วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และเลขาธิการ พคท. ส่งพวงหรีดไว้อาลัย "เฉิน ผิง"

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และเลขาธิการ พคท. ส่งพวงหรีดไว้อาลัย "เฉิน ผิง"

           หนังสือพิมพ์สเตรท ไทม์ ลงข่าวทางการบริติชมลายา เจ้าอาณานิคมสมัยนั้น ลงข่าวออกหมายจับ "เฉิน ผิง" พร้อมตั้งค่าหัวจับเป็น 250,000 เหรียญ เมื่อปี พ.ศ. 2488 ด้านเฉิน ผิงนั้นเสียชีวิตระหว่างรักษาตัวที่ รพ.กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 รวมอายุได้ 88 ปี
นิทรรศการหน้างานคำนับศพ "เฉิน ผิง" ที่วัดธาตุทอง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 56 โดยเป็นการรวบรวมหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวการเสียชีวิตของเขา
พวงหรีดจากธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเขียนด้วยว่า "คารวะแด่สหายร่วมรบ" ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 56
พวงหรีดพระราชทานจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยมี พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้เชิญพวงหรีดพระราชทานมาแสดงความไว้อาลัย ภาพถ่ายเมื่อ 20 ก.ย. 56

        กรณีที่เฉิน ผิง (陳平) หรือ หวังเหวินหัว (王文華) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) เสียชีวิตหลังรักษาตัวที่ รพ.กรุงเทพ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นั้น รวมอายุได้ 88 ปีนั้น
        ล่าสุดเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) เป็นวันแรกที่ญาติและมิตรสหายได้จัดพิธีคำนับศพที่วัดธาตุทอง ใน กทม. และเปิดให้สาธารณชนแสดงความไว้อาลัย โดยวันแรกของพิธีศพ นอกจากญาติมิตรของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ให้ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เชิญพวงหรีดพระราชทานมาแสดงความไว้อาลัยด้วย
         เช่นเดียวกับ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ซึ่งในสมัยที่ยังมียศเป็นร้อยเอก เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทเจรจาสันติภาพกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) ก็เดินทางมาร่วมคำนับศพด้วย
        นอกจากนี้ ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และอดีตสมาชิก พคท. ส่วนหนึ่งได้เดินทางมาคำนับศพด้วย โดยพวงหรีดได้เขียนไว้อาลัยว่า "คารวะแด่สหายร่วมรบ" นอกจากนี้พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยได้ส่งพวงหรีดมาไว้อาลัยด้วย
นอกจากนี้อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และญาติมิตรได้เดินทางมาร่วมคำนับศพ และส่งพวงหรีดมาแสดงความไว้อาลัยจำนวนมาก
         เกิดที่รัฐเประ และการต่อสู้กับญี่ปุ่น อังกฤษ และรัฐบาลมาเลเซีย
        สำหรับ เฉิน ผิง ที่ทางการไทยออกเสียงว่า “จีน เป็ง” นั้นเกิดเมื่อปี 2467 ที่เซเตียวัน รัฐเประ ในมาเลเซีย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมบริติช มลายา เติบโตมาจากครอบครัวช่างซ่อมจักรยาน และเครื่องยนต์ เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างแข็งขันมาตั้งแต่เด็ก สนใจแนวคิดของซุน ยัด เซ็น ก่อนที่จะหันมาศึกษาแนวคิดคอมมิวนิสต์ ในปี 2483 ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา
         และต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เข้าร่วมกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านญี่ปุ่น (MPAJA) เพื่อต่อต้านการยึดครองคาบสมุทรมลายาของญี่ปุ่น โดย เฉิน ผิง มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานระหว่าง MPAJA และกองทัพของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
         และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 MPAJA แปรสภาพเป็นกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เฉิน ผิงได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค อย่างไรก็ตามเจ้าอาณานิคมบริติชมลายาถือว่าพรรคนี้เป็นพรรคนอกกฎหมายบทบาทของพรรคในการเรียกร้องเอกราชและต่อต้านเจ้าอาณานิคมบริติชมลายา
