วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง : “เขาพระวิหาร” ในภาพยนตร์ที่ห้ามคนไทยดู

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง : “เขาพระวิหาร” ในภาพยนตร์ที่ห้ามคนไทยดู

      ช่วงการต่อสู้ทางการศาลเพื่อแย่งชิงสิทธิในการครอบครองพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรใกล้ชิดติดกับปราสาทเขาพระวิหาร ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง หรือ Boundary ภาพยนตร์สารคดีเล็ก ๆ โดยนนทวัฒน์ นำเบญจกุล ได้รับเลือกเป็นภาพยนตร์ฉายเปิดในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีศาลายา อีกราวสี่วันต่อมาจากพิธีเปิด ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ชมแทบเต็มความจุของห้องประชุมชั้นห้าของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และปิดท้ายด้วยการฉายที่ธรรมศาสตร์พร้อมการเสวนาของชาญวิทย์ เกษตรศิริ


     น่าเสียดายว่าผู้ชมที่ได้ชมไปอย่างเป็นทางการในสามรอบที่ว่าน่าจะเป็น “ผู้โชคดี” เพราะ ล่าสุดภาพยนตร์เรื่องนี้โดยคณะกรรมการเซนเซอร์ให้เรทห้ามฉายด้วยเหตุผล เกี่ยวกับความมั่นคงและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ซึ่งนนทวัฒน์จะยื่นอุทธรณ์อีกเช่นเดียวกับท่านอื่นที่โดนก่อนหน้า)

       มีภาพยนตร์ไทยน้อยเรื่องที่นำเขาพระวิหารมาเป็นใจกลางการเล่าเรื่อง โดยมากมักเป็นสารคดีทางโทรทัศน์ที่ถูกผลิตในทิศทางการสูญเสียดินแดนและเรียก ร้องนำดินแดนทับซ้อนเหล่านี้คืน มีวาทกรรมมากมายถูกผลิตขึ้นในช่วงพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตยกลับมาแสดง บทบาททางการเมืองช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์

       จุดเริ่มต้นของฟ้าต่ำ แผ่นดินสูงเกิดขึ้นเมื่อนนทวัฒน์เดินทางตามทหารเกณฑ์นายหนึ่งกลับไปยังบ้าน เกิดที่อยู่ใกล้ ๆ ภูมิซรอล เดิมทีนนทวัฒน์ตั้งใจเล่าเรื่องของทหารที่ต้องปฏิบัติภารกิจทั้งในภาคใต้และ เหตุการณ์ที่คอกวัวในเดือนเมษายน 2553 ดังนั้นในช่วงแรกฟ้าต่ำฯ จึงคล้ายสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่นที่ทหารคนนี้ใช้ชีวิต ทว่าจุดเปลี่ยนของเรื่องก็เปลี่ยนไปเมื่อเขาพบว่าพื้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ อยู่ในเขตได้รับผลกระทบจากการเรียกร้องเขาพระวิหารเช่นเดียวกัน

       หนังสำรวจความคิด ความรู้สึก และความเสียหายทั้งเชิงกายภาพและความรู้สึกของชาวบ้านในเขตพื้นที่นั้น กล้องแบบแฮนด์เฮลด์ติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารหลังการยิง ถล่มกันไป แม้เหตุการณ์ผ่านไปพักใหญ่แต่เรื่องราวและร่องรอยยังหลงเหลือเหมือนเกิดขึ้น เมื่อราวสิบนาทีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ต่างเล่าเหตุการณ์เฉียดตาย  พร้อมพาไปดูร่องรอยกระสุนที่สถานที่ราชการ บ้านเรือนของชาวบ้าน พวกเขาต่างอยู่ด้วยกำลังใจพร้อมมีองค์ความรู้ที่หลายคนในเมืองไม่มีวันรู้ เช่น ถ้าได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจากอีกฝั่ง ให้รีบหมอบ ถ้านับเวลาถึงกำหนดแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ถือว่ารอด

       บทสนทนากับชาวบ้านเต็มไปด้วยความโกรธแค้นและคำถามมากมาย พวกเขาไม่เคยต้องการพื้นที่ดังกล่าวเหมือนที่คนในเมืองกลุ่มหนึ่งเรียกร้อง แล้วทำไมพวกเขาต้องมาเป็นคนรับผลกรรมด้วย (พร้อมโบ้ยกลาย ๆ ว่าเป็นเพราะรัฐบาลในเวลานั้นที่ทำให้เกิดการยิงต่อสู้กัน) บางบ้านหายไปในพริบตาจนเจ้าของบ้านร้องไห้ด้วยความสิ้นหวัง แม้เวลาต่อมาจะได้เงินบริจาคมาสร้างบ้านหลังใหม่ได้ แต่ก็มิอาจทดแทนบ้านหลังเดิมที่เธอมีควาทรงจำมากมายจากการเก็บหอมรอมริบ สร้างขึ้น

