วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

ยุทธการ ยกหิน ทุ่มใส่ "ขา" ตนเอง ยุทธการ ออเดิร์ฟ



        ที่เคยเห็นผ่านการเคลื่อนไหวของ "หน้ากากขาว" ปรากฏร่องรอยให้สัมผัสได้ผ่านการเคลื่อนไหวม็อบชาวสวนยางเมื่อวันที่ 3 กันยายน  เพียงแต่ด้วย "ปริมาณ" ที่มากกว่า

      การเคลื่อนไหวของ "หน้ากากขาว" ต้องการกรอบให้สื่อพวกเดียวกันสามารถพาดหัวในวันรุ่งขึ้นได้ว่า "ต้านปูทั่วโลก" จึงไม่เพียงแต่จะมีที่ภาคใต้อันเป็นเขตอิทธิพล หากแต่ยังมีที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแม้จำนวนจะหร็อมแหร็ม และยังอุตส่าห์มีที่ "ต่างประเทศ"

       แม้ในต่างประเทศจะดำเนินไปในลักษณะหย่อม 2 หย่อม กระจุก 1 ที่ออสเตรเลีย กระจุก 1 ที่ฮ่องกง แต่พาดหัวได้ "ต้านปูทั่วโลก"

      คำถามที่เสนอเข้ามาต่อการเคลื่อนไหวของม็อบเกษตรกรชาวสวนยางผนวกเข้ากับสวนปาล์มเด่นชัดยิ่งว่าถือภาคใต้เป็นศูนย์กลาง และแวดล้อมด้วยระยอง ถือว่า "นกหวีด" เป่าแล้วหรือยัง หากประเมินผ่าพาดหัวข่าวประเภท "ปิดถนนขึงพืดรัฐบาล/ม็อบยางใต้-ตะวันออกลุกฮือ" ประสานเข้ากับ "7 จังหวัดลุกฮือปิดถนน/โคออป วิ่งกรูยึดสายเอเชีย"  ก็เห็นภาพแห่งการจลาจล

         ยิ่งรับรู้การเดินทางเข้าไปในที่ชุมนุมของ นายเชน เทือกสุบรรณ ยิ่งรับรู้การขึ้นเวทีปราศรัยของ นายสาคร เกี่ยวข้อง ที่กระบี่ การเป็นกำลังหลักของ นายจุมพล จุลใส ที่ชุมพร
ก็ยิ่งไม่แปลกใจ กระนั้น เพียง 1 วันเท่านั้น ความขึงขังของการชุมนุมก็เริ่มรวนเร เห็นได้จากการประกาศยุติที่หน้าโคออป  แต่บางส่วนกลับไม่ยอมรับมติ "ผู้นำ" เห็นได้จากการยุติบทบาทอย่างรวดเร็วของการชุมนุมที่ระยอง เห็นได้จากการยอมรับข้อต่อรองของรัฐบาลที่ร่อนพิบูลย์ ที่นาดี นครศรีธรรมราช ก็เริ่มไม่แน่ใจว่าจะเป็นการเป่า "นกหวีด"

        เพราะหากมองทางด้านรัฐบาลก็ยังยืนมาตรการช่วยเหลือทางด้านปัจจัยการผลิตเป็นหลักด้วยการอนุมัติงบกลางวงเงิน 6,528 ล้านบาท พุ่งเป้าไปยังเกษตรกรผู้ปลูกยางที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10 ไร่ลงมา ในวงเงิน 1,260 บาทต่อไร่ ไม่มีการแทรกแซงราคา  ต่อเมื่อสัมผัสกับบทสรุปจาก นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยที่ว่า สินค้าที่ส่งไปภาคใต้ลดลงร้อยละ 5 ในทางกลับกัน สินค้าอาหารทะเลที่ส่งจากภาคใต้มา กทม.และภาคอื่นๆ ก็หายไปร้อยละ 60  ผลก็คือ เกิดการขาดแคลนสินค้าอุปโภค บริโภค ในร้านโชห่วยและมินิมาร์ตภาคใต้บางพื้นที่ ขณะเดียวกัน ราคาอาหารทะเลจะเริ่มสูงขึ้น

      ความเป็นจริงนี้เป็นผลสะเทือนจากการชุมนุมและปิดถนน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมเป็นต้นมา ไม่เพียงเป็นความเดือดร้อนของผู้สัญจรโดยทั่วไป หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ ความเดือดร้อนที่เริ่มส่งผลตกกระทบต่อชาวภาคใต้ด้วยกันมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ อันเท่ากับเป็นการกระทำอย่างที่สำนวนจีนสรุปว่า ยกก้อนหินทุ่มขาตนเอง
เจ็บกันถ้วนทั่ว เดือดร้อนกันถ้วนทั่ว น่าสนใจก็ตรงที่ปฏิบัติการอันเห็นได้จากเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ควนหนองหงษ์ และบ้านตูล กระทั่งเห็นได้จากบริเวณหน้าโคออปจึงยังไม่ใช่ "เมนคอร์ส" เป็นเพียง "ออเดิร์ฟ" เป็น "ออเดิร์ฟ" จาก "ผู้ดี"

         ถามว่าการชุมนุมเป็นปัญหาทาง "การเมือง" หรือว่าเป็นปัญหาทาง "เศรษฐกิจ" ตอบได้เลยว่าแม้จะเป็นปัญหาทาง "เศรษฐกิจ" แต่สัมพันธ์ยึดโยงและการแสดงออกดำเนินไปในลักษณะทาง "การเมือง" และเป็นการเมืองของพรรคการเมืองใดน่าศึกษาน่าสำรวจ

สำรวจผ่านกระสวน "อนาธิปัตย์"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น