย้ายขั้วทิ้งคุณทักษิณที่คุณเนวินเรียกว่า “นาย” ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากไม่น้อย คำพูดที่คุณเนวินฝากไปถึงคุณทักษิณที่ว่า “มันจบแล้วครับนาย” ด้วยเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอเบ้า คงจะยังเป็นบาดแผลในใจคุณเนวินมาจนถึงวันนี้



ไม่เป็นนายกฯก็ไม่ต้องมาเสี่ยง

ไม่ว่าคนจะมองคุณเนวินในภาพอย่างไร แต่ในวันนั้นเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าคุณเนวินได้ตัดสินใจทางการเมืองเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ ถ้าคิดในทางกลับกันหากตนไม่ยอมร่วมรัฐบาลกับคุณเนวินและพรรคอื่นๆเพียงเพราะกลัวเปลืองตัว ปล่อยให้บ้านเมืองวุ่นวาย เดินหน้าไม่ได้ ก็ลอยตัว ไม่ต้องมาอยู่ในฐานะเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ชีวิตก็ไม่ต้องเสี่ยงจากความรุนแรงที่เริ่มปรากฏให้เห็นในการแข่งขันทางการเมือง แต่ถ้าทำอย่างนั้นเท่ากับเป็นการปัดความรับผิดชอบในฐานะนักการเมืองที่ต้องแก้ปัญหาให้ประชาชน


ได้อำนาจแล้วไม่เป็นอย่างที่คิด


วันนั้นอาจจะคิดผิดก็ได้ เพราะคิดว่าถ้าเราซื่อสัตย์ ทำงานด้วยความอดทนอดกลั้น ไม่ทำตัวเป็นชนวนหรือเงื่อนไขของความขัดแย้ง พยายามรับฟังทุกฝ่าย ทุกสิ่งทุกอย่างจะเดินไปได้ แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้น ตั้งแต่วันแรกที่ชนะในสภาก็มีการใช้มวลชนเสื้อแดงพยายามทำร้าย ส.ส. ที่สนับสนุน แม้แต่ตนเองยังต้องอาศัยรถตู้ของคุณเทพไท เสนพงศ์ ออกมาเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง


เสี่ยงที่จะอายุสั้นกว่าวัยอันควร


ได้บอกกับตัวเองตั้งแต่วันนั้นว่าชีวิตกำลังเปลี่ยนแปลงและอาจสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะมีชีวิตสั้นกว่าวัยอันควร เพราะมีคนใช้ความรุนแรงข่มขู่ทางการเมือง แต่ยังเลือกที่จะทำหน้าที่เดินหน้าประเทศไทย เพื่อรักษาสัญญาที่ให้กับพี่น้องประชาชนที่ให้โอกาสเป็น ส.ส. คนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพมหานครว่า “ถ้ามีโอกาสผมจะสร้างรากฐานเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต” และดำเนินการทันทีท่ามกลางวิกฤตซ้อนวิกฤต ยังเดินหน้าสร้างระบบสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นประชายั่งยืน และไม่ได้เสียสมาธิกับปัญหาทางการเมืองจนเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน


ยัน 20 ปี อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน


ยืนยันได้ว่าตลอดการทำงานการเมืองเกือบ 20 ปี อุดมการณ์ในการเข้าสู่การเมืองเป็นอย่างไรไม่เคยเปลี่ยนแปลง และทุกการตัดสินใจล้วนแต่ยึดประโยชน์ประชาชนทั้งสิ้น ทราบว่าหลายคนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเพื่อปั่นกระแสให้ไม่เชื่อมั่น แต่หวังว่าความจริงที่เล่าให้ฟังนี้จะทำให้ประชาชนได้เห็นว่ายังเชื่อมั่นได้ เพราะไม่เคยเปลี่ยนอุดมการณ์ และพร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขเคียงข้างกับคนไทยเพื่อเดินหน้าประเทศต่อไป


ได้มาทบทวนดูว่าการเข้าสู่ตำแหน่งและการดำรงตำแหน่งขัดกับหลักประชาธิปไตยไหม คิดว่าไม่ใช่ เพราะได้รับการยืนยัน การสนับสนุนจากสภาตลอด 2 ปี แม้แต่คนเสื้อแดงก็ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขการชุมนุม จนเวลาผ่านไปเป็นปี


ถ้าจะมีความผิดคงมีแค่ประการเดียวคือ ผมเป็นนายกฯในระบบสภาคนแรกหลังปี 2550 ที่คุณทักษิณสั่งไม่ได้


****************************
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น