วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จดหมายเปิดผนึกฉบับที่สาม ถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะ


จดหมายเปิดผนึกฉบับที่สาม ถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะ



จดหมายเปิดผนึกฉบับที่สาม ถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะ


จากการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีมีสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาสรรหาซึ่งเป็นอดีตคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อปี ๒๕๔๙ รวม ๔๐ คนยื่นคำร้องให้พิจารณาว่าการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ของรัฐสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่เป็นการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น

ทำให้พวกเราชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในนามของกลุ่ม “เร็ด ยูเอสเอ” จำเป็นต้องประกาศจดหมายเปิดผนึกอีกฉบับนี้เป็นการด่วน เพื่อยับยั้งการก้าวล้ำอำนาจอธิปไตยของปวงชนนโดยคณะ ตลก. รธน. ประดุจดังมาตรการรักษาความสงบจากเบาไปหาหนัก อันตรงต่อกรรมวิธีที่ควร และตรงข้ามกับวิธีการที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยกระทำผ่านการดำเนินงานโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) นั่นคืออย่างสันติวิธี และมิใช่จากหนักไปถึงตาย

 การนี้เราขอประกาศ และชักนำให้ประชาชนไทยทั้งมวลจงร่วมกันเรียกร้องให้มีการเพิกถอน และยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้โดยมิรอช้า เพื่อที่จะได้มีการกำหนดบทบาท และวิธีการเลือกสรรคณะ ตลก. อย่างสมบูรณ์ไว้เป็นพี่เลี้ยง และสร้างความกระจ่างในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มิใช่แอบแฝงอยู่กับบทเฉพาะกาลนานหลายปี แล้วยังประพฤติผิดครรลองนิติธรรมด้วยการวินิจฉัยคดีความด้วยอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว มากกว่าปรับใช้ และอ้างอิงหลักเกณฑ์ในเนื้อนาของกฏหมาย

ดังที่คณะตุลาการ ๗ ต่อ ๑ วินิจฉัยว่า สามารถรับคำร้องคดีความตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ได้โดยตรงมิต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบสำนวนโดยอัยการสูงสุดเสียก่อน โดยอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ปรากฏในตัวบทกฏหมายใดๆ เว้นแต่ในจินตนาการของ ตลก. ชุดนี้เอง

อีกทั้งการอ้างมาตรา ๖๙ แห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ว่าการสั่งการของศาลรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงแห่งความผิดยังไม่บังเกิด นั้นหากแต่ “เป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า” ก็มิได้มีการเสนอเหตุผลแห่งข้อกฏหมายพอให้คำอ้างอิงของศาลมีน้ำหนักมากกว่าถ้อยคำพร่ำบ่นกับตนเอง ซ้ำร้ายเป็นการกำหนดเจตนารมณ์ให้แก่รัฐธรรมนูญโดยทับถม และถากถางความเห็นของผู้ร่างบางคน อันมิใช่วิสัยที่ตุลาการผู้มีคุณวุฒิพึงกระทำ

ส่วนข้อพินิจของ ตลก. ที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑ เหมาะที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ออกเสียงเป็นประชามติเสียก่อน ก็เป็นการวินิจฉัยอย่างยกเมฆเอาเอง ในเมื่อถ้าหากยังไม่มีเนื้อนาแห่งตัวบทในข้อกฏหมายที่ต้องการแก้ให้เป็นที่ปรากฏแล้ว การทำประชามติเพียงว่าต้องการแก้หรือไม่แก้ย่อมก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์

เว้นแต่จะได้สนองความต้องการของกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากบางบทบางตอนในรัฐธรรมนูญ อาทิ อดีตคณะรัฐประหาร คมช. และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่นศาลรัฐธรรมนูญ สามารถเตะถ่วงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครรลองที่ถูกต้องซึ่งได้มาถึงการลงมติโดยรัฐสภาในวาระสามก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่แล้ว เจตนาร้ายแอบแฝงเช่นนี้แสดงออกทางอาการรุ่มร้อนให้สัมภาษณ์ของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการคนหนึ่งซึ่งขอถอนตัวจากองค์คณะเพราะถูกพาดพิงว่าแสดงความเห็นไม่อยู่กับร่องรอย

เราจะไม่กล่าวถึงคำวินิจฉัยข้อสามที่ ตลก. ยอมรับในประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องการล้มล้างการปกครอง..อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า “ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้” และ “การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งยังไม่มีผลแต่ประการใด” เนื่องเพราะ ตลก. มิควรที่จะรับคำร้องในข้อนี้แล้วแต่ต้น ในประเทศที่ระบบตุลาการเป็นไปตามหลักนิติธรรมสากล คำร้องเช่นนี้จะไม่ผ่านแล้วแม้แต่ในชั้นเสมียนศาลผู้รับเอกสารคำร้อง ไม่ควรที่คณะตุลาการจักต้องมาอ่านคำวินิจฉัย “ยกคำร้อง” อีก

ด้วยประการเหล่านี้ เราขอยกระดับกระชับสัจจธรรมแห่งระบอบประชาธิปไตย ให้มีการยกเลิกเพิกถอนคณะ ตลก. รธน. ทั้งองค์กรตั้งแต่บัดนี้ และขอประกาศว่าเราในฐานะประชาชนส่วนหนึ่งผู้ครองอธิปไตยแห่งชาติ ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของ ตลก. รธน. ชุดนี้ว่ามีความเหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีขององค์กร

และขอสนับสนุนท่าทีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในการผลักดันให้สภาทำการลงมติวาระสามของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. ๒๙๑ ต่อไป พร้อมทั้งรณรงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยบรรจุบทว่าด้วยตุลาการผู้ทำหน้าที่เกื้อหนุนรัฐธรรมนูญที่มาจาก และรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง


เพื่อความก้าวหน้าของประชาชาติไทย

เร็ด ยูเอสเอ


http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น