      นนทวัฒน์ใช้เทคนิคบางอย่างทำให้ได้ความคิดเห็นของผู้คนฝั่งกัมพูชามาด้วย ความรู้สึกของคนที่ต้องผจญกับเสียงปืนนั้นไม่ต่างกัน ทว่าในข้อมูลเรื่องเล่าเหล่านั้นต่างมีน้ำเสียงแค้นเคืองอยู่บ้างที่รัฐไทย กระทำกับรัฐกัมพูชามาเสมอ จากข้อมูลของนนทวัฒน์ ชาวบ้านไม่ได้ทราบความขัดแย้งภายในประเทศของไทย คนกัมพูชาส่วนใหญ่ก็มักเหมารวมว่ารัฐบาลไทยต้องการดินแดนเพิ่มเติม

      เหตุผลหนึ่งที่ออกจากปากทหารในเขมรได้น่าสนใจมากคือเรื่องหลักเขตแดนที่ โดยทำลายหรือโดนโยกย้าย (พวกเขาบอกว่าหลักถูกเลื่อนเข้าไปในเขตแดนกัมพูชา) สำหรับพวกเขาแล้วพรมแดนไม่เคยมีอยู่จริง มีเพียงหลักเขตแดนที่โดยทำลายไปในช่วงเขมรแดงและโดนเคลื่อนย้ายจากฝ่ายทหาร ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ดังนั้นสำหรับพวกเขา พรมแดนก็เป็นแค่เส้นสมมติที่เคลื่อนที่ได้และไม่เคยมีอยู่จริง

     หนังสารคดีไม่ใช่ความจริงแท้ คนทำหนังสารคดีทุกคนล้วนมีประเด็นที่ต้องการเล่า และจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือโน้มน้าวให้คนเชื่อในสิ่งที่เขาต้องการบอก ผ่านการใช้ข้อมูลและภาพฟุตเตจจริง และเมื่อชมเราก็พบว่าสายตาของนนทวัฒน์และสายตาที่เขาเล่าคือสายตาเดียวกัน สายตานั้นมุ่งต้องการให้คนที่ได้ชมหันมาสนใจคนที่อยู่ในพื้นที่บ้าง พวกเขาไม่เคยเรียกร้องอะไรจากเขาพระวิหารและดินแดนดังกล่าว แต่ทำไมถึงต้องมาซวยทั้งที่ต้นเหตุเกิดขึ้นจากใครไม่รู้ในเมืองกรุงผู้โดน ชาตินิยมขวาจัดกัดกลืน

       อย่างน้อย ๆ ที่สุด ความดีงามของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการได้พาไปเห็นชีวิตที่ได้รับผลกระทบ และก่อให้เกิดการถกเถียงกันว่าการเรียกร้องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น คุ้มค่าหรือเปล่า (ยิ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่สูญเสียของคนย่านนั้นไม่ว่าไทยหรือกัมพูชา)
น่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้โดนแบนด้วยข้อหาอันแสนใจแคบว่ามีปัญหาต่อ ความมั่นคงและอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่หากพินิจพิเคราะห์กันแล้ว ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้แสนมนุษยนิยม มุ่งให้ความสำคัญกับชีวิตคนมากเสียกว่าดินแดนที่เรียกร้อง ซึ่งในทัศนะผู้เขียน ถึงได้ไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะนำไปทำประโยชน์อะไรต่อ ความมั่นคงจะมีไปทำไมถ้าชีวิตคนในชายแดนไม่มีความสุขในชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะสนใจไปทำไมทั้ง ๆ ที่คนในประเทศไม่น้อยต่างซวยเพราะผลของนโยบายต่างประเทศ ณ เวลานั้น ๆ (จนมีคนพูดว่าแล้วหนังอย่างพระนเรศวร / บางระจันที่ประกาศว่าหงสาวดี ที่ประวัติศาสตร์ไทยประกาศชัดว่า คือพม่า ศัตรู อันดับหนึ่ง มิยักเคยถูกข้อหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบ้าง)

        ผู้เขียนก็ขอให้กำลังใจกับนนทวัฒน์ (ซึ่งก็เคยพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว) และขอให้การอุทธรณ์นั้นผ่าน ส่วนสำคัญคืออยากให้ผู้ชมได้ชมในโรงภาพยนตร์ตามความหวังของผู้กำกับ และ ขอแสดงความไม่นับถือต่อผู้ที่แบนหนังเรื่องนี้ ที่แสดงความไร้อารยธรรมเป็นครั้งที่สามนับแต่ที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์อัน แสนขัดแย้งต่อแนวคิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกประกาศใช้

ท้ายที่สุด ฎีกาแล้วยังไม่ได้ผล  ช่องทาง new media จะทลาย boundary ทางกฎหมายและท้าทายอำนาจที่รัฐมอบให้คนงี่เง่าอย่างชนิดคนเหล่านั้นไม่มีวัน คาดถึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น