วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

สาระ+ภาพ: ประเทศที่มีรัฐประหารหลังปี 49 - ตอนนี้อยู่ตรงไหนกัน?

สาระ+ภาพ: ประเทศที่มีรัฐประหารหลังปี 49 - ตอนนี้อยู่ตรงไหนกัน?

            อัพเดตสถานการณ์ประเทศรอบโลกที่เกิดรัฐประหารหลังปี 2549 และสำรวจว่าสถานะทางการเมืองในปีนี้พวกเขาอยู่จุดไหนกัน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2549 ประเทศที่ทำรัฐประหาร เรียงลำดับก่อน-หลังได้แก่ ไทย ฟิจิ มอริเตเนีย กินี ฮอนดูรัส ไนเจอร์ มาลี กินีบิสเซา และล่าสุดอียิปต์ หลายประเทศมีการจัดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแล้ว บ้างยังคงสืบมรดกที่ตกทอดมาจากการรัฐประหาร และหลายประเทศยังคงไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง


19.09.49 ไทย

ชื่อประเทศ ราชอาณาจักรไทย
จำนวนครั้งของการรัฐประหาร 12 ครั้ง
รัฐประหารครั้งล่าสุด 19 กันยายน 2549
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
สถานะปัจจุบัน มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง และมีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้สมัยรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร
ข้อมูลเพิ่มเติม
         ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 อย่างไรก็ตามก็เผชิญการรัฐประหารมาแล้ว 12 ครั้ง บังคับใช้รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ
         การรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารที่ใช้ชื่อว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "คปค." มีหัวหน้าคณะคือ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ทำการรัฐประหารขับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ลงจากอำนาจ โดยขณะนั้นทักษิณอยู่ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
         รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเมื่อต้นปี 2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตรได้ประกาศยุบสภาเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และจัดการเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้านได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศไม่ยอมร่วม
        ต่อมา 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ ขณะที่รัฐบาลรักษาการในเวลานั้นได้ประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ มีกำหนดวันที่ 15 ตุลาคม 2549 อย่างไรก็ตามได้เกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อนในวันที่ 19 กันยายน 2549
         หลังทำรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 และในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 แทนรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิก มีการตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งลาออกจากองคมนตรีมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่ถูกยกเลิกไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2540 และมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคณะรัฐประหารได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. มีหัวหน้า คปค. เป็นประธาน คมช.
        ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ได้ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคการเมืองอื่นๆ อีก 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรคเป็นเวลา 5 ปี
การลงประชามติ รธนการเลือกตั้ง และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง
        วันที่ 19 สิงหาคม 2550 ในขณะที่ยังมีการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ 49 จังหวัด มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 14.7 ล้านคะแนน ไม่เห็นชอบ 10.7 ล้านคะแนน โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีผลนิรโทษกรรมและคุ้มครองการกระทำของคณะรัฐประหารและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
        หลังรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ ต่อมารัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป 23 ธันวาคม 2550 โดยผลการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชน ซึ่งเกิดจากการรวมกันของอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย ที่รอดมาจากการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. 233 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 165 ที่นั่ง โดยพรรคพลังประชาชนเป็นฝ่ายตั้งรัฐบาลผสม มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี
         ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาตินำโดย พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ได้แถลงข่าวจบภารกิจเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 โดยกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกลับสู่สภาวะปกติอย่างสมบูรณ์ตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 คมช.จึงขอจบภารกิจ
           อย่างไรก็ตาม แม้คณะรัฐประหารจะยุติบทบาทไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 และกลไกที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังคงมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้การเมืองยังคงไม่มีเสถียรภาพ โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกมาชุมนุมยืดเยื้อในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 เพื่อขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกล่าวหาว่าเป็น "รัฐบาลนอมินี" ของทักษิณ ชินวัตร โดยพันธมิตรได้เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 และมีความพยายามยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีด้วยแต่ไม่สำเร็จ
         ในวันที่ 9 กันยายน 2551 นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะได้ตัดสินให้การเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุด เนื่องจากไปเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร “ชิมไปบ่นไป” ทำให้รัฐสภามีการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกรอบ โดยได้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี
         ต่อมาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้าไปชุมนุมในอาคารของท่าอากาศดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 และในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคของทั้งสามพรรค มีกำหนด 5 ปี
         และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 รวมเวลาชุมนุมทั้งสิ้น 193 วัน
          โดยหลังการยุบพรรค สมาชิกพรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่ได้ไปอยู่ในพรรคเพื่อไทย และสมาชิกพรรคพลังประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่นำโดย เนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มที่อยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากการยุบพรรคเมื่อปี 2550 ได้ไปตั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รวบรวมเสียง ส.ส. ในสภา โดยเฉพาะการรวมเสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มาจาก ส.ส.เดิมของพรรคชาติไทย และพรรคภูมิใจ แล้วตั้งรัฐบาลผสมแทนพรรคเพื่อไทย
          ทั้งนี้การเมืองไทยตลอดรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ถูกประท้วงต่อต้านโดยแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่พัฒนามาจากกลุ่มที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทย และกลุ่มต้านรัฐประหารในปี 2549 โดย นปช. มีการนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใน กทม. ซึ่งจบลงด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการสลายการชุมนุม เช่น การสลายการชุมนุมในวันที่ 13-14 เมษายนปี 2552 และการสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน 2553 และ 13-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งการสลายการชุมนุมในปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งเกิดจลาจลเผาทรัพย์สินและอาคารทั้งในกรุงเทพมหานคร และในบางจังหวัดเพื่อตอบโต้การสลายการชุมนุมด้วย
         ในปี 2554 หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยุบสภาในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 มีจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 กรกฎาคม 2554 ผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยนำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งโดยได้ ส.ส. 265 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ ส.ส. 159 ที่นั่ง
         โดยปัจจุบันในรัฐสภามีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 แบบรายมาตรา โดยเป็นการแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว. โดยมีการคัดค้านมาจากพรรคฝ่ายค้าน และกลุ่ม ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง
อ่านประกอบ
000

