วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554


ความพ่ายแพ้‘อำมาตย์’!
ความพ่ายแพ้‘อำมาตย์’!

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 318 ประจำวัน จันทร์ ที่ 11 กรกฏาคม 2011
         โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
         ถ้าไม่พูดถึงชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยเสียหน่อยก็คงจะไม่ทันแฟชั่น แต่ในที่นี้ต้องการจะให้ความหมายในมิติที่กว้างขึ้นว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทยและการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในครั้งนี้เป็นความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของกลุ่มอำมาตย์ที่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


ทั้งนี้ กลุ่มอำมาตย์คือกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่มีบทบาทครอบงำการเมืองไทยมาเป็นเวลานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่หลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา จากการที่ฝ่ายขุนศึกถูกโค่นอำนาจลง ฝ่ายอำมาตย์สามารถผลักดันการจัดตั้งรัฐบาลของตนได้เป็นครั้งแรก โดยมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นรัฐบาลที่เปิดทางมาสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ แต่เนื่องจากแนวคิดของกลุ่มอำมาตยาธิปไตยคือความไม่เชื่อในระบอบ


ประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน แต่เห็นว่าการเมืองที่ดีกว่าคือการที่อำนาจอยู่ในมือชนชั้นสูงจำนวนน้อย ที่อาจจะเป็นคนดี มีความรู้ดี หรือมีความสามารถที่จะชี้นำสังคมได้


ถ้าหากจะมีประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งก็เป็นเพียงวิธีการ โดยที่ประชาธิปไตยนั้นจะต้องไม่ทำลายเสถียรภาพของชนชั้นนำ มิฉะนั้นแล้วฝ่ายอำมาตย์ก็พร้อมที่จะล้มระบอบประชาธิปไตยและสถาปนาระบอบเผด็จการทันที ดังจะเห็นได้จากการก่อกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่มีการเข่นฆ่านักศึกษาและก่อการรัฐประหารฟื้นอำนาจเผด็จการ โดยมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบเผด็จการ


ต่อมาแม้ว่าเผด็จการแบบธานินทร์จะถูกโค่นล้มลง แต่ฝ่ายอำมาตย์ก็ยังคงมีบทบาทครอบงำทางการเมืองโดยตรงและโดยอ้อมอยู่เสมอ ระบอบประชาธิปไตยที่รื้อฟื้นขึ้นมาหลัง พ.ศ. 2520 ถูกใช้เป็นวิธีการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2523-2531 เพราะแม้ว่าจะเปิดทางให้มีรัฐสภาและมีการเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งจะไม่กระทบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หมายความว่าไม่ว่าประชาชนจะเลือกพรรคใดด้วยเสียงข้างมาก พล.อ.เปรมก็เป็นนายกรัฐมนตรีเสมอ


แม้ว่า พล.อ.เปรมจะยอมยุติบทบาทในการบริหารประเทศด้วยตัวเอง แต่รัฐบาลแบบ พล.อ.เปรมจะเป็นรัฐบาลในแบบอุดมคติของอำมาตยาธิปไตยเสมอ ในลักษณะที่เป็นรัฐบาลบริหารโดยมีกองทัพและระบบราชการเป็นหลัก และมีพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งแสดงบทสนับสนุน


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประเทศได้ผ่านมาสู่ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์มากขึ้น พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ ในภาวะเช่นนี้ฝ่ายอำมาตย์ก็ค้นพบพรรคการเมืองที่พวกเขาชอบ นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะวิธีการบริหารและแนวคิดของพรรคเป็นแบบอนุรักษ์นิยม มุ่งรักษาเสถียรภาพของสังคม บริหารตามแนวของสถาบันหลัก และเปิดโอกาสให้แก่ระบบราชการ


แต่ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและได้บริหารประเทศใน พ.ศ. 2544 รัฐบาลทักษิณได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปทุกด้าน ใช้วิธีคิดแบบใหม่นอกกรอบมาบริหารประเทศ และมุ่งสร้างนโยบายประชานิยมขึ้นช่วยเหลือประชาชนจำนวนมาก ทำให้ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น จนเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ใน พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยก็ยิ่งได้คะแนนนิยมมากขึ้น ทำให้ฝ่ายอำมาตย์เกิดความวิตกว่าความนิยมใน พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นภัยแก่เสถียรภาพในระบบของตน


