เมื่อท่านผู้นำคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาออกมาคืนความสุขเพียงคนเดียวหน้ากล้องโทรทัศน์ถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ อยู่หลายครั้ง ผู้มีสำนึกปกติโดยทั่วไปก็รู้ได้ทันทีว่าท่านพยายามกล่าวชมหรือสนับสนุนแบบเป็นนัยต่อเผด็จการแบบไทยๆ นั้นเอง ตามความรู้สึกของกองทัพและคนที่สนับสนุนทหารทั้งหลาย เผด็จการภายใต้คราบประชาธิปไตยแบบไทยๆนั้นมีลักษณะเฉพาะตัวและดีงามไม่เหมือนใคร ถ้าจะนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นก็ย่อมเหนือชั้นกว่าเผด็จการแบบดาษดื่นทั่วไปในประเทศโลกที่ 3 ไม่ว่าทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกาหรือเอเชีย ซึ่งได้สร้างความฉิบหายให้กับประเทศของตนมามากต่อมากแล้ว พวกเขายังมองอีกว่าเผด็จการแบบไทยๆ นั้นย่อมเทียบชั้นได้กับเผด็จการของจีน (ซึ่งคอลัมนิสต์หลายคนในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีมุมมองเช่นนี้) หรืออย่างธรรมดาที่สุดก็เผด็จการแบบสิงคโปร์ ซึ่งผู้นำเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ ความสามารถและความซื่อสัตย์ยังผลประโยชน์มาให้ประเทศชาติอย่างอนันต์ ไม่เหมือนกับนักการเมืองโดยเฉพาะในอาณัติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรซึ่งมุ่งแต่โกงกิน จ้องแต่ผลาญชาติ
ต่อไปนี้คือคือมายาคติเกี่ยวกับเผด็จการแบบไทยๆ ที่ผู้เขียนต้องจะนำเสนอเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับความคิดและความเชื่อดังกล่าวและอื่นๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง ส่วนแหล่งที่มาของมายาคตินี้ผู้เขียนนำมาจากข้อสังเกตและมุมมองที่มีในโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือคำพูดเปรยๆ ของคนรอบข้างหรือแม้แต่มุมมองของกลุ่มกปปส. ซึ่งก็สะท้อนมายาคติหรือความเชื่อแบบผิดๆ ของคนไทยจำนวนมากต่อการปกครองแบบเผด็จการได้อย่างดี
1.คนไทยบอกดีๆ ไม่ชอบ ชอบถูกบังคับ
มายาคติที่สนับสนุนการปกครองเผด็จการเช่นนี้ก็ไม่เชิงผิดทั้งหมดหากมองตามความคิดของคนไทยบางกลุ่มเช่นชนชั้นกลางที่เชื่องกับระบบบริโภคนิยมและระบบข้าราชการนิยมคือรอแต่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมาสั่ง และอาจจะจริงที่ว่าคนไทยจำนวนมากไม่ชอบทำตามกฎหมายต้องรอให้ทางคสช.ใช้ไม้แข็งจึงจะปฏิบัติตาม อันทำให้เกิดคำถามว่าทำไมจะต้องเป็นระบอบเผด็จการเท่านั้นเพราะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมก็มีคนมีลักษณะเช่นนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เราควรจะหาทางอื่นในการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้โดยวิธีการที่ไม่แตกหักกับระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่ มีอยู่นับครั้งไม่ถ้วนที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ใช้วิธีการแก้ไขอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด จนถูกประณามดังเช่นยุคของมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ของอังกฤษจนเธอได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการที่ได้รับการเลือกตั้งมา (Elected dictator) แต่เธอก็ต้องพ้นตำแหน่งไปตามวิถีทางการเมืองแบบอังกฤษ ส่วนอังกฤษก็ยังเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ดังเมืองไทยนั้นถ้ารัฐบาลของยิ่งลักษณ์ไม่ถูกทำรัฐประหารโดยระบบราชการและฝ่ายเอกชน รัฐบาลก็สามารถบริหารงานต่อไปได้เรื่อย ๆ และสมควรจะจากไปโดยวิถีทางแห่งประชาธิปไตยเช่นเดียวกับอังกฤษ