06.12.49 ฟิจิ

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐฟิจิ
จำนวนครั้งของการรัฐประหาร 4 ครั้ง (2530 (2 ครั้ง), 2543, 2549)
รัฐประหารครั้งล่าสุด 6 ธันวาคม 2549
ระบอบการปกครอง สาธารณรัฐ
สถานะปัจจุบัน รัฐบาลจากการแต่งตั้งโดยทหาร นายกรัฐมนตรีมาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร
ข้อมูลเพิ่มเติม
         ความขัดแย้งซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 มีที่มาจากการรัฐประหารปี 2543 และวิกฤติทางการเมืองที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปี 2548 - 49 โดยความขัดแย้งส่วนใหญ่เกิดจากความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ฟิจิ และกลุ่มชาวฟิจิ เชื้อสายอินเดีย ที่นับถือศาสนาต่างกัน ทั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ฟิจิส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายเมธอดดิสต์ ในขณะที่ชาวฟิจิ เชื่อสายอินเดีย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู การรัฐประหารแต่ละครั้ง เป็นการพยายามลดอำนาจของกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มลงไปในทางการเมืองการปกครอง
         การรัฐประหารเมื่อปี 2543 นำโดยจอร์จ สเปท์ ได้ขับไล่นายกรัฐมนตรีที่เป็นชาวฟิจิ เชื้อสายอินเดียซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยมีผู้นำทางศาสนาเมธอดดิสต์สนับสนุนการรัฐประหาร การทำรัฐประหารครั้งนี้ นำโดยกองกำลังที่ไม่มีความสัมพันธ์กับกองทัพ ซึ่งคัดค้านการการรัฐประหารดังกล่าว
         ต่อมาคณะรัฐประหารได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีเลซาเนีย เคเรส (Laisenia Qarase) เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเขาได้รับการเลือกตั้งสองสมัย ในปี 2544 และ 2549 และได้กระทำการหลายอย่างที่สร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพ
          ชนวนของการรัฐประหารครั้งล่าสุด เกิดขึ้นจากการพยายามผ่านร่างกฎหมายในรัฐสภาสามฉบับ รวมถึงกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับการทำรัฐประหารปี 2543 โดยกองทัพได้กล่าวโจมตีรัฐบาลในประเด็นดังกล่าวเรื่อยมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 จนเมื่อเดือนตุลาคม 2549 กองทัพได้ยื่นคำขาด 9 ประการ ที่รัฐบาลจะต้องทำตาม ไม่เช่นนั้นจะให้ลาออกไป ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้แก่ การนำผู้ทำรัฐประหารปี 2549 มาดำเนินคดี, ยกเลิกนโยบายที่สร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มเชื้อชาติ, ปฏิเสธการแทรกแซงจากต่างชาติ, สร้างความโปร่งใสเรื่องงบประมาณและการคอรัปชั่น, ยุติการดำเนินคดีกับผู้นำกองทัพจากกรณีที่เขาฟ้องให้ศาลตรวจสอบตำแหน่งหน้าที่ของกองทัพ
           ในเดือนพฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีเคเรส พักการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม, ยุติการดำเนินคดีต่อผู้นำทหาร และทบทวนตำแหน่งของผู้บัญชาการตำรวจ ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย ซึ่งผู้นำทหารเห็นว่าเป็นการแทรกแซงของต่างชาติ
          อย่างไรก็ตาม ผู้นำกองทัพก็ไม่ยอมรับการประนีประนอม โดยกล่าวว่ารัฐบาลต้องทำตามข้อเรียกร้องให้ได้ทั้งหมด จนเมื่อวันเส้นตายดังกล่าวมาถึงในวันที่ 1 ธันวาคม กองทัพจึงประกาศว่ากำลังจะยึดอำนาจจากรัฐบาลฟิจิในวันที่ 3 ธันวาคม
          หลังจากนั้น ฟิจิได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโจนา เซนิลากาคาลี (Jona Senilagakali) และแต่งตั้งให้ประธานาธิบดีคนเก่าราตู โจเซฟา อิโลอิโล (Ratu Josefa lloilo) รับตำแหน่งประธานาธิบดีปัจจุบัน และหนึ่งวันถัดมา ก็ให้ประธานาธิบดีลงนามแต่งตั้งผู้นำกองทัพ และผู้นำรัฐประหาร โจซาเซีย โวเรค แฟรงค์ บาอินิมารามา (Josaia Voreqe Frank Bainimarama) เป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน
อ่านประกอบ
000

