วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554


สื่อถาม-‘ทักษิณ’ตอบไม่อาฆาตแค้น ให้อภัยทุกคน?
สื่อถาม-‘ทักษิณ’ตอบไม่อาฆาตแค้น ให้อภัยทุกคน?
         หลังรู้ผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม สำนักข่าวหลายสำนักที่ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างก็สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยประเด็นใหญ่ยังเป็นเรื่องการนิรโทษกรรม การสร้างความปรองดอง บทบาทของกองทัพกับการเมืองไทย และรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดย พ.ต.ท.ทักษิณยืนยันว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีอีกแน่นอน และการกลับประเทศไทยก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องกลับเข้าสู่การเมือง


“ผมอยู่กับพรรคนี้มานานมากแล้ว ผมต้องการปลดเกษียณ จริงๆแล้วผมเคยประกาศเมื่อตอนอยู่ในตำแหน่งว่าผมวางแผนจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี ตอนนี้ผมก็ 62 เลยเวลาสำหรับผมมานานแล้ว”


ส่วนการพยายามจุดประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมและเอาเงิน 46,000 ล้านบาทคืนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ไม่มีใครคิด และจะไม่ยอมให้ใครคิด บ้านเมืองเป็นเรื่องของส่วนรวม การออกกฎหมายเพื่อคนคนเดียวทำไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์หลงทาง ใช้เป็นเรื่องโจมตีทางการเมือง ไม่มีใครทำได้
“ผมไม่เคยคิดเรื่องได้หรือไม่ได้เงินคืน ไม่ใช่เรื่องหลัก เป็นเรื่องที่ต้องเอาความจริงเป็นตัวตั้ง และจะปรองดองกันได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์”


กลับแล้วมีปัญหาก็ไม่กลับ


พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงเรื่องการปรองดองว่า ประชาชนอยากเห็นความปรองดองภายในชาติ อยากเห็นบ้านเมืองสันติ เบื่อการย่ำอยู่กับที่มานาน พรรคเพื่อไทยก็เสนอนโยบายปรองดอง “แก้ไข ไม่แก้แค้น” คือนโยบายเดินไปข้างหน้า ต้องยุติความขัดแย้ง ต้องสนับสนุนคณะกรรมการปรองดอง ทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่วนตัวเองนั้นไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ


“ผมไม่อาฆาตแค้นใคร คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยต้องตัดสินใจเอาเอง ผมให้อภัยทุกคน ใครเคียดแค้นผมก็ขอให้อภัยด้วย”


พ.ต.ท.ทักษิณยืนยันว่า ถ้าหากยังมีปัญหาก็จะยังไม่กลับ และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย แม้ใจจริงจะอยากกลับมางานแต่งงานลูกสาวปลายปีนี้ แต่ถ้ากลับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะลูกสาวสามารถบินไปหาที่ต่างประเทศได้อยู่แล้ว หากกลับไปแล้วกลายเป็นการเติมเชื้อไฟให้เกิดความขัดแย้ง หรือต้องออกมาตีกันอีกก็จะไม่กลับ หากจะกลับควรเป็นการกลับไปดับไฟความขัดแย้งมากกว่า


พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองว่า หลังจากนี้การเมืองจะนิ่งมากขึ้น เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไป ความรุนแรงของกระบวนการที่ต่อต้านก็จะลดอุณหภูมิลงทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่กองทัพ ที่ผ่านมายังมีคนต่อต้านอยู่ เพราะไม่เชื่อว่าจะไม่ล้างแค้น และยังกลัวว่าจะมาล้างแค้น ยืนยันว่าไม่มีอีกแล้ว ความแค้นเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทุกคนสามารถมาพูดคุยและทักทายกันได้


“การกลับประเทศไทยเป็นความฝันอย่างหนึ่งของผม แต่ไม่ใช่ว่าฝันทุกอย่างจะเป็นจริงได้ อาจจะเป็นจริงอย่างหรือสองอย่าง เหมือนเราซื้อหวยก็ฝันจะถูกรางวัลที่ 1 แต่ถูกเลขท้าย 2 ตัวก็ยังดี”


ไม่เกี่ยวข้องตั้งรัฐมนตรี


พ.ต.ท.ทักษิณยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน แต่อาจมาสอบถามบ้างว่าใครเป็นใคร เพราะรู้จักคนเยอะกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยพร้อมจะให้ข้อมูล แต่การตัดสินใจสุดท้ายก็ต้องเป็นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะกรรมการ บริหารพรรคเพื่อไทย


