วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554


ประชาธิปไตยที่ใครๆก็ไม่ต้องการ!

       จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 318 ประจำวัน จันทร์ ที่ 11 กรกฏาคม 2011
         โดย วิษณุ บุญมารัตน์
         ผลการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว ต้องขอแสดงความยินดีกับพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และหากการเตรียมการเลือกตั้งล่วงหน้าของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความพร้อมกว่านี้อย่างที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ในคราวที่แล้ว คะแนนเสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอาจมากกว่านี้แน่


หลังจากนี้คงต้องดูต่อไปว่าภายหลังการประกาศยอมรับความพ่ายแพ้และลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนในพรรคจะยอมรับความพ่ายแพ้อย่างที่ประกาศไว้จริงหรือไม่ เพราะยังคงมีเสียงจากคนในพรรคประชาธิปัตย์พูดถึงความเสียหายของบ้านเมืองเมื่อปีที่แล้วว่าเกิดขึ้นเพราะคนเสื้อแดง มีอาการ “ขี้แพ้ชวนตี” ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งคราวที่ผ่านมา และสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง


จากนี้ไปคงต้องดูการแสดงบทบาทการทำหน้าที่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ว่าจะสามารถทำตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชนได้หรือไม่ รวมทั้งได้เห็นบทบาทอันเชี่ยวชาญของพรรคประชาธิปัตย์ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลกันต่อไป


การเมืองไทยเป็นเช่นนี้เอง มีขึ้นมีลง เปลี่ยนขั้วเปลี่ยนข้างตลอดเวลาเมื่อฝ่ายรัฐบาลเปิดช่องโหว่ให้เกิดขึ้น ดังนั้น ประชาชนคนไทยไม่ควรเบื่อการเมือง แต่ควรติดตามด้วยความใส่ใจว่านักการเมือง พรรคการเมืองที่เลือกไปนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่สมตามที่ให้สัญญาไว้กับเราหรือไม่ หากไม่ใช่ก็ไม่ควรเลือกเข้ามาอีก แต่ควรเลือกผู้ที่ตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน จะได้ร่วมกันสร้างการเมืองไทยให้เป็นการเมืองภาคประชาชนอย่างแท้จริงได้เสียที


เมื่อสัปดาห์ก่อนเป็นวันครบรอบที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยที่คาดว่ามีคนรุ่นใหม่จำกันได้ไม่มากนัก เพื่อเป็นการร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ในช่วงดังกล่าวจึงอยากขอแนะนำสถานที่แห่งหนึ่งที่น่าจะให้ความรู้กับประชาชนชาวไทยได้ดีนั่นคือ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตั้งอยู่ต้นถนนหลานหลวง ใกล้กับวัดสระเกศฯหรือวัดภูเขาทอง บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของกรมโยธาธิการเก่านั่นเอง


พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 รวมทั้งเหตุการณ์ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในบางมุมที่เราไม่เคยทราบ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของรัฐสภาไทย คณะรัฐมนตรี รวมทั้งเหรียญตราต่างๆด้วย พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ยกเว้นวันจันทร์ ผู้เขียนเห็นว่าจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจการเมืองของไทยให้มากขึ้นสำหรับผู้ที่สนใจ จึงขอแนะนำให้ไปชมกัน โดยเฉพาะผู้ที่ชอบอ้างว่ารักสถาบันทั้งหลาย


ในช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากเกินร้อยละ 70 เช่นนี้ กลับพบว่าความเข้าใจของประชาชนส่วนใหญ่ในเรื่องของประชาธิปไตยยังอยู่เพียงการใช้เสียงส่วนมากตัดสินในเรื่องใดๆเท่านั้น ไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิด จนกลายเป็นว่าเสียงส่วนมากคือความถูกต้องไปแล้ว


ดังนั้น เราจึงได้ยินข่าวการชุมนุมเรียกร้อง ฟ้องร้องต่างๆโดยคนกลุ่มใหญ่ หรือการเดินขบวนให้ปลดผู้บริหารโดยเสียงส่วนใหญ่ออกมาเป็นระลอก
ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงการศึกษา กรณีของ ดร.คิม ไชยแสนสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เคยกล่าวถึงก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง วันนี้จะขอเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน นั่นคือการใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสินโดยเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว


สภามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี มีมติให้ปลด รศ.บัญญัติ สุขศรีงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน โดยเฉพาะข่าวการตั้งเงินเดือนให้กับอาจารย์คณะพยาบาล ซึ่งเป็นคณะที่ตั้งขึ้นใหม่คนละเหยียบแสน นี่เป็นข่าวที่บุคคลภายนอกได้ยินได้ฟังมาแล้วก็บอกต่อๆกัน คนที่ไม่รู้จักอธิการบดีท่านนี้ก็จะเข้าใจเพียงว่า อ๋อ...อาจารย์คนนี้มีการคอร์รัปชันแล้วถูกจับได้เท่านั้นเอง...จบ


แต่กับบุคคลที่เคยรู้จักอาจารย์ท่านนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้เขียนไม่เคยรู้จักอธิการบดีท่านนี้เป็นการส่วนตัว แต่เนื่องจากอาจารย์ท่านนี้เคยสอนที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี มาก่อน จึงทำให้มีคนรู้จักท่านหลายคนและเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงบุคลิกและอุปนิสัยส่วนตัวของอาจารย์ ซึ่งตรงข้ามกับข่าวที่ออกมาอย่างยิ่ง


รศ.บัญญัติเคยสอนที่ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยบูรพา ก่อนที่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีจะเชิญไปดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ขอเน้นว่าเชิญไป ไม่ใช่สมัครแข่งขันแล้วได้รับเลือก ดังนั้น ย่อมต้องมีกระบวนการสรรหาก่อนหน้านี้แล้วว่ามีคุณสมบัติสมควรเป็นอธิการบดีบริหารมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งคุณสมบัติที่สำคัญคือการบริหารแบบโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลนั่นเอง


ลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์บัญญัติล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจารย์ตรงยิ่งกว่าไม้บรรทัดเสียอีก เพราะในการศึกษาสายวิทย์ การทำการทดลองต่างๆจะต้องทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะมีผลต่อการทดลอง และไม่สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานในการทดลองได้ ซึ่งเชื่อว่าอาจารย์น่าจะติดนิสัยนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย


ดังนั้น จึงต้องถามต่อไปว่าได้มีการสอบถามบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีแล้วหรือยังว่าการบริหารงานของอาจารย์บัญญัติก่อให้เกิดความไม่พอใจกับใครบ้างหรือไม่ เช่น การตรวจสอบเวลาการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการเซ็นชื่อทุกวัน เป็นต้น เพราะเรื่องเล็กๆบางเรื่องอาจปิดกั้นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนได้


อย่าให้ข่าวการปลดอาจารย์บัญญัติก่อให้เกิดความกังขาขึ้นในสังคม รวมทั้งความแตกแยกขึ้นในมหาวิทยาลัยเหมือนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จนกระทั่งในที่สุดก็จะกลายเป็นข่าวบุคลากรแต่งชุดดำประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหมือนรามคำแหง ให้สังคมภายนอกได้กังขากันว่าผลประโยชน์ไม่ลงตัวหรืออย่างใด
มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้ที่ต้องการสร้างบัณฑิตออกสู่สังคม ไม่ใช่สถานที่ที่จะประลองความสามารถในเชิงการเมืองของอาจารย์แต่ละคน ใครขวางผลประโยชน์ของตัวเองก็จะใช้การเมืองบีบให้ออกด้วยการยืมมือเสียงส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอำนาจของตน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าคนคนนั้นทำผิดจริงทั้งที่ค้านสายตาผู้พบเห็น และก่อให้เกิดความสมเพชใจอย่างยิ่ง


ขอให้รักษาความดีความงามของมหาวิทยาลัยเหมือนพระนามที่ได้อัญเชิญมาเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วย


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 318 วันที่ 9 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 หน้า 12 คอลัมน์ หอคอยความคิด โดย วิษณุ บุญมารัตน์
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น