        ในเดือนมิถุนายนปี 2491 ผู้ปกครองอาณานิคมบริติชมลายาได้ประกาศภาวะฉุกเฉินหลังจากสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้ฆ่าชาวยุโรปสามคนที่เป็นผู้จัดการไร่เพาะปลูกที่สุไหง สิปุต รัฐเประ และมีการทำสงครามเพื่อปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา
        โดยอังกฤษเลือกที่จะมอบเอกราชให้กับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในนาม “แนวร่วมแห่งชาติ” (Barisan Nasional - BN) ที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองของชาวมลายู อินเดีย และจีน นอกจากนี้เจรจาทางการเมืองระหว่างแนวร่วมแห่งชาติ (BN) และพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ก็ประสบความล้มเหลว ทำให้หลังจากที่มาเลเซียได้รับเอกราชในปี 2500 ก็ต้องต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาต่อมาจนถึงต้นทศวรรษที่ 2530
         ทั้งนี้ผลจากสงครามกลางเมืองอันยาวนาน ทำให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในมาเลเซียยาวถึง 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2491 จนกระทั่งมีการยกเลิกไม่นานหลังได้รับเอกราช ด้านสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายารวมทั้ง เฉิน ผิง ได้ล่าถอยมาตั้งฐานบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ทางการไทยใช้เวลาหลายปีในการเจรจา จนในที่สุดมีการทำสนธิสัญญาสันติภาพที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 โดยพรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้ตัดสินใจยอมวางอาวุธ ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายสิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สนธิสัญญาสันติภาพ และการรอวันกลับบ้าน
        หลังทำสนธิสัญญาสันติภาพที่หาดใหญ่ เฉิน ผิง และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจำนวนมากยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเลเซีย ทำให้ต้องพำนักอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา โดยฉิน เผิง นั้นนอกจากจะอยู่ในประเทศไทยแล้ว เขายังมีโอกาสไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ด้วย
ในช่วงต้นปี 2540 เขาพยายามขออนุญาตเดินทางกลับมาเลเซีย แต่ถูกศาลสูงมาเลเซียปฏิเสธในปี 2548 และในปี 2551 เขาพยายามร้องต่อศาลเพื่อกลับประเทศมาเลเซียอีก แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต โดยอ้างว่าไม่มีเอกสารการเกิด
          นอกจากนี้ในปี 2549 มีผู้กำกับภาพยนตร์ชาวมาเลเซียผลิตภาพยนตร์เรื่อง “The Last Communist” เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และเฉิน ผิง แต่ถูกกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียสั่งห้ามฉาย ทั้งๆ ที่ในภาพยนตร์ดังกล่าวไม่มีฉากปรากฏตัวของเฉิน ผิงเลย
         ทั้งนี้โดยเฉิน ผิง พำนักอยู่ในกรุงเทพมหานครในช่วงสุดท้ายของชีวิต และในวันที่เฉิน ผิง เสียชีวิตตรงกับวัน "มาลาเซีย" (Hari Malaysia) ซึ่งเป็นวันรำลึกการรวมสิงคโปร์ รัฐซาบาห์ และรัฐซาราวัก เมื่อปี 2506 เข้ามาอยู่ในมาเลเซีย อย่างไรก็ตามกรณีของสิงคโปร์ ได้ถูกมาเลเซียขับออกไปในวันที่ 9 ส.ค. 2508
          สำหรับพิธีศพของ เฉิน ผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา จัดที่วัดธาตุทอง กทม. ระหว่างวันที่ 20 – 22 กันยายน เริ่มเวลา 17.00 น. ทุกวัน สำหรับพิธีฌาปนกิจ จะจัดในวันที่ 23 กันยายนนี้ เริ่มพิธีตั้งแต่เวลา 10.00 น.
         อนึ่ง นาจิป ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธไม่ยอมให้นำร่างของ เฉิน ผิง กลับมายังมาเลเซีย ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน อย่างอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน “ภาคีประชาชน” (PR) ไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี โดยบอกว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็คือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว นอกจากนี้ในพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง รองประธานพรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย (MCA) ก็เห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียควรอนุญาตให้นำร่างของเฉิน ผิง กลับมายังมาเลเซียได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น