06.08.51 มอริเตเนีย

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐอิสลามมอริเตเนีย
จำนวนครั้งที่มีการรัฐประหาร ครั้ง
รัฐประหารครั้งล่าสุด 6 สิงหาคม 2551
ระบอบการปกครอง สาธารณรัฐอิสลาม
สถานะปัจจุบัน มีประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้ทำการรัฐประหาร
ข้อมูลเพิ่มเติม
         มอริเตเนียเป็นประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันตก มีประชากรราว 3,350,000 คน เป็นประเทศยากจนที่ประชากรมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์มีรายได้ไม่ถึงวันละ 1.25 เหรียญสหรัฐ ประชากรทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์
          มอริเตเนียเคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในช่วงปี 2443 จนมาประกาศอิสรภาพในปี 2503 ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ได้แก้ปัญหาการใช้แรงงานทาสโดยเพาะอย่างยิ่งคนที่ต่อต้านรัฐบาลจะถูกนำไปใช้แรงงานเพื่อเป็นการลงโทษ ซึ่งตามกฎหมายฝรั่งเศสถือเป็นความผิด แต่ปัจจุบัน มอริเตเนียก็ยังเป็นประเทศที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชนสูง โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานเด็ก
รัฐประหารครั้งแรก
          แม้ว่าจะประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศส แต่ประธานาธิบดีคนแรกของมอริเตเนียก็ถูกแต่งตั้งโดยฝรั่งเศส และชนะการเลือกตั้งติดต่อกันหลายสมัย ภายใต้ระบบพรรคการเมืองเดียว จนกระทั่งถูกรัฐประหารในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2521ผลของการรัฐประหารนองเลือดครั้งนี้ทำให้ประเทศแทบย่อยยับ และมีการผลัดเปลี่ยนผู้นำโดยการรัฐประหารมาอีก 3 ครั้ง
         ครั้งที่ 4 นายพันมาอูยา อููด์ ชิดอาเหม็ด ทายา (Maaouya Ould Sid'Ahmed Taya) ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2527 และขึ้นปกครองประเทศอย่างยาวนานตั้งแต่ 2527 – 2548 ภายใต้ระบอบของเขาแม้จะเปลี่ยนจากการนำโดยทหารมาสู่การมีการเมืองหลายพรรค แต่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะนโยบายกีดกันชาวมอริเตเนียเชื้อชาติแอฟริกัน ทำให้มีผู้อพยพไปยังประเทศข้างเคียงหลายพันคน
         อย่างไรก็ตาม ภายหลังครองอำนาจอย่างยาวนานนายพัน มาอูยา อููด์ ชิดอาเหม็ด ทายา ก็ถูกรัฐประหารย้อนกลับมาเล่นงาน
รัฐประหาร ครั้งหลัง
         การรัฐประหารครั้งที่ 5 ของประเทศเกิดขึ้นเมื่อ มาอูยา อููด์ ชิดอาเหม็ด ทายา เดินทางไปร่วมพิธีบรมศพของกษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบีย ขณะที่เขาอยู่ต่างประเทศ คณะทหารก็เข้ายึดอาคารราชการ และอาคารกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ ในวันที่ 3 สิงหาคม 2548 และประกาศการรัฐประหาร พร้อมกำหนดแนวทางว่าจะปกครองประเทศเป็นเวลา 2 ปี เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มาอูยา อููด์ ชิดอาเหม็ด ทายา พยายามตอบโต้กลับโดยกล่าวผ่านวิทยุแห่งชาติฝรั่งเศส จากสถานีที่ประเทศไนเจอร์ เรียกร้องให้คณะรัฐประหารคืนอำนาจแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เขาต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศกาตาร์และได้รับอนุญาตให้กลับประเทศได้ในปี 2549 แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในการเลือกตั้ง
          การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยมีผู้ลงชิงชัยจากหลายพรรค เกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม 2550 ผู้ได้รับชัยชนะคือ ซิดี อูด์ เชค อับดาลาฮี (Sidi Ould Cheikh Abdallahi)
           6 สิงหาคม 2551 พล.อ.โมฮาเหม็ด อูล อับเดลอาซิซ (Mohamed Ould Abdel Aziz) ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง และในวันที่ 16 เมษายน 2552 นายพลอับเดลอาซิซก็ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเข้าชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 19 กรกฎาคม 2552 และได้รับชัยชนะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หากแต่ชัยชนะของเขานั้นไม่ได้ใสสะอาด และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดจากการต่อรองระหว่างคณะรัฐประหารกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
              ประชาชนผู้สนับสนุน ซิดี อูด์ เชค อับดาลาฮี อดีตประธานาธิบดีออกมาประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และผลของอาหรับสปริงก็จูงใจประชาชนให้ออกมาเดินขบวนประท้วงเขาอีกครั้งเมื่อปี 2554 แต่นายพลอับเดลอาซิซก็ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่จนถึงปัจจุบัน
อ่านประกอบ
2008 Mauritanian coup d'état http://en.wikipedia.org/wiki/2008_Mauritanian_coup_d'%C3%A9tat
Mauritania, U.S. Department of State http://www.state.gov/j/drl/rls/hrrpt/2007/100493.htm
สาธารณรัฐอิสลามมอริเตเนีย, กระทรวงการต่างประเทศ http://www.mfa.go.th/main/th/world/71/page-4.html
000

