วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บทวิเคราะห์: รัฐประหารแนวไซเบอร์ของไทย


BANGKOK, THAILAND - MAY 23: Thai police and army soldiers stand guard outside a military compound before former Prime Minister Yingluck Shinawatra arrives to report to Thailand's ruling military on May 23, 2014 in Bangkok, Thailand.The military summoned the entire former government and members of the politically influential Shinawatra family a day after it seized control in a bloodless coup. Thailand has seen months of unrest which has claimed at least 28 lives in political related violence. (Photo by Rufus Cox/Getty Images)


นับเป็นรัฐประหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในไทย สำหรับประเทศที่มีการรัฐประหารมากสุดแห่งหนึ่งในโลก กล่าวคือ 19 ครั้งนับแต่ปี 2475 รัฐประหารครั้งนี้ต้องใช้ความสามารถมากเหมือนกัน บรรดาชายในชุดเครื่องแบบพยายามปรับตัวให้ทันสมัย อาจเป็นเพราะพวกเขาได้บทเรียนจากนายเออโดกานของตุรกีที่บล็อกสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์และยูทิวส์ แต่ยังคงชนะเลือกตั้งได้ หรืออาจเป็นเพราะทหารไทยคาดการณ์ต่ำเกินไป เนื่องจากการสั่งปิดทวิตเตอร์โดยนายเบนอาลีของตูนีเซียกลับส่งผลสะท้อนในด้านลบ และยิ่งจุดชนวนให้มีการประท้วงมากขึ้น จะอย่างไรก็ดี ทหารไทยมีความคิดที่จะทำการรัฐประหารอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งบนพื้นดินและในโลกไซเบอร์
แต่ประการแรกสุด เหตุใดทหารจึงต้องยึดอำนาจ?
ทหารเห็นว่า หลังจากผ่านเหตุการณ์วุ่นวาย 7 เดือนในไทย ระหว่างกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล และดูท่าทางจะไม่สามารถ “ประนีประนอม” ระหว่างแกนนำทั้งสองฝ่ายได้ เป็นเหตุให้ทหารต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พวกเขาเริ่มจากประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม ตามด้วยการยึดอำนาจวันที่ 22 พฤษภาคม ปัจจุบันพลเอกประยุทธ์ทำหน้าที่ราวกับเป็นนายกฯ ชั่วคราว และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไป
นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของรัฐประหารในไทยที่ทหารใช้ประโยชน์จากสื่ออย่างมากมาย เป็นครั้งแรกที่มีการประกาศการใช้กฎอัยการศึกผ่านทวิตเตอร์ (@ArmyPR_News) และ Facebook (NCPO คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.) ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของรัฐบาลทหาร ซึ่งก็สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจาก 96% ของคนไทยที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตต่างเล่น Facebook เมื่อ คสช.ประกาศรัฐประหาร สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นช่องทางเผยแพร่ที่สำคัญ
แม้จะมีข่าวลือว่าจะมีการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตทั้งหมด แต่ทหารก็ไม่ได้ทำอย่างนั้นจริง อย่างไรก็ดี รัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม ยังคงเน้นการต่อสู้ในเชิงการควบคุมข้อมูลข่าวสาร เมื่อเปรียบเทียบกับการยึดอำนาจในปี 2549 และ 2534 ระบอบทหารในครั้งนี้ได้ใช้มาตรการรุนแรงกว่าเพื่อปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ทำให้รัฐประหารไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ว่า ใครควบคุมการบริหารประเทศ แต่ยังเป็นเรื่องที่ว่าใครมีอำนาจควบคุมสื่อ
แล้วการควบคุมข้อมูลข่าวสารยังทำได้ในยุคดิจิตัลหรือไม่?
สำหรับผู้นำทหาร การควบคุมสื่อแบบดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ วิทยุ ดาวเทียม หนังสือพิมพ์ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่า ไม่ต้องใช้ความฉลาดมากมาย ทหารเพียงแต่ประกาศกฎอัยการศึก สื่อไทยก็รู้แล้วว่าควรทำตัวอย่างไร อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ไม่ได้มีชื่อเสียงในด้านเสรีภาพของสื่อมากมายนัก ตามข้อมูลการจัดอันดับเสรีภาพสื่อขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ประเทศไทยอยู่ในอันดับประมาณ 130 จาก 175 ประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับรัฐเผด็จการอย่างซิมบับเว สื่อมวลชนของไทยคุ้นเคยกับการเซ็นเซอร์ตัวเอง และเมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจ พวกเขารู้ตัวดีว่า ควรหลีกห่างจากการรายงานประเด็น “การเมือง”  
