เรื่องขี้ปะติ๋ว เสียงของชายหนุ่มที่ถูกบีบคอหน้าคูหาเลือกตั้ง
ภาพของชายหนุ่มถูกบีบคอจนหน้าเหยเกเพียงเพราะต้องการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่หน่วยเลือกตั้ง โรงเรียนเซนต์จอห์นโปลีเทคนิค ซอยวิภาวดี 32 เขตจตุจักร ถูกแชร์ว่อนโซเชียล มีเดีย เมื่อวานนี้ (26 ม.ค.) ภาพนี้นอกจากจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ยืนหยัดในหลักการของระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังถูกสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง The Wall street Journal. นำไปเผยแพร่ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกด้วย
กิตติ เอกแสงกุล คือ ชื่อและนามสกุลจริงของชายหนุ่มผู้นั้น
กิตติ ในวัย 40 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(บางมด) ปริญญาโท วิศวกรรม อุตสาหการ ธรรมศาสตร์ ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัว ให้สัมภาษณ์กับทีมงานประชาชาติธุรกิจออนไลน์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองถือเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์การเมืองในอดีตอย่าง 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 ที่คนไทยต้องตระหนักถึงความยากลำบากกว่าจะได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย
"ที่ผ่านมามีแต่เผด็จการทหาร คนที่จะมาปกครองประเทศนี้ต้องมาด้วยกระสุนปืน ด้วยกำลังทหาร บรรพบุรุษเราเสียชีวิตทั้ง 14 ตุลา และ 6 ตุลา ทั้งนักศึกษาที่ตายไป เขาอยากได้ระบอบการปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง มีคนตายเรื่องนี้มากมาย แล้ววันนี้คุณเห็นคนบ้าๆ บอๆ มายืนกั้นไม่ให้คุณเข้าไป แล้วคุณจะยอมแล้วเดินกลับบ้านนอนเฉยๆ แล้วบอกว่าทำเพื่อประเทศไทยเหรอ ผมอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับจิตสำนึกของสังคมไทยเกี่ยวกับประชาธิปไตยและการลงคะแนนเสียงมากกว่า คือ ผมอยากบอกกับทุกคนว่าผมตระหนักในสิทธิของผมในการปกครองประเทศนี้"
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กิตติ เล่าว่า ต้องเดินฝ่ากลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ ต้องเดินผ่านการ์ด และผู้ชุมนุม ที่เข้ามาถามว่าจะไปไหน เมื่อตอบว่าจะไปเลือกตั้งก็กันไม่ให้เข้าไป จึงได้พยายามพูดจาว่านี่คือสิทธิ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอม พร้อมกับยกเหตุผลมากมายมาอธิบายว่าทำไมถึงไม่ควรไปเลือกตั้ง
"เขาก็ไหว้บอกว่า ขอร้องเถอะพี่ อย่าเลือกตั้ง อย่ามาเลือกตั้ง บอกว่าถ้าผมเลือกตั้งแผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ผมยังจะมาเลือกอีกเหรอ ผมก็บอกว่า ผมจะใช้สิทธิของผม จะเข้าไป ผมก็ดันทุรังแล้วก็โชว์ใบเลือกตั้ง บอกว่าผมขอเลือกตั้งล่วงหน้า ผมมีธุระวันที่ 2 กุมภา ผมไม่สะดวก เขาก็กันไม่ให้ผมเข้าไป แล้วพอผมโชว์ใบเลือกตั้งล่วงหน้า ก็แห่กันมาใหญ่เลย ทีนี้เป็นป้าๆ ละ ผู้หญิงบางคนมาบอกผมว่าให้สงสารหนูเถอะ ถ้าพี่ไปเลือกตั้งหนูจะไม่ได้เงินจำนำข้าว หนูให้พี่เข้าไปไม่ได้ คือเหตุผลที่เขาพูดมันฟังดูแล้วเข้าท่าไหมล่ะ ส่วนที่โดนบีบคอน่าจะเป็นรอบสอง คือผมก็อยากจะเข้าไป จะยอมแพ้ได้ยังไง ประวัติศาสตร์มีคนตายมากแล้ว แล้วคุณโดนนิดหน่อยจะเป็นไร"
แม้ว่าภาพโดนบีบคอจะดูรุนแรง แต่กิตติบอกว่า เป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว
"การที่ผมเจ็บปวดตรงนี้มันนิดเดียวเอง ผมไม่ใช่ว่าเข้าโรงพยาบาลหรือถูกเขาทำร้ายอะไรมากมาย แต่สิ่งที่ผมอยากบอกคือ เราอย่ายอมแพ้ให้กับความไม่ถูกต้อง ที่คนบางกลุ่มมาขัดขวางไม่ให้คุณมีโอกาสแสดงสิทธิในการปกครองตรงนี้ คุณยอมได้อย่างไร"