23.12.51 กินี

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐกินี
จำนวนครั้งที่มีการรัฐประหา 2 ครั้ง
รัฐประหารล่าสุด23 ธ.ค. 2551
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสภาเดียว โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยดำรงตำแหน่งได้ต่อกันไม่เกิน 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล
สถานะปัจจุบัน ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง
ข้อมูลเพิ่มเติม
          สาธารณรัฐกินี อยู่ในทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตก พรมแดนพรมแดนด้านทิศเหนือจรดกินีบิสเซา และเซเนกัล พรมแดนด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจรดประเทศมาลี ตะวันออกเฉียงใต้จรดโกตดิวัวร์ ทิศใต้จรดไลบีเรีย และตะวันตกจรดเซียร์ราลีโอน มีประชากรประมาณ 11.2 ล้านคน (ปี 2555) ประกอบด้วยชนเผ่าเปิล (Peuhl) ร้อยละ 40 มาลินเค (Malinke) ร้อยละ 30 ซูสซู (Soussou) ร้อยละ 20และชนเผ่าอื่นๆ อีกร้อยละ 10
ย้อนดูประวัติของประเทศกินี การเปลี่ยนผ่านผู้นำของรัฐโดยการรัฐประหาร ครั้ง
รัฐประหารครั้งแรก .. 2527
        กีนีเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสที่เพิ่งแยกตัวเป็นเอกราช เมื่อ 2 ตุลาคม 2501 โดยประธานาธิบดีคนแรก นายอาเหม็ด เซคู ตูเร (Ahmed Séku Touré) มีนโยบายเอนเอียงเข้าทางค่ายยุโรปตะวันออก และจัดการปกครองประเทศตามแนวทางของมาร์กซิสต์ เมื่อถึงแก่อสัญกรรมในปี 2527 คณะทหารได้ทำการรัฐประหารและปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหาร จนกระทั่งปี 2534 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยนายลานซานา คองเต้ (Lansana Conté) ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในปี 2536 และได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องในปี 2541 และในปี 2546 ตามลำดับ โดยในปี 2546 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งจากเดิม 5 ปี เพิ่มเป็น 7 ปีด้วย
รัฐประหารครั้งล่าสุด 23 .. 2551
        เวลา 18.45 ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีคองเต้ถูกประกาศว่าถึงแก่อสัญกรรม หลังจากนั้น 6 ชั่วโมง คณะทหารได้เข้าทำการรัฐประหาร และตั้งคณะรัฐบาลทหาร โดยใช้ชื่อว่าสภาแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนา (National Council for Democracy and Development) ผู้นำการรัฐประหารคือ ร.อ.มุสซา ดาดิส คามารา (Moussa Dadis Camara) คามาราก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี จากการรัฐประหารครั้งนี้
        วันที่ 28 กันยายน 2552 พรรคฝ่ายค้าน สหภาพแรงงานและชาชนออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร มีรายงานว่าประชาชนเข้าร่วมประมาณ 50,000 คน กองทัพได้จัดการกับผู้ชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง รายงานของฮิวแมนไรท์ วอทช์ระบุว่า มีผู้หญิงถูกข่มขืน 108 คน 28รายถูกข่มขืนแล้วยิงทิ้ง และบางรายถูกยิงที่อวัยวะเพศ
        เหตุการณ์ที่ทหารกระทำความรุนแรงและละเมิดประชาชนถูกเก็บหลักฐานมากมายเพราะผู้ชุมนุมจำนวนมากใช้กล้องจากมือถือบันทึกได้ มีผู้เสียชีวิตจำนวน 157 คนและบาดเจ็บราว 1,200 คน กรณีนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของอัยการ ศาลอาญาระหว่างประเทศ
         สหภาพแรงงานเรียกร้องให้คามารา ลาออกจากตำแหน่งสหภาพยุโรป และสหภาพแอฟริกา ลงโทษคามาราและคณะรัฐบาลทหารทั้ง 42 คนโดยการยกเลิกวีซ่า และอายัดบัญชีทั้งหมด ประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกันกำหนดห้ามการเดินเรือของกินี สหรัฐอเมริกาห้ามการเดินทางเข้าประเทศ
         3 ธ.ค. 2552 คามารา ถูกลอบยิงภายใต้คำสั่งของทหารคนสนิท (ทส.) ของเขาเอง โฆษกรัฐบาลประกาศว่าเขาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และรองประธานาธิบดีขึ้นทำหน้าที่แทน
         ขณะที่คามารา บินไปยังบูร์กินา ฟาโซประเทศเพื่อนบ้านในแถบแอฟริกาตะวันตก และหารือกับประธานาธิบดี Blaise Compaoré (แบลซ กงปาออเร) ของบูร์กินา ฟาโซ ภายหลังการหารือ ผู้นำประเทศทั้งสองได้ออกมาแถลงร่วมกันว่า รัฐบาลทหารของกินีจะคืนอำนาจให้กับประชาชนภายใน 6 เดือน โดยมีหลักปฏิบัติ 12 ประการและเห็นพ้องว่ากองทัพจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในไม่ช้า
        รัฐบาลทหารสิ้นสุดอำนาจลงเมื่อ อัลฟา คองเด (Alpha Condé) ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 21 ธ.ค. 2553 และดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงปัจจุบัน
         อัลฟา คองเด เคยเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งพ่ายแพ้การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับ ลานซานา คองเต้ ถึง 2 ครั้งสองคราในปี 1993 และ 1998 ตามลำดับ
       เมื่อขึ้นสู่ประธานาธิบดี อัลฟา คองเดถูกลอบสังหารครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม2553 โดยเขาไม่ได้รับบาดเจ็บแต่ทหารอารักขาเสียชีวิต 2 นาย
         อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายทางการเมืองยังคงมีอยู่ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ มีเหตุการณ์ประท้วงของฝ่ายค้านและประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาล ซึ่งลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองเผ่า เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บนับร้อยคนจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อสลายการชุมนุม
อ่านประกอบ
ICC prosecutor to examine Guinea killings http://www.reuters.com/article/2009/10/16/idUSLF20275._CH_.2400
สาธารณรัฐกินี http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=60
000
 28.06.52 ฮอนดูรัส
ชื่อประเทศ สาธารณรัฐฮอนดูรัส
จำนวนครั้งที่มีการรัฐประหาร ครั้ง (2499, 2506, 2521, 2552)
รัฐประหารล่าสุด 28 มิถุนายน 2552
ระบอบการปกครอง สาธารณรัฐ
สถานะปัจจุบัน ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง
ข้อมูลเพิ่มเติม
           ฮอนดูรัสเป็นประเทศในอเมริกากลาง เป็นเอกราชจากเสปนในวันที่ 15 กันยายน 2364 จากนั้นถูกรวบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเม็กซิกันที่ 1 จนกระทั่งประกาศเป็นเอกราชและใช้ชื่อประเทศว่า ฮอนดูรัส เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2381ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 8,200,000 คน มีพรรคการเมืองใหญ่ 5 พรรคและผู้นำประเทศผลัดเปลี่ยนมาจากหลายพรรคการเมือง
           ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ต่อเนื่อง และความตึงเครียดทางสังคม ฮอนดูรัสเป็นประเทศที่ติดอันดับการฆาตรกรรมสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีสถิติฆาตกรรม 82.1 รายต่อจำนวนประชากร 100,000 ราย (สถิติเมื่อปี 2553)
           การรัฐประหารครั้งล่าสุด 28 มิถุนายน 2552 ประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา (Manuel Zelaya) ของฮอนดูรัส ถูกทหารฮอนดูรัสจับกุมและส่งตัวไปยังคอสตาริกา โดยก่อนหน้านี้มานูเอล เซลายา ได้วางแผนให้มีการลงมติในวันที่ 28 มิ.ย. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายให้ประธานาธิบดีมีวาระดำรงตำแหน่งเป็นสองสมัย ขณะที่ทางศาลสูงสุดของฮอนดูรัสตัดสินให้การลงประชามติในครั้งนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
          จากนั้นสภาฮอนดูรัสก็ออกมาแสดงจดหมายลาออกของมานูเอล เซลายา แต่เซลายาปฏิเสธว่าเป็นจดหมายปลอม