“ผมสบายใจแล้ว สิ่งที่เราห่วงว่าที่ทำงานเอาไว้แล้วไม่เสร็จเพราะโดนปฏิวัติก่อนก็มีคนสานต่อแล้ว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นโคลน (โคลนนิ่ง) ผมมาตั้งแต่เด็ก เพราะโตมาด้วยกัน เหมือนลูกสาวคนโตของผม เขาเป็นน้องคนเล็ก คุณแม่เสียตั้งแต่ตอนเขายังเล็ก ยังเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ คุณแม่ก็ฝากผมให้ดูแลต่อ ผมดูแลมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็ส่งไปเรียนเมืองนอก กลับมาก็มาทำงานอยู่กับผม ไต่เต้าตั้งแต่เป็นเซลส์ขายเยลโล่เพจเจส จนมาเป็นประธานเอไอเอส ตอนหลังมาเป็นซีอีโอของเอสซี แอสเซทฯ ทำให้คุณยิ่งลักษณ์เหมือนผมมากที่สุด ดังนั้น การเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยวันนี้จึงไม่ผิด เพราะการชนะการเลือกตั้งก็ถือว่าถูกไปเกินครึ่งแล้ว”


พ.ต.ท.ทักษิณให้ความเห็นถึงคนที่จะเป็นรัฐมนตรีว่า


“วันนี้คุณยิ่งลักษณ์ต้องคิดเยอะ เพราะหนึ่งต้องมองทั้งเสถียรภาพทางการเมือง มองทั้งคนที่มาขับเคลื่อนนโยบายซึ่งต้องเป็นคนปฏิบัติเป็น นักการเมืองบางคนอาจพูดเป็นแต่ปฏิบัติไม่เป็น การเมืองในสภาอะไรต่ออะไรก็ต้องมี แต่ก็ต้องบาลานซ์กัน การเมืองไทยไม่สามารถทำตามใจชอบได้ เพราะไม่ใช่ระบบเลือกนายกฯขึ้นมาคนเดียว แล้วนายกฯไม่ต้องแคร์สภา ตั้งอะไรก็ได้ ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เหมือนเมืองนอก เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องตั้งคนในพรรคจำนวนหนึ่ง อาจมีคนนอกบ้างอะไรบ้าง อันนี้แล้วแต่คณะกรรมการบริหารกับคุณยิ่งลักษณ์จะคุยกัน แต่เชื่อแน่ว่าคงอยากได้คนที่ทำงานได้มาช่วย”


“ยิ่งลักษณ์” คิดเร็ว-ทำเร็ว-รอบคอบ


พ.ต.ท.ทักษิณเชื่อมั่นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ดีกว่าตัวเอง เพราะเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว และยังรอบคอบกว่าอีก ทั้งยังเป็นคนที่อยู่กับเทคโนโลยีมากกว่า ทำให้เข้าใจและใช้เทคโนโลยีได้ดี แม้จะมีองค์ประกอบเรื่องคนเก่งที่จะมาช่วยงานน้อยกว่าสมัยที่ตนเป็นนายกฯ เนื่องจากผ่านการยุบพรรคการเมืองมาถึง 2 ครั้ง แต่หลังจากเดือนพฤษภาคม 2555 กลุ่มบ้านเลขที่ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจะพ้นโทษจากการถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี คนเหล่านี้จะเข้ามาช่วยงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์


พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองว่า “ผมคิดว่าเหตุการณ์เปลี่ยนไป และพัฒนามาในทางที่ดีเรื่อยๆ อย่างวันนี้ที่คุณอภิสิทธิ์ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ อะไรต่ออะไรเริ่มเป็นนิมิตหมายการเมืองที่จะเริ่มเข้าสู่การปรองดองแล้ว ผมว่าเพราะวันนี้ทุกคนมองเห็นปัญหาแล้วว่าถ้าขืนยังทะเลาะกันอย่างนี้มันอายนานาชาติเขา แล้วประเทศไทยก็หาความสงบไม่ได้ ยิ่งใกล้วันที่พระเจ้าอยู่หัวจะเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญ คนเรายังทะเลาะกันอยู่ ผมว่าอายเขานะ ถ้าบอกว่าจงรักภักดีก็ต้องยอมถอยคนละก้าว เพื่อถวายเป็นกำลังใจให้พระเจ้าอยู่หัวดีกว่า ผมคิดว่าวันนี้เริ่มจะเป็นนิมิตหมายที่ดี การกลั่นแกล้งทางการเมืองจะลดลงไปเรื่อยๆ จริงๆแล้วที่วุ่นวายเพราะการต่อสู้นอกกฎ นอกกติกามากเกินไปนั่นเอง”