ถ้ามองว่าอย่างไรแล้วคนไทยก็ไม่เหมือนกับคนอังกฤษ ก็ลองมองประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คนไทยเป็นคนที่ไม่ชอบถูกบังคับเลยต่างหาก ตั้งแต่อดีตสังคมไทยคือเวทีแห่งการดิ้นรนและการต่อสู้กับอำนาจของรัฐเสมอมาโดยเฉพาะชนรากหญ้า ในอดีตอำนาจจากรัฐส่วนกลางเหนือท้องถิ่นนั้นมีขีดจำกัด มีเป็นจำนวนนับไม่ถ้วนที่ท้องถิ่นทำการต่อสู้แย่งชิงอำนาจหรือการหลบหนีไปยังสถานที่อยู่ไกลๆ เพื่อหนีการรีดไถและการกดขี่ข่มเหงของรัฐ การต่อสู้ทางการเมืองในยุคร่วมสมัยไม่ว่า 14 ตุลา 6 ตุลา ขบวนการชาวนา เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ฯลฯ ยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยนั้นรักอิสรภาพและเสรีภาพ ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของเผด็จการ (แบบเรียนในประวัติศาสตร์มักจะเน้นว่าคนไทยไม่ยอมตกอยู่แต่ภายใต้การปกครองของต่างชาติ ทั้งที่ความจริงแล้วคนไทยยังไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลของตัวเองอีกด้วย !) ยิ่งในปัจจุบันนับตั้งแต่ยุคหลังพฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 นั้น คนไทยได้เกิดสำนึกทางการเมืองหรือการรวมกลุ่มกันเพื่อทำประโยชน์ให้สังคมและการจรรโลงประชาธิปไตยกันมากมายดังเช่นขบวนการประชาสังคมหรือกลุ่มชนรากหญ้าต่างๆ โดยไม่ต้องถูกรัฐชี้นำหรือบังคับเสมอไป แต่น่าเสียดายที่ว่าปัจจุบันภาพเหล่านั้นก็ถูกกลบทับโดยข้ออ้างของพวกอนุรักษ์นิยมและกองทัพนิยมที่มักมีมุมมองแบบมักง่ายเช่นนี้
2. คนไทยเป็นพวกกบเลือกนาย ต้องยัดเยียดนายให้จึงจะดี
หากเรามองการเมืองโลกในมุมกว้าง จะเห็นได้ว่าในประเทศจำนวนมากที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมและมีคุณภาพ ผู้นำไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนที่มีความคิดและอุดมการณ์อันหลากหลาย แม้แต่เผด็จการอย่างเช่นจีนหรือสิงคโปร์เอง ประชาชนก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐจำนวนมากไม่ว่าผ่านโซเชียล มีเดียหรือออกมารวมกลุ่มกันประท้วงเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น ปรากฏการณ์อันแสนธรรมดาเช่นนี้หากถูกมองผ่านสมองของพวกอนุรักษ์นิยมที่ถูกแช่แข็งให้อยู่แต่ในยุคกรุงศรีอยุธยาก็เหมือนกับนิทานเรื่องกบเลือกนาย แต่สำหรับการเมืองไทยยุคก่อน 22 พฤษภาคม มันคือภาพสะท้อนของการต้องการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งได้เป็นลักษณะสำคัญของคนไทยจำนวนมากในยุคปัจจุบัน ประชาธิปไตยก็คือระบบที่ประชาชนสามารถเลือก “นาย” ของตนและสามารถคัดค้านหรือปลด “นาย” ของตนได้โดยใช้การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เหมาะสม การยัดเหยียดนายแบบปัจจุบันเหมือนจะดูดี แต่เป็นการเอาปืนจ่อหลังอันขัดกับธรรมชาติของคนไทยจำนวนมากในปัจจุบันและรอวันจะระเบิดออกมาในอนาคต
3. เผด็จการแบบจีนและสิงคโปร์ดี เผด็จการแบบไทยก็น่าจะดี