         โรเบอร์โต มิเชลเลทตี ในฐานะผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัสระบุว่าเขาจะดำรงตำแหน่งจวบจนกระทั่งวาระทางการเมืองของมานูเอล เซลายา หมดลงในวันที่ 27 มกราคม ปี 2553 โดยก่อนจะหมดวาระ จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2552
         ประชาชนที่สนับสนุนเซลายาหลายร้อยคนออกมาประท้วง โดยมีบางคนสวมหน้ากาก ถือท่อนไม้ วางแนวป้องกันด้วยโซ่รั้ว พังป้ายโฆษณา ที่ใจกลางกรุงเทกูซิกาลปา (Tegucigalpa) เมืองหลวงของฮอนดูรัส และยังมีการปิดถนนที่นำไปยังที่ทำการประธานาธิบดี ขณะที่ประธานาธิบดีเซลายา ขณะที่ ฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา กล่าวว่าการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายานั้นเป็นการกบฏจากคนยากจนในประเทศ "หากพวกคณาธิปไตยละเมิดกฎเกณฑ์ ประชาชนก็มีสิทธิ์ออกมาต่อสู้ ขัดขืน พวกเราเป็นพวกเดียวกัน"
        การกำจัดเซลายาออกไปจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขามีผู้สนับสนุนมากมาย และเซลายาเองก็ได้พยายามท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารด้วยการข้ามพรมแดนเข้ามาพบผู้สนับสนุนของเขา รวมถึงหลบหนีเข้าไปพำนักในสถานทูตบราซิล จากนั้นก็ลี้ภัยการเมืองไปยังสาธารณรัฐโดมินิกัน
ถูกประณามจากหลายประเทศ การรัฐประหารที่เลวร้ายที่สุดของละตินอเมริกา
         ท่าทีของมิตรประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา ออกมาในแนวทางเดียวกันนั้นคือหนุนเซลายาและต้านคณะรัฐประหาร ฮูโก้ ชาเวช กล่าวว่าเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อล้มผู้ที่ขับไล่เซลายา โดยชาเวซยังได้บอกอีกว่าจะต้องมีการสืบสวนว่าทางการสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุการณ์รัฐประหารในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งทางการสหรัฐฯ ก็ออกมาปฏิเสธ โดยนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นได้ออกมากล่าวว่า การทำรัฐประหารประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา เป็นการละเมิดกฏบัตรประชาธิปไตยในประเทศเขตทวีปอเมริกา และสมควรถูกประณาม
         รัฐมนตรีต่างประเทศของเอกวาดอร์ออกมาบอกว่าจะไม่ยอมรับรัฐบาลอื่นนอกจากรัฐบาลของเซลายา ขณะที่ประธานาธิบดีของอาร์เจนตินา คริสตินา คิทซ์เนอร์ บอกว่ารัฐประหารครั้งนี้ทำให้นึกถึงช่วงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา ประธานาธิบดี ลูอิซ อิกนาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิลก็ออกมากล่าวในรายการวิทยุวันที่ 29 มิถุนายน ว่าประเทศบราซิลจะไม่ยอมรับรัฐบาลฮอนดูรัสที่ไม่มีเซลายาเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากเซลายาได้รับเลือกตั้งจากการลงคะแนนโดยตรง ซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย
รัฐมนตรีต่างประเทศของคิวบา บรูโน รอดริดจ์ ปาร์ริลล่า ก็ออกมากล่าวประณามรัฐประหารในครั้งนี้ด้วย
         ประเทศอื่นๆ นอกละตินอเมริกา ที่ออกมาร่วมประณามการรัฐประหารจากมุมอื่นของโลกก็ได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน และบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ออกมาประณามการก่อรัฐประหารครั้งนี้ และเรียกร้องให้มีการคืนตำแหน่งให้กับตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ขณะที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน นายหม่า อิง-เจียว (Ma Ying-Jeou) ยกเลิกแผนการเดินทางไปเยือนฮอนดูรัส
ไม่ใช่การรัฐประหาร แต่เป็นการปกป้องรัฐธรรมนูญ
           ด้านโรเบอร์โต มิเชลเลทตี ประธานสภาฮอนดูรัสและผู้นำชั่วคราว ออกมาเรียกร้องว่า "พวกเราเคารพทุกคนและพวกเราก็แค่อยากขอร้องให้พวกเขาเคารพเราด้วย และปล่อยให้เราอยู่อย่างสงบ เพราะว่าประเทศเรากำลังจะมีการเลือกตั้งที่อิสระและโปร่งใสในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว" และในวันที่ ในวันที่ 29 มิถุนายน เอนริค ออร์เตส รัฐมนตรีต่างประเทศของฮอนดูรัสที่ได้รับการแต่งตั้งจากมิเชลเลทตี ออกมาระบุผ่านสถานีวิทยุ HRN ว่าไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น กองทัพแค่ออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ "ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ต้องการแก้ไขโดยปราศจากหลักการและเป็นการดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย"
          เซลายาครองใจคนหัวก้าวหน้าหนุ่มสาว แม้ภายใต้รัฐบาลของเขาจะประสบปัญหาเศรษฐกิจมาก แต่ก็มีนโยบายประชานิยมหลายอย่างออกมา เช่น การศึกษาฟรี นโยบายอุดหนุนชาวนา ลดดอกเบี้ย เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนยากจนกว่าล้านหกแสนคน รวมถึงระบบประกันสังคมให้กับคนงานในบ้าน
          มานูเอล เซลายา ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 27 มกราคม 2548 โดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 49.9 จากผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด และมีที่นั่งในสภา 62 ที่นั่ง ขณะที่ โลโบ จากพรรคคู่แข่งได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 46.2 และมีที่นั่งในสภา 55 ที่นั่ง
          ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีผู้ที่เป็นฝ่ายซ้ายจะชื่นชมเขาในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ และการปฏิรูปสังคมในขณะเดียวกันบางครั้งมันก็ทำให้เขามีความได้เปรียบด้านอำนาจทางเศรษฐกิจในฮอนดูรัส ขณะที่ฝ่ายหัวอนุรักษ์แสดงท่าทีต่อต้านนโยบายต่างประเทศของเขา  อย่างเรื่องที่เขาร่วมเป็นพันธมิตรกับฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลลา การให้ฮอนดูรัสเข้าร่วมกลุ่มสหพันธ์โบลิเวียนเพื่อประชาชนแห่งทวีปอเมริกา (Bolivarian Alliance for the People of Our America หรือ ALBA) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เวเนซุเอลลาตั้งขึ้นมาเมื่อต่อต้านเขตการค้าเสรีของอเมริกา (Free Trade Area of the Americas หรือ FFTA) รวมทั้งตัวเซลายายังได้กล่าววิพากษ์สหรัฐฯ และมีการเผชิญหน้าในภาคธุรกิจอยู่ตลอดเวลา
เลือกตั้งครั้งใหม่
         ภายใต้ความตึงเครียดทางการเมืองของผลพวงจากการรัฐประหาร มีมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่  โดยผู้สมัครผู้แทนหลายร้อยรายถอนตัวเพื่อประท้วงอำนาจของคณะรัฐประหารที่ครอบงำการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอให้คืนตำแหน่งให้กับเซลายา
         ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 ก็มีการเลือกตั้งและผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งคือ Porfirio Lobo Sosa จากพรรคชาตินิยม ( National Party of Honduras) โดยได้รับชัยชนะเหนือคู่ชิงจากพรรค Liberal Party of Honduras ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสังกัดของเซลายาที่ถูกยึดอำนาจไปโดยการรัฐประหาร และสภาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ลงมติไม่คืนตำแหน่งให้เซลายา ขณะที่เซลายาก็วิจารณ์ผลการเลือกตั้งที่พรรคชาตินิยมชนะเลือกตั้งว่า ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างที่เอื้อต่อการรัฐประหาร และผู้ที่กระทำการรัฐประหารยังไม่ถูกลงโทษ และสภาได้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำรัฐประหารด้วย
ปัจจุบันนี้ เซลายาดำรงตำแหน่งผู้แทนฮอนดูรัสในสภาอเมริกากลาง
อ่านประกอบ
ฐานข้อมูลประชาไท: รัฐประหารฮอนดูรัส http://goo.gl/mpEyVZ
000

