รองเสนาธิการทหารบก ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ ถึงสถานการณ์ของประเทศไทย และกรณีที่กองทัพเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง รวมถึงจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
29 พ.ค.57 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ที่ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสนาธิการทหารบก ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ ถึงสถานการณ์ของประเทศไทย และกรณีที่กองทัพเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง รวมถึงจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทั้งนี้การชี้แจงสื่อต่างชาติไม่อนุญาตให้สื่อไทยเข้าร่วมรับฟัง
พล.ท.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า ประเทศไทยมีความขัดแย้งมานานกว่า 10 ปี และกระจายหลายพื้นที่ โดยมีมวลชน 2 ฝ่ายที่พร้อมจะปะทะกันเพื่อช่วยเหลือฝ่ายที่ตนสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด ไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลาย ซึ่งทางทหารก็ยังพยายามแก้ไขด้วยการเชิญแกนนำของแต่ละฝ่ายมาพูดคุยกันโดยตรง แต่ไม่เป็นผล รวมถึงรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้เพราะมีอำนาจจำกัด ขณะเดียวกัน เราสามารถจับกุมผู้สะสมอาวุธสงครามจำนวนมากได้ที่จ.ขอนแก่น และลพบุรี เพื่อเตรียมต่อสู้กัน หน่วยงานความมั่นคงจึงไม่สามารถปล่อยให้มีการปะทะกัน เพราะแม้จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ก็จะเกิดสงครามทั่วประเทศตามมา คล้ายกับประเทศซีเรีย ลิเบีย หรืออิรัก ซึ่งเราเชื่อว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น กองทัพทราบดีว่าการควบคุมอำนาจการบริหารแทนรัฐบาลนั้น เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และทำให้ถูกตั้งข้อหากบฏได้ แต่เราได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เพราะทนไม่ได้ที่จะเห็นความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบกับด้านต่าง ๆ กองทัพจึงต้องเสียสละออกมาทำเรื่องนี้
"กองทัพไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะออกมายึดอำนาจ เพราะเรายังมีภารกิจต้องทำอีกมาก แต่เราจำเป็นต้องยุติสถานการณ์ มิฉะนั้นจะทำให้ประเทศย่ำแย่ ไม่ปลอดภัย คนไม่เคารพกฎหมาย และออกมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่เชื่อรัฐบาล ดังนั้นสิ่งที่กองทัพทำไปจะช่วยยุติปัญหาและทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ ขอยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ตอนนี้ขอให้คนที่ยังออกมาประท้วง กลับบ้านไปก่อน”พล.ท.ฉัตรเฉลิม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าไทยจะกลับมาใช้รัฐธรรมนูญได้เมื่อใด และจะมีโรดแม็ปแก้ไขปัญหาเป็นอย่างไร พล.ท.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคสช.เคยแถลงถึงแผนงานและการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ ทั้งนี้ไทยมีความขัดแย้งเกือบ 10 ปี และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา มีผลเป็นโมฆะนั้น เป็นเพราะฝ่ายที่ต่อต้านการเลือกตั้งออกมาขัดขวาง ดังนั้นจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างไรถ้าประชาชนยังขัดแย้งกัน แม้มีบางคนเสนอว่าให้มีการเลือกตั้งขณะที่ยังประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ตนขอถามว่าต่างประเทศยอมรับการเลือกตั้งท่ามกลางการใช้กฎอัยการศึกว่าเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ได้หรือไม่ ดังนั้นในระยะแรก เราต้องทำให้ประเทศสงบ และประชาชนมองเห็นถึงผลประโยชน์ของชาติ แล้วจึงมีการเลือกตั้งตามมา เพื่อให้ประชาชนเลือกฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุน จึงถือเป็นการเลือกตั้งที่ประชาคมโลกยอมรับ
ผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการของกองทัพที่ให้เป็นไปตามโรดแม็ป พล.ท.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น โดยกองทัพยืนยันว่าโรงแม็ปที่จัดทำขึ้นเพื่อจัดการปัญหาให้ประเทศสงบ
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวต่างประเทศพยายามสอบถามเพื่อขอความมั่นใจจากกองทัพว่าการดำเนินการของกองทัพจะนำประเทศกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้จริง
ภายหลังการบรรยายสรุป นายเสข แถลงว่า การชี้แจงต่อสื่อต่างประเทศวันนี้ มุ่งสร้างความเข้าใจและให้ข้อเท็จจริงมากกว่าให้สื่อไปวิเคราะห์เอง รวมทั้ง คสช. มีความจำเป็นที่จะดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากต้องการปฏิรูปเพื่อสร้างบรรยากาศความปรองดอง เพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปนำไปสู่การเลือกตั้งโดยที่สื่อมีสิทธิเสรีภาพรายงานข่าวได้ตามปกติ และยืนยันว่าคสช. ไม่มีนโยบายปิดเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และแอพพิเคชั่นไลน์
นายเสข กล่าวอีกว่า ในการชี้แจงครั้งนี้ ยังได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเชิญบุคคลเข้ารายงานตัว ก็ไม่มีใครถูกควบคุมตัวในบ้านพักเกิน 5 วัน ขณะที่กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้เดินทางกลับในวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ไปรายงานตัว
เมื่อถามถึงกรณีที่ คสช.มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศไปดำเนินคดีกับนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชาวต่างชาติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายเสข กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจากทางกองทัพ ส่วนการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศยังเหมือนเป็นปกติ โดยจะใช้โอกาสจะต้องเข้าร่วมประชุมความร่วมมือในเวทีต่าง ๆ ในการชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ต่างชาติเกิดความเชื่อมั่น
นายเสข ยังกล่าวถึงกรณีที่นานาประเทศออกคำเตือนหรือคำแนะนำการเดินทางมายังประเทศไทย ว่า ขณะนี้ มี 50 ประเทศได้ออกคำแนะนำเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งในจำนวนนี้ มี 39 ประเทศออกแถลงการณ์เป็นห่วงสถานการณ์ในไทย และ มี 17 ประเทศออกประกาศเตือนให้หลีกเลี่ยงเดินทางมาประเทศไทย โดยมีสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวที่ออกมาตรการตอบโต้ทางการทหาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น