มายาคติดังกล่าวถือได้ว่าเป็นมุมมองที่เกินจริง เพราะเป็นการพยายามยัดเหยียดเอาประเทศซึ่งมีอัตลักษณ์ต่างกัน ปูมหลังทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่ไม่เหมือนกันเอามาทับซ้อนกันเพื่อให้ได้คำตอบที่ตัวเองต้องการ ประเทศจีนและสิงคโปร์นั้นถึงแม้จะเป็นเผด็จการแต่ก็มีการพัฒนาของระบบและโครงสร้างทางการเมืองอันยาวนานและต่อเนื่อง พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นกลายเป็นสถาบันที่มีการคัดเอาคนมีคุณภาพ ไปพร้อมๆ กับลูกหลานของพวกผู้นำพรรคยุคก่อนขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้นำของพรรคได้ ดังกรณีนายเจียง เจ๋อหมินและนายหู จินเทา นอกจากนี้จีนยังมีทรัพยากรจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรซึ่งเป็นแรงงานค่าแรงถูกอันกลายเป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบรัฐชี้นำ ที่วางแผนโดยพรรคคอมมิวนิสต์อย่างกลมกลืนกับเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัฒน์ภายหลังจากเปิดประเทศในยุคของเติ้ง เสี่ยวผิงเมื่อปี 1978 รวมไปถึงอุดมการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขอยู่เสมอให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ (พอสมควร)
ในขณะที่เผด็จการแบบไทยในปัจจุบันนั้นถึงแม้พยายามเข้ามาจัดระบบการเมืองไทยเสียใหม่ทั้งที่ตัวเองก็เหมือนกับคณะรัฐประหารทุกสมัยคือขาดวิสัยทัศน์และมุมมองใหม่ๆ มีเพียงการยึดถืออุดมการณ์เก่าๆ แบบตกยุคเช่นลัทธิกษัตริย์นิยมแบบสุดขั้ว ผสมผสานลัทธิข้าราชการนิยมและกองทัพนิยมที่สามารถย้อนหลังกลับไปถึงยุคของพระนเรศวรเมื่อ 400 ปีที่แล้ว แน่นอนว่าคสช.ต้องอาศัยพลเรือนในทุกสาขาอาชีพไม่ว่านักกฎหมาย นักธุรกิจ ข้าราชการ อธิการบดี ฯลฯเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศร่วมกับพรรคพวกตัวเองซึ่งอยู่กันเต็ม สนช.หรือสปช. ซึ่งคนเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็มีแนวคิดไม่ต่างกับระบอบเก่าเท่าใดนัก ที่ว่าเก่าคือย้อนกลับไปยังยุคไม่ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และจอมพลถนอม กิติขจร ส่วนนโยบายโดยรวมของประเทศก็ไม่แตกต่างจากของรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่คณะรัฐประหารชอบโจมตีดังเช่นเรื่อง ประชานิยมและตลาดเสรีแบบเอาใจนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นจึงบอกไม่ได้ตรงไหนว่าเผด็จการไทยจะเหมือนกับเผด็จการของจีน ไม่ว่าปัจจุบันหรือในอนาคต ทั้งนี้ไม่นับสิงคโปร์ซึ่งถึงแม้จะเป็นเผด็จการแต่ก็ไม่มีบทบาทของกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องและรัฐบาลมีความโปร่งใสกับประสิทธิภาพกว่ารัฐบาลทหารไทยในปัจจุบันมากมายนัก
อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่าเผด็จการไทยนั้นก็มีความเหมือนกับรัฐบาลจีนอยู่บ้างอย่างเช่นพรรคคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันค่อนข้างเปราะบางในเรื่องของความถูกต้องชอบธรรมเพราะความเป็นเผด็จการและเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวง เช่นเดียวกับคสช.และสถาบันที่เพิ่งถูกจัดตั้งทั้งหลาย การกำจัดนักการเมืองที่โกงกินของคสช.ก็ไม่ต่างกับ นายสี จิ้งผิง ผู้นำของจีนที่ใช้ข้ออ้างเรื่องการปราบการฉ้อราษฎรบังหลวงในการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง
4.เผด็จการแบบไทยๆ เป็นเรื่องดี ดูอย่างยุคของจอมพลสฤษดิ์สิ