18.02.53 ไนเจอร์

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐไนเจอร์
จำนวนรัฐประหาร 4 ครั้ง
รัฐประหารครั้งล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2553
ระบอบการปกครอง ระบอบสาธารณรัฐ แบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี
สถานะปัจจุบัน ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง ใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติช่วงรัฐประหาร
ข้อมูลเพิ่มเติม
         สาธารณรัฐไนเจอร์ เป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เกิดการรัฐประหารถึง 4 ครั้ง และใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 5 ฉบับ นอกจากนี้ในด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศติดกับประเทศมาลี มักจะเกิดการก่อกบฎโดยชนเผ่าทูอาเร็ก (Tuareg)
        สำหรับการรัฐประหารครั้งล่าสุด มีมูลเหตุมาจาก มามาดู ทันจา (Mamadou Tandja) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542
       ในเดือนกรกฎาคมปี 2542 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไนเจอร์ มีการบังคับใช้ โดยมีการฟื้นฟูรูปแบบการปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา ที่ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งมีวาระ 5 ปี และประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แบ่งอำนาจบริหารร่วมกัน โดยประธานาธิบดีมามาดู ทันจา (Mamadou Tandja) จากพรรคขบวนการเคลื่อนไหวแห่งชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (Mouvement National pour la Societé de Développement - MNSD) ชนะการเลือกตั้ง
        หลังดำรงตำแหน่งมาได้ 2 วาระ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ประธานาธิบดีทันจาได้ยุบสภา ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบแผนการจัดลงประชามติเพื่อขยายอำนาจการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจากเดิมจำกัดอยู่ที่ 2 วาระ เป็น 3 วาระ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างประธานาธิบดีกับฝ่ายค้าน
       โดยประธานาธิบดีทันจาที่พยายามขยายวาระการดำรงตำแหน่งออกไป ด้วยการจัดลงประชามติรัฐธรรมนูญในวันที่ 4 สิงหาคม 2552 โดยผู้ลงประชามติร้อยละ 92.5 เห็นชอบให้ขยายวาระการดำรงตำแหน่งออกไป จากนั้นมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และตั้งสาธารณรัฐที่ 6
        อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้าน นำโดยมาฮามาดู อิสซูฟู (Mahamadou Issoufou) ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคชาวไนเจอร์เพื่อประชาธิปไตยและสังคมนิยม (Nigerien Party for Democracy and Socialism-Tarayya หรือ NPDS-Tarayya) ได้จัดชุมนุมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีทันจาลงจากอำนาจ และในวันที่ 8 สิงหาคม 2552 ผูู้นำฝ่ายค้านกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีนจาได้ทำรัฐประหารและพยายามจะสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นในประเทศ และเรียกร้องให้ทันจายุติการดำรงตำแหน่งภายในเดือนธันวาคม 2552
        ต่อมาในวันที่ 14 กันยายน 2552 อิสซูฟู ถูกจับกุมด้วยข้อหาใช้เงินผิดวัตถุประสงค์และได้รับการประกันตัว โดยเขากล่าวหาว่าการถูกจับเป็นการเล่นงานทางการเมือง และได้หลบหนีออกจากประเทศ ต่อมาในวันที่ 29 ตุลาคม 2552 มีการออกหมายจับไปยังต่างประเทศ และอิสซูฟู ได้กลับเข้ามาในประเทศโดยข้ามมาจากทางไนจีเรีย ด้วยเหตุผลว่า "เพื่อให้ความร่วมมือกับอำนาจตุลาการ"
        ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 กองทัพที่นำโดยพลจัตวาซาลู ดิโบ (Salou Djibo) ได้ทำรัฐประหารประธานาธิบดีทันจา และมีการตั้งสภาสูงสุดเพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยแห่งไนเจอร์ (CSRD) โดยตัวเขาเป็นหัวหน้าคณะ มีการขังประธานาธิบดีไว้ในค่ายทหาร ต่อมามีการย้ายอดีตประธานาธิบดีไปกักบริเวณภายในบ้านพักและย้ายไปขังในเรือนจำในเดือนมกราคม 2554
        และในวันที่ 2 มีนาคม 2553 คณะรัฐประหารได้ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลโดยให้คำมั่นว่าจะคืนอำนาจสู่ระบอบประชาธิปไตย และประกาศด้วยว่าคณะรัฐประหารและสมาชิกของรัฐบาลเฉพาะกาลจะไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้น
         ในปลายปี 2553 มีการลงประชามติ และมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกในวันที่ 31 มกราคม 2554 และรอบสองในวันที่ 12 มีนาคม 2554 ผลการเลือกตั้งมาฮามาดู อิสซูฟู ผู้นำพรรค NPDS ชนะการเลือกตั้งร้อยละ 57.95 ส่วนเซนี อูมารู (Seyni Oumarou) คู่แข่งพรรคเดียวกับอดีตประธานาธิบดีที่ถูกทำรัฐประหารจากพรรค NMDS ได้คะแนนร้อยละ 42.05
อ่านประกอบ
000
 

21.03.55 มาลี

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐมาลี
จำนวนรัฐประหาร 3 ครั้ง
รัฐประหารครั้งล่าสุด 21 มีนาคม 2555
ระบอบการปกครอง สาธารณรัฐแบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี
สถานะปัจจุบัน คณะรัฐประหารยอมจัดการเลือกตั้ง และได้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง
ข้อมูลเพิ่มเติม
        การรัฐประหารครั้งล่าสุดในมาลี นักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลพวงมาจากการลุกฮือของอาหรับสปริงในปี 2011 ทำให้อาวุธจากกลุ่มกบฎของลิเบียส่งมาที่กลุ่มกบฎทูอาเร็ก (Tuareg) ในมาลีมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้กลุ่มกบฎทางตอนเหนือสามารถเข้ายึดครองพื้นที่ในเขตคิดัล (Kidal) ทางตอนเหนือของมาลีได้ และประกาศเป็นประเทศใหม่ชื่อว่าอาซาวัด (Azawad) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถยึดพื้นที่ดังกล่าวคืนได้ภายหลัง
        การรัฐประหารเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 เกิดขึ้นจากการประท้วงที่ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ และประกอบกับการที่กองทัพได้เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณด้านทหารและอาวุธเพื่อใช้ต่อสู้กับกลุ่มกบฎ แต่รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องได้พอ และถูกมองว่าไม่สนับสนุนการต่อสู้กับกลุ่มกบฎอย่างเต็มที่ ทำให้กองทัพทำการรัฐประหารประธานาธิบดี Amadou Tounami Toure อดีตนายพล ก่อนเขาจะหมดตำแหน่งลงในอีกหนึ่งเดือนเท่านั้น และไม่ได้มีแผนที่จะลงแข่งเลือกตั้งต่อด้วย
          ต่อมาในวันที่ 20 ส.ค. มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยมีดิองคุนดา ทาอูเร (Dioncounda Traoré) เป็นประธานาธิบดี และชีค โมดิโบ ดิอารา (Cheick Modibo Diarra) เป็นนายกรัฐมนตรี และมีสมาชิกส่วนใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคณะรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากสภาสูงอิสลาม ทำให้นายกรัฐมนตรีถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งโดยทหาร โดยโฆษกกองทัพระบุว่า เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีพยายามจะอยู่ในตำแหน่งไปอีกยาวนาน และไม่ยอมเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ทำให้บางส่วนมองว่าเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 2
        หลังจากแรงกดดันจากประชาคมนานาชาติ ทำให้ผู้นำทหารต้องยอมประกาศให้มีการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งทั่วไปถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้ประธานาธิบดีอิบราฮิม บูบากา เคตา (Ibrahim Boubacar Keita) ซึ่งยังอยู่ในอำนาจมาจนถึงปัจจุบันนี้
อ่านประกอบ
000