แม้ว่าสุดท้ายแล้ว กิตติ จะไม่สามารถใช้สิทธิที่ตนมี แต่เขาย้ำว่ายังไม่หมดหวัง
"ผมเกือบโดนกระทืบตาย แถมยังมีคนขับเบ๊นซ์มาปาดหน้ากล่าวหาว่าผมเป็นตำรวจ จะเอาตัวไปสอบสวนอีก แต่มันไม่มีหมดหวังหรอก ที่ผมให้สัมภาษณ์นี้ เพราะต้องการจะจุดประกายว่าคุณอย่ายอมแพ้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ผิดกฎหมาย คุณจะเดินกลับบ้านไปแล้วก็นอนอยู่บ้าน แล้วบอกว่ากูไปมาแล้ว แต่เห็นคนมากั้น แล้วกูก็เดินกลับอย่างนี้เหรอ คือคนไทยไม่ได้ตระหนักถึงประชาธิปไตย สิทธิที่เขามี เรามีอำนาจในการปกครอง ตอนนี้ทุกคนมีสิทธิในการปกครอง คุณอยากจะเลือกตั้ง คุณอยากจะเป็นผู้ปกครองประเทศนี้ คุณก็ไปเป็นส.ส.มาเลือกตั้ง นี่คือความเท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตย และผมต้องการจะบอกว่า ถ้าคุณไม่ชอบรัฐบาลนี้ ไม่ชอบตระกูลนี้ คุณก็ไม่ต้องเลือกเขา คุณก็ไปกาโนโหวต ทำให้เขารู้สิ หรือ เลือกพรรคอื่นสิครับ แต่จะมาบิดกั้นไม่ให้ผมเลือกไม่ได้ คุณไม่ให้โอกาสคนอื่นพูดเลย คุณรู้ได้ยังไงว่าผมจะเลือกอะไร คือ คนไทยไม่ได้ตระหนักในอดีตของตัวเองว่ากว่าเราจะฝ่าฟันมาได้การเลือกตั้งวันนี้มันยากเย็นแสนเข็ญ"
-มองว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไรเทียบกับความขัดแย้งในอดีตอย่าง14ตุลา
ยุคนี้เป็นยุคประชาธิปไตยที่ดีนะความขัดแย้งในเชิงรัฐศาสตร์เขาก็พูดว่าสังคมที่มีความขัดแย้งว่าดีนะไปอ่านดู มาเคียเวลลีก็บอกเลยว่า สังคมโรมันก็มีการทะเลาะเบาะแว้งตลอดเวลา สังคมที่ดีต้องมีการทะเลาะเบาะแว้ง เพราะมันต้องมีการตรวจสอบ คุณโกงก็โดนโวยวาย ด่าว่าด่าทอ คือมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าคุณต้องอยู่ในกรอบกติกาสิ คุณทำผิดกฎหมายชาวบ้านเดือดร้อนไปหมด แล้วผมบอกว่าไม่ชอบคุณจะยอมกลับไหม ก็ไม่กลับ แล้วคุณยังมาปิดล้อมไม่ให้ผมเลือกตั้งอีก
คือยุค 14 ตุลา มันเป็นเผด็จการ รัฐบาลทหารอยู่แล้ว คุณไม่มีสิทธิบอกว่าไม่เอา ไม่ชอบ รู้จักนั่งยางไหม คือ ใครไม่ชอบก็หิ้วปีกคุณไป แล้วไม่มีกฎหมายคุ้มครองคุณ คุณต้องเงียบและปิดปากอย่างเดียว ยุคนั้นน่ะ แต่ยุคนี้มันไม่ใช่ คุณจะด่ารัฐบาลออกเคเบิ้ลทีวีอะไรก็ได้ คุณไปเดินขบวนไปบอกชาวบ้านทั่วประเทศว่ามันไม่ดี มันโกงยังไงก็ได้ถูกไหม แล้วอย่างนี้จะไม่ดีตรงไหน
ถ้าบอกว่ายิ่งลักษณ์โกงไม่แนบเนียนคุณก็ด่าได้ คุณก็ไล่เขาได้ นี่เขาก็ยุบสภาไป เพราะคุณไปแฉว่าเขาผิดยังไงใช่ไหม นี่คือประชาธิปไตย นี่มันเป็นสิ่งสวยงาม ผมไม่ได้มองว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งเลว ผมยอมรับได้นะที่จะมาปิดถนน แต่นี่เล่นไปกันไม่ให้คนมาเลือกตั้ง ที่เป็นสิทธิพื้นฐานการปกครอง
แล้วได้ฟังไหมบลูสกายที่เขาจะเอาคนทุกภาคส่วนมาให้ความเห็นเกี่ยวกับปฏิรูปการเมือง แล้วแค่ผมจะมาแสดงความคิดเห็นด้วยการเลือกตั้งก็ไม่เอา คุณไม่ฟังผม แล้วปฏิรูปที่เขาบอกคุณรับกันได้เหรอ อย่างผมถ้าคนรอบข้างบอกว่าโง่ เราก็ต้องยืนหยัดบนความถูกต้อง ความชอบธรรมเราต้องยืนหยัดให้เห็น ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งแพ้ คุณก็ไม่ลงสมัคร ไม่ไปเลือกตั้งอย่างนี้เหรอ เราต้องยืนหยัดไม่ท้อแท้ อย่าสิ้นหวัง คือ ถึงแม้ไม่มีใครเห็นด้วยกับผมที่ทำ ก็ต้องยืนหยัดความถูกต้อง อย่าเดินหนีแล้วไม่ทำอะไร
"ลองเขียนถามคนอ่านดูสิครับว่า แค่ผู้ชายคนหนึ่งจะเดินเข้าไปคูหาเลือกตั้ง มันผิดตรงไหน?" เสียงคำถามดังก้อง ทว่า..คำตอบจะอยู่ในสายลมหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น