ได้มีนักวิชาการหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ อันสะท้อนว่าคนเหล่านั้นก็ไม่ต่างกับคนยุคก่อนจำนวนมากที่เชื่อว่าเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจจากจอมพลป.พิบูลสงครามในปี 2500 แล้วประเทศจะกลายเป็นประชาธิปไตยกว่าเดิม และยังเชื่อตามๆ กันมาว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นยุคทองของไทยไม่ว่าการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของชาติ ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นไทยช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาทางด้านเงิน ยุทโธปกรณ์และการให้คำปรึกษาในแผนและโครงการด้านต่างๆ เพราะสหรัฐฯนั้นหวังให้ไทยเป็นป้อมปราการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในช่วงต้นๆ ของสงครามเวียดนาม กระนั้นมรดกที่มีการแย่งชิงกันภายหลังจากการตายของจอมพลสฤษดิ์จำนวน 2 พันกว่าล้านบาทอาจบอกเป็นนัยได้ว่าเงินซึ่งจอมพลสฤษดิ์ยักยอกมานั้นจำนวนไม่น้อยเป็นเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ดังนั้นจอมพลสฤษดิ์จึงไม่สมควรได้รับการยกย่องเท่าไรนักในเรื่องการพัฒนาประเทศ ยกเว้นความสามารถในการหลอกพวกนักวิชาการที่เก่งกาจทั้งหลายในการมาทำงานให้กับตัวเอง ในทางกลับกันถ้านายกรัฐมนตรีในยุคนั้นไม่ใช่จอมพลสฤษดิ์ คือเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์พอสมควร มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ประเทศก็น่าจะพัฒนามากกว่านี้
ส่วนความมั่นคงของชาตินั้น คนที่ฝักใฝ่เผด็จการมักมองไปที่ กฎหมายมาตรา 17 ที่มอบอำนาจให้กับฝ่ายบริหารได้อย่างเต็มที่เช่นการตัดสินผู้กระทำความผิดโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลโดยเฉพาะฉากอันน่าตราตรึงใจคือการยิงเป้าผู้กระทำความผิด อย่างฉับไวแต่มักจะลืมมองไปว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการยิงเป้านั้นได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ส่วนเรื่องของอาชญากรรมซึ่งมักเชื่อกันว่าค่อนข้างน้อยเพราะความเด็ดขาดของรัฐในยุคของจอมพลสฤษดิ์นั้น มีการเก็บสถิติกันอย่างเป็นทางการหรือไม่ และผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียเองเป็นจำนวนเท่าไร
ที่สำคัญสื่อมวลชนซึ่งในยุคนั้นถูกควบคุมโดยรัฐสามารถสะท้อนภาพของอาชญากรรมที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้จอมพลสฤษดิ์สมควรได้รับคำชมสำหรับนำประเทศรอดจากภัยของคอมมิวนิสต์และการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าภัยคุกคามเหล่านั้นถูกแต่งเติมโดยสื่อที่ผูกขาดโดยรัฐเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเผด็จการ หากเราลองสมมติว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยในสมัยนั้นจะสามารถป้องกันภัยเหล่านี้ได้หรือไม่ (ถ้าเราเชื่อว่าเผด็จการสามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ได้ รัฐในยุคหลังก็คงไม่ออกคำสั่ง 66/2523 เพื่อให้พวกคอมมิวนิสต์ออกมาร่วมพัฒนาชาติไทย) คำถามเหล่านี้จำเป็นต้องมีการค้นคว้าอย่างจริงจัง มากกว่าจะเชื่อตามๆ กันมา สมมติว่าเราพิสูจน์ได้ว่าจอมพลสฤษดิ์นั้นดีจริง (ซึ่งก็ต้องมาวิเคราะห์กันในเชิงปรัชญาการเมืองอีกว่า ความดีคืออะไร) เราจะทราบได้อย่างไรว่าคสช.จะดีเหมือนจอมพลสฤษดิ์ เพราะนอกจากจะเป็นคนละคนกันแล้ว บริบททางการเมืองของไทยนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย (หนังสืออ่านเพิ่มเติม : การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการของทักษ์ เฉลิมเตียรณ)