12.04.55 กินี-บิสเซา

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐกินี-บิสเซา
จำนวนครั้งที่มีการรัฐประหาร 4 ครั้ง (14 พ.ย. 2523, 7 พ.ค. 2542, 14 ก.ย. 2546, )
รัฐประหารล่าสุด 12 เมษายน 2555
ระบอบการปกครอบ ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
สถานะปัจจุบัน ประธานาธิบดีรักษาการ ตามการจัดสรรในระยะเปลี่ยนผ่านหลังรัฐประหาร
ข้อมูลเพิ่มเติม
       กินี-บิสเซาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา เป็นประเทศยากจน มีประชากรราว 1.63 ล้านคน เคยตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสอยูนาน 500 ปี และเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2517 โดยกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญคือ African Party for the Independence of Guinea-Bissau and the Islands of Cape Verde (PAIGC) มีนายอามิลการ์ กาบราล เป็นผู้นำการเรียกร้องเอกราชมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 หลังจากได้เอกราชแล้วมีการจัดตั้งระบบพรรคการเมืองและสภาปฏิวัติ พร้อมทั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
         กินี-บิสเซาถูกปกครองโดยสภาปฏิวัติซึ่งมีนโยบายเอียงซ้ายอยู่ 10 ปี โดยมีผู้นำประเทศคือ Luis Cabral ต่อมาถูกทหารปฏิวัติในวันที่ 14 พ.ย. 2523 โดย Joao Vieira ผู้บัญชาการกองทัพซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหารกล่าวหาว่ากาบราลคอร์รัปชั่น และได้ขึ้นปกครองประเทศแทน Joao Vieira นำประเทศไปสู่การเป็นพรรคการเมืองหลายพรรค และพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เขาถูกกล่าวหาว่าคอรรัปชั่น เป็นเผด็จการ และเอื้อประโยชน์พวกพ้อง แต่ต่อมาเมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในพ.ศ. 2537 เขาก็ยังได้รับการเลือกตั้ง
          แต่ในวันที่ 7 พ.ค. 2542 เขาก็ถูกทหารทำรัฐประหาร และครั้งนี้ได้นำไปสู่สงครามกลางเมือง จนกระทั่งต้องอาศัยกระบวนการสันติภาพเข้าเยียวยาปัญหา และได้จัดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2543 แต่ผู้ชนะการเลือกตั้งคือ Kumba Yala ก็ดำรงตำแหน่งอยู่ได้เพียง 3 ปีก็ถูกรัฐประหารอีกในวันที่ 14 ก.ย. 2546 โดยกองทัพให้เหตุผลของการทำรัฐประหารว่าเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเมือง
          การเลือกตั้งถูกจัดขึ้นอีกครั้งใน  พ.ศ. 2548 คราวนี้ Joao Vieira กลับมาเป็นผู้ชนะอีกครั้ง ทว่าในวันที่ 2 มีนาคม 2552 Joao Vieira ก็ถูกทหารยิงเสียชีวิต จากนั้นโฆษกรัฐบาลขึ้นดำรงตำแหน่งแทนและจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 28 มิ.ย. 2552 ผู้ชนะเลือกตั้งคือ Malam Bacai Sanhá.
         การรัฐประหารครั้งหลังสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2555 คว่ำประธานาธิบดี นายมานูเอล เซริโฟ ฮามาโจ (Manuel Serifo Nhamadjo) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งลงไป ทำให้กินีบิสเซายังรักษาสถิติไม่มีประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งคนใดดำรงตำแหน่งจนครบวาระ หากไม่เสียชีวิตไปก่อนก็ถูกลอบสังหาร หรือรัฐประหาร
         ปัจจุบัน นายมานูเอล เซริโฟ ฮามาโจ (Manuel Serifo Nhamadjo) ทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี ตั้งแต่ 11 พฤษภาคม 2555 เป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรทางการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน
อ่านประกอบ
ฐานข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=61
000

