พรรคการเมืองเสนอ กกต.จัดเลือกตั้งให้ไว-อภิสิทธิ์ไม่ร่วม อ้างม่ปลอดภัย
| |
![]() 58 พรรคร่วมหารือ กกต.เรื่องวันเลือกตั้ง โดยเสนอให้จัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเพื่อรักษาระบอบ ปชต. ด้าน 'พุทธะอิสระ' พาคนมาค้าน ขอไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูป ส่วนอภิสิทธิ์เขียนใบลา ไม่มาเพราะหวั่นความปลอดภัย 'สมชัย' ไม่รับปากเลือกตั้งแล้วจะเปิดสภาได้ทันทีหรือไม่
22 เม.ย. 2557 - ตามที่ กกต. นัดหารือพรรคการเมืองเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ในเวลา 14.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยจะมี 58 พรรคการเมืองเข้าร่วม และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ได้ลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ก็จะเข้าร่วมด้วย โดยขอให้ทุกพรรคที่มาประชุมอย่าทะเลาะกัน ช่วยกันหาคำตอบให้ประเทศนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
อภิสิทธิ์แจ้ง กกต. ขอยกเลิกเข้าร่วมประชุมเพราะเกรงเรื่องความปลอดภัย
![]()
ล่าสุด เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ที่ ปชป. 57900867 ลงวันที่ 22 เม.ย. เรื่อง "การประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้แทนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง" เรียนประธาน กกต. อ้างถึง หนังสือด่วนที่สุดที่ ลต.0401/ว739 ลงวันที่ 10 เม.ย. 57 มีเนื้อหาระบุว่า
"ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ตอบรับการเข้าร่วมประชุมหารือพรรคการเมืองเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ตามหนังสือเชิญของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น ต่อมามีข้อมูลในเชิงลึกว่า อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการประชุมดังกล่าว และหลังจากได้หารือเป็นการภายในกับคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว และมีความเห็นร่วมกันว่า การเข้าร่วมประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจริง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้แทน จึงไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ในกระบวนการพิจารณา ประเด็นการกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป โดยพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นในเบื้องต้นว่า วันเลือกตั้งที่เหมาะสมจะกำหนดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ทุกฝ่ายได้ร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ของบ้านเมือง อันจะเป็นหลักประกันว่า การจัดการเลือกตั้ง จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประสบความสำเร็จ เสรี สุจริต และเที่ยงธรรม ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันที่จะมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ และฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการดังกล่าว
ในการนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ขอความอนุเคราะห์จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้โปรดจัดส่งรายงาน การหารือและแสดงความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในวันนี้ให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อไป ขอแสดงความนับถือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์"
ทั้งนี้ในเฟซบุ๊คของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการโพสต์ภาพจดหมายดังกล่าวด้วย พร้อมพิมพ์ข้อความว่า "คงต้องหาโอกาสอื่นต่อไป จะไม่ลดละความพยายามครับ"
กกต. ยืนยันไม่มีการถ่ายทอดสดเพราะจะทำให้คุมการประชุมลำบาก-เกิดการฟ้องร้อง
ขณะเดียวกันก่อนการประชุม สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงว่าที่ประชุมมีมติไม่อนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดการหารือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาการนัดหารือระหว่าง กกต. กับหัวหน้าหรือผู้แทนจากพรรคการเมืองไม่เคยให้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ การถ่ายทอดสดอาจทำให้การควบคุมการประชุมเป็นไปอย่างยากลำบาก และในการประชุมฝ่ายต่างๆ อาจมีการโต้แย้งด้วยอารมณ์ และคำพูดที่หากมีการเผยแพร่ไปแล้วอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีอาญาได้ ทั้งนี้ กกต.ได้อนุญาตให้สื่่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังได้ตลอดการประชุม
ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย สำนักงาน กกต.ได้ประสานหน่วยงานความมั่นคง ทหารและตำรวจ นำโดยกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ให้ช่วยดูแลความเรียบร้อย โดยในการเข้าพื้นที่อาคาร เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบบุคคลเข้าออก และตรวจค้นไม่ให้มีการพกพาอาวุธอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้าย
พุทธะอิสระพามวลชนแจ้งวัฒนะมาติดป้ายไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูป
ในเวลาต่อมา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ก่อนเริ่มการประชุมในเวลา 14.00 น. มีเหตุผู้ชุมนุม กปปส. ฝ่าย "พุทธะอิสระ" ได้นำมวลชนเคลื่อนมาจาก ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อมาคัดค้านการประชุมระหว่าง กกต.และผู้แทนพรรคการเมือง โดยนำป้ายผ้าคำว่า "คนไทยจะไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูป" มามอบให้กับ กกต. ซึ่งมีนายภุชงค์ นุตตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เป็นผู้แทนรับมอบ
![]()
โดยพระพุทธะอิสระ กล่าวว่า กกต.ต้องนำป้ายผ้าดังกล่าวไปติดตั้งภายในห้องประชุม มิเช่นนั้นจะไม่เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ ขณะเดียวกัน กกต.ได้นำป้ายผ้าดังกล่าวติดภายในห้องประชุมแล้ว เพื่อให้มวลชนเคลื่อนกลับ และเพื่อให้การประชุมสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ขณะที่นายภุชงค์ เปิดเผยว่าพรรคประชาธิปัตย์ยกเลิกไม่เข้าร่วมประชุมแล้ว เนื่องจากเกรงในเรื่องปัญหาความปลอดภัย ส่วนตัวแทนพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทยและพรรครักษ์สันติ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งรูปแบบการพูดคุยนั้น กกต.จะเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคได้สะท้อนความคิดเห็นเพียงพรรคละ 1 นาทีครึ่ง พร้อมทั้งแบ่งช่วงเวลาให้ฝ่ายที่เห็นควรจัดการเลือกตั้งและฝ่ายที่ต้องการให้ชะลอการเลือกตั้ง แสดงความคิดเห็นฝ่ายละ 30 นาที ก่อนนำความเห็นจากทุกพรรคการเมืองไปหารือให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง
พรรคการเมืองส่วนใหญ่สนับสนุนให้รีบเลือกตั้ง 'สมชัย' ไม่รับปากจัดเลือกตั้งแล้วจะเปิดสภาได้หรือไม่
![]()
ส่วนบรรยากาศการประชุมนั้น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ได้กล่าวเปิดการประชุม ว่า ผลการหารือจะเป็นทางออกของปัญหา และจะตอบโจทย์ประเทศได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ กกต. ได้เสนอแนวทางจัดการเลือกตั้ง 3 แนวทางคือ
แนวทางที่ 1 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 20 กรกฎาคม แนวทางที่ 2 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 17 สิงหาคม และแนวทางที่ 3 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 กันยายน 2557
จากนั้นตัวแทนพรรคการเมืองได้เริ่มการอภิปรายและแสดงความคิดเห็น โดยนายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นด้วยที่จะให้จัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 20 กรกฎาคม และควรจัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย พร้อมเรียกร้องให้ กกต. วางแนวทางแก้ไขปัญหาการขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้ง ส่วนตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่น ๆ แสดงความเห็น พร้อมจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และเห็นด้วยกับแนวทางจัดการเลือกตั้งของ กกต. แต่ขอให้ กกต. มีหลักประกันว่า การเลือกตั้งตามแนวทางดังกล่าว จะสำเร็จและไม่มีเหตุให้การเลือกตั้งต้องขัดรัฐธรรมนูญอีก
ด้านตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็ก เสนอให้จัดเลือกตั้งวันที่ 25 มิถุนายน 2557 และขอให้ กกต. กำหนดสถานที่รับสมัครโดยใช้เป็นสถานที่ของกองทัพ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย
![]()
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ยืนยันว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญในประเด็มเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างแน่นอน เพราะ กกต. ได้วางกลไกการรับสมัครให้ทุกเขตมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหากเขตเลือกตั้งใดมีปัญหาเรื่องการขัดขวางการลงคะแนนเลือกตั้ง กกต. จะจัดการเลือกตั้งซ้ำในเขตดังกล่าวในกรอบเวลา 180 วัน แต่ทั้งนี้ กกต. ไม่สามารถยืนยันได้ว่า หลังการเลือกตั้งจะมีจำนวน ส.ส. ครบร้อยละ 95 เพื่อให้เปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ เนื่องจากการประกาศจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ กกต. ต้องคำนวนคะแนนจากทุกหน่วยเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ภายหลังใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมไม่ได้มีการลงมติ โดย ประธาน กกต. ระบุว่า จะนำความเห็นและข้อเสนอจากทุกพรรคการเมือง ไปสรุปและหารือในที่ประชุม กกต. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เหมาะสม และนำไปหารือกับรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ยอมรับว่า ส่วนใหญ่พรรคการเมืองสนับสนุนให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 กรกฎาคม 2557 ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า หากสถานการณ์สงบ ก็สามารถเลื่อนวันจัดการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นได้
| |
http://www.redusala.blogspot.com/
|
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557
พรรคการเมืองเสนอ กกต.จัดเลือกตั้งให้ไว-อภิสิทธิ์ไม่ร่วมอ้างไม่ปลอดภัย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น