ปัญหาท้าทายรัฐบาล


พ.ต.ท.ทักษิณมองความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ในเชิงนโยบายที่สำคัญสุดคือเรื่องค่าครองชีพ และจะทำอย่างไรให้คนมีเงินใช้ เพราะเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างชะงักงันพอสมควร จะทำอย่างไรให้ทุกอย่างไปพร้อมกันได้ เช่น การลดรายจ่ายทำอย่างไร จะเพิ่มรายได้อย่างไร แล้วจะอัดฉีดเงินสู่ระบบได้เร็วอย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจหล่อเลี้ยงได้ทั้งระบบพร้อมกันในเวลาเดียวกันในหลายๆเรื่อง


“สไตล์เดียวกับที่พรรคไทยรักไทยเคยทำ เพราะตอนที่ไทยรักไทยเข้ามาปี 2544 เศรษฐกิจก็ไม่ดี เพียงแต่ตอนนี้ยากกว่าที่มีความขัดแย้งในสังคม ซึ่งต้องรีบแก้ แต่วันนี้เท่าที่ผมฟังโทนเสียงแต่ละฝ่ายแล้วก็อยากจะแก้ปัญหาด้วยกัน แล้วข้อดีของคุณยิ่งลักษณ์ก็คือความเป็นผู้หญิง น่าจะพูดคุยกับทุกฝ่าย น่าจะเดินไปพบปะพูดคุยกับทุกฝ่ายได้ดี”


โมเดลการปรองดอง


พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึง คอป. ชุดนายคณิต ณ นคร ว่าการใช้องค์กรที่เป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็น่าจะเป็นประโยชน์ แต่ต้องสนับสนุนให้มีอำนาจหน้าที่ มีงบประมาณที่จะค้นหาความจริงและแนวทาง ซึ่งอาจศึกษาแนวทางปรองดองจากประเทศต่างๆที่มีประสบการณ์เรื่องความขัดแย้ง เช่น แอฟริกาใต้ของนายเนลสัน แมนเดลา ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่มีความขัดแย้งกันอีก


“บทเรียนครั้งนี้ราคาแพงเหลือเกิน เราจะเรียนรู้อย่างไร แล้วเราจะหันกลับมาสร้างกฎ สร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ และไม่เล่นนอกกติกากันอย่างไร เพื่อให้กติการักษาเสถียรภาพทางการเมืองของเราไว้ได้”


ส่วนการเรียกร้องข้อเท็จจริงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองและเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมนั้น พ.ต.ท.ทักษิณตอบว่า


“กระบวนการยุติธรรมที่สำคัญคือการปฏิรูปการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม นั่นคือหลักนิติธรรมสากล ซึ่งเราก็เป็นภาคีของสหประชาชาติ แล้วเราก็รับทั้งชาร์เตอร์ รับทั้งเรกูเลชั่น คือทั้งของสหประชาชาติซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาคดีโดยตรง แต่เราไม่ได้ปฏิบัติตามอย่างนั้นเลย ก็ต้องมาดูกันว่าอะไรที่ไม่เป็นอย่างนั้นก็ทำให้เป็นอย่างนั้นซะ อะไรที่ผิดหลักนิติธรรมสากลก็ต้องแก้ เพราะหลักนิติธรรมสากลมีความหมายลึกซึ้งมาก ไม่ใช่มีผลต่อการเมือง ต่อสังคมและกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อเศรษฐกิจด้วย เพราะประเทศไหนที่เขาว่าไม่มีคำว่าทรัสต์ แอนด์ คอนฟิเดนท์ เขาไม่เอาเงินฝากไว้มาลงทุน เพราะถ้าหลักนิติธรรมสากลที่ไหนไม่ดีแย่เลย อย่างดูไบไฟแนนเชียลเซ็นเตอร์ เขามีศาลพิเศษของเขา ศาลที่นี่ใช้กฎหมายอังกฤษ เพราะต้องการให้คนที่มาลงทุนมั่นใจว่ากฎหมายนี้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับที่อังกฤษ ซึ่งเราก็ไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพียงแต่ต้องทำอย่างไรถึงจะมีหลักนิติธรรมสากล”


พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึงบทบาทของคนเสื้อแดงหลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลว่า คนเสื้อแดงเรียกร้องหาความยุติธรรมกับประชาธิปไตย ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยและมีความยุติธรรมแล้ว คนเสื้อแดงก็ไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้องอะไร แต่ที่สำคัญคือเวลานี้ความสองมาตรฐานที่ต้องมีการค้นหาความจริงและเยียวยา ทุกอย่างจะได้จบ


มือที่มองไม่เห็น



ปัญหา “มือที่มองไม่เห็น” การทำรัฐประหาร และองค์กรอิสระต่างๆนั้น พ.ต.ท.ทักษิณมองว่า วันนี้พลังที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิแสดงให้เห็นชัดเจน เชื่อว่าคนที่เคยคิดแผนเดิมๆไว้จะต้องกลับไปทบทวนใหม่แล้วว่าจะฝืนความรู้สึกประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากมาย แม้แต่ในกรุงเทพฯยัง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าคนไทยกำลังจะบอกว่าเลิกทะเลาะเถอะ หันมาดีกันเถอะ เพราะพรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนชัดเจนเรื่องของความปรองดอง ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ได้คะแนนมาก
“ผมคิดว่าวันนี้เหตุการณ์ของโลกก็ดี เหตุการณ์ที่เราบอบช้ำมานาน 5 ปีก็ดี ผมว่านานพอแล้วล่ะที่เราทะเลาะกันอย่างนี้ ทุกฝ่ายควรต้องถอยกันคนละก้าว คนที่เคยใช้กติกาที่ไม่เป็นกลางก็ต้องหยุดและทบทวนตัวเองว่าดีหรือเปล่า คนที่เข้าแทรกแซงในเรื่องที่ไม่ควรก็ต้องคิดว่าประเทศช้ำมาเยอะแล้ว วันนี้ประชาชนก็บอกแล้วว่าให้หยุดเถอะ ประชาชนรำคาญแล้ว จึงถือเป็นวิธีบอกที่ดีที่สุด ผมว่าควรหันหน้าเข้าหากันดีกว่า ผมเองก็รู้ว่าผมอาจเป็นที่ไม่พอใจของบางคน พูดจาไม่เข้าหูคนบ้าง อะไรบ้างในอดีต ผมอยากบอกว่าขออภัยในส่วนของผมนะ และผมก็หวังว่าทุกคนจะอภัยให้ผม เราหันมาทำประโยชน์ต่อบ้านเมืองกันดีกว่า ผมเชื่อว่าผมเองน่าจะมีประโยชน์อะไรต่อบ้านเมืองมากกว่ามีโทษนะถ้าใช้ผม แต่ผมไม่จำเป็นต้องเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ผมอาจสอนหนังสือ ผมว่าความรู้ของผมน่าจะเป็นประโยชน์ โทนนั้นน่าจะดีกว่ามั้ย ผมก็เลยขอได้เชิญชวนทุกคน”


ส่วนที่มีกระแสข่าวเจรจาทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้มีอำนาจนั้น พ.ต.ท.ทักษิณยืนยันว่า ไม่มีการพูดคุยกัน แต่ยอมรับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยเป็นตัวแทนในการพูดคุยกับหลายฝ่าย แต่ไม่เป็นทางการ แค่พูดคุยว่าจะมีทางอย่างไร


“คุณยิ่งลักษณ์เมื่อก่อนเป็นตัวแทนผม ประมาณปีกว่าแล้ว แต่ไม่ใช่ช่วงนี้ ช่วงนี้ไม่ได้คุย แต่อาจมีการคุยผ่านคนอื่น เช่น คนนั้นปรารถนาดีก็คุยกับคนนี้มาบอก คนนั้นปรารถนาดีก็คุยจากผมไปบอก ก็มีคนที่ปรารถนาดีอยากให้บ้านเมืองปรองดองอยู่ แต่นั่งคุยกันทุกฝ่ายอย่างข่าวที่ว่าปฏิญาณบ้าบอนั้นไม่จริง”


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 318 วันที่ 9 - 15 กรกฏาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 7-8 คอลัมน์ รายงานพิเศษ โดย ทีมข่าวการเมือง
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น