ชาวบ้านปากมูน ร่วมกับนักกิจกรรมในจังหวัดอุบล ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์วิกฤติการเมืองไทย เสนอในการฝ่าวิกฤติการเมืองไทย ให้การจัดการเลือกตั้งให้ดำเนินไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ แล้วค่อยปฏิรูป
16 พ.ค. 2557 เวลา 13.00 น. ณ ห้องบัวพิสุทธิ์ คณะมนุษยศาสตร์ ฯ ม.ราชภัฎอุบลราชธานี ชาวบ้านปากมูน ร่วมกับนักกิจกรรมในจังหวัดอุบล ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์วิกฤติการเมืองไทย โดยมีข้อเสนอในการฝ่าวิกฤติการเมืองไทย
โดยบางส่วนของแถลงการณ์ระบุ "ในฐานะประชาคมหนึ่งในสังคมไทย เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ทุกๆชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า และมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ต่อคนอันเป็นที่รัก และขอเรียกร้องให้แก้ปัญหาโดยยึดหลักการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และหลักการตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย พวกเราขอเรียกร้องไปยังทุกภาคส่วนในสังคมไทย เพื่อฝ่าวิกฤติการเมืองไทยสู่ทางออกร่วมกัน ดังนี้
แถลงการณ์ร่วม “ฝ่าวิกฤติการเมืองไทย เคารพความหลากหลาย ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย”
สภาพความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบัน กำลังพัฒนาไปสู่ขั้นแตกหัก และกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งจะนำหายนะมาสู่ประเทศไทยอย่างที่ไม่อาจคาดเดาได้
ความแตกแยกครั้งใหญ่คราวนี้ มีรากฐานมาจากเหตุปัจจัยซับซ้อน โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม และความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ
เหตุปัจจัยต่างๆเหล่านั้น ก่อให้เกิดโลกทัศน์ทางการเมืองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างคนในเมืองใหญ่ และคนในชนบท นำมาซึ่งความขัดแย้งที่เริ่มต้นจากความเห็นที่แตกต่างกันในด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม จนพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งในการให้คุณค่าเรื่อง ศีลธรรม และวิถีการดำรงชีวิต เช่น วาทกรรมเรื่อง ความไม่เท่ากันของคนเมืองกับคนชนบท การที่คนชนบทถูกหลอกลวงจากนายทุนสามานย์ เพื่อแลกกับผลประโยชน์เฉพาะหน้า การเมืองที่ต้องการคนดีมีศีลธรรมเป็นผู้นำ
ความจริงแล้ว ความแตกต่างทางความคิดเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมที่มีผู้คนจำนวนมาก และมีพื้นฐานของชีวิตที่แตกต่างกันไปตามแต่สภาพของแต่ละกลุ่ม การมีชีวิตอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง จึงเป็นเรื่องที่มีการค้นคว้าและพัฒนาในสังคมมนุษย์มาตามลำดับ จนเป็นที่ยอมรับในหลักการของการใช้เสียงข้างมากในการตัดสินใจ โดยเคารพความเห็นของเสียงข้างน้อย
ประชาธิปไตย ที่ใช้เสียงข้างมากอย่างเสมอภาคในการกำหนดกติกาของการอยู่ร่วมกัน ที่ไม่คำนึงถึงความยากดีมีจน ความฉลาดหรือโง่ เป็นคนดีหรือคนเลว จึงเป็นหลักการของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย
หากไม่ใช้หลักการนี้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยอ้างเหตุแห่งความชอบธรรมใด ๆ ก็ตาม ก็จะกลายเป็นระบบเผด็จการ ที่คนส่วนน้อยที่คิดว่าตนเองเป็นคนดี คนเก่ง กดขี่คนส่วนใหญ่ในสังคม
สถานการณ์ในปัจจุบัน ชนชั้นนำบางส่วนได้ร่วมมือกับนักวิชาการในการบิดเบือนหลักการทางกฎหมาย เพื่ออ้างความชอบธรรมในการเข้าควบคุมอำนาจรัฐ โดยไม่เคารพหลักการประชาธิปไตย
การกระทำดังกล่าว จะสร้างความแตกแยกและนำสังคมไทยไปสู่ความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในอนาคตสังคมไทย จะไม่หลงเหลือหลักการใดๆที่คนในสังคมจะยอมรับร่วมกันอีกต่อไป จะมีการต่อต้าน การตีความ การแปลความหมายที่แตกต่างกันตามแต่สภาพของชุมชนต่าง ๆ