จากการที่ฝ่ายอำมาตย์ริษยาและไม่พอใจรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่แทนที่จะสู้ในระบอบประชาธิปไตยด้วยการเคลื่อนไหวให้ประชาชนเสื่อมความนิยมและให้ พ.ต.ท.ทักษิณแพ้เลือกตั้งหมดบทบาทไป พวกอำมาตย์กลับใช้วิธีลัดนั่นคือสนับสนุนให้กองทัพก่อการรัฐประหารโค่นรัฐบาลไทยรักไทยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากนั้นยังมุ่งที่จะทำลายล้างพรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยการใช้อำนาจตุลาการเป็นเครื่องมือในการยุบพรรคไทยรักไทย และตั้งคณะกรรมการเอาผิด โดยพยายามนำคดีทุจริตหลายคดีมาเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่คดีทั้งหมดแทบจะไม่มีมูลในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเลย


แต่การดำเนินการเช่นนี้กลับไม่ได้ทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ตรงข้ามยิ่งกว่านั้นประชาชนจำนวนมากยิ่งไม่พอใจที่ประชาธิปไตยถูกทำลาย จึงมีการตั้งขบวนการต่อต้านอำมาตยาธิปไตยและขยายใหญ่มาเป็นขบวนการคนเสื้อแดงต่อมา


สำหรับฝ่ายอำมาตย์เมื่อทำลายพรรคไทยรักไทยและเสนอรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับรัฐประหารแล้วก็เปิดให้มีการเลือกตั้งเมื่อปลาย พ.ศ. 2550 โดยหวังว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ฝ่ายอำมาตย์ชื่นชอบจะได้รับชัยชนะ แต่กลับปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนที่เปลี่ยนมาจากพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะได้เสียงมากที่สุด นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน จึงได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแทน
ฝ่ายอำมาตย์ต้องลงทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯเสื้อเหลืองเพื่อให้ต่อต้านทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลพลังประชาชน และใช้อำนาจตุลาการยุบพรรคพลังประชาชนอีกครั้ง จากนั้นได้ใช้ “อำนาจพิเศษ” ตั้งรัฐบาลในกองทัพ ผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ผู้แพ้ในการเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อนายอภิสิทธิ์ได้เข้ามาบริหารประเทศอย่างไม่สง่างามก็เกิดการประท้วงใหญ่ของขบวนการคนเสื้อแดง โดยเฉพาะเมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ใช้มาตรการเด็ดขาดในการกวาดล้างปราบปรามผู้ประท้วง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 92 ศพ และบาดเจ็บ พิการอีกนับพันคน กลายเป็นมลทินของนายอภิสิทธิ์ต่อมา ดังนั้น แม้ว่าฝ่ายอำมาตย์จะยังรักใคร่นายอภิสิทธิ์ แต่ประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนมากต่างเกลียดชังเพราะเห็นว่านายอภิสิทธิ์เป็นฆาตกร


ดังนั้น การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาจึงเป็นการตัดสินกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอำมาตย์ ชนชั้นนำ และฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับพรรคเพื่อไทยที่สืบมาจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชนฝ่ายที่รักประชาธิปไตยทั่วไป
ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์จึงเท่ากับเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอำมาตย์ที่ชอบกำหนดชะตากรรมของประเทศ เป็นการสะท้อนว่าเสียงประชาชนนั้นเป็นเสียงสวรรค์ ถ้าหากฝ่ายอำมาตย์ไม่รับฟัง เสถียรภาพของระบอบตามที่ฝ่ายอำมาตย์ต้องการก็จะเกิดขึ้นไม่ได้


แต่กระนั้นคงต้องตระหนักร่วมกันว่าฝ่ายอำมาตย์ยังไม่หมดพิษสง พวกเขายังคงมีกองทัพ อำนาจตุลาการ และสื่อกระแสหลักเป็นเครื่องมืออยู่เช่นเดิม ทั้งยังมีกลุ่มกวนเมืองเสื้อเหลืองที่แม้ว่าจะเสื่อมกำลังไปมากแล้ว แต่ก็ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดมสร้างสถานการณ์ทางการเมืองได้
รัฐบาลใหม่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ได้รับการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมากจึงต้องดำเนินการต่อไปด้วยความระมัดระวัง ต้องใช้วิธีการอันเหมาะสมที่จะแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนให้ได้ ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านที่รัฐบาลประชาธิปัตย์สร้างปัญหาทิ้งเอาไว้
ผมเองในฐานะนักวิชาการฝ่ายเสื้อแดงคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นฐานะที่ยิ่งใหญ่มาก) ขอเอาใจช่วยครับ


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 318 วันที่ 9 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น