วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

เบื่อเรื่องเขาพระวิหาร


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เบื่อเรื่องเขาพระวิหาร

           สัปดาห์หลังสงกรานต์ที่ผ่านมา ทั้งข่าววิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ต่างก็พากันโหมประโหมข่าวเรื่องศาลโลกและเขาพระวิหาร แต่สำหรับผมขอบอกตามตรงว่า ข่าวเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเบื่อมาก ไม่มีสาระอะไร และไม่เป็นประโยชน์อะไรต่อประชาชนเลย ข่าวทั้งหมดที่มีการรายงานเป็นเพียงการเบี่ยงเบนประเด็น ทำเรื่องที่ง่ายที่สุด กลายเป็นเรื่องทางเทคนิกทางกฎหมายระหว่างประเทศอันสลับซับซ้อน เรื่องง่ายอันนี้มีอยู่แต่เพียงว่า ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่พวกคลั่งชาตินิยมในไทยไม่ยอมรับ อยากได้ปราสาทคืน หรือถ้าจะจำยอมต้องรับว่าปราสาทเป็นของเขมร ก็อยากได้ดินแดนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ให้เป็นของไทย ซึงทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องเหลวไหลของลัทธิชาตินิยม และไปไม่ได้เลยกับกระแสบูรณาการระหว่างชาติที่จะนำไปสู่ประชาคมอาเซียนในขณะ นี้

           ประเด็นปัญหาเรื่องเขาพระวิหารนี้ มีรากฐานมาจากในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ราชสำนักสยามตัดสินใจยกดินแดนมณฑลบูรพา อันประกอบด้วยเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2449 ในขณะนั้น ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมที่ครอบครองกัมพูชา การยกดินแดนครั้งนี้นำมาซึ่งการปักปันพรมแดนใหม่ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เขตเทือกเขาพนมดงรักกลายเป็นเส้นพรมแดน คณะกรรมการร่วมระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ประกอบสนธิสัญญา ซึ่งในแผนที่นั้น ฝ่ายฝรั่งเศสได้ขีดให้เขาพระวิหารอยู่ในเขตของฝรั่งเศส โดยฝ่ายสยามก็ไม่ได้ทักท้วง สาเหตุที่ไม่ได้ทักท้วง เพราะขณะนั้นราชสำนักสยามไม่ได้เห็นความสำคัญของปราสาทหินอันหนึ่งในป่าเขา ที่ห่างไกล ขณะที่ในประเทศสยามมีโบราณสถานตั้งมากมายจนดูแลรักษาไม่ไหว นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ลัทธิชาตินิยมก็ยังไม่เติบโต แนวคิดที่ว่าจะเสียดินแดนให้ประเทศอื่นไม่ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียวก็ยังไม่ มี มิฉะนั้น ราชสำนักสยามคงไม่สามารถที่จะยกดินแดนบูรพาทั้งมณฑลให้ฝรั่งเศสไปได้ หรือถ้าจะอธิบายให้ชัดเจนในอีกด้านหนึ่ง ก็คือ ในเมื่อสามารถยกดินแดนทั้งมณฑลให้ฝรั่งเศสไปได้ จะมาสนใจอะไรกับปราสาทโบราณสักแห่งหนึ่งที่ชนชั้นนำในกรุงเทพฯไม่รู้จักเลย

           อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เปลี่ยนแปลงหลังจาก พ.ศ.2475 เมื่อลัทธิชาตินิยมเฟื่องฟูในประเทศไทย เกิดการสร้างวาทกรรมเรื่องการเสียดินแดนเพื่อปลุกเร้าความรักชาติ เกิดความเสียดายในดินแดนที่เสียไป แต่เรื่องเขาพระวิหารก็ยังไม่เป็นประเด็น จนกระทั่ง พ.ศ.2483 รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม อาศัยเงื่อนไขที่ฝรั่งเศสแพ้สงครามเยอรมนี ทำสงครามรุกเข้าไปในกัมพูชาเพื่อยึดดินแดนคืน กรณีนี้จะเรียกกันว่า สงครามอินโดจีน ซึ่งญี่ปุ่นจะเข้ามาไกล่เกลี่ยให้ทำสัญญาใหม่ โดยให้ฝ่ายไทยได้ดินแดนพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐบางส่วนคืน ในสถานการณ์นี้เอง ที่ทำให้ฝ่ายไทยได้เข้ายึดเขาพระวิหารไว้
ต่อมาเมื่อสงครามโลกยุติลง ไทยอยู่ในสถานะแพ้สงคราม ต้องคืนดินแดนให้ฝรั่งเศส แต่ไทยถือโอกาสยึดเขาพระวิหารไว้ไม่คืน ฝรั่งเศสเมื่อกลับเข้ามาในอินโดจีนก็ถูกต่อต้านอย่างหนักจากขบวนการชาตินิยม ทั้งในเวียดนาม และกัมพูชา จึงไม่ได้มีโอกาสในการทักท้วงฝ่ายไทย จนในที่สุด เมื่อกัมพูชาเป็นเอกราชสมบูรณ์แล้ว สมเด็จเจ้าสีหนุกษัตริย์กัมพูชาจึงได้รณรงค์ขอเขาพระวิหารคืนจากไทย เมื่อฝ่ายไทยไม่ยินยอมให้คืน กัมพูชาก็ยื่นฟ้องต่อศาลโลก อันนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างสองประเทศ จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2505 ศาลโลกก็ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ไทยจึงต้องยอมถอนทหาร และคืนปราสาทเขาพระวิหารให้กับฝ่ายกัมพูชาไป

            ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ทั้งในทางประวัติศาสตร์ และในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ปราสาทเขาพระวิหารก็เป็นของกัมพูชา แต่ยังคงมีพื้นที่ 4.6 ตารางกม.บริเวณรอบปราสาทด้านไทย ที่ถือเป็นพื้นที่ทับซ้อน คือ ทั้งสองประเทศต่างก็อ้างสิทธิ ซึ่งต้องเข้าใจว่าประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันจำนวนมากในโลก การมีพื้นที่ทับซ้อนเป็นเรื่องธรรมดา ไทยก็ยังมีพื้นที่ทับซ้อนกับเพื่อนบ้านประเทศอื่น ทั้งมาเลเซีย ลาว พม่า แต่ในทางการต่างประเทศ เป็นแบบแผนในการปฏิบัติในการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านด้วยการ ตั้งกรรมการมาปักปันเขตแดนร่วมกัน และก็วางเฉยเสียกับพื้นที่ที่ตกลงกันไม่ได้ หรือหลายประเทศก็ใช้วิธีกำหนดเขตผลประโยชน์ร่วมกัน การทำสงครามเพื่อช่วงชิงดินแดนให้เด็ดขาดในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันถือเป็นเรื่องอันโง่เขลา ตัวอย่างก็มีมาแล้ว ในกรณีสงครามอิรัก-อิหร่าน ทำสงครามชิงดินแดนชัตอัลอาหรับราว 10 ตร.กม. รบกันตั้งแต่ พ.ศ.2523-2531 ประชากรเสียชีวิตในสงครามนับล้านคน บาดเจ็บอีกหลายล้าน ทรัพยากรสูญเสียไปมากมาย ในที่สุดต้องสงบศึกและเปิดการเจรจากัน

           สำหรับไทยและกัมพูชา หลังจากที่หมางเมินกันมานาน ก็ได้ฟื้นฟูมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้นมา การค้าระหว่างสองประเทศมูลค่าเพิ่มทวี พรมแดนระหว่างสองประเทศก็เปิดติดต่อกัน ปราสาทเขาพระวิหารก็เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งกัมพูชาและไทยก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ภายใต้ความสัมพันธ์อันดีนี้เอง กัมพูชาก็ได้เสนอให้เขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อพัฒนาแหล่งโบราณสถาน ทางฝ่ายไทยก็ตกลงทำแถลงการณ์ร่วมเมื่อ พ.ศ.2551 ในหลักการที่จะได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายโดยไม่ขัดแย้งกัน

           แต่ปรากฏว่า ฝ่ายพันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์ได้ถือโอกาสนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการ เมือง เพื่อล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน โดยหยิบเอาเรื่องแถลงการณ์ร่วมมาโจมตี คุณนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศ ว่าขายชาติและทำให้ไทยต้องเสียดินแดนให้กัมพูชา และประณามฝ่ายกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร กรณีนี้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศทันที เพราะฝ่ายกัมพูชาปิดเขาพระวิหารทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวฝ่ายไทยเสียหายนับพัน ล้าน นอกจากนี้ ยังนำมาซึ่งความตึงเครียดตามพรมแดน และการประทะกัน สร้างความเดือดร้อนอย่างมากแก่ประชาชนในบริเวณพรมแดน แต่ฝ่ายพันธมิตรก็ไม่ได้สนใจ กลับนำเรื่องแถลงการณ์ร่วมไปฟ้องศาลปกครอง ในที่สุด ศาลปกครองก็เข้ามาแทรกแซงอำนาจบริหารการต่างประเทศโดยสั่งให้แถลงการณ์ร่วม เป็นโมฆะ เพื่อร่วมทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลพลังประชาชน ทั้งที่แถลงการณ์ร่วมนั้น เป็นการดำเนินการมาช้านานโดยฝ่ายกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยว ข้อง ไม่ได้เป็นผลงานพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศแต่อย่างใด คำตัดสินของศาลปกครองขณะนั้น จึงสร้างความเสียหายทางการเมือง และการต่างประเทศอย่างมาก และกรณีนี้เอง เป็นที่มาให้ฝ่ายกัมพูชายื่นเรื่องต่อศาลโลกให้ตีความดินแดน 4.6 ตร.กม. ที่เป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบัน

            ที่อธิบายมา จะเห็นได้ว่า การรื้อฟื้นเรื่องเขาพระวิหารจนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศเช่น นี้ เป็นการกระทำอันโง่เขลาของฝ่ายพันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์ ที่เอาประเด็นระหว่างประเทศมาเล่นการเมืองภายในจนมั่ว แล้วยังพยายามปลุกกระแสคลั่งชาติ ให้ไทยเป็นศัตรูกับเพื่อนบ้าน โดดเดี่ยวตนเองจากอาเซียน และมิตรประเทศตะวันตก เรารู้กันหรือไม่ว่า เรื่องเขาพระวิหารนี้ ไทยไม่มีผู้สนับสนุนในเวทีการเมืองโลกแม้แต่ประเทศเดียว สหรัฐกับจีนก็ไม่เคยแสดงท่าทีสนับสนุน ยิ่งกว่านั้น การพิพาทดินแดนเช่นนี้ ก็ไม่สอดคล้องกับการสร้างเอกภาพของภาคีอาเซียน

           ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นจริงต้องเริ่มด้วยการยอมรับในสิทธิของ กัมพูชา และในส่วนพื้นที่ทับซ้อนก็หาทางพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นมิตร อย่าเอาความสัมพันธ์อันเป็นมิตรดีของประชาชนสองประเทศ และมูลค่าการค้าหลายพันล้านไปแลกกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. มิฉะนั้นแล้ว คนรุ่นหลังจะมากล่าวกันได้ว่า ทำไมคนรุ่นเราจึงทำอะไรที่โง่เขลากันเหลือเกิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น