เป็นการเข้าสู่ภาวะอนาธิปัตย์และความล่มสลายของสังคมไทยโดยสมบูรณ์ วิกฤติการเมืองไทยในขณะนี้ซึ่งรุนแรงและแบ่งขั้วความคิดทางการเมืองมากกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา และเดินทางมาถึงจุดที่จะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนขั้นสูงสุด ต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ ย่อมส่งผลต่ออนาคตของคนในสังคมไทยทุกภาคส่วน รวมถึงพวกเราด้วย ในฐานะหุ้นส่วนของสังคมไทย พวกเรามีความเห็น ดังนี้
- 1.) เราเชื่อมั่นในการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ข้อบกพร่องดังกล่าวก็สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย และที่สำคัญการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด และสังคมสมัยใหม่ในทั่วโลกให้การยอมรับ ดังนั้นการได้มาซึ่งผู้ปกครองประเทศด้วยวิธีพิเศษ (นายกคนกลาง) ที่ไม่เป็นไปตามครรลองวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่สามารถสร้างการยอมรับในระดับสากล และพวกเราก็ไม่สามารถยอมรับได้
- 2.) การเปลี่ยนแปลงใด ใด ที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน จะกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมไทยในอนาคต ดังนั้นการเรียกร้องให้มีผู้ปกครองมาด้วยวิธีพิเศษ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็เปรียบเสมือนการ “เว้นวรรคประชาธิปไตย” และต่อไปในอนาคตข้อเสนอนี้ก็จะถูกนำมาผลิตซ้ำ ซ้ำ ทำให้ประชาธิปไตยไม่สามารถเติบโตขึ้นได้
- 3.) การได้มา ได้มีผู้ปกครองด้วยวิธีพิเศษ ใด ใด (นายกคนกลาง) ก็ตาม ไม่มีหลักประกันได้ว่าจะทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่ลดลง หรือหมดไปจากสังคมไทย ได้
ต่อสถานการณ์วิกฤติการเมืองไทย พวกเราขอแสดงจุดยืน ดังนี้
- 1.) เราขอประนามความรุนแรง การทำให้เกิดความรุนแรง ทั้งการพูดใส่ร้าย กล่าวหา ยั่วยุ และแม้แต่การลอบทำร้าย การเผชิญหน้ากันทุกรูปแบบ เราคัดค้านการรัฐประหาร และต่อต้านสงครามกลางเมือง
- 2.) เราขอให้ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้เคารพสิทธิ เสรีภาพ ในความเห็นที่แตกต่างกัน แม้ว่าความเห็นที่แตกต่างกันจะอ้างความชอบธรรม หรืออ้างความชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ซึ่งความชอบธรรมหรือการชอบด้วยกฎหมายตามความคิดเชื่อนั้น ก็ไม่มีใครที่ได้สิทธิ์แห่งความเชื่อนั้นในการทำร้าย ต่ออีกฝ่ายที่เห็นต่างกันได้
ในฐานะประชาคมหนึ่งในสังคมไทย เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ทุกๆชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า และมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ต่อคนอันเป็นที่รัก และขอเรียกร้องให้แก้ปัญหาโดยยึดหลักการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และหลักการตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย พวกเราขอเรียกร้องไปยังทุกภาคส่วนในสังคมไทย เพื่อฝ่าวิกฤติการเมืองไทยสู่ทางออกร่วมกัน ดังนี้
- 1.) แก้ไขกติกาการเลือกตั้ง และออกเป็น พระราชกฤษฎีกา เสนอไปพร้อมกับ พระราชกฤษฎีกา จัดการเลือกตั้ง (ดำเนินการไม่เกิน ๒ สัปดาห์)
- 2.) ให้การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ
- 3.) ดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมาย โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมไทย
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคู่ขัดแย้ง และภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทย จะตระหนักว่า ในสังคมประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย เรามิอาจเบียดขับหรือกำจัดผู้ที่เห็นต่าง ให้ออกไปจากสังคมเดียวกันได้ แต่การอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ และเคารพความแตกต่างที่หลากหลาย นั่นคือสังคมประชาธิปไตย ที่เป็นประชาธิปไตย
ด้วยจิตคารวะ
16 พฤษภาคม 2557
ณ ห้องบัวพิสุทธิ์ คณะมนุษยศาสตร์ ฯ ม.ราชภัฎอุบลราชธานี
รวมแถลงโดย
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
สหพันธ์ประชาชนเสรีเพื่อประชาธิปไตย (สปป.) อีสานใต้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น