03.07.56 อียิปต์

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
จำนวนครั้งที่มีการรัฐประหาร 3 ครั้ง (การปฏิวัติ 23 กรกฎาคม 1952, 11 ก.พ. 2554, 3 กรกฎาคม 2556)
รัฐประหารล่าสุด 3 กรกฎาคม 2556
ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
สถานะปัจจุบัน รัฐบาลเฉพะกาล,วิกฤตการเมือง
ข้อมูลเพิ่มเติม
          อียิปต์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ปัจจุบันมีประชากรกว่า 85 ล้านคน เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ จากเหตุการณ์ปฏิวัติ 23 กรกฏาคม เมื่อปี 2495) โดยโค่นกษัตริย์ฟารุกลงจากอำนาจ ยกเลิกระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น การปฏิวัติครั้งนี้ยังหนุนด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม ต่อต้านจักวรรดินิยม มีการสถาปนาวันชาติขึ้น ก็คือวันปฏิวัติ 23 กรกฎาคมนั่นเอง
รัฐประหาร 11 .. 2554
         ตัดมาที่การเมืองในปัจจุบัน  ย้อนไปตั้งแต่ช่วงปรากฏการณ์ "อาหรับสปริง" กลุ่มประชาชนชาวอียิปต์ได้รับอิทธิพลจากการลุกฮือในตูนิเซีย ทำให้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ประชาชนจำนวนมากในอียิปต์พากันลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ซึ่งอยู่ในอำนาจมานานนับตั้งแต่ปี 2524 โดยในการประท้วงครั้งนั้นมีมวลชนจากหลากหลายแนวคิด ทั้งกลุ่มอิสลาม กลุ่มต่อต้านทุนนิยม กลุ่มชาตินิยม และกลุ่มเฟมินิสต์
          หลังจากที่มีการปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 846 คน และบาดเจ็บราว 6,000 คน ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 มูบารัคก็ยอมออกจากตำแหน่ง และมีการมอบอำนาจให้กับกลุ่มสภาทหารสูงสุดของอียิปต์ (Supreme Council of the Armed Forces หรือ SCAF) นำโดยโมฮาเหม็ด ฮุสเซน ทันทาวี ผู้นำเหล่าทัพในยุคนั้น
เลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่
        ช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน 2555 อียิปต์เริ่มมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ แต่ในระหว่างช่วงนั้นก็มีปัญหาเรื่องการสั่งยุบสภาฯ โดยศาลอียิปต์บอกว่ากฎหมายมาตราต่างๆ ที่ใช้ในช่วงเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554 ไม่สามารถใช้ได้และเรียกร้องให้มีการยุบสภาทันที ด้วยเหตุนี้ทำให้สภาทหารฯ กลับมามีอำนาจบริหารอีกครั้ง ก่อนที่จะประกาศตัวสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในวันที่ 18 มิถุนายน 2555
         มีการชุมนุมที่จัตุรัสทาห์รีย์อีกครั้งในวันที่ 19-24 มิถุนายน 2555 มีส่วนหนึ่งมาเพื่อต่อต้านการสั่งยุบสภาของสภาทหารฯ ซึ่งเกรงว่าอำนาจของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจสภาทหารอย่างมากจะกลายเป็นการจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาเพื่อฟังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
       ในวันที่ 24 มิถุนายน 2555 มีการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ โดย โมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 51.73 ขณะที่ อาห์เม็ด ชาฟิค ผู้สมัครอิสระได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 48.27
การงัดข้อกับศาลและสภาทหาร
         ช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 หลังจากมอร์ซี ดำรงตำแหน่ง เขาก็มีคำสั่งให้ ส.ส. ที่ถูกยุบสภาในช่วงที่สภาทหารฯ อยู่ในอำนาจกลับมาเปิดประชุมสภาอีกครั้ง เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับการตัดสินใจในครั้งนี้ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการงัดข้อกันระหว่างฝ่ายผู้นำจากภราดรภาพมุสลิมและศาลอียิปต์
         ในวันที่ 12 สิงหาคม 255 มอร์ซี ก็สั่งปลดนายพลทันทาวี และซามี อันนัน สองผู้นำกองทัพออกจากตำแหน่ง โดยมีมวลชนส่วนหนึ่งชุมนุมสนับสนุน ซึ่งการปลดผู้นำกองทัพจากสภาทหารฯ ทำให้มอร์ซีมีอำนาจนิติบัญญัติกลับคืนมา
เริ่มชุมนุมต้านมอร์ซี
        เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ก็มีประชาชนหลายพันหวนกลับมายังจัตุรัสทาห์รีย์ ซึ่งในคราวนี้เป็นการประท้วงต้านมอร์ซี หลังจากที่มอร์ซีออกประกาศกฤษฎีกาให้อำนาจเหนือการตรวจสอบแก่ตนเอง ในช่วงนั้นกลุ่มคณะตุลาการก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกัน
         1 ธันวาคม 2555 มอร์ซี ประกาศวันทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีผู้ชุมนุมกลุ่มอิสลามออกมาแสดงการสนับสนุนที่มหาวิทยาลัยไคโร ขณะเดียวกันที่จัตุรัสทาห์รีย์ก็มีผู้ออกมาต่อต้าน จนกระทั่ง 8 ธันวาคม 2555 มอร์ซี จึงยอมยกเลิกกฤษฎีกาพิเศษที่ให้อำนาจพิเศษแก่ตนเอง ในวันที่ 15 และ 22 ธันวาคม 2555 จึงมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีผู้เห็นชอบร้อยละ 63.83 ผู้ไม่เห็นชอบร้อยละ 36.17
การประท้วงใหญ่ล่าสุด-การรัฐประหาร
เรื่อยมาจนกระทั่งถึงการประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ซึ่งการประท้วงดำเนินไปอย่างสงบจนกระทั่งมีกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลถูกสังหาร
  • 1 กรกฎาคม 2556 กลุ่มผู้ชุมนุมต้านรัฐบาลส่วนหนึ่งได้เข้าไปทำลายอาคารที่ทำการของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในกรุงไคโร และในวันเดียวกัน กองทัพอียิปต์ได้ประกาศเส้นตาย 48 ชั่วโมง ว่าจะมีการแทรกแซงหากรัฐบาลยังหาทางจัดการความขัดแย้งไม่ได้ รัฐมนตรี 4 คนประกาศลาออก
  • 2 กรกฎาคม 2556 รัฐมนตรีต่างประเทศประกาศลาออก ประธานาธิบดีมอร์ซีปฏิเสธไม่ยอมรับการขีดเส้นตายของกองทัพ บอกว่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาของตนเอง
  • 3 กรกฎาคม 2556 ถึงกำหนดเส้นตาย มอร์ซีถูกสั่งกักตัวไว้โดยเชื่อว่าอยู่ที่ค่ายทหารของกองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐ รถถังเคลื่อนไปตามที่ต่างๆ และมีวางกำลังตามจุดสำคัญ จนกระทั่งผู้นำกองทัพประกาศแถลงการณ์ยกเลิกอำนาจของมอร์ซี และแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ อาดลี มานซูร์ ขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดี

        การรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกอธิบายในทิศทางที่ต่างกัน ประชาชนกลุ่มที่ไม่เห็นชอบกับมอร์ซีอธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เรียกว่าการรัฐประหาร แต่เป็นการทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองเพื่อตอบสนองกับความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นองเลือดก็ตามมาหลังจากนั้นเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนมอร์ซีจำนวนมากเคลื่อนขบวนออกมาต่อต้านรัฐประหาร และถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ประชาชนทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนประธานาธิบดีมอร์ซีปะทะกันได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้ง 2 ฝ่าย
เหตุการณ์ทางการเมืองในอียิปต์ยังคงไม่สงบจนกระทั่งปัจจุบัน
อ่านประกอบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น