แต่ คสช.ไม่ต้องการให้มีข้อผิดพลาดแม้แต่น้อย หลังประกาศกฎอัยการศึก (ก่อนหน้าจะทำรัฐประหาร) พวกเขาได้ออกคำสั่ง 19 ฉบับ โดยมี 6 ฉบับที่มุ่งควบคุมข้อมูลข่าวสารเป็นการเฉพาะ ทหารได้สั่งปิดรายการที่ออกอากาศทางวิทยุ เคเบิ้ลทีวี สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสั่งให้สื่อมวลชนเผยแพร่ซ้ำรายการที่ทหารอนุญาตเท่านั้น ส่วนคนไทยถูกสั่งให้อยู่กับบ้าน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ดูละครน้ำเน่าที่นิยมชมชอบในตอนกลางคืน เมื่อ 2-3 วันนี้เองที่มีการอนุญาตให้โทรทัศน์ 6 ช่องหลัก กลับมาเผยแพร่รายการตามปรกติได้ แต่ก็อยู่ใต้การควบคุมสอดส่องของรัฐบาลทหาร นอกจากสั่งห้ามไม่ให้รายการทีวีเผยแพร่ทัศนคติที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดในประเทศ ยังห้ามไม่ให้นำเสนอความเห็นของผู้ชม เป็นเหตุให้ผู้ชมไม่สามารถส่งข้อความสั้นหรือโทรศัพท์เข้ามาร่วมรายการได้
บทความในหนังสือพิมพ์ The Nation ตั้งคำถามกับทหารว่า จะให้ผู้อ่านคลิกไลค์ตัวอิโมติคอลได้หรือไม่ อย่างน้อยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถแสดงอารมณ์ได้ในทางอินเตอร์เน็ต แต่ไม่มีใครรู้ว่า เส้นแบ่งที่ทำได้อยู่ที่ไหน
สื่อต่างประเทศได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น CNN, Fox, CCTV, CNBC และ Bloomberg              ที่ถูกระบอบทหารสั่งห้ามไม่ให้รายงานข่าว CNN ยังคงส่งข่าวผ่านทวิตเตอร์ที่ @cnni ดูเหมือนพวกเขาจะสามารถเริ่มทำงานได้ตั้งแต่ 25 พ.ค. แต่ต้องไม่รายงานข้อมูลใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในไทย ทั้งไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์นักวิชาการเพื่อขอความเห็นใดๆ
แต่คนไทยบางคนยืดอกยอมรับการควบคุมเซ็นเซอร์มากขึ้นได้
บริษัท True Corporation ซึ่งเป็นบริษัทเคเบิ้ลทีวียักษ์ใหญ่ของไทย จัดทำบัญชีช่องรายการที่ไม่ได้ออกอากาศสำหรับลูกค้าที่กำลังกลัดกลุ้ม เพราะพวกเขาไม่เคยมีชีวิตที่ขาดโทรทัศน์มาก่อน มีรายงานข่าวว่า คนไทยบางคนที่เริ่มเบื่อกับการฟังเพลงทหารซ้ำๆ ซากๆ ได้ร้องเรียนไปยังเว็บบอร์ดที่มีชื่อเสียงอย่าง drama-addict ขอให้ทหารเปิดเพลงป็อบสมัยใหม่บ้าง คุณ Chawada lovelove โพสต์ข้อความว่า
“เราจ่ายภาษีเป็นเงินเดือนให้ทหารมาปกป้องเราไม่ให้ได้รับอันตราย แต่พวกคุณกลับเอาสื่อของพวกเราไป เราก็ยังพอทนได้!!! แต่นี่คุณเล่นออกอากาศแต่เพลงโบราณซ้ำๆ ซากๆ เป็นเพลงที่เราไม่ได้ชอบเลย ได้โปรดเถิดท่าน กรุณาเปิดเพลงอย่างอื่นบ้างได้ไหม เราเบื่อแล้ว”
แต่การควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ดูเหมือนจะยากกว่าที่คิด ถึงอย่างนั้นทหารยังคงพยายามและพยายามมากขึ้น ทาง คสช.ได้เรียกตัวผู้บริหารบริษัทอินเตอร์เน็ต 51 แห่งในไทยมาประชุม และ “ขอ” ความร่วมมือให้พวกเขาติดตามสอดส่องและรายงานพฤติการณ์ที่ผิดปกติทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งหมายรวมถึงการกระทำใด ๆ ที่ทำลายความสามัคคี และทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม เป็นคำนิยามอย่างกว้างๆ มีการกำหนดให้บริษัทอินเตอร์เน็ตต้องส่งรายชื่อ URL ที่ต้องทำการบล็อกภายในหนึ่งชั่วโมงไปยังกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ หน่วยงานตำรวจด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีรายงานว่ามีการปิดกั้นเว็บไซต์กว่า 100 แห่งตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นต้นมา
การสั่งห้ามออกอากาศของสื่อระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค. ทำให้คนหันมาใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น การที่โทรทัศน์ไม่นำเสนอ “ข่าวสาร” และข้อมูลในช่วงเวลาวิกฤตหลังจากประกาศใช้กฎอัยการศึก เป็นเหตุให้ทั้งคนทั่วไปและผู้สื่อข่าวต้องหันไปหาข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์แทน
จากการวิเคราะห์โดย Google Analytics คำที่มีการเสิร์ชกันมากสุดในไทยผ่านเว็บไซต์ google.co.th (ซึ่งเป็นเว็บไซต์อันดับหนึ่งของไทย) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้แก่ 1) “Facebook” 2) “movie” 3) “music” 4) “news” และ 5) “YouTube” โดยมีคำค้นที่แพร่หลายไม่ว่าจะเป็น  “กฎอัยการศึก” “ปฏิวัติ” และ “รัฐประหาร”