5.เผด็จการแบบไทยๆ จะนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นในอนาคต
หากเรามองประวัติศาสตร์ของการเมืองโลก แทบจะไม่พบว่าการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในภายหลัง ตัวอย่างยุคร่วมสมัยได้แก่อียิปต์ที่มูฮัมหมัด มอร์ซีประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งถูกทหารทำการรัฐประหาร และต่อมาได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่มีผู้เข้าชิงตำแหน่งเพียง 2 คน และผู้ชนะก็คืออับเดล อัล-ซิซี อดีตผู้บังคับบัญชาการทหารบก การเลือกตั้งครังนี้ถือได้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะตัวผู้ชนะได้ถูกกำหนดไว้แล้ว ส่วนสถาบันทางการเมืองของอียิปต์ก็ยังถูกผูกขาดโดยชนชั้นสูงโดยเฉพาะกองทัพและศาล เหมือนไม่ต่างจากยุคของฮอสนี มูบารัก
ไม่ว่าคณะรัฐประหารจะมีเหตุผลหรือความชอบธรรมในการทำรัฐประหารอย่างไรก็ตาม การทำรัฐประหารนั้นก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตยของสถาบันกองทัพไปในตัวตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะภาวะที่กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน โดยเฉพาะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแล้ว เมื่อกองทัพได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการปกครองร่วมกับชนชั้นสูงอื่นๆ ในการจัดระบบหรือโครงสร้างทางการเมืองก็ย่อมทำทุกวิถีทางในการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง หากเราเฝ้ามองการจัดการประเทศของคสช.ตลอดเวลาที่ผ่านมา จะพบว่าไม่มีแนวโน้มใดๆ ที่จะนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมไม่ว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และยังเป็นเรื่องน่าตกใจอีกว่าสื่อมวลชนของไทยจำนวนมากกลับแสดงท่าทีโหยหาการปกครองแบบเด็ดขาดจากคสช.ไม่ว่าจะเกิดจากความจริงใจหรือไม่จริงใจก็ตาม มุมมองเช่นนี้ย่อมสะท้อนหรือชี้นำมวลชนซึ่งปรารถนาความมั่นคงหรือความผาสุกในชีวิตมากกว่าระบอบประชาธิปไตยที่พวกเขาคิดเอาเองว่าคือเฉพาะการเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ เหตุการณ์เหล่านี้จะนำประเทศไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการอีกนานเท่านานตามแผนของกองทัพ
การคิดว่าเผด็จการแบบไทยๆ จะนำไปสู่ประชาธิปไตยมากกว่าเดิมก็อุปมาได้ดังหว่านเมล็ดมะม่วงลงไปในดินแล้วหวังว่าจะได้ต้นแก้วมังกร
6. เผด็จการสอดคล้องกับสังคมไทย ส่วนประชาธิปไตยเป็นของนอก
เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งที่พวกฝักใฝ่เผด็จการเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของนอกซึ่งไม่เข้ากับสังคมไทย แท้ที่จริงเผด็จการก็เป็นของนอกหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทยต่างหาก ผู้เขียนคิดว่าคสช.คงจะตระหนักถึงสิ่งนี้ดีจึงได้พยายามเผยแพร่ภาพยนตร์พระนเรศวรเพื่อสะกดจิตคนไทยให้เข้าใจว่าเผด็จการนั้นเป็นของดีมานับตั้งแต่สมัยอยุธยาและคสช.