ข้อมูลจาก Google Trends
คนไทยยังส่งทวิตกันมากมายโดยใช้ hashtag #รัฐประหาร (#coup) มากถึง 10,724 ครั้ง คิดเป็นจำนวนผู้ติดตามทางทวิตเตอร์เกือบ 8.9 ล้านคนระหว่างวันที่ 21-24 พฤษภาคมหลังจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก

ข้อมูลจาก Keyhole
ความหวาดกลัวดูจะเพิ่มมากขึ้นทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เนื่องจากมีการจัดทำบัญชีรายชื่อมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว นักเขียน และนักวิชาการที่จะถูกเรียกตัวให้ไปรายงานตัวกับทหาร แต่หน่วยงานสื่อเริ่มมีปฏิกิริยาเช่นกัน สมาคมสื่อ 4 แห่งได้ทำจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม เรียกร้องให้ คสช. “ทบทวน” การเซ็นเซอร์สื่อ ในขณะที่เว็บไซต์ข่าว “ประชาไท” ซึ่งมีผู้เข้าดูจำนวนมากได้เปลี่ยนภาพพื้นของหน้าแรกเป็นสีดำ พร้อมกับข้อความว่า “วารสารศาสตร์ไม่ใช่อาชญากรรม” (ตามภาพด้านล่าง) Bangkok Post ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหลักของไทยได้ตีพิมพ์บทความในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐประหาร โดยให้ความเห็นว่า รัฐประหารครั้งนี้ “ไม่ได้เป็นทางออก” สำหรับความขัดแย้งของประเทศ

ที่มาของภาพ prachatai.com
การชักเย่อเพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสารคงเป็นภารกิจที่ท้าทายมากสุดสำหรับรัฐบาลทหารชุดใหม่ของไทย โดยเฉพาะในแง่การควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ ที่น่าประหลาดใจก็คือ หน้า Facebook ของ คสช.เอง เต็มไปด้วยความเห็นในเชิงลบที่บรรดาผู้ใช้ Facebook ของไทยเข้าไปเขียน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น