ก็สืบต่อของดีนั้น พระนเรศวรคือบุรุษในอุดมการณ์ของเผด็จการแบบไทยๆ ในฐานะผู้นำทางทหารซึ่งเปี่ยมด้วยความสามารถและความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว พระองค์ยังเป็นนักปกครองผู้ทรงคุณธรรมซึ่งปกครองด้วยความเมตตาต่อประชาชน หากพิจารณาภาพยนตร์ในทุกภาคแล้วอย่างละเอียดแล้ว ภาพของพระนเรศวรในภาพยนตร์คือกษัตริย์ที่ทรงบัญชากองทัพได้อย่างเก่งกาจเสียมากกว่าเป็นนักบริหารประเทศ เพราะกรุงศรีอยุธยาอยู่ในยุคที่มุ่งการทำสงคราม เผด็จการในยุคของพระนเรศวรจึงไม่สามารถนำมาเทียบได้กับเผด็จการในยุคปัจจุบันที่ประเทศไทยปราศจากสงครามและมีความซับซ้อนทางการเมืองกับสังคมยิ่งกว่ายุคกรุงศรีอยุธยาไม่รู้กี่ร้อยเท่า ทั้งนี้ไม่นับว่าในสมัยของพระนเรศวรรวมไปถึงพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ ก่อนปลายศตวรรษที่ 19 คำว่าประเทศไทยยังไม่เกิดและกองทัพยังไม่เป็นองค์กรแบบจัดตั้งอย่างปัจจุบัน
ดังนั้นหากตัดมายาคติเรื่องเผด็จการดำรงอยู่คู่ไทยตั้งแต่อดีตแล้ว ผู้เขียนคิดว่าเผด็จการแบบไทยๆ ในปัจจุบันเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่รัฐบาลกลางใช้ยุทธวิธีที่เลียนแบบจากฝรั่งชาติตะวันตกในการดึงดูดทรัพยากรและรวบอำนาจจากส่วนภูมิภาคเข้าสู่กรุงเทพฯ นั้นคือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชหรือการกลายเป็นรัฐชาติอันมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ถึงแม้ไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้วในปี พ.ศ. 2475 เผด็จการทหารในยุคการกลายเป็นสถาบันทางการเมืองก็พยายามสร้างลัทธิชาตินิยมและราชการนิยมโดยตั้งอยู่บนการรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ผ่านทฤษฎีของฝรั่งเช่นฟาสซิสต์ของเยอรมันหรือญี่ปุ่นเช่นเดียวกับการเลียนแบบเผด็จการในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกากลาง ตะวันออกกลางหรือเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคสงครามเย็น ดังตัวอย่างในปัจจุบันผู้เขียนคิดว่า สนช.ของไทยนั้นได้รับอิทธิพลจากพม่าไม่มากก็น้อย
ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่คำถามที่ว่าหากเผด็จการสอดคล้องหรือเหมาะสมกับสังคมไทยอย่างแท้จริง เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 6 ตุลาคม พฤษภาทมิฬเรื่อยมา (หรือว่าเหตุการณ์เหล่านี้คือความเป็นไทยแท้ ?) นอกจากนี้เหตุใดการทำรัฐประหารโดย คมช.ในปี 2549 ที่ทำให้เกิดรัฐบาลเผด็จการที่มีหัวหน้าคือพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์จึงทำให้พรรคพลังประชาชนกลับได้คะแนนเสียงอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งต่อมา อันนำไปสู่คำถามในปัจจุบันอีกว่าเหตุใดจึงคิดกันว่าการทำรัฐประหารในปี 2557 ของ คสช.จะแตกต่างจากคณะรัฐประหารกลุ่มอื่นๆ และสอดคล้องความเป็นไทยมากที่สุด นอกจากนี้การที่ คสช.สามารถสร้างระบบและโครงสร้างทางเมืองต่างๆ เพื่อปลอดอิทธิพลของทักษิณรวมไปถึงนักการเมืองไม่ว่าจากกลุ่มไหนก็ตามจะทำให้คนไทยสยบยอมต่อเผด็จการตลอดไปหรือไม่
อย่างน้อยถ้าเราท่องไปในโลกโซเชียลมีเดียชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กจะพบว่าความคิดเห็นด้านลบของบุคคลเป็นจำนวนมากต่อพลเอกประยุทธ์และ คสช.โดยที่คนเหล่านั้นไม่ได้แสดงตนว่าอยู่ฝ่ายทักษิณอาจช่วยสามารถตอบคำตอบข้างบนได้ในระดับหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น